ชม เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV ยิงจรวดนำวิถีปราบเรือผิวน้ำ Harpoon

เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือรบที่ไทยต่อเอง ยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้นแบบ Harpoon เข้าเป้าอย่างแม่นยำกลางทะเลอันดามัน

ชม เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV ยิงจรวดนำวิถีปราบเรือผิวน้ำ Harpoon

วันที่ 28 มีนาคม 2566 นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของกองทัพเรือไทย ด้วยมีการยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น แบบ Harpoon จากเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือ OPV ซึ่งกองทัพเรือต่อเองตามแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงประกอบพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พุทธศักราช 2562 ณ อู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช กรมอู่ทหารเรือ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และกองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ และใช้ราชการในปีพุทธศักราช 2562 เป็นต้นมา

โครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 เฉลิมพระเกียรติฯ เป็นโครงการที่กองทัพเรือขออนุมัติกระทรวงกลาโหมดำเนินการต่อขึ้นจากแบบเรือที่กองทัพเรือมีใช้ราชการ ด้วยการน้อมนำและยึดถือการพึ่งพาตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตามกระแสพระราชดำรัสที่ทรงรับสั่งแก่ผู้บังคับหมู่เรือรักษาการณ์วังไกลกังวล และผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ที่วังไกลกังวล เกี่ยวกับการใช้เรือของกองทัพเรือ เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 45 ที่ว่า “กองทัพเรือจึงควรใช้เรือที่มีขนาดเหมาะสม และสร้างได้เอง ซึ่งเมื่อสร้างเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุดเรือ ต.91 ได้แล้ว ควรขยายแบบเรือให้ใหญ่ขึ้น และสร้างเพิ่มเติม”

เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เป็นการต่อยอดจากชุดเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งที่กองทัพเรือไทยจัดสร้างขึ้น (เรือ ต.91(เรือของพ่อ), เรือ ต.991) ต่อยอดมาเป็นโครงการสร้างเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 1 (เรือหลวงกระบี่) และ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำที่ 2 (เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์)
เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากำลังรบตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือ เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การรักษากฎหมายในทะเล และการปฏิบัติการรบผิวน้ำ รวมทั้งการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล และสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรืออื่นๆ โดยเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์จะเข้าประจำการที่ กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ โดยมี นาวาโท วีรุตม์ ฉายะจินดา เป็นผู้บังคับการเรือ พร้อมด้วยกำลังพลประจำเรือ จำนวน 99 นาย

เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ สังกัดหมวดเรือที่ 1 กองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ เป็นเรือรบประเภทเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งชั้นริเวอร์ หมายเลขประจำเรือ 552 ขึ้นระวางประจำการเมื่อปี 2562 ขนาดระวางขับน้ำเต็มที่ 1,960 ตัน นับว่าเป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่กองทัพเรือไทยเคยสร้างมาด้วยฝีมือของคนไทย

ขีดความสามารถปฏิบัติการต่อเนื่องได้ 14 วัน โดยไม่ต้องส่งกำลังบำรุง สามารถตรวจและพิสูจน์ทราบเป้าผิวน้ำและเป้าอากาศยานทั้งกลางวันและกลางคืน พร้อมทั้งสามารถโจมตีเป้าพื้นน้ำในระยะพ้นขอบฟ้าด้วยอาวุธปล่อยนำวิถี สามารถป้องกันภัยทางอากาศในระยะประชิด รวมถึงการทำสงครามอิเล็กทรอนิกส์การยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น แบบ Harpoon ของเรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งในการฝึกประจำปีของกองทัพเรือ ทำการยิงในพื้นที่ทะเลอันดามันห่างบริเวณทางทิศตะวันตกของหมู่เกาะสิมิลัน ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 100 กิโลเมตร เป้าอยู่ห่าง 55 ไมล์ทะเล หรือประมาณ 100 กิโลเมตรจากเรือยิง โดยใช้การตั้งค่าการยิงแบบ 1 waypoint ตั้งค่าการชนเป้าแบบ pop-up

สำหรับอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น แบบ Harpoon นอกจากเป็นอาวุธสำคัญที่มีมาตรฐานใช้ในกลุ่มประเทศนาโตแล้ว กองทัพเรือที่มีศักยภาพเพียงพอได้นำเข้าประจำการอยู่หลายประเทศ ด้วยเป็นอาวุธทางเรือที่มีผลการยิงที่แม่นยำมาก ที่ผ่านมากองทัพเรือไทยได้ทำการฝึกยิงประสบความสำเร็จมาแล้วกับเรือประเภทอื่นที่ไม่ใช่เรือแบบตรวจการณ์ไกลฝั่งในครั้งนี้ ซึ่งเป็นเรือที่ขนาดเล็กกว่าเรือประเภทเรือฟริเกต ซึ่งมีสมรรถนะในมิติการรบที่มากกว่า แต่กองทัพเรือไทยก็ประสบผลสำเร็จด้วยการติดตั้งระบบอาวุธที่ทันสมัยเองกับเรือที่ต่อขึ้นเอง จึงนับได้ว่าเป็นการตอบสนองยุทธศาสตร์ป้องปรามอย่างคุ้มค่า

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เดินทางไปชมการฝึกการยิงอาวุธปล่อยครั้งสำคัญนี้ด้วยตนเองกับได้เชิญ พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอก ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก พลอากาศเอก ชานนท์ มุ่งธัญญา รองผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้แทนผู้บัญชาการทหารอากาศ และพลตำรวจเอก ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้น-สู่-พื้น แบบ Harpoon นี้ บนเรือหลวงจักรีนฤเบศร กลางทะเลอันดามันอีกด้วย

ภาพ, ข้อมูล : กองทัพเรือ / ทัพเรือภาคที่ 3

คุณลักษณะทั่วไปของเรือ (Ship System Performance)

คุณลักษณะทั่วไปของเรือ
• ความยาวตลอดลำ 90.50 เมตร ความกว้าง 13.5 เมตร
• ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 23.00 นอต
• ปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 3,500 ไมล์ทะเล ด้วยความเร็วเดินทางไม่ต่ำกว่าความเร็ว 15 นอต
• สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ ขนาด 11.5 ตัน ได้ 1 ลำ
ระบบอาวุธประจำเรือ
• ปืนขนาด 76/62 มม. แบบอัตโนมัติ จำนวน 1 ระบบ
• ปืนกลขนาด 30 มม. แท่นเดี่ยว จำนวน 2 ระบบ
• ปืนกล 0.50 นิ้ว M2 จำนวน 2 กระบอก
• ระบบอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น Harpoon จำนวน 1 ระบบ ประกอบด้วย 2 แท่น แท่นละ 4 ท่อยิง
• ระบบควบคุมบังคับบัญชาและตรวจการณ์ จำนวน 1 ระบบ
• เครื่องยิงเป้าลวง (Decoy Launcher) จำนวน 2 แท่น

> สามารถปฏิบัติการในทะเลเปิด ต่อเนื่องได้อย่างน้อย 14 วัน โดยไม่ต้องรับการส่งกำลังบำรุง

> ปฏิบัติการได้สภาวะทะเล ระดับ Sea State 5

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ชม เรือหลวงประจวบคีรีขันธ์ เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV ยิงจรวดนำวิถีปราบเรือผิวน้ำ Harpoon

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด