จับพวงมาลัยผิด ชีวิตเปลี่ยน อ่าน! วิธีจับพวงมาลัยรถยนต์ที่ถูกต้อง
วิธีจับพวงมาลัยรถยนต์ที่ถูกต้อง ช่วยให้ควบคุมทิศทางและเลี้ยวได้ง่ายขึ้น...
การจับพวงมาลัยรถยนต์อย่างถูกต้องถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญที่สุด
ที่คุณสามารถทำได้ เพื่อให้มั่นใจในการขับขี่อย่างปลอดภัย
พวงมาลัยทำหน้าที่ควบคุมทิศทางรถของคุณและเทคนิคการจับหรือหมุนพวงมาลัยที่ถูกต้อง
ช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุ
และช่วยให้คุณขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากสถิติอุบัติเหตุทางรถยนต์ ส่วนหนึ่งบ่งชี้ว่า
การจับพวงมาลัยที่ไม่ถูกต้องเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถเกิดปัญหาเมื่อผู้ขับไม่สามารถควบคุมทิศทางของรถจนแล่นออกนอกถนน
ตำแหน่งมือจับพวงมาลัยรถยนต์ที่เหมาะสม
คุณอาจเคยได้ยินว่า การจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง “10 และ 2” นาฬิกา เมื่อต้องวางมือบนพวงมาลัย ตัวเลขเหล่านี้อ้างอิงเปรียบเทียบกับเข็มและหน้าปัดนาฬิกา ในอดีต มือขวาของคนขับจะอยู่ที่ตำแหน่ง เลข "สอง" และมือซ้ายอยู่ที่เลข "10" อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญให้ผู้ขับลดมือลงเล็กน้อยไปที่ตำแหน่ง "9 และ 3" นาฬิกา การแนะนำให้เปลี่ยน เพราะตำแหน่งการจับพวงมาลัยที่ "10 และ 2" นาฬิกา อาจเป็นอันตราย ในรถยนต์ที่มีพวงมาลัยขนาดเล็กและติดตั้งถุงลมนิรภัย
เนื่องจากขนาดของพวงมาลัยแตกต่างกันไป ตำแหน่งของพวงมาลัย ควรปรับตั้งความสูงต่ำและไกลใกล้ ให้เหมาะกับสรีระและความถนัดในการจับพวงมาลัยมากที่สุด ช่วงแขนที่จับพวงมาลัยไม่ตึงหรือหย่อนมากจนเกินไป โดยทั่วไป ตำแหน่งบังคับเลี้ยว “9 และ 3” จะทำให้มือของคุณอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตลอดเวลา สำหรับวิธีการเลี้ยวแบบ “ดันและดึง” การบังคับเลี้ยวด้วยมือด้วยวิธีการเลี้ยวแบบ “ดันและดึง” ด้วยมือโดยยังคงตำแหน่งการจับที่ 9 และ 3 นาฬิกาเอาไว้ การลองครั้งแรกๆ หลังจากไม่เคยจับพวงมาลัยในตำแหน่งนี้มาก่อน ค่อนข้างฝืนความรู้สึกและไม่คุ้นชิน แต่ถ้าจับในตำแหน่งดังกล่าวบ่อยๆ คุณจะเริ่มรู้สึกว่า การบังคับทิศทางของรถด้วยตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกานั้นง่ายต่อการควบคุมทิศทางมากกว่าการจับในตำแหน่งอื่น
เทคนิคของการหมุนพวงมาลัย สำหรับการขับในเชิงป้องกันอุบัติเหตุล่วงหน้า ในสถานการณ์ปกติ มีการหมุนอยู่สองรูปแบบก็คือ แบบ ดึง-ดัน (pull-push steering) และแบบคล่อมแขน หรือ (hand-over-hand) ทั้งสองแบบเป็นการหมุนพวงมาลัยในระบบสากล และเป็นแบบที่ถูกต้อง ให้ความคล่องตัวและควบคุมทิศทางของรถได้ดีที่สุด
การหมุนพวงมาลัยแบบ ดึง-ดัน (pull-push steering)
เทคนิคของการหมุนพวงมาลัยในลักษณะนี้
เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมทิศทาง
รถจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนทิศทางอย่างนิ่มนวล
ผู้ขับที่ใช้การหมุนแบบดึง-ดัน
มีความมั่นใจในการควบคุมรถไปตามทิศทางที่ต้องการ
ให้ความรู้สึกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้อย่างแท้จริง
ด้วยวิธีการหมุนพวงมาลัยแบบดึง-ดัน
มือทั้งสองจะต้องอยู่บนพวงมาลัยตลอดเวลา
สอดคล้องกับเทคนิคของการจับพวงมาลัยดังที่ได้กล่าวเอาไว้ข้างต้น
การหมุนพวงมาลัยแบบดึง-ดัน มือทั้งสองข้างจะทำหน้าที่สลับกัน
ระหว่างการดึงและการดัน คือไม่ดึงหรือดันไปพร้อมๆ กันทั้งสองมือ
เมื่อจะเลี้ยวขวา ให้เลื่อนมือรูดผ่านวงพวงมาลัยขึ้นมาหาตำแหน่ง 12
นาฬิกา หรือประมาณ 12.30-13.00 นาฬิกา
เมื่อทำในลักษณะดังกล่าว ก็เพื่อให้ได้วงเลี้ยวที่กว้างขึ้น จากนั้นมือขวาก็ดึงพวงมาลัยมาสู่ตำแหน่ง 18 นาฬิกา และพบกับมือขวาที่จุดนัดหมาย ณ ตำแหน่ง 18 นาฬิกา หากวงเลี้ยวยังไม่พอตามที่ต้องการ มือซ้ายจะดันพวงมาลัยจากตำแหน่ง 18 นาฬิกา ขึ้นไปหาที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา มือขวาจะรูดขนานไปกับมือซ้าย ไปสู่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาเช่นเดียวกัน ไม่ควรปล่อยให้พวงมาลัยหมุนฟรีแบบตีกลับ ถ้าคุณทำให้พวงมาลัยหมุนฟรีในระหว่างการตั้งลำให้ตรง แสดงว่ารถเป็นผู้ควบคุมทิศทาง ไม่ใช่คุณที่กำลังควบคุม!
วิธีการคืนพวงมาลัยก็คล้ายกับการหมุนพวงมาลัยเลี้ยวขวา เพียงแต่ทำกลับทางกัน เพราะการคืนพวงมาลัยหลังจากการหมุนเพื่อเลี้ยวขวา ก็คือการหมุนพวงมาลัยเลี้ยวซ้ายนั่นเอง เมื่อได้ทิศทางหรือเลี้ยวไปทางขวาตามที่ต้องการแล้ว ใช้มือขวาดันไปจนสุดที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกา ใช้มือซ้ายดึงมาอยู่ที่ตำแหน่ง 18 นาฬิกา กลับทางกับการหมุนพวงมาลัยเลี้ยวขวาดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ถ้าจะเลี้ยวไปทางซ้าย ก็ทำเช่นเดียวกับการหมุนพวงมาลัยเลี้ยวขวา เพียงแต่สลับหน้าที่ของมือ คือ จากขวาดึง ซ้ายดัน มาเป็น ซ้ายดึง ขวาดันแทน บางครั้งก็อาจหมุนพวงมาลัยนิดหน่อย ไม่ถึงกับต้องหมุนรอบกันแบบเต็มวง ก็สามารถเคลื่อนไปยังทิศทางที่ต้องการได้
ใช้วิธีรูดมือผ่านพวงมาลัยเท่านั้น ห้ามยกจับ เพื่อทำให้แน่ใจได้ว่า เมื่อใดก็ตามที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น คุณจะสามารถจับพวงมาลัยได้อย่างมั่นคงในทันทีทันใด การจับแบบสบายๆ นั้นช่วยทำให้การขับมีความผ่อนคลาย แต่ก็ต้องเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากอุบัติเหตุนั้นมักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่มีการแจ้งเตือนใดๆ ทั้งสิ้น การเตรียมความพร้อมด้วยสมาธิที่มั่นคงจดจ่ออยู่กับการควบคุมรถจะช่วยทำให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุได้
การหมุนพวงมาลัยแบบคล่อมแขน (hand-over-hand)
การหมุนพวงมาลัยแบบคล่อมแขน ผู้คนทั่วไปมักนิยมใช้กัน เพราะให้ความสะดวก แถมยังได้วงเลี้ยวที่กว้างกว่าอีกด้วย สำหรับการขับรถในเชิงป้องกันอุบัติเหตุ มีข้อกำหนดที่ใช้ในขอบเขตค่อนข้างจำกัด และเหมาะสมกับบางกรณีเท่านั้น เช่น การเลี้ยวที่มีมุมเลี้ยวมากกว่า 120 องศา การเลี้ยวกลับลำแบบยูเทิรน์ หรือกับมุมหักซึ่งบริเวณวงเลี้ยวค่อนข้างแคบ หรือในกรณีที่ขับเข้าออกจากที่จอดรถด้วยความเร็วต่ำ การหมุนพวงมาลัยแบบคล่อมแขน มีข้อเสียอยู่หลายอย่าง เช่น มือซ้ายและมือขวาจำเป็นต้องไขว้กัน บางช่วงต้องจับพวงมาลัยด้วยมือแค่ข้างเดียว
ข้อดีของการหมุนแบบคล่อมแขนก็คือ ทำวงเลี้ยวได้อย่างรวดเร็วและสนุกกว่าการหมุนแบบอื่น การหมุนพวงมาลัยในลักษณะคล่อมแขน มีหลายอย่างที่ขัดแย้งกับการหมุนพวงมาลัยแบบดึง-ดัน เช่น มือซ้ายและมือขวาข้ามตำแหน่ง 12 และ 18 นาฬิกา อันเป็นข้อห้ามของการหมุนพวงมาลัยในแบบดึง-ดัน ต่อมาก็คือ ยอมให้มีการยกจับแทนการรูดผ่านมือแบบดึง-ดัน ดังนั้นก่อนที่จะใช้การหมุนแบบคล่อมแขน จะต้องแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินแบบฉุกละหุก ขณะกำลังหมุนพวงมาลัย
วิธีหมุนพวงมาลัยแบบคล่อมแขน เริ่มต้นด้วยมือข้างใดข้างหนึ่ง ดันพวงมาลัยให้ผ่านจุด 12 นาฬิกา ไปจนถึงตำแหน่ง 9 หรือ 14 นาฬิกา แล้วใช้มืออีกข้างข้ามไปจับพวงมาลัยอีกด้าน ในตำแหน่ง 10 นาฬิกา หรือ 14 นาฬิกา และหมุนตามไปในทิศทางเดียวกัน สมมติว่าคุณจะเลี้ยวขวามุมหักศอก คุณจะต้องเริ่มต้นด้วยการลดมือซ้ายลงมาที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกา แล้วดันไปทางขวา ผ่านจุด 12 นาฬิกา ไปจนถึงตำแหน่ง 14 นาฬิกา ขณะเดียวกัน ใช้มือขวาคล่อมแขนซ้าย ไปจับพวงมาลัยที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา แล้วดึงไปทางขวา การคืนพวงมาลัย ก็ทำในลักษณะเดียวกัน แต่กลับทิศทางกันก็คือ ลดมือขวามาที่ตำแหน่ง 15 นาฬิกา แล้วดันไปทางซ้ายจนถึงตำแหน่ง 10 นาฬิกา ยกมือซ้ายคล่อมแขนขวาไปจับพวงมาลัยประมาณ 14 นาฬิกา แล้วดึงไปทางซ้าย อย่าลืมว่าวิธีหมุนพวงมาลัยแบบคล่อมแขนนั้นใช้ได้ในวงจำกัด และก่อนจะใช้วิธีหมุนแบบคล่อมแขนต้องแน่ใจว่าปลอดภัยจริงๆ ไม่ต้องแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: จับพวงมาลัยผิด ชีวิตเปลี่ยน อ่าน! วิธีจับพวงมาลัยรถยนต์ที่ถูกต้อง
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์