Cruise Control สบายเท้า สบายใจ ถ้าใช้อย่างระวัง

ทำความเข้าใจ Cruise Control คืออะไร ใช้งานยังไงให้ปลอดภัยและสบายตัวลดอาการเมื่อยล้า

Cruise Control สบายเท้า สบายใจ ถ้าใช้อย่างระวัง

Cruise Control สบายเท้า สบายใจ ถ้าใช้อย่างระวัง

“ความขยันสร้างเงินได้” เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กัน อาจารย์ผมเคยสอนแบบนี้ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบกวนบาทาอาจารย์ ก็เลยสวนไปว่า “ความขี้เกียจก็สร้างเงินนะครับครู” เล่นเอาอาจารย์เท้าสะเอวถามว่า “ยังไงกันคะคุณ” เอ้า เราลองมองแค่โลกของรถยนต์นะครับ คนที่คิดนวัตกรรมมารองรับความขี้เกียจน่ะรับเงินไปกี่ดอลลาร์กี่เยนแล้วคุณ? ขี้เกียจเปลี่ยนเกียร์เอง เกียร์ออโต้ก็เกิดขึ้นมา ขี้เกียจถอยรถจอดเอง ระบบช่วยจอดอัตโนมัติ ก็เกิดขึ้นมา จริงๆ ผมไม่น่าใช้คำว่าขี้เกียจ น่าจะใช้คำว่า “ความอยากจะสบาย” น่าจะเลี่ยงดราม่าได้มากกว่า แต่มันก็คือความจริงหรือไม่? ความอยากจะสบายของคนกลุ่มหนึ่ง ทำให้คนที่ขยันสรรหาเรื่องอีกกลุ่มมีเงินเข้ากระเป๋าได้ อาจารย์ผมแกก็พูดไม่ผิดหรอก แต่ถ้าทุกคนในโลกขยันในทุกเรื่อง นวัตกรรมหลายอย่างคงไม่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้

Cruise Control คืออะไร

Cruise Control (ครูสคอนโทรล) หรือระบบรักษาความเร็วคงที่อัตโนมัติในรถยนต์ก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่เกิดจากความอยากสบายของมนุษย์..แต่ไม่ใช่ว่าอยากสบายเพราะขี้เกียจเหยียบคันเร่งนะครับ อยากสบายเพราะเวียนหัวต่างหาก..เอาละสิ เรื่องมันเป็นไงมาไงล่ะ?

ก่อนหน้าที่จะมี Cruise Control แบบที่สามารถรักษาความเร็วคงที่ได้นั้น รถยุคแรกๆ เมื่อราวร้อยปีก่อน ใช้วิธีทำปุ่มเพิ่ม/ลดการจ่ายน้ำมัน (ก็คล้ายๆ กับเป็นคันเร่งนั่นแหละ) ติดตั้งเอาไว้ที่แดชบอร์ด ซึ่งเมื่อกดลงไปรถก็จะสามารถวิ่งด้วยความเร็วระดับหนึ่งต่อไป แต่เมื่อเจอทางชันเข้าหน่อยมันจะไม่สามารถรักษาความเร็วได้ จนกระทั่งประมาณปี 1935 วิศวกรวัย 45 ปีชื่อ Ralph Rowe Teetor แกนั่งรถไปกับทนายประจำตระกูล (ที่บ้าน Ralph ทำธุรกิจผลิตอะไหล่รถ) แล้วตลอดการขับ คุณทนายมีนิสัยชอบขับแบบเหยียบๆ ถอนๆ คันเร่งตลอด แรงดึงหน้าบ้างหลังบ้างทำให้ Ralph เวียนหัว จนทนไม่ไหวแบบจำจนวันตาย แล้วก็ใช้เวลา 10 ปี ทดลองทำอุปกรณ์ควบคุมความเร็วแบบใช้ลิ้นคันเร่งเสริม กำกับองศาเปิดปิดด้วยมอเตอร์และแม่เหล็กไฟฟ้า และใช้การหมุนของสายไมล์เป็นตัวส่ง Input เทียบกับความเร็วที่คนขับเซตไว้ แล้วปรับความเร็วเพิ่มลดชดเชยเอง จดสิทธิบัตรได้และขายในชื่อสินค้าว่า “Speedostat” แต่ก็รู้จักกันในเพียงวงแคบๆ ต้องรอจนปี 1958 บริษัท Chrysler จึงนำไปติดตั้งในรถของตัวเองแล้วเรียกว่า Autopilot แล้วหลังจากนั้น Cadillac ก็เอาบ้าง แต่เพื่อไม่ให้ชื่อซ้ำกัน จึงเรียกเสียใหม่ว่า Cruise Control ซึ่งคำนี้แหละติดปากฝรั่งมาจนทุกวันนี้

ลืมบอกไปอีกอย่าง ตา Ralph Teetor นั้น แกตาบอดตั้งแต่เด็กเลยนะครับ ทำให้แกขับรถเองไม่ได้ แต่ประสาทสัมผัสมือแกชั้นเลิศจนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 แกไปรับใช้เป็นทหารช่าง บาลานซ์แกนใบพัดตอร์ปิโด หรือปัญหาอะไรที่ช่างส่วนมากแก้ไม่จบ Ralph แกจะใช้เซนส์ของมือและนิ้วนี่แหละ ทำงานได้จนจบ นอกจาก Speedostat แล้วแกยังประดิษฐ์ระบบเกียร์ธรรมดาแบบเปลี่ยนเกียร์โดยใช้แรงดันน้ำมันและของเจ๋งๆ อีกหลายอย่าง

ต่อมาในปี 1968 Daniel Wisner พยายามใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาควบคุม Cruise Control โดยคิดไอเดียและจดสิทธิบัตรเอาไว้ แต่เทคโลยีสมองกลยุคก่อนมนุษย์ไปเหยียบดวงจันทร์ทำให้เอาไปใส่ในรถไม่ได้ ต้องรอจนปลายยุค 80s เมื่อบริษัทมือถือ Motorola ผลิตชิปที่สามารถควบคุมความเร็วของรถตามคำสั่งได้ ระบบนี้จึงถูกนำมาต่อคร่อมกับลิ้นคันเร่ง Cruise Control และส่งผลให้ทำงานได้แม่นยำ สามารถทำงานประสานกับ ECU คุมเครื่อง สั่งตัดการทำงานได้ในกรณีเกิดอุบัติเหตุ

รถยุค 1980-1999 ที่เป็นระบบคันเร่งแบบใช้สายสลิง จะมีวิธีการทำงานในการควบคุมความเร็วของรถต่างๆ กัน บางคันก็เอาสายคันเร่งอีกชุดมาต่อเข้ากับลิ้นคันเร่งปกติ แล้วอีกด้านก็ไปต่อกับโซลินอยด์/ปั๊มสุญญากาศ คอยดึง/คลายสลิงเพื่อกำหนดองศาลิ้นคันเร่ง รถบางคัน จะใช้ลิ้นคันเร่งสองชุดแยกจากกันไปเลย เวลาเราเปิดใช้ Cruise Control ลิ้นคันเร่งปกติจะเปิดสุด แล้วไปควบคุมความเร็วรถด้วยลิ้นของระบบ Cruise Control แทน รถบางรุ่น ใช้ลิ้นคันเร่งเดียว สายสลิงเดียว แต่ที่ตัวลิ้นคันเร่งจะมีมอเตอร์หมุนไปมาได้ ซึ่งเวลามันหมุน ก็พาเอาลิ้นคันเร่งหลักเปิด/ปิดไปด้วย กลวิธีต่างกัน แต่จุดประสงค์เหมือนกันคือ พยายามเพิ่ม และพยายามลดความเร็ว ให้ตรงกับที่ผู้ขับเซตไว้ เราเรียกมันรวมๆ ว่าตัวควบคุมกำลังเครื่องก็ได้

แล้วระบบ Cruise Control มันรู้ได้อย่างไรว่าเมื่อไหร่ต้องเพิ่มกำลัง/ลดกำลังเครื่องเพื่อรักษาความเร็วให้คงที่?

ระบบ Cruise Control แบบคลาสสิกนั้น มันจะรับรู้ความเร็วของรถได้ครับ รถที่ใช้เข็มความเร็วแบบใช้สายไมล์ ก็ใช้การหมุนของสายไมล์คำนวณออกมาเป็นความเร็ว รถที่ใช้เข็มความเร็วแบบไมล์ไฟฟ้า ก็เอาสัญญาณความเร็วที่ป้อนไปกล่อง ECU มาเป็นตัวบอก เมื่อความเร็วเริ่มร่วงลงต่ำกว่าที่ผู้ขับตั้งค่าเอาไว้ มันก็จะส่งสัญญาณไปบอกตัวควบคุมกำลังเครื่อง ให้เปิดลิ้นคันเร่งมากขึ้น ส่วนเวลาขับลงเนิน ก็จะหรี่ลิ้นคันเร่งลง แต่ระบบแบบรุ่นคันเร่งสายนี้ มันจะไม่สามารถกดเบรกให้คุณได้ เว้นเสียแต่ว่ารถคุณมีระบบ Traction Control/Stability Control และ Cruise Control นั้นทำงานเชื่อมกับระบบเหล่านี้ด้วย

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษใหม่ รถหลายรุ่นเปลี่ยนไปใช้คันเร่งแบบไฟฟ้า ทำให้การติดตั้ง Cruise Control ทำได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องใส่อะไรเพิ่มเลยนอกจากสวิตช์กับอุปกรณ์ 1-2 ชิ้น จากสมัยก่อนอยากได้ Cruise Control เรอะ? เพิ่มเงินอีกเป็นหมื่น สมัยนี้ Hilux Revo แค่สองพันกว่าบาทก็ติดตั้งได้แล้ว การที่รถสมัยใหม่เชื่อมระบบสวิตช์ไฟฟ้ากับการทำงานของเครื่องยนต์เข้าถึงกันหมด การตอบสนองมันทำได้เร็ว รักษาความเร็วได้นิ่งขึ้น และยังสามารถสื่อสารกับวงจรของระบบเบรก สั่งใช้เบรกช่วยลดความเร็วได้ และยังสามารถทำการเร่งหรือเบรกในลักษณะที่พยายามไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพรถ

คันเร่งไฟฟ้า เทคโนโลยีสื่อสารความเร็วสูงในรถ ทำให้เราต่อยอดความอยากสบาย ด้วยการเอาระบบเรดาร์, กล้อง และเลเซอร์ที่สามารถตรวจตรารถที่วิ่งอยู่ข้างหน้า มาเชื่อมการทำงานกับระบบ Cruise Control แล้วใช้ความเร็วของรถคันหน้าในการเข้ามา “Overwrite” ค่าความเร็วที่ผู้ขับเซตไว้ สิ่งนี้ก็กลายมาเป็น Adaptive Cruise Control (ACC) หรือระบบควบคุมความเร็วรถแบบแปรผันอัตโนมัตินั่นเอง เมื่อมีระบบนี้แล้ว สมมติเราเซตความเร็วไว้ 90 แล้วเจอรถคันหน้าวิ่ง 70 รถของเราก็จะปรับความเร็วลงเหลือ 70 ตามคันหน้า และเมื่อคันหน้าหลบลงซ้ายไปแล้วทางโล่ง รถของเราก็จะกลับไปวิ่ง 90 เองอีกครั้ง

ในบางครั้งถ้าคุณอ่านโบรชัวร์แล้วเจอคำว่า Adaptive Cruise Control แล้วมีคำว่า Stop & Go หรือ ALL SPEED นั่นคือตัวบ่งบอกว่ารถคันนั้น สามารถใช้ระบบ ACC วิ่งตามคันหน้าและปรับลดความเร็วตามคันหน้าจนเหลือ 0 กม./ชม. จอดนิ่งสนิทได้เลย แต่พอจอดแล้ว ไม่ใช่ว่าคุณนั่งกระดิกเท้าเล่นได้นะครับ ภายใน 3-4 วินาทีหลังรถหยุด คุณต้องยื่นเท้ามาเหยียบเบรก ไม่เช่นนั้น รถมันก็จะออกจากระบบ Cruise Mode แล้วที่เหลือก็แล้วแต่ดวง อย่าประมาทนะครับ ต่อให้เป็นรถที่มีระบบเบรกอัตโนมัติ มันก็จะเบรกให้คุณไม่กี่วินาทีก่อนจะวิ่งต่อไปครับ แต่ในกรณีที่รถคันหน้าหยุดกับที่ไม่เกิน 3 วินาทีแล้วออกวิ่งต่อ รถเราก็จะออกวิ่งตามไปเอง สะดวกสบาย โดยเฉพาะกับทางด่วนขาเข้าเมืองในยามเย็น ไม่เมื่อยเท้า ในบางประเทศที่ระบบดาวเทียมระบบสื่อสารพัฒนาแล้ว เขาจะเอาข้อมูลสภาพการจราจรของระบบนำทาง รวมถึงสภาพความชัน/ลาดของเส้นทางที่วิ่ง มาช่วยควบคุมความเร็วให้เหมาะสมได้ด้วยครับ แต่เมืองไทยยังไปไม่ถึงตรงนั้น กว่าจะไปถึง พวกเราบางคนอาจตายไปแล้ว

ในปัจจุบันรถบางค่ายก็ทำได้แล้วนะครับ แบบที่สามารถชะลอเอง หยุดเองและออกวิ่งตามคันหน้าได้เองโดยเราไม่ต้องทำอะไรเลย แต่รถคันที่คุณกำลังจะซื้อ ทำได้หรือไม่ได้ ต้องสอบถามผู้ขายอีกทีครับ

ในการใช้งาน Cruise Control ถ้าว่ากันเป็นขั้นตอน ฝึกให้จำทำให้ง่ายก็มีดังนี้ครับ

• พารถไปยังความเร็วที่ต้องการ Cruise หรือใกล้เคียงความเร็วนั้นๆ

• กดปุ่มเปิดระบบ Cruise Control ซึ่งเมื่อเปิดแล้ว บางยี่ห้อเช่น Mercedes-Benz ระบบจะทำงานเลย

• แต่ในรถญี่ปุ่นส่วนใหญ่ คุณจะต้องกดปุ่ม “SET” บนก้านพวงมาลัยหรือก้าน Cruise Control ก่อน

• ในรถสมัยใหม่ จะมีไฟสัญญาณแสดงบนหน้าปัดเป็นสีเขียว ให้เห็นว่าระบบกำลังทำงานอยู่

• เมื่อต้องการยกเลิกการทำงานของระบบ แตะเบรกเบาๆ หรือกดคำว่า Cancel ผมนิยมให้กดเบรกมากกว่า เพราะมันไม่ต้องเหลือบตามองสวิตช์ แต่บางท่านก็มีเหตุผลว่ากดปุ่มดีกว่า เพราะกดเบรกแล้วไฟเบรกขึ้น คันหลังจะตกใจ อันนี้ก็น่าฟังไว้ครับ

• การกดเบรกจะเหมือนกับการกด Cancel ตรงที่ เมื่อคุณต้องการจะกลับไป Cruise ใหม่ ก็แค่กดปุ่ม RES หรือ Resume รถก็จะกลับไปวิ่งยังความเร็วที่คุณตั้งไว้เท่าเดิม แต่ถ้าคุณไปกดปุ่ม OFF มันจะเป็นการปิดระบบ Cruise และลบความจำของความเร็วที่ตั้งค่าไว้ออกไปเลย ต้องเริ่มตั้งใหม่หมดครับ

• ถ้าต้องการเพิ่มความเร็ว ให้กดปุ่ม + หรือ Accel. ถ้าต้องการลดความเร็ว ก็กด - หรือ Decel. หรือ Coast (แต่ละยี่ห้อมีนโยบายการใช้คำกำกับปุ่มไม่เหมือนกัน)

• สำหรับรถที่มีระบบ Adaptive Cruise Control มักจะมี 2 ปุ่มที่มีรูปรถ กับขีด 1-4 ขีด ถ้าคุณกดปุ่มที่มีขีดมากๆ รถจะเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าเยอะขึ้น ในทางกลับกัน กดปุ่มที่มีขีดเดียว รถก็จะเขยิบชิดมากขึ้น

การใช้งาน Cruise Control ถ้าเป็นคนที่ไม่เคยใช้มาก่อนเลย อาจจะฟังดูยุ่งยาก แต่เมื่อใช้งานจนชิน ผมว่ามันช่วยให้หายเมื่อยเท้าเวลาเดินทางไกลได้ อาจจะมีจังหวะให้คุณขยับเท้าไปมาได้บ้าง แล้วยังเหมาะมากสำหรับคนบางพวกที่ใช้คันเร่งแบบน่าเวียนหัว มันมีจริงๆ นะพวกที่เหยียบๆ ปล่อยๆ คันเร่ง โดยไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร ทางข้างหน้าก็โล่ง ขับแบบนี้แล้วได้รางวัลออสการ์ก็บอกผมหน่อยแล้วกัน

ในความสะดวกสบายที่ Cruise Control มอบให้ ก็มีจุดที่เราต้องระวังเหมือนกันครับ

• อย่าสบายตัวเกิน Cruise Control เมื่อเปิดใช้แล้วก็อย่าถึงขั้นยกเท้าขวาขึ้นมานวด คุณอยากจะทำท่าอะไรก็ทำไป แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น ไม่ถึงวินาทีเท้าคุณต้องพร้อมที่จะกระแทกแป้นเบรก ถ้าเอาให้ปลอดภัย ก็ขยับแค่พอแก้เมื่อยนิดๆ แล้วกันครับ

• ถ้าเป็น Cruise Control แบบธรรมดา (ไม่ใช่ ACC) แล้วละก็ ใช้เมื่อทางข้างหน้าโล่งจริงๆ จะดีกว่าการพยายามเปิดใช้ให้มากที่สุด บางคนพยายามเปิดใช้เพราะเชื่อว่าคอมพิวเตอร์ของรถแจ๋วกว่าปัญญามนุษย์ พยายามเปิดใช้บ่อยๆ เพราะคิดว่าจะช่วยให้ประหยัดน้ำมัน ผมลองมาแล้วครับ ไม่ได้ช่วย เพราะรถมันรู้แค่การพยายามคุมความเร็วให้ได้เท่ากับที่เราตั้งค่า มันไม่ได้รู้ว่า เอ๊ะตรงนี้เนินชัน ไม่ต้องเร่งความเร็วหรอก ปล่อยให้ความเร็วร่วงบ้างก็ได้ เดี๋ยวขาลงเนินความเร็วก็เพิ่มกลับมาเอง แบบนี้เป็นต้น

• เรื่องที่บอกว่าฝนตกอย่าเปิด Cruise เพราะจะทำให้ล้อหมุนฟรีเวลาเจอแอ่งน้ำนั้น..ถ้าเป็นรถสมัยใหม่ โดยเฉพาะรถที่มีระบบกันล้อหมุนฟรี โอกาสแทบจะเป็น 0% ครับ เป็นความเชื่อผิดๆ จากรุ่นลุงป้าที่บอกว่าเปิด Cruise เวลาเจอแอ่งน้ำแล้วรถจะเร่งความเร็ว มันไม่ได้เร่งหรอกครับ แต่การลดความเร็วเพื่อรักษาเสถียรภาพมันจะช้ากว่าการที่เราแค่ยกเท้าออกจากคันเร่ง และที่เขาไม่อยากให้ใช้ช่วงฝนตกกัน เพราะในยามที่ถนนลื่น คุณควรเพ่งสมาธิไปที่การคุมรถ มีอะไรต้องถอนคันเร่งหรือกดเบรกได้ทันท่วงที

• ในรถยุคคลาสสิกกลไกสลิงที่ใช้ Cruise Control แบบโบราณ อย่าลืมตรวจสอบการทำงานของชุดกลไกดึงคันเร่ง และที่สำคัญคือสวิตช์ขาเบรก (และสวิตช์ขาคลัตช์ในรถเกียร์ธรรมดาที่มี Cruise Control) เพราะรถพวกนี้จะใช้สวิตช์แบบเก่าที่บนแป้นเหยียบในการสั่งยกเลิก Cruise Control ถ้าสวิตช์พวกนี้ชำรุด นึกภาพครับว่าคุณกดเบรกเพื่อยกเลิกการ Cruise แล้วรถมันไม่ทำตามจะเป็นอย่างไร ยิ่งรถเหล่านี้อายุเกิน 22 ปีกันทั้งนั้น ไม่ควรประมาทครับ

• สำหรับรถที่ใช้ระบบ Adaptive Cruise Control ผมพบว่าบางครั้งเวลามีรถเปลี่ยนเลนเข้ามาจากในระยะไม่เกิน 3 ช่วงคันรถข้างหน้า ระบบจะตรวจไม่พบและไม่ทำการลดความเร็วให้เอง เนื่องจากอยู่นอกพิสัยการตรวจของเรดาร์ ตรงนี้จึงต้องคอยระวังด้วย ผ่อนคลายน่ะได้ แต่อย่าถึงขั้นไว้ใจระบบ 100%

นี่ละครับเรื่องราวของ Cruise Control และ Adaptive Cruise Control ซึ่งเกิดมาหลักๆ ก็เพื่อความสบายของคนเราในการขับรถเป็นเวลานาน ถ้าเรารู้จักใช้ให้เป็น และใช้ให้ถูกสถานการณ์ ก็คิดซะว่า มันก็เหมือนเลื่อยยนต์น่ะครับ ใช้เป็น และใช้ถูกวิธี งานหั่นไม้ก็เสร็จเร็วและเมื่อยน้อยกว่าเลื่อยไม้ธรรมดา แต่ถ้าใช้อย่างประมาท ผลเสียหายก็จะมากกว่าที่คิด เหมือนเครื่องมืออำนวยความสะดวกอีกหลายอย่างบนโลก มันไม่ได้ยากเกินจะเรียนรู้ ถ้าคุณเรียนรู้ที่จะไม่เอาลวดเหล็กแหย่รูปลั๊กไฟเล่นกับมือเปล่าๆ ได้ การใช้ Cruise Control ที่ถูกวิธีก็มีเรื่องให้จำมากกว่านั้นแค่นิดเดียวครับ.

Pan Paitoonpong

คุณกำลังดู: Cruise Control สบายเท้า สบายใจ ถ้าใช้อย่างระวัง

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด