ชุดนักเรียนไทยดังถึงจีน รู้จัก “ชุดนักเรียน” พร้อมประวัติและที่มา 131 ปี
ชุดนักเรียน เป็นเครื่องแบบที่กำหนดให้นักเรียนในระบบรัฐบาลแต่ง ซึ่งหากนับจาก พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียนครั้งแรก พ.ศ.2482 ชุดนักเรียนไทยจะมีประวัติ 84 ปี แต่หากนับจากการแต่งกายไปโรงเรียนครั้งแรกของเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานข้าราชการ หรือประชาชน มีอายุกว่า 130 ปีทีเดียว
ชุดนักเรียน ประวัติและความเป็นมา
อย่างที่เข้าใจกันในสังคมว่าชุดนักเรียนเป็นชุดที่สงวนไว้เพื่อนักเรียน เนื่องจากเป็นองค์ประกอบที่ระบุไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจนตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งโรงเรียน ว่าผู้ใดไม่มีสิทธิ์แต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยชอบด้วยกฎหมาย ยุคนั้นมีระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท แต่ปัจจุบันนี้บริบทของสังคมเปลี่ยนแปลงไป มาย้อนอ่านประวัติชุดนักเรียนไทย และวิวัฒนาการของชุดนักเรียนไทยในยุคต่างๆ
ชุดนักเรียน ม.ปลาย สู่ชุดคอสเพลย์ชุดนักเรียนไทยในจีน
เสี่ยวจวี หรือ จวี จิ้งอี นักร้องนักแสดงชาวจีน อดีตวง SNH48 ผู้โด่งดังจากบทนางพญางูขาว ได้สั่งปักชุดนักเรียน ม.ปลาย ชื่อตัวเองเป็นภาษาไทย ถ่ายภาพลงโซเชียล และถ่ายรูปกับโลเคชั่นต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร กลายเป็นไวรัลดัง และเป็นที่นิยมถึงการสวมชุดนักเรียนไทยท่องเที่ยวเมืองไทย
ชุดนักเรียนไทย สงวนไว้เพื่อนักเรียน แต่งคอสเพลย์ได้หรือไม่
เพื่อรักษาวัฒนธรรม ศีลธรรม อันดีงามของสังคม บ้านเราก็มีกฎหมายที่คุ้มครองการแต่งชุดนักเรียนให้สงวนไว้สำหรับนักเรียนจริงๆ เพื่อป้องกันผู้ไม่ประสงค์ดีนำการแต่งชุดนักเรียนไปใช้ในทางที่ผิด เช่น หลอกลวงรับบริจาคเพื่อความสงสาร หรือแม้กระทั่งสร้างภาพเพื่อปลอมแปลงประวัติสมัครงาน
โทษของการสวมชุดนักเรียน แต่ไม่ใช่นักเรียน ได้กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 มาตรา 7 ระบุว่า ผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียน โดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง หรือแต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท
แต่การนำชุดนักเรียนมาสวมใส่เล่น โดยที่ทราบอยู่แล้วว่าเป็นการแสดง ไม่ได้หลอกลวงใคร ไม่ได้ทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าเป็นนักเรียน ก็ไม่เข้าข่ายเสียค่าปรับ จึงเป็นที่นิยมแต่งชุดนักเรียน ม.ปลาย ในธีมงานปาร์ตี้เทศกาลต่างๆ ทั้งดารา คนดังในเมืองไทยเองก็เคยใช้ชุดนักเรียนเป็นธีมงานเลี้ยง
ประวัติชุดนักเรียนไทยจากบันทึกคนรุ่นก่อน
ย้อนอ่านจากบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการสวมเครื่องแบบชุดนักเรียน ปรากฏในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ งานนิพนธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ซึ่งพระบิดาได้บันทึกภาพถ่ายขณะทรงสวมชุดเครื่องแบบนักเรียนมหาดเล็กรักษาพระองค์ สั่งตัดเพื่อสวมใส่ถ่ายภาพเป็นที่ระลึก รวมถึงเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ตั้งโรงเรียนมหาดเล็กรักษาพระองค์ในเขตพระนคร ก็ได้ทรงศึกษาเป็นเวลา 4 ปี
ชุดมหาดเล็กรักษาพระองค์ โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม ต้นแบบชุดนักเรียนนายร้อย และเครื่องแบบราชปะแตนโรงเรียนทหารในปัจจุบัน
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์สวมชุดโรงเรียนนายร้อยชั้นประถม คาดว่าระหว่างอายุ 7-11 ปี ก่อนได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศเมื่ออายุ 13 ปี
ประวัติชุดนักเรียน แบ่งออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ ชุดนักเรียนโรงเรียนทหาร, ชุดนักเรียนโรงเรียนรัฐบาล และชุดนักเรียนโรงเรียนเอกชน
เมื่อกล่าวถึงชุดนักเรียนที่เข้าใจกันโดยทั่วไปก็จะแบ่งย่อยไปอีก ได้แก่ ชุดนักเรียนตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ, ชุดนักเรียนคอนแวนต์, ชุดพละ และชุดลูกเสือ เนตรนารี-ยุวกาชาด
ไทม์ไลน์การก่อตั้งโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย
โรงเรียนที่เกิดก่อน พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482
พ.ศ.2395 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย (โรงเรียนเอกชน)
พ.ศ.2411 โรงเรียนทหารสราญรมย์ ภายหลังคือโรงเรียนมหาดเล็ก
และโรงเรียนนายร้อยทหารบก (โรงเรียนหลวง)
พ.ศ.2424 โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ (โรงเรียนรัฐบาล)
พ.ศ.2428 โรงเรียนเทพศิรินทร์ (โรงเรียนรัฐบาล), พ.ศ.2428
โรงเรียนอัสสัมชัญ (โรงเรียนเอกชน)
พ.ศ.2447 โรงเรียนราชินี (โรงเรียนหลวง)
พ.ศ.2468 มาแตร์เดอี (โรงเรียนหลวง)
เมื่อย้อนรอยดูโรงเรียนที่เก่าแก่ ก่อนกำเนิด พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 พบว่าลักษณะชุดนักเรียนไทยจะแตกต่างกันไปตามกฎระเบียบของแต่ละโรงเรียน ได้แก่
1. ชุดนักเรียนทหาร และชุดนักเรียนนายร้อย
เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่อยู่ในการดูแลของกรมทหาร จึงมีเครื่องแบบที่เป็นทางการ เป็นต้นกำเนิดชุดราชปะแตน นักเรียนทหารสมัยก่อนล้วนเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ชุดนักเรียนลักษณะนี้จึงเป็นทางการ และมีราคาสูง
2. ชุดนักเรียนชายกางเกงสีกากี ชุดนักเรียนหญิงกระโปรงพลีทสีน้ำเงิน
ชุดนักเรียนโรงเรียนรัฐ จะมีลักษณะคล้ายกับชุดนักเรียนทรงกะลาสีของต่างประเทศ แต่มีการปรับเปลี่ยนรูปทรงให้สอดคล้องกับสรีระของคนไทย รวมถึงเนื้อผ้าที่ระบายความร้อน และราคาเข้าถึงง่าย เสื้อเป็นผ้าสีขาว กางเกง หรือกระโปรงเป็นสีน้ำเงิน
ชุดลูกเสือ เนตรนารี
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จัดตั้งอาสาสมัครรุ่นเยาว์ในช่วงสงครามโลก เพื่อปลูกฝังให้ช่วยเหลือกิจกรรมอาสาต่างๆ เรียกว่า “ลูกเสือ” เป็นจุดกำเนิดชุดลูกเสือ-เนตรนารีในปัจจุบัน โดยมีเครื่องแบบที่เพิ่มขึ้นมาบนชุดนักเรียน คือ หมวก ผ้าพันคอ และป้ายสัญลักษณ์การทำกิจกรรมต่างๆ ชุดลูกเสือมัธยมปรับให้ใช้เสื้อกางเกงสีกากีแก่ลูกเสือผู้ชาย ส่วนเนตรนารีเป็นชุดผ้าสีเขียว
3. ชุดนักเรียนคอนแวนต์
โรงเรียนชายล้วน โรงเรียนหญิงล้วน ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนสมัยก่อน จะมีเสื้อนักเรียนที่ใช้ผ้าสีขาวเช่นเดียวกับโรงเรียนรัฐ แต่กระโปรง กางเกง มักจะใช้สีแดง และชุดนักเรียนหญิง ม.ปลาย มักจะเป็นเสื้อแขนยาวติดกระดุม
ชุดนักเรียนไทย ประวัติ 131 ปี สู่ชุดคอสเพลย์ฟีเวอร์ในจีน
หากนับประวัติชุดนักเรียนไทยตั้งแต่การมีเครื่องแบบเพื่อสวมไปโรงเรียนครั้งแรก มีประวัติ 131 ปี แต่หากนิยามตามการก่อตั้งกฎหมายคุ้มครองผู้สวมชุดนักเรียน ชุดนักเรียนไทยก็จะมีประวัติ 84 ปี การสวมชุดนักเรียนจึงเป็นจารีตประเพณีอย่างหนึ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมานานจนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ชาวต่างชาติชื่นชม
พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 กับการคุ้มครองชุดนักเรียนครั้งแรก
พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2482 เป็นกฎหมายชุดนักเรียนฉบับแรกที่ลงโทษผู้ที่สวมเครื่องแบบนักเรียนเพื่อทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าเป็นนักเรียน มีโทษปรับถึงสองร้อยบาท เนื้อหาในกฎหมายมีดังนี้
“มาตรา 5 ผู้ใดไม่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยชอบด้วยกฎหมาย บังอาจแต่งเครื่องแบบหรือแต่งเลียนเครื่องดั่งกล่าวแล้วนั้นก็ดี หรือจัดหรืออุดหนุนให้ผู้ใดกระทำการดั่งกล่าวแล้วนั้นก็ดี ถ้าการกระทำที่ว่ามานี้ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยประสงค์จะให้เขาเชื่อถือหรือเข้าใจว่า ผู้แต่งเป็นนักเรียน ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท”
พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ปรับชุดนักเรียนให้ทันสมัย
ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป
ทำให้การสวมชุดนักเรียนเป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น บางภูมิภาค
บางจังหวัด ยังอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ส่วนกลาง
รวมถึงสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ความร้อน ความหนาว
และกิจกรรมที่ทำในโรงเรียน
ทำให้ทางกระทรวงศึกษาธิการต้องอะลุ่มอล่วยกฎบางอย่าง เช่น
อิสระในการสวมถุงเท้าแบบสั้นหรือยาวในเครื่องแบบนักเรียน
แต่ก็ยังคงไว้ว่าชุดนักเรียนคือสิ่งที่สงวนไว้ให้นักเรียนเท่านั้น
ชุดนักเรียนไทย vs ชุดนักเรียนญี่ปุ่น แบบไหนถูกนำไปแต่งคอสเพลย์มากกว่ากัน
เมื่อพูดถึงชุดนักเรียนไทยเทียบกับชุดนักเรียนญี่ปุ่น ในมุมมองการแต่งกาย พบว่าในประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นส่วนหนึ่งสวมชุดนักเรียนญี่ปุ่นคอสเพลย์กันตามแหล่งท่องเที่ยวเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ชุดนักเรียนญี่ปุ่นมีความน่ารัก ผู้ชายยังนำไปสวมใส่ถ่ายรูปกับโลเคชั่นอีเวนต์ต่างๆ แต่สำหรับชุดนักเรียนไทยไม่ค่อยมีใครซื้อไปสวมถ่ายรูปเล่น เพราะราคาชุดนักเรียนต่อหนึ่งเซตก็มีราคาเกือบพันบาท
นึกถึงชุดนักเรียน นึกถึงบางลำพู
Q : ทำไมคนสมัยก่อนเมื่อถึงนึกถึงชุดนักเรียน
ต้องมาที่ย่านบางลำพู
A :
บางลำพูนอกจากเป็นสถานที่ขายเสื้อผ้าแฟชั่นที่สำคัญของเขตพระนครแล้ว
ยังเป็นถิ่นค้าขายดั้งเดิมที่อยู่ใกล้กับรั้วประตูวัง
ที่จำหน่ายเครื่องแบบต่างๆ ข้าราชการก็มักจะตัดชุดเครื่องแบบ
ซื้อชุดราชปะแตน สั่งตัดรองเท้าหนังจากร้านดังย่านบางลำพู
และเมื่อลูกหลานเข้าสู่วัยเข้าโรงเรียน ทางร้านตัดชุดก็ปรับตัว
ตัดชุดนักเรียนเพื่อให้ลูกหลานข้าราชบริพารได้มีไว้สวมใส่ไปโรงเรียน
ผ้าสีขาวที่นำมาตัดชุดนักเรียนบางชุดหลักพันบาทเลยทีเดียว
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชุดนักเรียน
- พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482
- พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2551
เห็นที่มายาวนานอย่างนี้แล้ว ใครที่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ ก็คงภูมิใจในการสวมชุดนักเรียน เพราะเป็นการสืบสานจารีตทางการศึกษาของสถาบัน แต่ยุคสมัยใหม่เครื่องแบบนักเรียนก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามความไม่สะดวกบางประการที่ควรจะผ่อนปรนให้เป็นเรื่องของสิทธิส่วนบุคคล สรุปสุดท้ายใครจะเอาไปใส่เป็นคอสเพลย์ก็ไม่ผิด แต่อย่านำไปหลอกลวงคนอื่นว่าเป็นนักเรียนสถาบันไหน ไม่อย่างนั้นแล้วความเข้าใจผิดอื่นๆ จะตามมา.
ผู้เขียน : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Chonticha Pinijrob
อ้างอิง :
- ผู้เขียน พงษ์พรรณ บุญเลิศ., วิวัฒนาการชุดนักเรียน., เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ https://www.moe.go.th [สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566]
- ประวัติโรงเรียนอัสสัมชัญ., https://www.assumption.ac.th/about_history.html [สืบค้นเมื่อ 9 มีนาคม 2566]
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- “ถุงเท้ากันลื่น” ควรเป็นถุงเท้านักเรียนที่ถูกระเบียบได้หรือยัง
คุณกำลังดู: ชุดนักเรียนไทยดังถึงจีน รู้จัก “ชุดนักเรียน” พร้อมประวัติและที่มา 131 ปี
หมวดหมู่: แม่และเด็ก