8 อาการ "วัยทอง" ที่อาจพบได้ พร้อมวิธีรักษา

ใครที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ลองเช็กสุขภาพของตัวเองว่ามีอาการวัยทองหรือไม่

8 อาการ "วัยทอง" ที่อาจพบได้ พร้อมวิธีรักษา

วัยทองเป็นวัยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของร่างกายจากระดับฮอร์โมนเพศที่ลดลง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

วัยทอง คืออะไร

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “สตรีวัยทอง” หรือสตรีวัยหมดประจำเดือน หรือวัยหมดระดู หมายถึง สตรีที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากการทำงานของรังไข่ที่ลดลง

ช่วงวัย ของวัยทอง 

ช่วงอายุที่พบได้บ่อย คือ 50-59 ปี อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางร่างกายของผู้หญิงทำให้ภาวะหมดประจำเดือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยผู้หญิงประมาณ 15-20 % จะไม่มีอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ นอกจากประจำเดือนหมดไปเท่านั้น

สาเหตุของการเกิดอาการวัยทอง

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากจะเกิดตามธรรมชาติแล้ว อาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของรังไข่ก็อาจส่งผลต่อการขาดประจำเดือน รวมไปถึงการทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ที่ใช้ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะนอกจากการรักษาจะส่งผลต่อเซลล์มะเร็งแล้ว ยังส่งผลต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกายที่มีการเจริญเติบโตด้วย 

กรณีเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนกำหนด (อายุน้อยกว่า 40 ปี) อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ได้แก่ ประวัติคนในครอบครัวเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็ว โรคภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตนเอง ความผิดปกติของโครโมโซม X และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

อาการวัยทองที่พบได้

นอกเหนือจากการสิ้นสุดของประจำเดือนแล้ว ยังมีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอีกหลายประการ เช่น 

  1. ร้อนวูบวาบ 
  2. เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย 
  3. อารมณ์แปรปรวน 
  4. ช่องคลอดแห้ง และตีบแคบ
  5. ปัสสาวะบ่อย หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  6. นอนน้อย นอนไม่ค่อยหลับ
  7. อ้วนขึ้น เพราะระบบเผาผลาญร่างกายทำงานได้น้อยลง
  8. อาจส่งผลในระยะยาว เช่น โรคกระดูกพรุน

สตรีทุกคนต้องเข้าสู่ช่วงวัยทอง การดูแลและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ โดยสามารถรับมือง่ายๆ ได้ดังนี้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ เน้นอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงและไขมันต่ำ งดสูบบุหรี่ ลดการดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกการควบคุมอารมณ์ให้มีความคิดในเชิงบวก และตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอปีละ 1 ครั้ง หากรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงในช่วงวัยทองมีผลกระทบกับคุณภาพชีวิต ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษา พูดคุย และรับการรักษาต่อไป

คุณกำลังดู: 8 อาการ "วัยทอง" ที่อาจพบได้ พร้อมวิธีรักษา

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด