8 วิธีเอาตัวรอดจาก “ไฟดูด-ไฟช็อต”
รู้เอาไว้เถอะ หากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมา จะได้เอาชีวิตรอดได้
อ่านข่าวที่ลูกชายวัย 5 ขวบ ช่วยแม่ที่ถูกไฟดูดให้รอดชีวิตออกมาได้จากการ “ถีบ” เพราะเคยเห็นทางสารคดีในทีวี (อ่านข่าวได้ที่นี่) รู้อย่างนี้ปลื้มใจ ที่เด็กตัวเล็กๆ ยังมีความรู้ในเรื่องของการช่วยคนจากไฟดูด แต่การถีบแรงๆ จะใช่วิธีที่ถูกต้องหรือไม่ หรือมีวีธีอื่นที่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูดได้เหมือนกันหรือไม่ ลองมาดูกันค่ะ
วิธีเอาตัวรอดจาก “ไฟดูด-ไฟช็อต”
ในกรณีที่โดนไฟดูดเอง
- ตั้งสติ รวบรวมแรงทั้งหมดที่มี กระชากมือ แขน ขา
หรืออวัยวะที่สัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดไฟดูดออกมาให้ได้มากที่สุด
ถ้าไม่ได้ผลให้ตะโกนให้คนอื่นช่วย
- อย่าให้คนที่เข้ามาช่วยสัมผัสกับร่างกายของคุณโดยตรงเด็ดขาด
จับแขน จับขาไม่ได้เลย
- หากมองหาสิ่งที่ไม่นำไฟฟ้าได้ เช่น ไม้ ผ้า พลาสติก
ให้ตะโกนบอกผู้อื่นให้นำมาช่วยเขี่ยสายไฟ ตัวนำไฟฟ้าออก
หรือฉุดกระชากร่างของตนเองออกอย่างรวดเร็ว
- รอการช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างมีสติ หากผู้ที่มาช่วยทำอะไรไม่ถูก ให้โทรหา 1669 สายด่วนกู้ชีพ
ในกรณีที่เข้าไปช่วยผู้ที่ถูกไฟดูด
-
อย่าผลีผลามเข้าไปช่วยด้วยการสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเขาโดยตรง
รักษาระยะห่างกับผู้ที่โดนไฟดูดก่อนเล็กน้อย
สังเกตให้ดีว่าต้นตอของไฟฟ้าที่รั่วออกมาจนดูดเขานั้นมาจากไหน
แล้วอยาห่างจากบริเวณนั้นก่อน
- หากอยู่ในบ้าน ไม่ได้ใส่รองเท้า ให้วิ่งไปหารองเท้ามาใส่ก่อน
อย่าให้เท้าอยู่ติดพื้น หากไม่มีรองเท้า ให้ยืนบนผ้าหนาๆ กองหนังสือ
กล่องไม้ ลังกระดาษ ได้เช่นกัน
- มองหาสิ่งของที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้า กระดาษแข็ง ด้ามพลาสติก
สายยาง ถุงมือยางหนาๆ เชือก (ทุกอย่างต้องแห้ง ไม่เปียกน้ำ)
สามารถใช้ของเหล่านี้เขี่ยเอาสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูดออกไปจากร่างของผู้ป่วยได้
เช่น เขี่ยเอาสายไฟออก เขี่ยมือ แขน หรือ เท้าออกจากบริเวณที่มีไฟดูด
เป็นต้น หรือหากผู้ป่วยโดนไฟดูดทั้งร่าง ให้ใช้ผ้าแห้งพันมือหนาๆ
แล้วผลักหรือฉุด กระชากผู้ป่วยออกมาแรงๆ อย่างรวดเร็ว
(ต้องสวมรองเท้าอยู่ด้วยนะ)
- หากจะเลือกช่วยด้วยการถีบ สามารถทำได้ แต่บริเวณข้างๆ
ผู้ที่ถูกไฟดูดต้องมีพื้นที่โล่งๆ
ให้ผู้ป่วยล้มตัวลงไปโดยไม่เกิดบาดแผลเจ็บตัวมากด้วย
ถ้าจะถีบให้บอกผู้ป่วยด้วยวาจาก่อน แล้วค่อยถีบช่วงก้นหรือสะโพกเร็วๆ
แรงพอประมาณ เอาให้หลุดออกมาจากบริเวณนั้นทั้งตัวให้ได้ในครั้งเดียว
แต่หากเป็นไปได้ให้เลี่ยงไปใช้วิธีในข้อ 3
เพราะวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม
iStock
- ในกรณีที่พบผู้ป่วยถูกไฟดูดในบริเวณที่เสี่ยงเกินไป เช่น
ในห้องน้ำที่พื้นเปียกชุ่ม ให้วิ่งหาตู้จ่ายไฟภายในบ้าน
ที่กล่องเซอร์กิต เบรกเกอร์ หรือกล่องฟิวส์ เปิดกล่องขึ้นมา
มองหาบล็อกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งจะมีที่จับ
และอยู่ด้านบนสุดของกล่องฟิวส์ คว้าที่จับแล้วสับไปอีกด้านหนึ่ง
เหมือนสับสวิตช์ไฟฟ้า
ลองเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อทดสอบว่าตัดไฟแล้วจริงหรือไม่
แล้วค่อยวิ่งไปหาผู้ป่วย
- ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกไฟดูดในบริเวณที่มีไฟฟ้าแรงสูง
ควรโทรแจ้งการไฟฟ้าให้เข้ามาดูแลจะดีกว่า (สามารถโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ
1669 หลังจากนั้นด้วย)
- เมื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้ว
ควรตรวจดูว่าเขาหรือยังยังมีสติมากน้อยแค่ไหน
ถ้ายังมีสติครบถ้วนให้นอนพัก ตรวจร่างกายคร่าวๆ
ว่ามีบาดแผลส่วนไหนร้ายแรงหรือไม่ ส่วนมากอาจมีผมร่วง รอยแดงเป็นจ้ำๆ
ตามแขนขา ลำตัว แผ่นหลัง หากสวมสร้อยคอที่ทำจากเงิน ทองแดง ทองคำ
อาจมีรอยไหม้ และที่ฝ่าเท้าอาจมีรอยเหมือนไฟไหม้เช่นกัน
- หากบาดแผลไม่ใหญ่มากให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่หากหมดสติให้รีบโทรแจ้ง 1669 ระหว่างนั้นหากผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำ CPR โดยด่วน
สิ่งที่ต้องมีให้มากที่สุด คือ สติ และความรู้พื้นฐานในเรื่องของกระแสไฟ ตัวนำไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ อย่างไรก็ดีเราควรตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วให่มากที่สุด หากอยู่นอกบ้านก็ควรสังเกตรอบข้างให้ดีก่อนจะสัมผัสกับอะไร หากต้องสัมผัสที่จับอะไรที่เดาว่าทำมาจากโลหะ ให้ลองเอาหลังมือแตะเบาๆ ดูก่อนแล้วค่อยจับ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการถูกไฟดูดได้ค่ะ
คุณกำลังดู: 8 วิธีเอาตัวรอดจาก “ไฟดูด-ไฟช็อต”
หมวดหมู่: สุขภาพ