ยกระดับอีกขั้น! สหรัฐฯ สร้างบ้าน 2 ชั้นด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
การผลิตสิ่งปลูกสร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป แถมยังพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น เมื่อสหรัฐฯ สร้างบ้าน 2 ชั้นด้วยเครื่องพิมพ์ขนาดยักษ์ได้แล้ว
เครื่องพิมพ์ 3 มิติช่วยยกระดับการสร้างบ้านไปสู่ระดับใหม่ โดยการใช้เครื่องพิมพ์ขนาดมหึมาที่มีน้ำหนักมากกว่า 12 ตันในการสร้างบ้าน 2 ชั้นที่พิมพ์ 3 มิติหลังแรกในสหรัฐฯ
เครื่องพิมพ์ดังกล่าวส่งเสียงฮัมออกมาอย่างต่อเนื่องขณะที่มันพิมพ์ชั้นคอนกรีตออกมาเพื่อสร้างบ้านขนาด 4,000 ตารางฟุตในนครฮิวสตัน รัฐเท็กซัส
เลสลี ล็อก (Leslie Lok) นักออกแบบบ้านซึ่งเป็นสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอออกแบบบ้าน แฮนนาห์ (Hannah) กล่าวว่า การก่อสร้างบ้านขึ้นมา 1 หลังจะต้องใช้เวลาทั้งหมด 330 ชั่วโมงในการสร้างขึ้นจากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และว่า “คุณสามารถพบอาคารที่สร้างขึ้นด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้มากมายในหลาย ๆ รัฐของอเมริกา”
อย่างไรก็ตาม การสั่งพิมพ์อาคารชั้นที่สองนั้นมีความท้าทายต่าง ๆ มากมายเช่น ความท้าทายด้านโครงสร้าง และความท้าทายด้านการขนส่งอื่น ๆ เป็นต้น
เธอบอกด้วยว่า บ้านแบบ 3 ห้องนอนที่มีโครงหลักเป็นไม้นั้นสร้างเสร็จไปได้ครึ่งทางแล้ว และกำลังขายให้กับครอบครัวหนึ่งซึ่งไม่ประสงค์จะออกนาม
โครงการนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัทออกแบบ Hannah บริษัทก่อสร้างด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ Peri 3D Construction และบริษัทวิศวกรรมก่อสร้าง Cive
ฮิคแมท เซอร์เบ (Hikmat Zerbe) หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมโครงสร้างของ Cive หวังว่าเทคนิคที่เป็นนวัตกรรมใหม่นี้จะสามารถช่วยสร้างบ้านสำหรับหลายครอบครัวได้อย่างรวดเร็วและมีราคาถูกลงได้ในอนาคต
นอกจากนี้แล้ว คอนกรีตยังมีความทนทานต่อพายุเฮอริเคน พายุรุนแรง และสภาพอากาศเลวร้ายอื่น ๆ ในเท็กซัส ซึ่งเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศผิดธรรมชาติ
และเนื่องจากเครื่องพิมพ์นี้ทำหน้าที่ยกของหนัก ๆ เองทั้งหมด ตามไซต์ก่อสร้างจึงพึ่งพาคนงานกันน้อยลง
เซอร์เบกล่าวต่อไปอีกว่า “การก่อสร้างแบบดั้งเดิมนั้น ทุกคนรู้กฎ รู้เกม รู้จักคุณสมบัติของวัสดุก่อสร้างต่าง ๆ แต่การสร้างบ้านจากเครื่องพิมพ์สามมิตินี้เป็นเรื่องใหม่ วัสดุก็เป็นของใหม่ แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วคอนกรีตจะเป็นวัสดุที่ใช้มานานแล้ว แต่การใช้คอนกรีตจากการพิมพ์ 3 มิติยังถือเป็นเรื่องใหม่อยู่ในขณะนี้”
คุณกำลังดู: ยกระดับอีกขั้น! สหรัฐฯ สร้างบ้าน 2 ชั้นด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่