หรือจีนกำลังย่ำซ้ำรอยทศวรรษที่สาบสูญ

หรือจีนกำลังย่ำซ้ำรอยทศวรรษที่สาบสูญ

การเติบโตของประเทศจีนนับตั้งแต่ปีที่เริ่มเปิดประตูต้อนรับเศรษฐกิจโลก ถือเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ การปฏิรูปภาคเกษตรกรรม ความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม และการแปลงสภาพเป็นเมืองใหญ่ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ยากจนร่วม 800 ล้านคน สู่ประชาชนรายได้ปานกลางโดยใช้เวลาเพียงสี่ทศวรรษ

ย้อนกลับไปเมื่อราวหนึ่งทศวรรษก่อน รัฐบาลจีนแสดงพลานุภาพทางนโยบายในการรับมือวิกฤตเศรษฐกิจได้อย่างยอดเยี่ยม คราวเกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาจนได้รับการกล่าวขานว่า ‘จีนได้ช่วยเศรษฐกิจโลกเอาไว้’ และทุกครั้งที่เศรษฐกิจติดขัด ภาครัฐของจีนก็พร้อมจะเข้าแก้ปัญหาทั้งการลดดอกเบี้ย สร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์

แต่ทุกครั้งที่ทำเช่นนั้น หนี้สินทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เปรียบเสมือนการเติมลมใส่ลูกโป่งที่รอวันระเบิด สัญญาณฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทำให้รัฐบาลพยายามหาทาง ‘ปล่อยลม’ ออกจากลูกโป่ง กำหนดกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดยิ่งขึ้นเรื่องการปล่อยสินเชื่อในภาคอสังหาริมทรัพย์ จนบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่เผชิญปัญหาสภาพคล่อง ทยอยผิดนัดชำระหนี้ไปตามๆ กัน

การ ‘จัดระเบียบ’ เศรษฐกิจครั้งใหญ่ของจีน เกิดขึ้นประจวบเหมาะกับช่วงเวลาเดียวกับการระบาดของโควิด-19 ซึ่งรัฐบาลเลือกใช้มาตรการจำกัดการระบาดที่เคร่งครัด แม้ปัจจุบัน รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังฟื้นตัวอย่างน่าผิดหวัง โดยไม่ถึงเป้าหมาย 5% ที่รัฐบาลกำหนด ขณะที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การส่งออก การลงทุนภาคธุรกิจหดตัว และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจีนจึงเผชิญปัญหาที่ตรงข้ามกับหลายประเทศทั่วโลก นั่นคือ ‘เงินฝืด’ โดยดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวลดลงราว 0.3%

ปัญหาเงินฝืดจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า เพราะเป็นการจูงใจให้ประชาชนชะลอการบริโภค บริษัทชะลอการผลิต ทั้งยังทำให้การผ่อนชำระหนี้ทำได้ยากขึ้น ส่งผลให้วงจรเงินฝืดหมุนวนต่อเนื่องไปไม่มีที่สิ้นสุด ที่สำคัญคือเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะปกติจะไม่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิผล

สถานการณ์เช่นนี้ชวนให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า จีนอาจกำลังย่ำรอยเดิมญี่ปุ่นและตบเท้าเข้าสู่ ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’

ความเหมือนที่แตกต่าง

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาเดียวกับที่จีนกำลังจะเปิดประเทศ ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศเกิดใหม่ฝั่งเอเชียที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยโมเดลการพัฒนาที่เน้นการออมและเน้นการลงทุน นั่นหมายความว่า สัดส่วนการบริโภคภายในประเทศจะค่อนข้างจำกัดโดยไม่เกิน 50% ของจีดีพี แต่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนไปด้วยการก่อหนี้ การลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการส่งออก

การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นดึงดูดมูลค่าการลงทุนมหาศาลจนกลายเป็นฟองสบู่ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาดอสังหาริมทรัพย์ เมื่อฟองสบู่แตก สิ่งที่หลงเหลือคือซากปรักหักพังของสถาบันการเงินที่มีปัญหาหนี้เสีย และภาคเอกชนที่จมอยู่ใต้กองหนี้สิน การฟื้นฟูต้องใช้เวลายาวนานนับสิบปีจนกว่าเศรษฐกิจจะเริ่มเข้าที่เข้าทางอีกครั้ง ช่วงเวลานั้นถูกขนานนามว่า ‘ทศวรรษที่สาบสูญ’ ของญี่ปุ่น

เมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์ปัจจุบันของจีนจะพบว่า จีนมีสภาพเศรษฐกิจคล้ายกับญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นอย่างยิ่ง โดยจีนมีอัตราการออมและการลงทุนสูงกว่าญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ในขณะที่สัดส่วนการบริโภคของครัวเรือนของจีนอยู่ที่ราว 40% ของจีดีพีเท่านั้น ยังไม่นับความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเงินกับบริษัทขนาดใหญ่ที่ค่อนข้างใกล้ชิด โครงสร้างประชากรที่ขยับปรับเปลี่ยนสู่สังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว และอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัจจัยทั้งหมดนี้ราวกับ ‘ถอดแบบ’ มาจากญี่ปุ่นในช่วงวิกฤต

อย่างไรก็ตาม จีนในปัจจุบันก็มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่แตกต่างจากญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญ

ประการแรก คือโครงสร้างในภาคการเงินทั้งหมดของจีนถูกคุมด้วยธนาคารภาครัฐขนาดยักษ์ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐบาลย่อมไม่มีทางปล่อยให้ล้มละลาย รัฐบาลจึงมีอำนาจเต็มมือในการโยกย้ายถ่ายโอนสินทรัพย์และหนี้สิน ผ่อนคลายประนอมหนี้ที่เสี่ยงผิดนัด รวมถึงสร้างแรงจูงใจเพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัว อำนาจควบคุมเงินไหลเข้าออกของธนาคารกลางยังช่วยลดความเสี่ยงที่เม็ดเงินจะไหลออกนอกประเทศ อำนาจเบ็ดเสร็จในภาคการเงินคือสิ่งที่ญี่ปุ่นไม่มี

ประการที่สอง คืออำนาจมหาศาลของภาคการเมืองจีนต่อภาคเศรษฐกิจ ซึ่งเปรียบเสมือนดาบสองคม หากใช้อำนาจทางการเมืองอย่างเหมาะสม และออกแบบนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด ก็จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้มาก แต่หากใช้อำนาจแทรกแซงมากเกินไปก็อาจทุบทำลายความเชื่อมั่นและศักยภาพในการเติบโตของภาคเอกชน รวมถึงส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

ประการที่สาม คือคุณภาพชีวิตของประชาชน หากเทียบขนาดเศรษฐกิจกับสหรัฐอเมริกา จีนในปัจจุบันกับญี่ปุ่นในปี 1995 มีจีดีพีราว 75% ของสหรัฐฯ แต่หากพิจารณาในแง่คุณภาพชีวิต ญี่ปุ่นขณะนั้นจะอยู่ที่ราว 60% ของสหรัฐฯ แต่จีนในปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 20% เท่านั้น นี่ยังไม่นับว่าประชาชนชาวจีนมีจำนวนปีในรั้วสถาบันการศึกษาค่อนข้างต่ำ ทั้งมีตำแหน่งงานทักษะและค่าแรงต่ำจำนวนมากกว่า นั่นหมายความว่า ประชาชนชาวจีนอาจเผชิญความยากลำบากอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจจีนตกต่ำ

ประการสุดท้าย คือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนอยู่ขั้วตรงข้ามกับญี่ปุ่นและเหล่าพันธมิตรฝั่งเสรีประชาธิปไตย ส่งผลให้จีนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างไม่เป็นมิตรและเผชิญต่อมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ เช่นล่าสุด คือการที่สหรัฐฯ ห้ามส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงไปยังประเทศจีน ข้อจำกัดดังกล่าวสร้างปัญหาสำหรับจีนในฐานะ ‘ฐานการผลิตของโลก’ ที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนจากหลายแหล่งเพื่อผลิตสินค้าส่งออก

หรือจีนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ได้ (อีกครั้ง)

แน่นอนว่าหากมีกองแช่งก็ย่อมมีกองเชียร์ แม้ทุกคนจะเห็นพ้องต้องกันว่า ตัวชี้วัดระดับมหภาคของเศรษฐกิจจีน ละม้ายคล้ายกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นก่อนก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สาบสูญ แต่หากพิจารณาในรายละเอียดก็จะพบว่า จีนมีโอกาสสูงกว่าอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะงักงันเฉกเช่นที่ญี่ปุ่นเผชิญ

อย่างแรกคืออัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ เงินหยวนของจีนนั้นมีแนวโน้มอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องซึ่งช่วยให้สินค้าจีนราคาถูกกว่าต่างประเทศโดยเปรียบเทียบ อีกทั้งยังบรรเทาปัญหาเรื่องเงินฝืด ตรงกันข้ามกับญี่ปุ่นที่หลังจากข้อตกลงพลาซาทำให้เงินเย็นแข็งค่าขึ้นกว่า 40% ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นเกิดวิกฤตและเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้า

อย่างที่สองคือโอกาสในการเพิ่มผลิตภาพ แม้ว่าจีนจะเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ผลผลิตต่อตัวของจีนยังนับว่าใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนา นั่นหมายความว่า จีนสามารถโยกย้ายทรัพยากรไปยังอุตสาหกรรมเติบโตสูง ซึ่งจีนได้เปรียบกว่าประเทศอื่นๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือพลังงานหมุนเวียนเพื่อเพิ่มผลิตภาพและฉุดพาเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤต

อย่างที่สามคือศักยภาพของรัฐบาล ที่ปัจจุบันยังไม่ได้งัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาใช้อย่างเต็มกำลัง นี่อาจนับเป็นไพ่ตายในมือของจีน เพราะมีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในคลังล้นเหลือ เรียกได้ว่ามีกระสุนอยู่เต็มคลังแสง และพร้อมใช้งานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คำถามอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะใช้ไพ่ตายนี้เมื่อไรและใช้อย่างไร

จีนทำให้ทั่วโลกตื่นตะลึงกับความสามารถในการรับมือวิกฤตซับไพรม์ ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว คงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมายหากจีนจะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ โดยไม่ต้องเจ็บตัวหนักเหมือนกับคราวของประเทศญี่ปุ่น

คุณกำลังดู: หรือจีนกำลังย่ำซ้ำรอยทศวรรษที่สาบสูญ

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด