5 ขั้นตอน "ห้ามเลือด" อย่างถูกวิธี
ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การห้ามเลือดให้ถูกวิธีสำคัญมาก ช่วยลดการสูญเสียอวัยวะ และลดเสี่ยงเสียชีวิตได้
สำหรับผู้ที่ต้องเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน หรืออยู่ท่ามกลางเหตุการณ์ความรุนแรง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การตั้งสติ และประเมินสถานการณ์ จากนั้นจึงเข้าช่วยห้ามเลือด เพื่อลดการสูญเสียอวัยวะ และลดความเสี่ยงเสียชีวิตจากการเสียเลือดมากเกินไป
วิธีห้ามเลือดที่ถูกต้อง
- หาจุดที่เลือดออกว่าอยู่บริเวณใด
และประเมินว่าเลือกออกมากถึงระดับไหน
- หากบาดแผลเล็กๆ เลือดหยุดไหลแล้ว
ให้ล้างด้วยน้ำสะอาด ซับให้แห้งด้วยผ้าสะอาด และทายาฆ่าเชื้อ
- หากเป็นบาดแผลฉีกขาด มีเลือดออกพอสมควร
ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดลงบนแผลตรงๆ ใช้มือกดนิ่งๆ
ตรงบริเวณที่เลือดออกไว้ตลอด ระยะเวลาประมาณ 5 นาที
จะทำให้หลอดเลือดหด และสามารถห้ามเลือดได้
ใช้แรงกดเหมือนเราพยายามกดให้ถึงกระดูก
และระหว่างกดแผลห้ามแง้มเปิดมาดูเด็ดขาด เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดฉีดขาด
เลือดหยุดไหลช้าลงได้ กดแผลไว้จนกว่าเลือดจะหยุดซึมออกมาบนผ้า
ถ้าเลือกยังไม่หยุดไหล ยังซึมออกมาอย่างต่อเนื่อง
ให้หาผ้าสะอาดอีกผืนมากดทับผ้าเดิม โดยไม่ต้องเอาผ้าเดิมออก
แล้วกดแผลต่อไป ถ้าเลือดหยุดไหลแล้ว
สามารถหาผ้ายืดมารัดป้องกันแผลเลือดไหลอีกครั้งได้
- หากผู้ได้รับบาดเจ็บมีแผลใหญ่
เลือดออกมาก ให้ใช้ผ้าสะอาดอัดเข้าไปตรงบริเวณนั้น
และใช้มือกดลงไปเพื่อห้ามเลือดอีกครั้ง
- ถ้าเป็นบาดแผลที่เลือดออกมาก อาจใช้วิธีขันชะเนาะ โดยหาผ้าหรือเชือกนิ่มๆ มารัดเหนือบาดแผลราว 1 ฝ่ามือ ใช้ปากกาหรือแท่งด้ามเหล็กแข็งและทนทาน สอดเข้าไปในผ้า แล้วหมุนให้แน่นจนกว่าเลือดจะหยุดไหล ล็อกตำแหน่งเอาไว้ไม่ให้ผ้าหลุด อย่าลืมจดเวลาไว้ด้วยว่าเริ่มขันชะเนาะในเวลากี่โมง จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเมื่อไปโรงพยาบาล และห้ามคลายผ้าที่ทำการขันชะเนาะเอง ต้องให้แพทย์คลายผ้าในห้องผ่าตัด แต่วิธีนี้หากทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงควรเรียกเจ้าหน้าที่มาช่วยเหลือผ่านเบอร์โทรสายด่วน 1669 จะดีที่สุด
การใช้ผ้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาห้ามเลือด ต้องสะอาดมากเพียงพอที่จะไม่ทำให้บาดแผลติดเชื้อในภายหลัง การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ถือเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าเรารู้วิธีการปฐมพยาบาล และห้ามเลือกที่ถูกต้อง จะเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตมากขึ้น
คุณกำลังดู: 5 ขั้นตอน "ห้ามเลือด" อย่างถูกวิธี
หมวดหมู่: สุขภาพ
แชร์ข่าว