"ไฟฉุกเฉิน" ใช้ไม่เป็น ผิดกฎหมาย
ความเชื่อผิดๆในการใช้ไฟฉุกเฉิน ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมานักต่อนักแล้ว มาดูกันว่าใช้ให้ถูกวิธีทำอย่างไร
ทุกวันนี้ เราอาจไม่ทราบว่า ไฟฉุกเฉิน หรือ ไฟผ่าหมาก นั้น แท้จริงแล้วประโยชน์คืออะไร วันนี้ Sanook!Auto ขอนำเสนอ ความเชื่อผิดๆของไฟฉุกเฉินที่เห็นกันจนชินตากันครับ
ตาม พ.ร.บ.จราจร มาตรา 9 และกฎกระทรวงข้อ 11 กฎหมายกำหนดให้ใช้ไฟฉุกเฉิน เฉพาะกรณีรถเสียที่จอดอยู่กับที่เท่านั้น แต่ทุกวันนี้กลับพบผู้ใช้สัญญาณไฟฉุกเฉินกันผิดๆ ได้แก่
1. การใช้ไฟฉุกเฉินเพื่อข้ามทางแยก หากเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อข้ามทางแยก รถทางซ้ายและขวา จะเห็นไฟกระพริบเพียงมุมใดมุมหนึ่งเท่านั้น ทำให้นึกว่าคุณกำลังจะเลี้ยว จึงมิได้ชะลอความเร็วลง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง ชะลอความเร็วก่อนถึงแยก มองซ้ายขวาให้รอบคอบ ให้รถทางเอกไปก่อนเสมอ ไม่จำเป็นต้องเปิดสัญญาณแต่อย่างใด
2. ใช้ไฟฉุกเฉินเมื่อฝนตกหนัก เนื่องจากขณะเปิดไฟฉุกเฉิน ไฟเลี้ยวจะไม่ทำงาน ทำให้รถที่ตามมา หรือ คันข้างๆ ไม่ทราบว่าเรากำลังจะเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ อีกทั้งยังเป็นการรบกวนสายตาผู้อื่น เกินความจำเป็นอีกด้วย นอกจากนั้น หากมีรถเสียขึ้นมาจริงๆ และรถคันอื่นใช้ไฟฉุกเฉินกันอย่างพร่ำเพรื่อ อาจทำให้คันที่ตามมาเข้าใจผิดว่า ข้างหน้ามีจราจรติดขัด ทำให้จอดตามๆกัน
ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง 1.ใช้ความเร็วต่ำ และเปิดไฟหน้า 2.ไม่เปลี่ยนช่องทางหากไม่จำเป็น และไม่ขับรถชิดคันหน้าจนเกินไป 3.ไม่เปิดไฟสูง เพราะรบกวนสายตารถคันอื่นและตัวเองอีกด้วย 4.หมั่นตรวจเช็คอุปกรณ์ส่องสว่างให้ใช้งานได้ปกติ
หากรถของคุณติดตั้งไฟตัดหมอกหน้าและหลัง ควรใช้งานเมื่อทัศนวิสัยแย่มากๆเท่านั้นนะครับ โดยสังเกตดูง่ายๆว่า หากคุณไม่สามารถมองเห็นไฟท้ายของรถคันหน้า หรือ ไฟหน้าของรถคันหลัง ในระยะ 50-100 เมตร ก็อาจเปิดไฟตัดหมอกได้ เพื่อให้รถคันอื่นเห็นคุณจากระยะไกลขึ้น และเมื่อทัศนะวิสัยดีขึ้น ควรปิดทันที เพื่อไม่ให้แยงสายตารถคันอื่นครับ
เพียงเท่านี้ ก็จะช่วยให้ผู้ขับขี่ สามารถใช้ถนนร่วมกันอย่างปลอดภัยขึ้นแล้วล่ะครับ
คุณกำลังดู: "ไฟฉุกเฉิน" ใช้ไม่เป็น ผิดกฎหมาย
หมวดหมู่: รถยนต์