ย้อนรอย โรงภาพยนตร์ควีนส์ ความครื้นเครงในวันวานของหนุ่มสาวพระนคร
พาไปสำรวจความรุ่งเรืองในอดีตที่โรงหนังควีนส์ ความบันเทิงของวัยรุ่นพระนคร
ย้อนกลับไปในยุคแรกที่กรุงเทพฯ เริ่มมีโรงภาพยนตร์ ชาวพระนครต่างนิยมชมชอบการเสพมหรสพชนิดใหม่เป็นภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “ภาพยนตร์” เป็นอย่างมาก จนทำให้ศูนย์กลางของวัยรุ่นที่เรียกว่า ศูนย์การค้าวังบูรพา มีโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ตั้งอยู่ติดๆ กันถึง 3 แห่ง คือ โรงภาพยนตร์ควีนส์ โรงภาพยนตร์คิงส์ และ โรงภาพยนตร์แกรนด์ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวมทุกความฮ็อตฮิตของหนุ่มสาวในอดีตประหนึ่งสยามสแควร์ในยุคนี้ วัยรุ่นวังบูรพามักไปเที่ยวหาความบันเทิงบนถนนที่โรงภาพยนตร์ตั้งอยู่ 3 โรง 3 มุมถนนใกล้ๆ กัน ทำให้พื้นที่ย่านวังบูรพาเต็มไปด้วยความคึกคัก มีทั้งร้านหนังสือ ร้านแผ่นเสียง ห้องอาหาร ร้านกาแฟ ร้านไอศกรีม ครบจบทุกความฮิตของยุคสมัยในย่านเดียว
“ควีนส์” หนึ่งเดียวแห่งวังบูรพา
ก่อนจะเป็น ศูนย์การค้าวังบูรพา ผืนดินบริเวณนี้เคยเป็นที่ตั้งของ วังบูรพาภิรมย์ วังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ภายหลังถูกเปลี่ยนมือให้เจ้าของคนใหม่ จึงรื้อวังออกแล้วก่อสร้างศูนย์การค้าวังบูรพาขึ้นให้เป็นแหล่งค้าขายและเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์คิงส์ ควีนส์ และแกรนด์
สำหรับ โรงภาพยนตร์ควีนส์
เปิดตัวเป็นโรงภาพยนตร์แห่งที่สองของย่านศูนย์การค้าวังบูรพาเมื่อปี
พ.ศ 2497 ต่อจากโรงหนังคิงส์
โดดเด่นด้วยบันไดหินอ่อนซ้ายขวาบริเวณจุดขายตั๋วหน้าโรงหนัง
ซึ่งถือเป็นภาพจำความแกรนด์ของโรงภาพยนตร์แห่งใหม่นี้
นอกจากโรงฉายภาพยนตร์แล้ว อีกส่วนสำคัญที่สุดของที่นี่อยู่บนชั้น 3
พื้นที่สำหรับพนักงานฉายหนัง มีตู้สำหรับเก็บฟิล์มเรียงรายเป็นชั้นๆ
มีห้องพากย์เสียง
และห้องฉายหนังบรรยากาศร้อนอบอ้าวที่มีพัดลมเล็กใหญ่ตั้งเต็มไปหมด
ภาพยนตร์ชื่อดังมากมายทั้งของไทยตลอดจนต่างประเทศถูกนำมาฉายให้ชมที่นี่ แต่ที่ขึ้นชื่อและเป็นจุดขายของ โรงภาพยนตร์ควีนส์ กลับเป็น หนังแขก หรือ หนังอินเดีย ถ้าจะมาดูหนังอินเดียที่ฮิตมากในยุคนั้นก็ต้องมาที่โรงภาพยนตร์ควีนส์เท่านั้น และถึงแม้โรงภาพยนตร์ควีนส์จะนับว่าเป็นโรงภาพยนตร์ระดับรองลงมาจากโรงหนังคิงส์ แต่ก็มีโถงสำหรับนั่งชมภาพยนตร์อันโอ่อ่า พร้อมเก้าอี้รองรับคนทั้งหมดกว่า 2,000 ที่นั่ง และความพิเศษที่ไม่เหมือนใครของโรงภาพยนตร์ควีนส์คือ พนักงานที่คอยบริการและพนักงานขายตั๋วล้วนเป็นผู้หญิง…ควีนส์ของโรงหนังตัวจริงอยู่ที่นี่นี่เอง
เล่ากันว่าความคึกคักของโรงภาพยนตร์ควีนนั้นเห็นได้ตั้งแต่ทางเข้า
ผู้คนแห่เข้ามาดูหนังอย่างล้นหลามเต็มพื้นที่บันไดทางขึ้นไปชั้น 2
ความคึกคักนี้ทำให้ทุกรอบฉายหนังพนักงานต้องเตรียมเก้าอี้สำรองเอาไว้
โดยเฉพาะในวันที่มีหนังดังเข้าฉาย
ผู้คนจะยื้อแย่งกันซื้อตั๋วจนที่นั่งไม่พอ
อย่างครั้งหนึ่งเคยกวาดรายได้มากมายจากการฉาย “16 ปีแห่งความหลัง”
ภาพยนตร์ชีวประวัติของสุรพล สมบัติเจริญ
หนึ่งในประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์ควีนส์ที่มียอดผู้เข้าชมถล่มทลาย
ความนิยมที่มีต่อโรงภาพยนตร์ควีนส์ไม่ได้มีเพียงภาพยนตร์ที่ดึงดูดผู้คน แต่ความบันเทิงโดยรอบก็ทำให้วัยรุ่นต้องมาพบปะสังสรรค์กัน ไม่เว้นกระทั่งนักเลงชื่อดังในอดีต จนมีคำเรียกขานว่า โก๋วังหลัง ก็มาจากการรวมตัวเที่ยวและดูหนังที่ย่านวังบูรพานั่นเอง
“ควีนส์” ในวันที่เหลือเพียงตำนาน
สุดท้ายความบันเทิงก็ถูกหมุนเวียนไปตามยุคสมัย ย่านศูนย์การค้าวังบูรพาที่เคยรุ่งเรืองกลับเหลือไว้เพียงความทรงจำ โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่งทยอยปิดตัวและรื้อถอน โดยโรงภาพยนตร์ควีนส์ปิดตัวลงไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2533 รวมอายุการทำงานในฐานะโรงภาพยนตร์แห่งยุคสมัยนานกว่า 36 ปี และได้ฉายภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายคือ “ฉลุย” อำลาวัยรุ่นวังบูรพาไปอย่างน่าเสียดาย
ปัจจุบันโรงภาพยนตร์ควีนส์เป็นโรงหนังเพียงแห่งเดียวในย่านนี้ที่ยังคงสภาพคล้ายอดีตมากที่สุด
ขณะที่โรงภาพยนตร์คิงส์และแกรนด์ถูกปรับโฉมเป็นเมก้าพลาซ่า
โดยโรงภาพยนตร์ควีนส์ยังคงโครงสร้างอาคารเดิมไว้พร้อมป้ายชื่อโรงภาพยนตร์บอกประวัติศาสตร์ความเป็นควีนส์หนึ่งเดียวของย่านนี้
ตัวโรงชมภาพยนตร์ถูกเปลี่ยนให้เป็นที่จอดรถ
ส่วนชั้นบนที่เป็นห้องเบื้องหลังฉายภาพยนตร์ยังคงไว้อยู่เป็นสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย
ยังคงมีม้วนฟิล์มและอุปกรณ์ฉายหนังวางอยู่เช่นเดิม
“เจ้าของเขาค่อนข้างจะรักมากเลย
โดยเฉพาะบันไดด้านหน้านี่เขารักมาก มีคนติดต่อเรื่องตึกนี้มาเยอะแยะ
แต่พอบอกว่าจะเปลี่ยนโฉมตรงบันได เจ้าของเลยบอกไม่ทำ
งั้นเราเลยมาทำที่จอดรถเอง”
Sarakadee Lite ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ดูแลโรงหนังควีนส์ในงาน Cultural District 2023 ซึ่งทางผู้ดูแลได้ย้อนเล่าว่าก่อนหน้านั้นมีคนอยากเข้ามาปรับปรุงแต่เจ้าของโรงภาพยนตร์แห่งนี้มีความผูกพันกับประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้มาก จึงปฏิเสธไป แม้จะได้ผลตอบแทนจากการขายจะมากกว่าการทำที่จอดรถ แต่สุดท้ายเจ้าของก็ตัดสินใจเก็บทุกร่องรอยประวัติศาสตร์ไว้ มีเพียงบริเวณรอบๆ อาคารที่เปิดให้แม่ค้ามาเช่าพื้นที่ขายของ กระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่มีการปรับปรุงใด ทำให้ โรงภาพยนตร์ควีนส์ ยังคงอยู่คู่ย่านวังบูรพามาจนทุกวันนี้
ปกติที่โรงภาพยนตร์ควีนส์ไม่ได้เปิดให้เข้าชมด้านใน
แต่นับว่าเป็นโอกาสดีที่ เทศกาลศิลปะเปิดเกาะรัตนโกสินทร์ หรือ Cultural
District 2023 ได้นำ
โรงภาพยนตร์ควีนส์มาเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการย้อนรอยมหรสพของชาวพระนครในอดีต
สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่ 19 – 28 พฤษภาคม 2566
ซึ่งนอกจากจะได้เห็นบรรยากาศภายในอาคารทั้งห้องเก็บฟิล์ม เครื่องฉาย
ลำโพง เครื่องระบายความร้อนแบบเก่าแล้ว ก็ยังมีห้องสำหรับฉายหนัง “16
ปีแห่งความหลัง”
เพื่อย้อนรอยความบันเทิงในวันวานของโรงภาพยนตร์ที่เป็นควีนส์หนึ่งเดียวของย่านวังบูรพาอีกด้วย
Fact File
- พื้นที่ของศูนย์การค้าวังบูรพานั้น แต่เดิมคือพื้นที่วังของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระอนุชาร่วมพระราชชนนีเดียวกันกับรัชกาลที่ 5 ออกแบบวังโดยสถาปนิกชาวอิตาลี-ออสเตรีย ชื่อ จอาคิโน กราสซี่ รัชกาลที่ 5 พระราชทานนามว่า “วังบูรพาภิรมย์”
- ศูนย์การค้าวังบูรพาจึงเป็นแหล่งที่หนุ่มสาวมาชุมนุมกรีดกราย ขณะเดียวกันโรงหนังเฉลิมกรุงซึ่งตั้งอยู่หลังวังบูรพาก็เป็นแหล่งชุมนุมของสายหนังที่มาติดต่อนำหนังไปฉายยังต่างจังหวัด
- ข้อมูลเพิ่มเพิ่มเติม เทศกาลศิลปะเปิดเกาะรัตนโกสินทร์ : Cultural District Bangkok
คุณกำลังดู: ย้อนรอย โรงภาพยนตร์ควีนส์ ความครื้นเครงในวันวานของหนุ่มสาวพระนคร
หมวดหมู่: เที่ยวทั่วไทย