เช็กอาการ “ปวดท้อง” แบบไหนต้องระวัง ควรรีบไปพบแพทย์

เช็กอาการ “ปวดท้อง” แบบไหนต้องระวัง ควรรีบไปพบแพทย์

อาการ “ปวดท้อง” มาจากหลายสาเหตุ นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการปวดรวมถึงบริเวณที่ปวดที่แตกต่างกันออกไปด้วย อาการปวดท้องแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวังบ้าง

อาการปวดท้องมีกี่แบบ

พญ.สาวินี จิริยะสิน แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต เผยว่าในทางการแพทย์ จะแบ่งลักษณะการปวดท้องออกเป็น 3 แบบ

  • แบบที่ 1 คือปวดจากอวัยวะภายใน ซึ่งจะเป็นการปวดแบบปวดลึก ปวดบิด ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน
  • แบบที่ 2 คือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะนั้นๆ สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจน
  • แบบที่ 3 คือการปวดร้าว ซึ่งเป็นการปวดที่ร้าวหรือแผ่ไปยังบริเวณอื่นๆ ตามการลำเลียงของเส้นประสาท เช่น ปวดท้องใต้ลิ้นปี่แล้วปวดร้าวไปที่บริเวณหลัง คิดถึงโรคตับอ่อนอักเสบ หรือ ปวดท้องแล้วร้าวลงขาหนีบ คิดถึงนิ่วในท่อไต เป็นต้น

อาการปวดท้องบริเวณไหน หมายถึงอะไร

สำหรับอาการปวดท้องที่คนไข้สามารถสังเกตด้วยตนเองได้คือแบบที่ 2 หรือการปวดท้องตามตำแหน่งของอวัยวะ ซึ่งในทางการแพทย์จะแบ่งช่องท้องของคนไข้เป็น 9 โซน ได้แก่

โซน 1: ช่องท้องด้านขวาบน

จะเป็นอวัยวะ ได้แก่ ตับ ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคฝีหนองในตับ ถุงน้ำดีอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี ฯลฯ

โซน 2: กลางลำตัวบริเวณลิ้นปี่

เป็นบริเวณของกระเพาะอาหาร ตับอ่อน อาการปวดอาจเกิดจากกระเพาะอาหารอักเสบ ติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori มีแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น หรือภาวะตับอ่อนอักเสบ

โซน 3: ช่องท้องด้านซ้ายบน

เป็นบริเวณของม้าม (อาจเกิดจากการขาดเลือดของม้าม ซึ่งเจอได้น้อยในเวชปฏิบัติ)

โซน 4 และ 6: บริเวณเอว

หมายถึงด้านข้างสะดือซ้ายและขวา อวัยวะได้แก่ ไต ท่อไต ลำไส้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดจากกรวยไตอักเสบ นิ่วในท่อไต ลำไส้ใหญ่อักเสบ ไปจนถึงมะเร็งลำไส้ใหญ่

บริเวณที่ปวดท้องแต่ละโซนก็มาจากสาเหตุที่ต่างกัน
บริเวณที่ปวดท้องแต่ละโซนก็มาจากสาเหตุที่ต่างกัน

โซน 5: ตรงกลางท้องรอบสะดือ

อวัยวะคือลำไส้เล็ก ที่อาจเกิดจากลำไส้เล็กอักเสบหรือไส้ติ่งอักเสบในระยะเริ่มต้น

โซน 7 และ 9: ท้องน้อยด้านซ้ายและขวา

เป็นบริเวณเดียวกับไส้ติ่งซึ่งช่วงแรกจะมีอาการปวดรอบสะดือ หลังจากนั้น 6-8 ชั่วโมง จะมีการย้ายตำแหน่งมาปวดบริเวณขวาล่างเมื่อการอักเสบลุกลามมากขึ้น ส่วนอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่บริเวณนี้ ได้แก่ ปีกมดลูก รังไข่ และลำไส้ใหญ่ทั้งสองด้าน โดยอาจเกิดปีกมดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ กระเปาะของลำไส้ใหญ่โป่งพองอักเสบ ซึ่งมักพบด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา

โซน 8: บริเวณท้องน้อยเหนือหัวหน่าว

เป็นส่วนของกระเพาะปัสสาวะ มดลูก ซึ่งอาจเกิดจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มดลูกอักเสบ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งต้องซักประวัติตกขาว ประจำเดือนเพิ่มเติม และแนะนำปรึกษาสูตินรีแพทย์

อาการปวดท้องแบบไหนที่ต้องระวัง

หากมีอาการปวดท้องเหล่านี้ควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

  • มีอาการปวดท้องรุนแรงมากและต่อเนื่องเกิน 6 ชม.
  • มีไข้และอาเจียนรุนแรง
  • มีเลือดออกที่ทางเดินอาหาร
  • ปวดร้าวทะลุหลัง
  • ปวดเกร็งทั้งท้อง
หากมีอาการปวดท้องรุนแรงต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
หากมีอาการปวดท้องรุนแรงต่อเนื่องเกิน 6 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

“อาการเหล่านี้อาจเป็นโรคที่ต้องมีการผ่าตัดเร่งด่วน หรือได้รับการรักษาทันที เช่น กระเพาะทะลุ ไส้ติ่งอักเสบ ถุงน้ำดีอักเสบ ท่อน้ำดีอุดตัน ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น หรืออาการปวดท้องน้อยในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ร่วมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการแท้งบุตร หรือท้องนอกมดลูกก็ต้องรีบมาพบแพทย์ทันทีเช่นกัน” พญ.สาวินี จิริยะสิน กล่าวสรุป

ดังนั้นหากมีอาการปวดท้องจึงอย่าชะล่าใจ เพราะการปวดท้องไม่ได้แปลว่าจะเป็นโรคกระเพาะเสมอไป แต่อาจมาจากสาเหตุอื่นๆ อีกมากมาย จึงควรสังเกตอาการของตนเองอย่างใกล้ชิดว่ามีการปวดรูปแบบใด ปวดบริเวณไหน และควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรีบทำการรักษาแต่เนิ่นๆ

คุณกำลังดู: เช็กอาการ “ปวดท้อง” แบบไหนต้องระวัง ควรรีบไปพบแพทย์

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด