6 ความเชื่อผิดๆ เรื่อง “คุมกำเนิด”

เพราะเชื่อกันแบบนี้ ถึงคุมกำเนิดกันไม่สำเร็จ มาปรับความเข้าใจกันใหม่นะ มีลูกเมื่อพร้อมกันจะดีกว่า

6 ความเชื่อผิดๆ เรื่อง “คุมกำเนิด”

จากสถิติรายงานโดยกรมอนามัย พบว่า ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันสมควร (ก่อนบรรลุนิติภาวะ หรือต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์) มากถึง 12,000 คน และ 12% มีการตั้งครรภ์ซ้ำโดยไม่พร้อม สาเหตุหลักๆ คือ การคุมกำเนิดที่ไม่ได้ผล หรือไม่มีการวางแผนคุมกำเนิดอย่างถูกต้อง เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มากพอ

นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ความเข้าใจผิดมากมายเกี่ยวกับเรื่องของการคุมกำเนิด ที่ทำให้การคุมกำเนิดล้มเหลว จนเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

6 ความเชื่อผิดๆ เรื่อง “คุมกำเนิด”

  1. หลั่งข้างนอก = ไม่ท้อง?

ความเชื่อที่ว่า หากหลั่งอสุจิออกมานอกช่องคลอด ทำให้ฝ่ายหญิงไม่ตั้งครรภ์ เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะหากหลั่งอสุจิอยู่บริเวณรอบๆ ปากช่องคลอดที่มีเมือกใสๆ อยู่ เมือกเหล่านี้อาจเป็นตัวพาเอาอสุจิกลับเข้าไปในช่องคลอดได้ โดยการหลั่งอสุจิภายนอกมีโอกาสตั้งครรภ์สูงถึง 20-30% เลยทีเดียว ถือว่าค่อนข้างสูง และไม่แนะนำเด็ดขาด

 

  1. หน้า 7 หลัง 7 = ไม่ท้อง?

การนับวันก่อน และหลังมีประจำเดือน 7 วัน ที่ถือว่าเป็นวันปลอดภัย สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้โดยไม่เกิดโอกาสในการตั้งครรภ์นั้น ก็เป็นวิธีที่สูตินรีแพทย์ไม่แนะนำเช่นเดียวกัน เพราะวิธีนี้หากจะทำให้สำเร็จ 100% จริงๆ ต้องประกอบไปด้วยหลายอย่าง เช่น รอบประจำเดือนต้องมาตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอทุกเดือน (ตรงวัน ตรงเวลา) และผู้หญิงส่วนใหญ่มักมีองค์ประกอบต่างๆ ในการใช้วิธีนี้สำเร็จไม่ครบ เพราะส่วนใหญ่รอบประจำเดือนของผู้หญิงมักมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละเดือน บางรอบสั้น บางรอบยาว หรือบางเดือนที่มีความเครียด หรือมีปัจจัยอื่นๆ อาจทำให้ไข่ไม่ตก ประจำเดือนไม่มาได้

 

  1. ใส่ถุงยางอนามัย 2 ชั้น = ไม่ท้อง?

การสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น ไม่ได้ช่วยให้การป้องกันการรั่วซึมของอสุจิเข้าไปในช่องคลอดได้ดีกว่าเดิมเลย เพราะการสวมถุงยางอนามัย 2 ชั้น ทำให้เกิดการเสียดสีกันระหว่างถุงยางทั้งสองชิ้น และทำให้ถุงยางอนามัยเกิดการฉีกขาด แตกรั่วได้ง่ายกว่าเดิมอีกด้วย

 

  1. พกถุงยางอนามัยเอาไว้ในรถ หรือกระเป๋าสตางค์ = ใช้ได้ ไม่ท้อง?

การเก็บถุงยางอนามัยเอาไว้กับตัว หรือเอาไว้ในที่ที่หยิบใช้ได้สะดวก ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่การเก็บถุงยางอนามัยเอาไว้ในลิ้นชักในรถ หรือในกระเป๋าสตางค์ เป็นที่ที่มีอากาศร้อน หรืออับ ซึ่งทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ ฉีดขาดได้ง่ายกว่าเดิม จึงแนะนำให้เก็บถุงยางอนามัยเอาไว้ในที่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง ไม่อับจนเกินไป เช่น ในตู้ หรือกล่องต่างๆ ภายในบ้าน (ที่แสงแดดส่องไม่ถึง) เป็นต้น

 

  1. ถุงยางอนามัยแบบไหนก็ได้ = ไม่ท้อง?

ผู้ชายหลายคนอาจจะเลือกใช้ถุงยางอนามัยตามอรรถรส เช่น รูป รส กลิ่น สี พื้นผิวต่างๆ แต่การเลือกถุงยางอนามัยที่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ คือ การเลือกขนาดที่เหมาะสม หากเลือกถุงยางที่มีขนาดใหญ่ไป หลวมไป โอกาสที่ถุงยางจะหลุดขณะมีเพศสัมพันธ์จนอสุจิหลุดไปในช่องคลอดก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่หากใช้ถุงยางที่เล็ก หรือคับเกินไป ก็อาจทำให้เกิดการเสียดสีมากจนทำให้ถุงยางฉีกขาดได้ง่ายเช่นกัน

ในไทยจะมีถุงยางอนามัย 2 ขนาด ได้แก่ 49 และ 52 เซนติเมตร

 

  1. สวนล้างช่องคลอดหลังมีเพศสัมพันธ์ = ไม่ท้อง?

เมื่ออสุจิเข้าไปในช่องคลอด อสุจิบางส่วนอาจเข้าไปถึงข้างในมดลูกแล้ว นอกจากนี้การล้างช่องคลอดยังเพิ่มความเสี่ยงอันตรายอื่นๆ เช่น การติดเชื้อราภายในช่องคลอด หรืออุ้งเชิงกราน หรือมีตกขาวผิดปกติได้

อย่างไรก็ตาม ควรล้างทำความสะอาดอวัยวะเพศหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อลดความเสี่ยงของการหมักหมมจนเกิดการอักเสบติดเชื้อได้ โดยล้างเฉพาะภายนอกด้วยน้ำสะอาด หรือผลิตภัณฑ์สำหรับล้างจุดซ่อนเร้นโดยเฉพาะ และซับให้แห้ง และควรปัสสาวะหลังมีเพศสัมพันธ์ด้วยทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

 

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีคุมกำเนิดใดที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% เต็ม แต่การคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพค่อนข้างสูงถึง 99% ได้แก่

  • ทำหมัน

  • ฉีดยาคุมกำเนิด

  • ฝังยาคุมกำเนิด

  • ใส่ห่วงคุมกำเนิด

ส่วนการรับประทานยาคุมกำเนิด และการใช้ถุงยางอนามัย (อย่างถูกต้อง) จะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 91% นอกจากนี้การใช้ถุงยางอนามัย ยังช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย

คุณกำลังดู: 6 ความเชื่อผิดๆ เรื่อง “คุมกำเนิด”

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด