GM EV1 รถไฟฟ้าก่อนยุค Y2K บทเรียนของยักษ์อเมริกัน
เกิดก่อน เจ๊งก่อน .... รถยนต์ไฟฟ้า GM EV1 ไม่ใช่อีกี้แต่มันคือ อีโปงแห่งดีทรอยด์ Y2K เทกระจาด!
GM EV1 รถไฟฟ้าก่อนยุค Y2K บทเรียนของยักษ์อเมริกัน
ช่วงนี้กระแส “คุณกี้” กับแฟชั่นย้อนยุคของเธอกำลังมาแรงบนโซเชียลมีเดีย ทำเอาผู้คนทั้งหลายขุดรูปยุควัยรุ่นมาโพสต์โชว์กันยกใหญ่ ซึ่งบางคนอาจจะขุดรูปจากยุค Hi5 ซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่ฮิตกันมากช่วงปี 2003-2008 ก่อนที่ Facebook จะทวีความนิยมจนแซงไปในที่สุด บางคนเล่นธีม Y2K ซึ่งก็คือยุคสมัยข้ามศตวรรษ ปี 1999-2001 ส่วนบางคนผมดูรูปแล้วไม่น่าจะเป็นทั้ง Hi5 หรือ Y2K แต่น่าจะเป็นยุครัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปีเสียมากกว่า แต่ไม่ว่ากันอยู่แล้วครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อผมพยายามขุดหารูปประวัติศาสตร์ของตัวเอง (สมัยที่ถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม) ในกองของสะสมเก่าๆ ที่รอดมาจากน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ก็พบบทความทดลองขับของสื่อฯอเมริกันที่ผมพบจากวารสารในห้องสมุดโรงเรียนมัธยมสมัยผมไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ สหรัฐอเมริกา ผมอ่านแล้วชอบ จึงขออาจารย์บรรณารักษ์ถ่ายเอกสารเอาไว้ คุณต้องนึกภาพตามผมหน่อยนะครับ สมัยนั้นทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้เหมือนวันนี้ ผมยังติดต่อกับพ่อแม่และเพื่อนที่เมืองไทยด้วยจดหมาย Air letter อยู่เลย นั่นคือยุคที่คนไทยบางกลุ่มเท่านั้นมี Hotmail นับประสาอะไรกับการที่จู่ๆ ก็มีรถหน้าตาอวกาศ แถมใช้พลังไฟฟ้าในการวิ่งโผล่มา รถที่ว่านี่ก็คือ GM EV1
GM ได้แรงบันดาลใจมาจากรถ Concept Car ปี 90 ที่ชื่อ Impact ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าหน้าตาล้ำยุคเหมือนหลุดมาจากหนัง Total Recall ในปี 1990 นั้นยังไม่มีรถ EV แบบที่สามารถขับบนไฮเวย์ได้จริงจัง นั่งสบายและมีอัตราเร่งดีๆ สักรุ่น (ไม่นับพวกที่ทำมาขายจำนวนน้อยมากๆ) Roger Smith ซึ่งเป็น CEO ของ GM สมัยนั้นมั่นใจว่าถ้าผลิตขายจริง มันน่าจะทำยอดได้ปีละ 25,000 คันเป็นอย่างต่ำ และถือเป็นความแปลกใหม่ที่อาจพลิกภาพลักษณ์ให้กับเครือ GM ทำไมพวกเขาต้องการภาพลักษณ์ใหม่? ก็ลองคิดดูนะครับว่าปี 1980 รถที่ขายในอเมริกาทุก 100 คันจะเป็นรถของ GM 46 คัน สิบปีถัดมา ตัวเลขนี้หล่นเหลือเพียง 35 คัน ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่าง โดนรถนำเข้าจากญี่ปุ่นกินโต๊ะแหกแน่นอน
แต่สิ้นปี 1990 Roger Smith ก็จากไป...เปล่า เขาไม่ได้ตายครับ แค่ออกจากตำแหน่ง CEO และผู้บริหารคนต่อมาก็ป่วยกระเสาะกระแสะ ทำงานได้แค่ 2 ปี ก็ถูกบีบให้ออก จนคนใหม่อย่าง John Smith Jr. มาแทน โครงการรถไฟฟ้า Impact จึงเดินหน้าต่อ มีการนำรถเวอร์ชันทดสอบของ Impact มาทำแคมเปญที่เขียนอย่างเก๋ว่า “PrEView” ซึ่งก็คือ พรีวิวนั่นล่ะแต่เล่นกับตัวสะกดให้มีคำว่า EV อยู่ในนั้น โดยทาง GM มีรถ Impact เวอร์ชันใกล้ความจริง ที่เรียกว่า PrEView Prototype สำหรับการวิจัยอยู่ 50 คัน พวกเขาประชาสัมพันธ์ออกไปว่าใครโทรเข้ามาจองสิทธิ์ คุณจะได้รถ EV ไปขับฟรีสองสัปดาห์แต่มีข้อแม้ว่าทุกอย่างจะถูกบันทึกหรืออัดวิดีโอเทปไว้ใช้เพื่อการวิจัย ใครสนใจก็โทรเข้ามาได้
โดยรวมจากฝั่งแคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก มีคนโทรเข้ามาจองคิวประมาณ 24,000 สาย จน GM ต้องปิดการจองคิวลงและแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกสายที่ได้สิทธิ์ในการขับ นี่คือความร้อนแรงของกระแส EV ที่คนยุคนั้นมีนะครับ แต่ GM กลับมองว่า ถ้ามีคนโทรเข้ามาแค่นี้ แสดงว่ากระแสรถ EV ยังไม่ได้แรงอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้ และพยายามหันไปพยายามเกลี้ยกล่อมให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพอากาศของรัฐแคลิฟอร์เนีย (CARB) เลื่อนกำหนดมาตรการควบคุมมลภาวะออกไปก่อน มาตรการที่ว่านี้ก็คือ “หากบริษัทรถเจ้าใหญ่อยากขายรถในรัฐแคลิฟอร์เนียต่อไป ต้องขายรถที่ไม่ปล่อยไอเสียให้ได้ 2% ของยอดขายทั้งหมดภายในปี 1998 และขยับเป็น 5% ภายในปี 2001” ซึ่งแน่นอนว่าสังคมก็วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะเมื่อมลพิษของรัฐแคลิฟอร์เนียสมัยนั้นหนักหนาสากรรจ์มาก แต่ในที่สุด GM ก็ตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อ โดยหลังจากเสร็จโครงการ PrEView ปุ๊บ พวกเขาก็เอารถทั้ง 50 คันกลับมาแล้วทำลายทิ้งเพราะกลัวว่าเทคโนโลยีของรถจะตกไปถึงคู่แข่ง
และในปี 1996 GM EV1 เวอร์ชันแรกก็เผยโฉมออกมา หน้าตาของรถเปลี่ยนจาก Impact Concept ไม่มากนัก ส่วนหน้ากับท้ายแตกต่างออกไป และถ้าคุณคิดว่ารถ EV ของทุกวันนี้มีพิสัยทำการไม่เพียงพอ ผมจะบอกว่า EV1 รุ่นแรกนั้น ใช้แบตเตอรี่แบบตะกั่วกรดอันแสนโบราณ จุไฟแค่ 16.3 kWh หนักอึ้งถึง 533 กิโลกรัม และมีพิสัยทำการแค่เพียง 129 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง และส่วนใหญ่จากที่สื่อมวลชนทดสอบกันก็ไปได้ไม่ถึงจุดที่ GM เคลม บางคนก็ได้แค่ 85 กิโลเมตร อาจฟังดูไม่ดี แต่จริงๆ แล้วต้องปรบมือให้ครับเพราะมันคือรถไฟฟ้ารุ่นแรกที่ผลิตจำนวนมากแบบจริงจัง เทคโนโลยีแบตเตอรี่สมัยนั้น ได้ขนาดนี้ก็บุญแล้ว เพราะแบตเตอรี่ตะกั่วกรดนั้นหนักมาก รถคันเท่า Honda City Hatchback ของทุกวันนี้แถมมี 2 ที่นั่ง แต่ตัวหนักประมาณ 1.4 ตัน โดย 1/3 ของน้ำหนักนั่นคือแบตเตอรี่ มันจะไปวิ่งไกลได้อย่างไร
แต่ GM ก็ใช้ความสามารถทางวิศวกรรมในรถรุ่นนี้เยอะเหมือนกัน อาทิ โครงสร้างหลักของตัวถังซึ่งใช้อะลูมิเนียมเป็นส่วนผสมเยอะมาก ในขณะที่เปลือกตัวถังด้านนอกเป็นพลาสติก เบาะนั่งเป็นแบบน้ำหนักเบา ใช้มอเตอร์เดี่ยววางขวางขับเคลื่อนล้อหน้า พลัง 137 แรงม้า แรงบิด 150 นิวตันเมตร บอดี้ของรถเพรียวลมมากจนค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศ Cd=0.19 เท่านั้น คือ เท่าพวก Concept Car จริงๆ สมัยนั้นรถที่ลื่นลมสุดก็จะมี Opel Calibra ค่า Cd=0.26 นั่นล่ะครับ แล้ว EV1 ก็เหมือนรถไฟฟ้าสมัยนี้ คือมีเฟืองทดตัวเดียว ไม่มีเกียร์ เพราะมอเตอร์สามารถให้พลังแรงบิดได้ 100% ตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 7,000 รอบต่อนาที อัตราเร่ง 0-96 กม./ชม. ทำได้ภายใน 8.3 วินาที ซึ่งเร็วกว่าพวก Chevrolet Camaro 3.8 ลิตรหรือ Mustang V6 รุ่นเริ่มต้นเสียอีก และมันยังมีทั้งเบรก ABS และ Traction Control มาให้จากโรงงานอีกด้วย
ภายในของ EV1 เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นรสนิยมของคำว่า “ไฮเทค” ในยุคนั้น รถยิ่งมีปุ่มเยอะ ยิ่งดูไฮโซ คอนโซลตอนบนสะอาดตา หน้าปัดวางตำแหน่งไว้ตรงกลาง โชว์แค่มาตรวัดความเร็ว แบตเตอรี่ และพิสัยทำการที่วิ่งได้กับข้อมูลอีกนิดหน่อย อารยธรรมจอสีสวยๆ ยังมาไม่ถึงอเมริกา (แต่ที่ญี่ปุ่นปี 1996 นั้นมีจอและระบบนำทางในรถแท็กซี่แล้ว) คุณมีเครื่องเสียง CD+เทป อยู่ตรงกลาง ส่วนแผงควบคุมเครื่องปรับอากาศ กระจกไฟฟ้า ระบบปรับความสว่างไฟในห้องโดยสาร โดยรวมก็ดูทันสมัยดีแม้ว่าบางส่วนดูแล้วยังไงๆ ก็คล้าย Pontiac รุ่นประหยัดในยุคนั้น
เวลาจะปลดล็อกรถ ไม่ต้องใช้กุญแจนะครับ คุณต้องกดรหัสบนแป้นที่เสา B-Pillar แล้วรถจะปลดล็อกให้ เวลาจะสตาร์ต ก็ต้องกดรหัส 5 หลักที่คอนโซลก่อน นี่คือยุคที่เรายังไม่มีสมาร์ทคีย์ใช้กันแพร่หลายน่ะครับ แต่ถ้าใครอยากได้รถที่มีกุญแจก็สามารถติดตั้งเพิ่มได้ ระบบปรับอากาศก็ทันสมัย คือคุณสามารถตั้งเวลาในคอนโซลกลางได้เลยว่าจะให้เครื่องปรับอากาศติดเปิดแอร์รอไว้ตอนกี่โมง แต่ยุคนั้นยังไม่มีสมาร์ทโฟน ถ้าตั้งไว้แล้ว จะยกเลิกก็ต้องมาที่รถ
ส่วนการชาร์จ มีความคล้ายรถยุคนี้ครับ EV1 จะมีจุดเสียบปลั๊กชาร์จทรงแบนๆ เรียวๆ อยู่ข้างหน้ารถ และรองรับการชาร์จสูงสุด AC 6.6kWh ซึ่งพอใช้ไฟ 110V แบบอเมริกา คุณต้องใช้เวลา 7 ชั่วโมงในการชาร์จ 50% จากที่นักข่าวของ Motor Trend เอาไปลองมาในสมัยนั้นนะครับ แต่แน่นอนว่า GM ก็จะมีการติดตั้งตู้ชาร์จ MagneCharge ให้ ซึ่งก็จะลดเวลาในการชาร์จเต็มจาก 0% ลงเหลือประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ แต่สมัยนั้นการหาจุดชาร์จไม่ง่ายครับ และนักข่าวที่รับ EV1 ไปลอง ก็เจอจุดชาร์จที่ถูกทำลายด้วยความหมั่นไส้บ้าง เจอรถชาวบ้านจอดขวางบ้าง เป็นการผจญภัยของ EV Pioneer ยุคแรกๆ ไม่ต่างจากสมัยนี้นัก จุดชาร์จสมัยนั้นมีน้อย แต่รถ EV ก็น้อยมากเช่นกัน
ตามกฎหมายของอเมริกา ต้องระบุราคาขาย MSRP (Manufacturer’s Suggested Retail Price) ซึ่ง GM EV1 มีราคา 34,000 ดอลลาร์ แพงหรือถูกล่ะ? ก็เอาเป็นว่าแพงกว่า Ford Crown Victoria V8 ตัวท็อป และคุณสามารถซื้อ Honda Civic VTEC รุ่นแพงสุดได้ 2 คัน แต่..ชอบเหรอ..ไม่ขาย! ถ้าคุณอยากใช้ EV1 มีวิธีเดียวคือต้องผ่านระบบเช่าซื้อ เซ็นสัญญาเช่าซื้อแบบหมดอายุทุก 3 ปีกับทาง GM โดยต้องจ่ายค่าเช่าตกเดือนละ 399 ดอลลาร์ แฮมเบอร์เกอร์ที่ McDonald สมัยนั้นเวลาจัดโปร จะขายอยู่ 99 เซ็น และมื้อเต็มอิ่มๆตาม Fast Food Chain ก็ 5-8 ดอลลาร์ ดังนั้นถ้าถามว่าคนอเมริกันสมัยนั้นรู้สึกอย่างไรกับค่าเช่า EV1 ลองนึกภาพว่าถ้าเป็นยุคนี้ คุณจ่ายสองหมื่นบาทต่อเดือนเพื่อเช่ามัน..ก็ไม่ได้แย่นะ แต่เมื่อคุณส่งใบสมัครขอเช่าไป เจ้าหน้าที่ของ GM ก็จะตรวจและคัดเลือกอีกรอบนะครับ ไม่ใช่ว่าส่งชื่อแล้วจะได้สิทธิ์เลย ยิ่งถ้าคุณไม่ใช่คนที่อาศัยอยู่ในแคลิฟอร์เนีย หรือแอริโซนา ก็โดนถีบออกครับ
จากนั้นแคมเปญเปิดตัวก็ตามมา โหมกระหน่ำด้วยการเอารถไปโชว์ในงานเปิดพรมแดงหนังเรื่อง Daylight ของ Sylvester Stallone ทำโฆษณาทีวีไปฉายในช่วงระหว่างประกาศรางวัล Emmy Awards และอื่นๆ อีกจนปีแรกปีเดียวหมดงบค่าโฆษณาไป 10 ล้านดอลลาร์ ผลที่ได้คือ รถ EV1 Gen แรก ผลิตออกมา 660 คัน มีคนมาเช่าแค่ 288 คน และ 40 คนในนั้นคือบรรดาดารา คนดังที่มาลงชื่อขอเช่าตั้งแต่วันเปิดตัวรถแล้ว
สามปีถัดมา GM ก็เปิดตัว EV1 Gen II ซึ่งได้รับการปรับปรุงแบตเตอรี่ใหม่ 2 แบบ แบบแรกใช้แบตเตอรี่ตะกั่วกรดที่เพิ่มความจุไฟเป็น 18.5kWh บวกกับระบบบริหารจัดการไฟฟ้าใหม่ที่ทำให้มันวิ่งได้ไกลขึ้นเป็น 160 กิโลเมตร กับอีกรุ่นจะเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่ NiMH ที่นอกจากจะทำให้น้ำหนักตัวรถเบาลงราว 80 กิโลกรัมแล้ว ยังทำให้สามารถวิ่งได้ไกลขึ้นเป็น 240 กิโลเมตร โดยมีความจุไฟ 26.4 kWh แล้วในช่วงเวลานั้น ก็พอดีกับที่รถล็อตแรกๆ เกิด Defect ที่ระบบชาร์จไฟ ส่งผลให้มีความร้อนสะสมสูง GM จึงออกจดหมาย Recall รถเช่าล็อตแรกจำนวน 450 คันเข้ามาเปลี่ยนระบบชาร์จ หรือไม่ก็ให้ผู้เช่าเปลี่ยนรถเป็นรุ่น Gen II ไปใช้เลย ยังดีที่เขาพบสาเหตุกันทัน แต่ก็มี EV1 คันหนึ่ง ชาร์จอยู่แล้วไฟลุกวอดยกคัน ก็ตีคืนรถแล้วให้ผู้เช่ารับคันใหม่ไป
อย่างไรก็ตาม แม้จะผลิตรถออกมาได้ 1,117 คัน ค่าวิจัย ต้นทุนการผลิตและค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภครองรับ รวมถึงค่าการตลาด ก็ผลาญเงินของ GM ไปพันล้านดอลลาร์ และทุกสิ่งก็มาจบในปี 2003 เมื่อ Rick Wagoner CEO ของ GM ตัดสินใจไม่ต่ออายุโครงการ EV1 โดยทาง GM ทยอยเรียกรถที่หมดสัญญาเช่าคืนกลับ และนำมาทำลายทิ้ง โดยมีรถ 40 คันที่ยังมีสภาพตัวถังดีแต่ถูกทำให้ใช้การไม่ได้จนหมดแล้วบริจาคให้พิพิธภัณฑ์ต่างๆ มีรายงานว่าบนโลกนี้มี EV1 เพียงไม่กี่คันที่ยังวิ่งได้ โดยบางคัน GM ก็ยอมยกเว้นไม่ถอดระบบออก บางคันก็ไปโผล่อยู่ที่ออสเตรเลียเพราะ GM เคยส่งไปวิจัยที่นั่นแล้วไม่ได้ถูกส่งกลับมาทำลายที่บ้านเกิด
ทำไม GM ถึงทำลายรถเหล่านั้นทิ้ง? ก็คงกลัวว่าความรู้ทางเทคนิคทั้งหมดจะไปตกอยู่ในมือคู่แข่ง ทั้งที่ความจริง ในปี 1997 Honda ก็สร้างรถ EV Plus ที่ใช้แบตเตอรี่ NiMH ออกให้เช่าในอเมริกาแล้ว แม้ว่าจำนวนคนสนใจจะไม่เยอะเท่า EV1 ก็ตาม ส่วนการตัดสินใจล้มโครงการ EV1 เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ นั่นเอง นักวิเคราะห์ทั้งหลายมองว่าราคาตามจริงของ EV1 น่าจะอยู่แถวๆ 100,000 ดอลลาร์ ซึ่งก็คือราคาของ Porsche 911 Carrera 4 บวกออปชันเต็ม คือคุณต้องมองตามนะครับ คุณรักโลกอย่างเดียวไม่พอ ต้องรวยมหาศาลขนาดไหนถึงจะอยากได้ EV1 มากกว่ารถสปอร์ตเยอรมันระดับสูง
และในเมื่อผลวิจัยจากบริษัทรถต่างๆที่กำลังโหมวิจัย EV กันอยู่ในขณะนั้น บ่งชี้พ้องกันว่า หากจะทำให้คนอเมริกาหันมาใช้ EV แทน รถ EV จะต้องมีราคาถูกกว่ารุ่นเครื่องสันดาปภายในมาก หรือถ้าหากต้องการให้จ่ายเงินเท่ากันกับรถเครื่องสันดาปภายใน EV ก็จะต้องวิ่งได้ไกลเท่ากัน พวกเขาถึงจะซื้อ นี่คือความคิดของคนอเมริกันในช่วงก่อนวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์นะครับ เมื่อมองหาความคุ้มค่าในการผลิตขายจริง ยังไงก็ขาดทุน GM ก็เลยใช้ข้ออ้างด้านนี้ ในการปลิดชีพ EV1 แบบถาวร ขนาดผู้เช่า EV1 บางราย ส่งจดหมายอ้อนวอนและเซ็นเช็คใส่ซองไปให้ด้วยเพื่อขอซื้อรถ GM ก็ส่งเช็กเหล่านั้นคืน จนเกิดการประท้วงย่อมๆ ขึ้น แต่คนแค่หยิบมือ ยากจะต่อกรกับ GM..จะต่อกรยังไงในเมื่อตอนเช่าก็เซ็นเอกสารทุกอย่าง คุณไม่คืนรถ GM ก็ฟ้องเสียก็เท่านั้น
ถ้าใครอยากเสพข้อมูลเวอร์ชันดราม่า ลองหาสารคดี Who killed The Electric Car มาชมครับ คุณจะได้รับรู้ข้อมูลเชิงสมคบคิดอีกเยอะ แต่สำหรับผม แค่นิสัยคนอเมริกันกับการใช้รถในภาพรวม กับนิสัยของ GM ที่ชอบทำโครงการแบบเปิดฉากอย่างหงส์ แล้วลงอย่างยุงโดนตบ ก็รู้ได้เหมือนปาหินใส่น้ำไม่ต้องให้ใครบอกว่าหินจม ก็อย่าแปลกใจเลยครับที่แบรนด์ดีๆ มีเรื่องราว มีตำนาน มีรถเจ๋งๆ แต่อยู่ในเครือ GM กลับต้องทยอยตายไปทีละยี่ห้อ
แล้วสุดท้ายที่น่าเจ็บใจก็คือ ในวันที่ General Motors แถลงบริษัทล้มละลายในปี 2009 ด้วยหนี้สะสม 173,000 ล้านดอลลาร์ CEO Rick Wagoner ก็ให้สัมภาษณ์ว่า “สิ่งที่ผมตัดสินใจผิดมากที่สุดก็คือ 1) การฆ่าโครงการ EV1 ทิ้ง และ 2) การไม่นำเทคโนโลยีไฮบริดออกมาใช้ให้ได้ทันเวลา” ความจริงก็คือ GM ทำ EV1 ที่เป็น Plug-in Hybrid ลองวิ่งตั้งแต่ปี 1997 แล้ว แต่กลับไม่ลงทุนต่อ หาไม่เช่นนั้นแล้ว Chevrolet Volt Plug-in Hybrid จะออกจำหน่ายได้ตั้งแต่ราวปี 2000 ต้นๆ ซึ่งแม้จะไม่พอช่วยเซฟบริษัทจากการล้มละลาย แต่ช่วยได้ในเรื่องภาพลักษณ์ที่จะส่งผลให้บริษัทฟื้นตัวหลังล้มละลายได้เร็วขึ้น
มันน่าอายไหมล่ะ ที่สิบปีหลัง GM เฉาะหัว EV1 ทิ้ง Mitsubishi iMiEV กลายเป็น EV รุ่นแรกที่ขายได้มากกว่า 10,000 คัน Nissan LEAF กลายเป็นมาตรฐานเริ่มต้นของ EV ยุคใหม่ Toyota ซึ่งพัฒนาทั้ง EV ไฮบริด และไฮโดรเจน ยังไม่เจ๊งแถมแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก และที่สำคัญ Tesla ซึ่ง Elon Musk เคยบอกว่า “ก็เพราะพวกนั้นเลิกทำ EV1 นั่นล่ะ Tesla จึงเกิดขึ้นบนโลกใบนี้” นี่ล่ะครับ วงล้อแห่งโชคชะตาของวงการรถยนต์..ส่วนคนใช้ EV ในปี 2023 นี้ คุณคงสบายใจได้ครับ ว่าบริษัทที่คุณอุดหนุนเขา ไม่มีวันเรียกรถคุณกลับไปทุบทิ้งหรอก คุณซื้อรถมาแล้วนี่นา.
Pan Paitoonpong
คุณกำลังดู: GM EV1 รถไฟฟ้าก่อนยุค Y2K บทเรียนของยักษ์อเมริกัน
หมวดหมู่: รถยนต์