"หนิง" พึ่งจิตแพทย์ฮีลใจทั้งครอบครัว โฟกัสลูกเป็นหลัก ยังอยู่บ้านเดียวกับ "จิน"
"หนิง ปณิตา" พึ่งจิตแพทย์ฮีลใจทั้งครอบครัว โฟกัสลูกเป็นหลัก ยังอยู่บ้านเดียวกับ "จิน จรินทร์"
ยังอยู่ในกระบวนการชั้นศาล สำหรับกรณีนางร้ายตัวแม่ หนิง ปณิตา เดินหน้าเป็นโจทย์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบุคคลที่สาม เข้ามาพัวพันกับสามี จิน-จรินทร์ ธรรมวัฒนะ เป็นสาเหตุทำให้ชีวิตคู่มีปัญหา ซึ่งหนิงได้อัปเดตความคืบหน้า เตรียมขึ้นศาลวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ส่วนฝ่ายคู่กรณียังไม่มีการติดต่อมาแต่อย่างใด พร้อมทั้งเผยถึงสภาพจิตใจของตนเอง กับ น้องณิริน ลูกสาว หลังต้องเผชิญสถานการณ์ตึงเครียดในคอบครัว
โดย หนิง เผยว่า “หนิงว่าพอเวลามันเดินผ่านไปข้างหน้า ก็จะเดินไปข้างหน้าได้ดีขึ้น ความโชคดีของหนิงคือ หนิงมีณิริน เขาเป็นเด็กพยายามจะเข้าใจและปรับตัว ปรับปรุง ให้กำลังใจ อันนี้คือความโชคดีของหนิง วันนี้เรามองลูกเป็นหลักใหญ่ที่สุด พอมีตรงนี้มันก็เป็นกำลังใจที่ทำให้เรื่องอื่นเราพยายามมองข้ามไป หงุดหงิดก็มองข้ามไป”
“จะบอกไม่เหนื่อยก็คงไม่ใช่ ก็เหนื่อย รู้สึกเซ็ง รู้สึกเบื่อ แต่ไม่เอาเก็บมาเป็นอารมณ์ พอเวลาเราเห็นรอยยิ้มของลูก เราเห็นความพยายามเข้าใจในหลายๆ เรื่องของลูกเรา ที่จะพยายามปรับตัวกับเรา มันทำให้เป็นเรื่องเบา และทำให้เรามีแรงฮึดมีพลังที่จะทำเรื่องดีๆ ออกมาทำงาน มาเจอผู้คน ใช้ชีวิตให้เป็นปกติ มีรอยยิ้ม กลับมาหาเงิน ทำงาน”
“มันก็ไม่ง่ายสำหรับเด็กคนนึง หนิงก็จะขอบคุณเขา แต่ทะเลาะกันตลอดนะคะ ไม่ใช่ไม่ทะเลาะกัน แต่ในความทะเลาะกันเหมือนเราเป็นเพื่อนกัน ณิรินในภาวะแบบนี้เขาก็สอนให้เราเรียนรู้ในหลายเรื่องเช่นเดียว กับเขาเองที่เรียนรู้ในหลายเรื่องที่มันเกิดขึ้น หนิงพูดกับน้องเสมอว่า เวลาเราเจอปัญหาอุปสรรคอะไร ตั้งแต่เรายังอายุน้อยๆ เรายังเป็นเด็กอยู่ถือว่าเป็นความโชคดีของเรานะ”
“เพราะแต่ละปีเหมือนเราเรียนหนังสือ เราต้องเรียนสิ่งที่ยากขึ้นไป ถ้าเราผ่านมันไปได้เดี๋ยวเราก็จะต้องเจอเรื่องยากกว่านี้ ถ้าเราผ่านไปไม่ได้ เรื่องของปีนี้ก็จะไปทบกับเรื่องของปีหน้าไปเรื่อยๆ ก็พยายามอธิบายให้เขาฟัง คุยกับเขาเยอะๆ ก็ถือว่าเบื้องบนเมตตา ถ้าไหว้พระไหว้เจ้าหนิงอธิษฐานอย่างเดียวเลยว่า ขอให้ลูกหนิงมีความเข้าใจและเป็นเด็กดี หนิงจะขอแค่นี้ค่ะ”
“ครั้งแรกที่มีการอธิบายกับลูกมันยาก ไม่ได้ยากแค่ครั้งแรก หนิงว่ายากทุกๆ ครั้ง เพราะว่าในการอธิบายเรื่องๆ หนึ่งให้เด็กฟัง ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่ว่าเราจะต้องประเมินให้ได้ว่าตอนนี้การพูดของเรากับวัยของเด็กมันควรจะพูดแค่ไหน สมมติเรื่องเดียวกันคุยกันตอนอายุ 8 ขวบก็จะเป็นอีกแบบนึง อายุ 10 ขวบจะเป็นอีกแบบนึง นี่อายุใกล้จะ 11 ขวบเรื่องก็จะเป็นอีกแบบนึง มันจะยากตรงการประเมินในการใช้คำพูด”
“แต่สิ่งที่ทำให้หนิงเรียนรู้ก็คือต้องไม่คาดหวังกับสิ่งที่เราพูดไป และคิดว่าเขาจะเข้าใจเพราะว่าเราโตกว่า เราอยู่บนโลกใบนี้มา 40 กว่าปี เขาเพิ่งอยู่มา11ปีจะให้เขาเข้าใจทุกอย่างแบบที่เราเข้าใจมันไม่ง่าย ดังนั้นเราเป็นแม่ เราก็ต้องมีความอดทนและใจเย็น มันก็เลยมีคำโบราณที่บอกว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่จะต้องพูดทุกเรื่องจนปากจะฉีกถึงรูหู มันเป็นแบบนี้นี่เองที่จะทำให้เด็กคนนึงเข้าใจ เราก็ต้องพยายามใจเย็นอธิบาย”
“ณิรินเขาพยายามที่จะเข้าใจ และไม่ทำอะไรให้เราไม่สบายใจ สิ่งที่ทำให้เราอึ้งและทำให้เราเย็นลงได้ทุกเรื่องคือเวลาที่เขารู้ว่าเราจะมีภาวะอะไรบาง อย่างที่เรารู้สึกเหนื่อย เราท้อ เขาจะเดินเข้ามากอด มองหน้าแล้วบอกว่า แม่สู้ๆ นะ หนูอยู่ตรงนี้ หนูส่งพลัง หนูกอดๆ หนูเป็นกำลังใจให้แม่ ด้วยความสดใสของเขา”
“แม่น้ำตาไหลเลย หนิงเป็นคนไม่ค่อยอ่อนแอให้ลูกเห็น แต่ก็เป็นจุดไม่ดีสำหรับหนิงเหมือนกัน เพราะคุณหมอบอกว่าบางครั้งการเป็นแม่คนมันต้องมี 360 องศาให้ลูกรู้ ว่านี่คือความแข็งแรง และเราสามารถอ่อนแอได้ เราก็จะต้องปรับตัวบางอย่าง อะไรที่เราไม่ไหวหรืออ่อนแอจริงๆ ก็ต้องให้เขารู้ ว่าเราก็มีมุมนี้เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นเด็กก็จะมีแต่มุมที่สตรองอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ ชีวิตคนเรามันมีหลายมุม และมันไม่สามารถสตรองได้ตลอดเวลา”
“ยังไม่เคยถึงขั้นน้ำตาไหลพรากให้ลูกเห็น ระยะหลังเราสองคนก็จะมีการคุยกับคุณหมอด้วยกัน จะมีมุมที่เขาแสดงออกมาให้เราเห็น เรามีมุมที่บางทีเราไม่จำเป็นต้องเก็บเอาไว้ แต่ประเมินแล้วว่ามุมนี้ให้ลูกรับรู้ได้ ก็ให้ลูกเห็นในมุมของความอ่อนแอของเราบ้าง”
“คุยกับจิตแพทย์ทั้งตัวหนิงเอง ทั้งตัวน้อง และคนในครอบครัวทั้งหมด จะเป็นเซ็กชั่นของครอบครัวค่ะ ก่อนหน้านี้ทุกคนก็จะรู้อยู่แล้วว่าหนิงจะมีการไปคุยกับหมอเป็นระยะ ตั้งแต่น้องเกิดมาเพราะว่าเราอยากที่จะเรียนรู้ที่จะเข้าใจเด็ก คำว่าช่องว่างระหว่างวัยเราไม่เคยคิดว่ามันจะเกิดขึ้น แต่ว่าเราอยากเรียนรู้ที่จะเข้าใจเด็กคิดอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้แล้วเราต้องใช้คำพูดคำไหนที่ทำให้เด็กเขาเข้าใจเรามาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว”
“แต่ว่าพอช่วงหลังมานี้มันจะไม่ใช่แค่หนิงและน้องอย่างเดียว มันมีคุณอา คุณยาย และคนที่อยู่รอบๆ ข้างที่เป็นคนสนิทของหนิงที่มีผลกับความรู้สึกของณิริน เราก็จะไปกันเป็นกลุ่ม แล้วเราก็จะมีการบ้านว่าต้องทำแบบนี้ช่วยกันค่ะ มันเป็นการฮีลกันทั้งหมด”
“ข้อดีคือระหว่างหนิงกับคุณแม่หนิงเองบางครั้งเขาก็ไม่เข้าใจเรา แล้วมันส่งผลให้เรามีพฤติกรรมแบบนี้ เราก็เข้าใจแม่เรา แม่เราก็เข้าใจเรา เราก็เข้าใจลูกเรา มันก็กลายเป็นเรื่องของทั้งครอบครัว หนิงว่ามันเป็นเรื่องที่ดี เพราะสุดท้ายแล้วยังไงคำว่าครอบครัวก็สำคัญสำหรับการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งที่จะทำให้เขาเติบโตขึ้นไปได้อย่างที่เขารู้สึกว่า ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมจะโอบกอดเขา”
“หนิงว่าคนที่จะประเมินเขาได้ดีที่สุดน่าจะเป็นหนิง หนิงว่าเขาดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน อย่างล่าสุดหนิงไปเที่ยวด้วยกันกลับมา เขาจะมีเป้าของเขาแล้วว่าปีหน้าจะตั้งใจทำอะไร เขาเริ่มกลับมาคุยถึงเป้าหมายในชีวิตตัวเอง ก่อนหน้านี้ณิรินจะเป็นเด็กที่มีเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง ตั้งแต่เขาอายุ 5 ขวบ เวลาเราคุยกับเขาจะถามว่าณิรินวันนี้หนูอยากทำอะไร ช่วงนี้หนูเป็นยังไง เขาจะมีเป้าของเขา”
“แต่ว่าเป้าของเขาที่อยากจะทำอะไร อยากจะเป็นอะไรหรือชอบอะไรมันถูกหายไปช่วงหนึ่ง เหมือนเขาเอาใจเขาไปคิดเรื่องอื่นๆ แต่ตอนนี้เรื่องนี้มันเริ่มกลับมาแล้ว เรารู้สึกชื่นใจ ปีหน้าเขาบอกแม่ว่าหนูจะตั้งใจเรียนให้ดีกว่านี้ แล้วหนูจะฝึกเรื่องร้องเพลงให้ดีกว่านี้ ความที่เขาสนใจเรื่องอื่นมากกว่า สนใจเรื่องที่มันมีปัญหาอยู่มันเริ่มกลับมาแล้ว มันทำให้คุ้มค่ากับการที่เราทุ่มเท”
“ต้องบอกว่าปีนี้เป็นปีที่หนิงทำงานค่อนข้างน้อยมาก อย่างละครทุกคนก็รอคอยว่าจะเปิดโผเรื่องอะไรทั้งที่มันมีแล้ว มันมีชื่อเรื่องมีการวางตัวแล้วหนิงก็ระงับการทำงานของหนิงอยู่ ยังไม่ทำเพราะว่านาทีนี้หนิงต้องทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้ลูกเป็นหลัก ก็ถือว่ามันเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆ ถามว่าณิรินยังเจอคุณพ่อตลอดมั้ย ยังเจอกันอยู่เรื่อยๆ ค่ะ ยังอยู่ในบ้านหลังเดียวกันค่ะ ลูกกับพ่อยังมีปฏิสัมพันธ์ปกติค่ะ ยังเจอกันอยู่และยังอยู่ในบ้านหลังเดียวกันค่ะ”
คุณกำลังดู: "หนิง" พึ่งจิตแพทย์ฮีลใจทั้งครอบครัว โฟกัสลูกเป็นหลัก ยังอยู่บ้านเดียวกับ "จิน"
หมวดหมู่: ความบันเทิง