13 ชุดประจำชาติสวย ๆ จากทั่วโลก

พาไปชมชุดประจำชาติอันสวยงามจาก 13 แห่งทั่วโลก ความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร

13 ชุดประจำชาติสวย ๆ จากทั่วโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแฟชั่นเครื่องแต่งกายนั้นสามารถบ่งบอกถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้เป็นอย่างดี และหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็ยังส่งต่อเอกลักษณ์เหล่านี้จากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงทุกวันนี้ เสื้อผ้าแสดงถึงความสามารถแห่งงานฝีมือ การปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศ สถานะทางสังคม และความเชื่อทางศาสนา ในปัจจุบันนี้ก็ยังสามารถพบเห็นได้ว่าผู้คนในบางประเทศนิยมใส่ชุดประจำชาติในชีวิตประจำวัน แต่บางประเทศก็ใส่แค่ในโอกาสสำคัญ ๆ เท่านั้น และนี่คือ 13 ชุดประจำชาติที่น่าสนใจจากทั่วโลก

โก (Gho) กับ กีร่า (Kira) ภูฏาน

12018

จะกล่าวขานว่าเป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะทุกวันนี้คนภูฏานก็ยังนิยมใส่ชุดประจำชาติกันในชีวิตประจำวัน ว่ากันว่าชุดที่พวกสวมใส่กันนั้นมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 400 ปี โดยชุดของผู้ชายจะเรียกว่า โก มีลักษณะเป็นเสื้อตัวยาวคลุมถึงเข่าแล้วคาดด้วยเข็มขัดผ้าที่เอว ส่วน กีร่า ชุดของผู้หญิงจะเป็นผ้าถุงยาวถึงข้อเท้า และเสื้อแขนยาว หากอยู่ในโอกาศพิเศษมักจะมีผ้าคลุมไหล่พาดทับอีกชั้นทั้งชายและหญิง

ฮันบก (Hanbok) เกาหลีใต้

12019
ชุดประจำชาติสีสันสดใสนี้ประกอบไปด้วยกระโปรงยาวเอวสูงกับเสื้อคลุม คนเกาหลีมักจะใส่เฉพาะในโอกาสที่เป็นทางการเท่านั้น กล่าวกันว่าฮันบกมีต้นกำเนิดในสมัยอาณาจักรโกคูรยอ (37 ปีก่อนคริสตศักราชถึง ค.ศ. 668) และรูปแบบก็ยังเหมือนเดิมมาจนถึงทุกวันนี้ทั้งรูปทรงและสีสัน ซึ่งที่มาของความสดใสนี้ก็ได้จากความเชื่อเรื่ององค์ประกอบทั้งห้าของหยินและหยาง นอกจากนั้นสีของฮันบกยังบ่งบอกถึงชนชั้นได้อีกด้วย เช่น สามัญชนจะใส่สีขาว เมื่อปี 1996 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันฮันบก

อ่าวหญ่าย (Áo Dài) เวียดนาม

12020
ชุดประจำชาติของเวียดนามมีชื่อที่แปลตรง ๆ ว่า “เสื้อตัวยาว” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสง่างาม ผู้หญิงเวียดนามมักจะใส่เสื้อแขนยาวรัดรูปนี้คู่กับกางเกงขายาวจับคู่กับหมวกทรงกรวยที่เรียกกันว่า นอนลา (Nonla) คำว่า “áodài” เดิมใช้ในศตวรรษที่ 18 ในสมัยราชวงศ์เหงียนเมื่อมีการกำหนดเครื่องแต่งกายที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจามปาจากอาณาจักรอินโดจีน (ในปัจจุบันนี้คือเวียดนามตอนใต้) เมื่อเข้าสู่ในช่วงการปกครองภายใต้ฝรั่งเศสเครื่องแต่งกายได้รับการออกแบบเป็นชุดสมัยใหม่ที่มีกลิ่นอายตะวันตกแทรกอยู่ ในปัจจุบันนี้ยังสามารถพบเห็นสตรีเวียดนามใส่ชุดอ่าวหญ่ายได้ทั่วไปทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษต่าง ๆ

เดียร์นเดิล (Dirndl) เยอรมนี

12021
เดียร์นเดิลประกอบด้วยเสื้อท่อนบนแบบรัดรูปกระโปรงเอวสูงและผ้ากันเปื้อน ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายของชาวนาในภูมิภาคอัลไพน์ทางตอนใต้ของเยอรมนี ออสเตรีย ลิกเตนสไตน์ สวิตเซอร์แลนด์ และอิตาลี ระหว่างศตวรรษที่ 16 ถึง 18 มักทำจากผ้าฝ้าย กำมะหยี่ ผ้าลินิน หรือผ้าไหม แม้ว่าจะเริ่มต้นจากการเป็นชุดของชาวนา แต่ก็กลายเป็นแฟชั่นในหมู่ชนชั้นสูงในช่วงศตวรรษที่ 18 แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้สูญเสียความนิยมไป แต่ตอนนี้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งโดยเฉพาะในเทศกาลดั้งเดิมของเยอรมันเช่น Oktoberfest

เลเดอร์โฮเซน (Lederhosen) เยอรมนี

12022
กางเกงหนังยาวถึงเข่าของผู้ชายเยอรมนี ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นชุดของคนงานในอดีตทั่วทั้งยุโรปกลาง โดยเฉพาะในแคว้นบาวาเรียและภูมิภาคทิโรล เนื่องจากมีความทนทานมากกว่ากางเกงผ้าธรรมดาเพราะทำจากหนังกวาง ปัจจุบันนี้ชายชาวเยอรมันบางคนก็ยังสวมใส่กางเกงนี้ในการทำงานกลางแจ้ง ทำสวน เดินป่า หรือแต่งกายตามงานเทศกาลและลานเบียร์ต่าง ๆ

ดาชิกิ (Dashiki) แอฟริกา

12023
ผู้คนในแอฟริกาตะวันตก โดยเฉพาะไนจีเรีย เคนยา แทนซาเนีย และโซมาเลีย นิยมนำผ้าฝ้ายพิมพ์ลายสีสันสดใสนี้มักจะนำมาทำเป็นเสื้อตัวหลวม คอวี สำหรับผู้ชายและทำเป็นเดรสยาวสำหรับผู้หญิง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นชุดประจำชาติที่ Unisex ไม่ว่าเพศไหนก็ใส่ได้ตามสไตล์ที่ชอบ ชื่อของมันเป็นคำยืมมาจากจาก Hausa dan ciki ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรว่า "เสื้อเชิ้ต" หรือ “เสื้อผ้าชั้นใน"

เคบายา (Kebaya) อินโดนีเซีย

12024
เป็นเสื้อของชาวท้องถิ่นในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มักจะสวมใส่คู่กับผ้าโสร่ง และอาจจะพบได้ประปรายในสิงคโปร์ บรูไน และฟิลิปปินส์ มักทำจากผ้าลูกไม้ไนลอนโปร่ง ๆ หรือผ้าฝ้ายที่มีลวดลายดอกไม้ แล้วกลัดด้วยเข็มกลัด เคบายาได้รับอิทธิพลจากองค์ประกอบของยุโรปบางส่วนเนื่องจากประเทศในแถบนี้ตกเป็นอาณานิคมของโปรตุเกสและดัตช์มาก่อนในอดีต ทุกวันนี้จะเห็นได้ว่าบรรดาสายการบินของประเทศเหล่านี้นำเคบายามาประยุกต์ใหม่เป็นเครื่องแบบของพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

คิลต์ (Kilt) สกอตแลนด์

12025
กระโปรงจีบรอบและมีความยาวเท่าเข่านี้มีต้นกำเนิดในที่ราบสูงสกอตแลนด์และได้รับการบันทึกครั้งแรกในศตวรรษที่ 16 ในรูปแบบผ้าตาหมากรุก ชายชาวสกอตมักจะสวมใส่กระโปรงนี้ในงานเลี้ยงรื่นเริงต่าง ๆ และมักจะสวมคู่กับถุงเท้ายาวทำด้วยผ้าขนสัตว์ รองเท้าหนัง และสปอร์แรน (กระเป๋าห้อยเอว) ความพิเศษนั้นอยู่ลายสกอตต่าง ๆ ซึ่งแสดงถึงสีของเผ่าที่ผู้สวมใส่อยู่

หมวกเฟซ (Fez) โมร็อกโก

12026
เฟซคือหมวกสีแดงทรงกระบอก และมีพู่ห้อยอยู่ด้านบน ว่ากันว่าหมวกนี้ได้ชื่อมาจากเมืองเฟซในโมร็อกโก ครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ต่อต้านการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส จากนั้นก็แพร่หลายไปยังประเทศมุสลิมหลายประเทศในอาณาจักรออตโตมัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสะดวกต่อการสวมใส่เวลาที่ผู้ชายก้มหัวลงละหมาด

กิโมโน (Kimono) ญี่ปุ่น

12027
กิโมโนมีต้นกำเนิดในสมัยเฮอัน (ประมาณ ค.ศ. 794 ถึง ค.ศ. 1192) ชุดกิโมโนเป็นเครื่องแต่งกายประจำชาติที่เก่าแก่ที่สุดชุดหนึ่งที่ยังคงใช้อยู่ถึงทุกวันนี้ เริ่มแรกเป็นที่นิยมในหมู่สตรีชั้นสูงเท่านั้น แต่ในช่วงสมัยเอโดะ ต้นทศวรรษ 1600 กิโมโนได้รับความนิยมอย่างมากและกลายเป็นเครื่องแต่งกายหลักในการแสดงคาบูกิ แต่พอเข้าสู่ช่วงยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งให้ประชาชนต้องสวมเสื้อผ้าแบบตะวันตกเพื่อให้ทันสมัย ชุดกิโมโนก็หายไปอย่างช้าๆ วันนี้ส่วนใหญ่สวมใส่ในงานพิธีเช่นงานแต่งงานหรืองานศพ และมักจะเป็นมรดกตกทอดของครอบครัวที่มอบให้กับผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

บูนาด (Bunad) นอร์เวย์

12028
เป็นเครื่องแต่งกายพื้นเมืองที่ทำด้วยผ้าขนสัตว์ ประดับด้วยหัวเข็มขัดโลหะและกระดุม มีการออกแบบแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคมากกว่า 200 รูปแบบเลยทีเดียว หนึ่งในแบบที่มีชื่อเสียงที่สุดมาจากนอร์ดแลนด์ แต่โดยพื้นฐานแล้วบูนาดจะเป็นชุดเดรสสีน้ำเงินที่มีลายดอกไม้ปักที่กระโปรงและด้านบนสวมด้วยผ้าคลุมไหล่ ส่วนผู้ชายมักสวมถุงน่องสีน้ำเงินเข้มเสื้อกั๊กผ้าและเสื้อเชิ้ตคอปก มักสวมใส่สำหรับงานเฉลิมฉลองต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน วันเกิด และการเต้นรำพื้นบ้าน ตลอดจนพิธีทางศาสนา

กี่เพ้า (Cheongsam) จีน

12029
ชุดเดรสผ้าไหมรัดรูป คอสูง และมีรอยแหวกด้านข้าง มีต้นกำเนิดในราชวงศ์ชิง ช่วงต้นทศวรรษ 1600 และเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่สาวสังคมในเซี่ยงไฮ้ ตั้งแต่ปี 1920 ถึงปี 1940 แม้ว่าความนิยมของกี่เพ้าในเซี่ยงไฮ้จะลดลงในช่วงการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ แต่รูปแบบดังกล่าวก็แพร่กระจายไปยังไต้หวันและฮ่องกง นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 ชุดกี่เพ้าได้รับความนิยมอีกครั้งในประเทศจีนในการแสดงโชว์ความงาม สวมใส่โดยเจ้าสาวในงานแต่งงาน และใส่ในงานเทศกาลสำคัญเช่น วันตรุษจีนหรือไม่ก็งานเฉลิมฉลองกับครอบครัว

Gákti แลปแลนด์

12030

gákti เป็นเสื้อคลุมหลวม ๆ ที่ทำจากหนังกวางเรนเดียร์และขนสัตว์ เป็นชุดประจำชนเผ่า Sámi ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในพื้นที่ทางตอนเหนือของนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซียในเขตดินแดนภูมิศาสตร์ซัปมี (Sápmi) โดยปกติแล้วจะมีสีสันสดใสพร้อมด้วยลายปักที่โดดเด่น gákti ของผู้หญิงจะประกอบด้วยชุดเดรสผ้าคลุมไหล่และรองเท้าบู๊ตที่ทำจากขนกวางเรนเดียร์หรือหนัง และประดับด้วยเครื่องประดับเงินอย่างสวยงาม โดยปกติแล้วเสื้อผ้าจะทำด้วยสีน้ำเงินเข้มที่สื่อถึงมหาสมุทร แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและสถานภาพการสมรสอีกด้วย

คุณกำลังดู: 13 ชุดประจำชาติสวย ๆ จากทั่วโลก

หมวดหมู่: เที่ยวต่างประเทศ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด