"ฟันโยก" เกิดขึ้นจากอะไร ป้องกันอย่างไร?
ฟันโยก มีอาการข้างเคียงอีกเพียบ และยังมีความเสี่ยงที่เราสูญเสียฟันนั้นไปตลอดกาล
สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ชี้ฟันโยกเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย และเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพช่องปากได้ จึงแนะแนวทางปฏิบัติเพื่อรับมือและป้องกันปัญหา
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปกติฟันทุกซี่ในช่องปากจะมีการโยกของฟันเล็กน้อยโดยธรรมชาติ แตกต่างกันในแต่ละซี่และแต่ละช่วงเวลา หากพบว่าฟันมีการโยกมากกว่าปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา และรับคำแนะนำทางทันตกรรมอย่างถูกวิธี
สาเหตุของฟันโยก
ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การโยกของฟันที่มากกว่าปกติ พบได้ทั้งฟันน้ำนม และฟันแท้ เกิดจากหลายสาเหตุ อาทิ ในเด็กเกิดจากการขึ้นของฟันแท้ ทำให้มีการโยกของฟันน้ำนมที่มากกว่าปกติ จากการสบฟันที่ผิดปกติ จากการบาดเจ็บของฟันจากอุบัติเหตุ และจากการเป็นโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรัง (โรครำมะนาด) เป็นต้น
อาการที่เกิดขึ้นระหว่างฟันโยก
การโยกของฟันนั้น อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น
- เหงือกบวม
- เหงือกมีสีแดง
- มีเลือดออกบริเวณขอบเหงือก
- รู้สึกเจ็บฟันเวลากัดฟัน
- มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
อาการเหล่านี้สามารถตรวจพบได้ด้วยตนเอง หากพบว่ามีอาการอย่างหนึ่งอย่างใดข้างต้น ควรรีบพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค และรับการรักษาให้ทันท่วงที เพื่อลดความรุนแรงของอาการดังกล่าว และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
วิธีป้องกันอาการฟันโยก
เราสามารถป้องกันฟันโยกและอาการอื่นๆได้ โดยมีแนวทางปฏิบัติดังต่อไปนี้
- เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่มหน้าตัดตรง
- ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์
- แปรงฟันอย่างถูกวิธี
- ใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันอย่างน้อยวันละ
2 ครั้ง
- พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
คุณกำลังดู: "ฟันโยก" เกิดขึ้นจากอะไร ป้องกันอย่างไร?
หมวดหมู่: สุขภาพ