10 ข้อ ตรวจเช็กรถก่อนเดินทางไกลไปเที่ยวสงกรานต์

ตรวจเช็กรถยนต์อย่างง่ายก่อนออกเดินทางไกลในช่วงหยุดยาวสงกรานต์

10 ข้อ ตรวจเช็กรถก่อนเดินทางไกลไปเที่ยวสงกรานต์

ใกล้ถึงวันหยุดยาวที่จะได้ออกเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวด้วยพาหนะที่ใช้งานมานาน เมื่อต้องเตรียมความพร้อมก่อนออกเดินทาง นอกจากต้องตรวจดูอุปกรณ์ต่างๆ ของลูกชายตัวแสบสำหรับการขับทางไกลแล้ว ความพร้อมของรถจะทำให้คุณและครอบครัวเดินทางถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย ลูกชายจอมสูบไม่ไปเสียกลางทาง หรือต้องแวะซ่อมโน่นนี่ไปตลอดเส้นทางทำให้เสียเวลาในการเดินทางโดยใช่เหตุ การตรวจเช็กรถยนต์หลักๆ 10 จุด เมื่อเห็นว่ามีบางจุดไม่อยู่ในสภาพที่จะรองรับการใช้งานก็ควรเปลี่ยน หรือซ่อมบำรุงให้รถกลับมาอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้ นอกจากนั้น การปฏิบัติตามกฎจราจร ไม่ใช้ความเร็วสูง ไม่วิ่งไหล่ทาง ไม่แซงในจุดที่คับขัน และการพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอก่อนออกเดินทางไกลถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้การเดินทางมีความปลอดภัยทั้งคนและรถ

1. ยาง
อุปกรณ์สำคัญที่ต้องรองรับน้ำหนักรถทั้งคัน ต้องหมุนและหยุดด้วยความรวดเร็ว ยางคือสิ่งที่มีความสำคัญที่ต้องใส่ใจหมั่นตรวจสอบให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ดอกยางต้องลึกไม่ล้านโล้นจนกลายเป็นยางไร้ดอก ถ้าใช้งานมานานหลายปี ก็ควรตรวจสอบให้ละเอียดก่อนออกเดินทาง การสลับยางที่ 10,000 กิโลเมตร พอช่วยได้บ้างเพื่อรักษาหน้ายางให้สึกเท่ากันทั้งสี่ล้อ โดยเฉพาะล้อที่ใช้ขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นขับเคลื่อนล้อหน้า หรือล้อหลัง การสลับยางตามระยะทาง ช่วยทำให้ดอกยางสึกอย่างสม่ำเสมอเท่ากันทั้งสี่ล้อ ช่วยยืดอายุการใช้งานได้บ้าง ลมยางก็มีความสำคัญมาก เมื่อมีทั้งสมาชิกในครอบครัวและสัมภาระจำนวนมาก เติมลมเผื่อเพิ่มขึ้นอีกนิด ป้องกันเอาไว้ไม่ให้ยางมีลมอ่อนเกินไป ลมที่อ่อนจะทำให้ยางร้อนอย่างรวดเร็วและอาจเกิดระเบิดหรือฉีกขาดได้ หากระบุให้เติมลม 32 ปอนด์ก่อนเดินทางก็เติมเพิ่มเป็น 34-35 ปอนด์ แข็งขึ้นมาอีกนิดดีกว่าลมอ่อนแล้วยางไปเสียหายระหว่างทาง อย่าลืมว่าช่วงสงกรานต์ อู่หรือร้านยางมักจะหยุดยาวตามเทศกาล หากไม่เตรียมความพร้อมให้ดีๆ อาจต้องพบกับความลำบากเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับยาง สำหรับยางอะไหล่ท้ายรถที่ไม่ได้ดูแลมานานก็ควรเติมลมเผื่อเอาไว้เหมือนกัน อุปกรณ์ในการถอดล้อ พวกแม่แรงตัวเล็ก ชุดซ่อมยางฉุกเฉินพอช่วยได้บ้าง แต่ถ้าแผลใหญ่เกินไป ชุดซ่อมก็ไม่สามารถที่จะช่วยได้ ยางอะไหล่ที่ทิ้งไว้นานๆ อาจไม่อยู่ในสภาพใช้งานได้อีกต่อไป ควักเงินซื้อใหม่เพื่อความปลอดภัยไปเลยจะดีกว่านะครับ

2. เครื่องยนต์
การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองเครื่องยนต์ช่วยให้เครื่องยนต์สะอาด ลดการสึกหรอและหล่อลื่นการทำงานของชิ้นส่วนต่างๆ ตรวจสอบสายพาน สภาพไส้กรองในระบบต่างๆ มีทั้งไส้กรองอากาศเครื่องยนต์ ไส้กรองอากาศแอร์ ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ควรเปลี่ยนตามระยะที่กำหนด ซึ่งอาจแตกต่างกันในรถแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อ น้ำในระบบระบายความร้อน ที่ช่วยให้เครื่องยนต์ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจสอบระดับของเหลวและการรั่วซึมของระบบต่างๆ นอกจากน้ำมันเครื่องยังมี น้ำมันเกียร์ น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเบรก น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ น้ำยาหม้อน้ำ น้ำยาฉีดล้างกระจก ที่จะต้องได้รับการดูแลและตรวจสอบว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่มีกลิ่นหรือสีที่ผิดปกติ รวมถึงไม่มีการรั่วซึมตามท่อทางเดิน ถ้าเป็นคุณสุภาพสตรีที่ขับอย่างเดียวตรวจเช็กอะไรไม่เป็นก็ต้องยกหน้าที่นี้ให้กับช่างในศูนย์บริการ ควรเอาเข้าไปตรวจตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากพอใกล้วันหยุดยาว รถที่รอใช้บริการในศูนย์จะเพิ่มปริมาณขึ้นมากจนอาจไม่ทันกับวันเดินทาง ศูนย์บริการส่วนใหญ่มักจะหยุดให้พนักงานได้พักผ่อนในช่วงวันหยุดยาว ควรเอาไปตรวจสอบก่อนออกเดินทางสักสองอาทิตย์เพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดหรือระยะเวลาที่ต้องรอในการตรวจเช็กที่นานขึ้นจากจำนวนของรถที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงก่อนวันหยุดยาว

3. ตรวจสอบการทำงานของยางปัดน้ำฝนและน้ำฉีดกระจก
ยางปัดน้ำฝนมีการเสื่อมสภาพจากรังสี UV ที่มาจากแสงแดดตามระยะเวลา แม้ไม่มีการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการรีดน้ำบนกระจกลดน้อยลง ส่งผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่ จึงควรเปลี่ยนยางปัดน้ำฝนอย่างน้อยปีละครั้ง พร้อมทั้งตรวจสอบการฉีดน้ำว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เติมน้ำในกระปุกให้เต็ม อาจเติมน้ำยาเช็ดกระจกลงไปด้วย หรือใช้น้ำยาของบริษัทรถยนต์นั้นๆ แม้จะเป็นฤดูร้อน แต่คุณอาจขับไปเจอพายุฝนได้ การมีที่ปัดน้ำฝนสภาพดีและน้ำล้างกระจกบังลม จะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยขณะขับขี่ท่ามกลางสภาพอากาศที่ไม่ดี เมื่อมองได้ชัดเจนขึ้น เห็นได้ดีขึ้นก็จะช่วยในเรื่องของการกะระยะ ทั้งเบรกหรือเร่งความเร็วเพื่อแซงรถช้า

4. ตรวจสอบระบบไฟส่องสว่าง
หลายครั้งที่ไม่สังเกตว่าระบบไฟส่องสว่างของรถเรานั้นยังทำงานเป็นปกติอยู่หรือไม่ การทำงานของสัญญาณไฟต่างๆ รอบคันที่สมบูรณ์ ช่วยทำให้เกิดปลอดภัยตลอดการขับขี่ ไฟหรี่ ไฟสูง ไฟต่ำ ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ไฟเบรก ไฟเบรกดวงที่สาม ไฟฉุกเฉิน ถ้าจุดใดจุดหนึ่งไม่ทำงานก็ควรจะจัดการแก้ไขให้กลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม ไฟเลี้ยว ไฟเบรกและไฟสูง มีความสำคัญในการแจ้งเตือนถึงทิศทางที่กำลังจะไป กับช่วยเพิ่มทัศนวิสัยระยะไกลบนถนนที่มืดมิด รถใหม่ ไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของไฟต่างๆ แต่รถที่ใช้งานมานาน มักจะมีไฟบางตำแหน่งที่ไม่ยอมทำงาน เกิดจากการเสื่อมสภาพ ควรซ่อมแซมให้ไฟกลับมาใช้งานได้ตามปกติ การมองไม่เห็น หรืออาจทำให้รถคันอื่นมองไม่เห็นในตอนกลางคืนนั้นอันตรายมาก

5. ตรวจเช็กโช้คอัพ ช่วงล่าง
ตรวจเช็กจุดรั่วซึมของคราบน้ำมันบริเวณโช้คอัพ การคืนตัวของโช้คอัพ ใช้การกดบริเวณท้ายรถ หรือหน้ารถ สังเกตการคืนตัว หากมีการเด้งขึ้นลงหลายครั้ง นั่นบ่งบอกว่าโช้คอัพกลับบ้านเก่าใช้งานไม่ได้แล้วต้องเปลี่ยนของใหม่เพื่อทำให้การทรงตัวกลับมาดีเหมือนเดิม งานตรวจช่วงล่างเป็นหน้าที่ของช่าง ถ้าขับแล้วมีความรู้สึกว่ารถทรงตัวได้ไม่ดี วิ่งแล้วพวงมาลัยสั่นที่ความเร็วในช่วงต่างๆ หรือเบรกแล้วพวงมาลัยสั่นก็ส่งให้ช่างทำการแก้ไขดีกว่าวิ่งทางไกลไปทั้งสั่นๆ แบบนั้นแล้วไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง การสั่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งตะกั่วถ่วงสมดุลล้อหลุดหาย ล้อไม่สมดุลต้องถ่วงใหม่ ยางหมดสภาพ ยางปีกนกเน่าหรือขาด หรือแม้แต่โช้คอัพลากลับบ้านเก่า

6. แบตเตอรี่
เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในอันดับต้นๆ ของการขับใช้งานรถยนต์ แบตเตอรี่ถูกออกแบบมาเพื่อทำหน้าที่ป้อนกระแสไฟฟ้าให้กับอุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องยนต์ ระบบไฟส่องสว่างและระบบต่างๆ ที่ต้องการกระแสไฟฟ้าไปเลี้ยงเพื่อให้ทำงานได้ เช่น มอเตอร์สตาร์ต ระบบจุดระเบิด ในขณะที่ทำการสตาร์ตเครื่องยนต์ หากไฟในแบตฯ ไม่พอ จะไม่สามารถสตาร์ตเครื่องยนต์ให้ติดได้เลย นอกจากนี้ แบตเตอรี่ยังทำหน้าที่ป้อนพลังงานให้กับอุปกรณ์อำนวยความสะดวกหลายๆ อย่าง เช่น ระบบปรับอากาศ ที่มีการใช้กระแสไฟฟ้าป้อนให้กับมอเตอร์ของพัดลมระบายความร้อน และพัดลมแอร์ในห้องโดยสาร ไฟส่องสว่างทั้งไฟหน้า ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟเบรก รวมถึงไฟภายในห้องโดยสาร หน้าที่ของแบตเตอรี่คือเก็บไฟฟ้าสำรองที่ได้รับจากการหมุนของไดชาร์จ เมื่อไดชาร์จซึ่งเป็นอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้า ไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทัน เช่น การขับขี่ในตอนกลางคืนที่ต้องใช้ไฟมากกว่าปกติ ไฟส่องสว่างรวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ จะดึงกระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มาใช้ ในระบบไฟของรถยนต์ อุปกรณ์พวกไดชาร์จ เมื่ออยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเมื่อแบตฯ อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไดชาร์จก็จะทำงานได้ดีขึ้นหรือหมุนเร็วขึ้น มีกระแสไฟฟ้าซึ่งเกิดขึ้นจากการทำงานของไดชาร์จเหลือจากการใช้งาน กระแสไฟดังกล่าวจะถูกส่งกลับเข้าไปยังแหล่งเก็บไฟฟ้าสำรองหรือแบตเตอรี่จนกว่าจะเต็ม แบตเตอรี่จะจ่ายไฟออกอย่างเดียวเฉพาะตอนสตาร์ตเครื่องยนต์เท่านั้น เพื่อส่งกระแสไฟเข้าสู่มอเตอร์สตาร์ต และระบบต่างๆ ของเครื่องยนต์ เมื่อเครื่องยนต์สตาร์ตติด และเครื่องยนต์เริ่มต้นการทำงานแล้ว ไดชาร์จก็จะทำหน้าที่ประจุไฟเข้าแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง เป็นวงจรการทำงานปกติของรถยนต์ โดยกระแสไฟฟ้าจะถูกจ่ายออกไปจากแบตฯ และถูกประจุเพิ่มหมุนเวียนเข้าออกแบตเตอรี่อยู่เสมอ แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานประมาณ 2-3 ปี เมื่อเห็นว่ามีไฟรูปแบตฯ โชว์บนหน้าปัด นั่นแสดงว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแบตฯ เสื่อม ไดชาร์จทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเจ๊งทั้งสองอย่าง!

7. เช็กน้ำยาแอร์
อันดับแรกเปิดฝากระโปรงรถ หา 'กรองแอร์' ซึ่งอยู่ในบริเวณแผงระบายความร้อนทางด้านหน้ารถ โดยในรถยนต์บางรุ่นจะมีตาแมวหรือตาแก้ว ซึ่งเป็นช่องกระจกใสอยู่บนท่อแอร์ ทำให้เราสามารถมองเห็นได้ว่าน้ำยาแอร์พร่องหรือ หากในตาแมวมีฟองอากาศหรือตาแมวดูขุ่นๆ หมายความว่าน้ำยาแอร์ขาด แต่ถ้าตาแมวใสก็สบายใจได้น้ำยาแอร์ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่สำหรับรถใครที่ไม่มีตาแมวแถมมาด้วย สามารถตรวจสอบโดยหาท่อแอร์ให้เจอ ท่อที่มีวาล์ว L จากนั้นให้ลองจับดูหรือมองด้วยตาเปล่าเห็นว่ามีหยดน้ำเกาะอยู่ อันนี้แปลว่ามีน้ำยาแอร์เพียงพอ และจำไว้ว่าโดยปกติแล้วเราต้องเติมน้ำยาแอร์เป็นประจำทุกๆ 2 ปี ฤดูร้อนบางวันในเดือนเมษายน อุณหภูมิจะพุ่งสูงได้ถึง 39-42 องศาเซียลเซียส แอร์ที่ทำงานเต็มประสิทธิภาพยังเอาแทบไม่อยู่ หากระบบปรับอากาศในรถเกิดทำงานล้มเหลวระหว่างทาง จะทำให้เกิดความร้อนในห้องโดยสารและตามมาด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัว ตรวจสอบการทำงานของแอร์ ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าหรือใหม่ สายพานคอมเพรสเซอร์แอร์ต้องอยู่ในสภาพดี หากพบว่าสายพานเก่ามีรอยแตกก็ควรจะเปลี่ยนของใหม่ไม่ฝืนใช้จนไปขาดกลางทาง

8. ศึกษาเส้นทาง
การศึกษาเส้นทางในช่วงขาไปและขากลับให้ดี ว่าจะใช้เส้นไหน และเตรียมพร้อมกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น เช่น อุบัติเหตุ รถติด หรือคนขับที่เห็นแก่ตัวบางคนที่ขับรถแบบไม่แคร์สังคมและไม่เคารพกฎหมายจราจรก็ปล่อยเขาไปให้ไปเจอดีเอาเอง อย่าไปใช้อารมณ์ ทำตัวของคุณเองให้ใจร่มๆ เมื่อเจอกับรถติดหนักหรือข่มตนเองให้ไม่โกรธเมื่อพบกับนักขับสันดานหยาบช้า จะทำให้คุณและครอบครัวเดินทางกลับสู่ที่พักได้อย่างปลอดภัย อย่าลืมว่ารถยนต์สมัยใหม่ในทุกวันนี้มีกำลังมากขึ้น การชนในย่านความเร็วสูงอาจทำให้ถึงกับบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต ถุงลมนิรภัย คานนิรภัย หรือโครงสร้างนิรภัยใดๆ ก็เอาไม่อยู่ ความเร็วคือตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ระยะเบรกในระดับความเร็วสูงจะเพิ่มมากขึ้นจนคุณเองต้องตกใจที่เบรกไม่ทันแล้วซัดเข้าไปเต็มๆ ควรใช้ความเร็วไม่สูงมากนักบนทางตรงโล่งๆ และลดความเร็วทุกครั้งที่เข้าโค้ง

9. ขับไกล ควรจอดพัก
อันนี้ก็มีความสำคัญเกี่ยวกับสภาพร่างกายและความพร้อมในการควบคุมเครื่องจักรกลสำหรับเดินทาง หากระยะทางที่ขับนั้นไกลมาก ตามสูตรของนักขับเยอรมัน ขับไป 2 ชั่วโมงแล้วจอดพัก 15 นาที โดยพักจอดรถเพื่อทานข้าว หรือล้างหน้าล้างตา ดื่มกาแฟ น้ำผลไม้ที่ทำให้รู้สึกสดชื่น เมื่อเกิดอาการง่วง อ่อนเพลียจากการลุยงานหนักก่อนหยุดยาว หากไปต่อไม่ไหวจริงๆ ก็หาจุดที่ไม่เปลี่ยว ตามสถานีบริการทางหลวงแล้วจอดนอนพักจนหายง่วง ตื่นมาขับต่อ ไม่ต้องมากังวลว่าจะขับแล้วหลับในจนเป๋ไปซัดกับรถคันอื่น กินเหล้าแล้วขับรถถือเป็นการทำผิดกฎหมายอย่างร้ายแรง หากตำรวจตรวจพบว่าคุณดื่มเหล้าในขณะขับขี่ นอกจากจะไปไม่ถึงจุดหมายแล้ว ยังเป็นสาเหตุหลักอันดับต้นๆ ของการเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย เมื่อหมดเวลาเที่ยว ในช่วงขากลับ คุณจะต้องผจญกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงกลางวัน จอดพักดื่มน้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มชูกำลังเย็นๆ สักขวดตามปั๊มน้ำมันหรือจุดแวะพักประจำเส้นทาง จะทำให้รู้สึกดีขึ้น หรือไม่ก็หาร้านอาหารดีๆ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ลองค้นหาหรือถามผู้รู้ดูว่ามีร้านอะไรอร่อยในเส้นทางที่จะขับผ่าน จะได้เป็นการผ่อนคลายไปในตัว ไม่รีบตีรถกลับแบบร้อนรน ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

10. อุปกรณ์ฉุกเฉินติดรถและเบอร์โทรฉุกเฉินสำหรับความช่วยเหลือต่างๆ
นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่ควรใส่ใจ จดบันทึกเบอร์โทรฉุกเฉินเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทรถยนต์ตามระยะการรับประกันหรือเบอร์ของเจ้าหน้าที่ในเขตนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นตำรวจทางหลวง สถานพยาบาล หน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินระหว่างเส้นทางของกรมทางหลวง เบอร์รถยก รถสไลด์ ที่รับงานครอบคลุมทั่วประเทศก็เห็นว่าทำกันเยอะอยู่พอสมควร สิ่งที่คุณควรจะมีติดรถก็คือ แบตเตอรี่สำรองของโทรศัพท์ น้ำดื่ม อาหารว่างหรือขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มพวกกาแฟที่ใส่ภาชนะเก็บแล้วดื่มได้อย่างรวดเร็ว ไฟฉาย สายชาร์จ สายพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ สายนิรภัยที่ใช้ลากรถ กล่องเครื่องมือฉุกเฉินของรถยนต์ทั้งซ่อมบำรุงเบื้องต้นและกล่องพยาบาลที่มีทั้งยาแก้ปวด ลดไข้ ร่ม เสื้อกันฝน แว่นตากันแดด.


ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: 10 ข้อ ตรวจเช็กรถก่อนเดินทางไกลไปเที่ยวสงกรานต์

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด