i-ELOOP และ i-STOP ของดี แต่ไม่มีก็ได้
เทคโนโลยีในรถยนต์ คือ สิ่งถูกคิดค้นมาเพื่อช่วยให้การขับรถดีขึ้น ทั้งเรื่องของสมรรถนะ ความสะดวกสบายของผู้ขับขี่ รวมไปถึงในยุคนี้ก็ล้วนที่จะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย แต่ครับแต่ หากเทคโนโลยีนั้นเมื่อถึงเวลาแล้วมีปัญหา ทางออกของผู้ใช้รถส่วนใหญ่คือการหาทางแก้ไขกันเอง ทั้งที่ค่ายรถควรจะผลิตวัสดุที่มีคุณภาพให้สมกับเทคโนโลยีที่ใส่เข้ามา
ปีที่แล้วผมเคยเขียนถึงรถยนต์ยุคใหม่ ที่หากใครที่ใช้รถทุกวันและสังเกตกันให้ดี แบตเตอรี่จะหมดเร็วกว่าในยุคก่อน ๆ เพราะรถที่ผลิตตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่ใช้ระบบไดชาร์จ ที่เรียกว่า Alternator Management System หรือ AMS ที่ต้องอาศัยการทำงานของแบตเตอรี่มากขึ้น แต่ได้ประโยชน์ทำให้ช่วยประหยัดน้ำมันและลดไอเสียได้
ทว่าแบตเตอรี่ที่ใส่มาจากโรงงานคุณภาพไม่เพียงพอที่จะยืนระยะได้เกินกว่า 1 ปี รถยิ่งขับเยอะแบตฯ ยิ่งหมดเร็ว เพราะการทำงานของไดชาร์จยุคใหม่จะถูกควบคุมด้วยกล่อง ECU แบตเตอรี่ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะหน้าที่ของมันไม่ใช่แค่จ่ายไฟตอนสตาร์ตเครื่องยนต์แล้วจบอีกต่อไป ทำให้รถหลายยี่ห้อแบตหมดเร็วภายในเวลาไม่ถึงปี
นั่นเป็นประสบการณ์ตรงที่ที่ผมเจอจากการใช้งานรถญี่ปุ่นยี่ห้อหนึ่งครับ ทำให้ผมต้องไปหาแบตเตอรี่จากร้านข้างนอกที่มันคุณภาพดีกว่าแบตเตอรี่ของศูนย์มาเปลี่ยนเอง และที่ตลก คือ เมื่อผมนำรถเข้าไปเช็กระยะที่ศูนย์ ดันไม่ตรวจสอบแบตเตอรี่ให้ เพราะเห็นว่าเป็นแบตฯ ที่เปลี่ยนมาจากข้างนอก ทั้งที่เหตุผลที่เปลี่ยนข้างนอกก็เพราะในการเข้าศูนย์ครั้งก่อนไม่ได้มีการแจ้งให้เปลี่ยน จนแบตฯ ไปหมดกลางทาง
มาถึงประสบการณ์ล่าสุดที่ผมเจอมากับรถอีกยี่ห้อครับ กับสุดยอดเทคโนโลยี i-ELOOP และ i-STOP ซึ่งเป็นระบบที่ทำงานคู่กันในรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งระบบ i-STOP ที่ว่านี้ มันก็คือระบบที่ตัดการทำงานของเครื่องยนต์ชั่วคราวขณะหยุดรถ ซึ่งก็จะมีชื่อเรียกต่างกันไปในรถหลาย ๆ ยี่ห้อ อาทิ Idling Stop, Auto Start Stop หรือ ECO Start/Stop แล้วแต่จะตั้งชื่อ
ซึ่งจากที่ผมเคยขับรถที่มีระบบนี้ และพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่รู้จักกันที่ใช้รถที่มีระบบนี้ บอกเลยว่าส่วนใหญ่ปิดระบบนี้เวลาขับ เพราะจะรำคาญมากเวลาจอดเพียงไม่กี่วินาที แล้วเครื่องดับ รวมถึงบางครั้งมันก็ดันดับในจังหวะที่เราไม่ต้องการ ส่วนรถรุ่นไหนที่ไม่มีปุ่มให้ปิดระบบนี้ก็ยิ่งหนักเลยครับ ก็ต้องใช้งานกันไป เว้นแต่จะไปหาวิธีปลดล็อกกันเองตามร้านข้างนอก
ซึ่งการที่รถมีปุ่มให้เปิด-ปิดการทำงานระบบที่ว่านี้ นั่นก็หมายความว่าในการใช้งานจริงค่ายรถก็ควรต้องทดสอบมาแล้วว่า สามารถใช้ฟังก์ชันนี้ได้โดยที่ไม่มีผลอะไรกับตัวรถ แต่อยู่ดี ๆ ขับ ๆ อยู่ กลับมีไฟสีส้มโชว์ อันเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่าระบบ i-ELOOP และ i-STOP นั้นผิดปกติ ซึ่งที่ช่วยได้ในตอนนั้นไม่ใช่ศูนย์บริการนะครับ แต่เป็น Google!
เพราะเมื่อไปเสิร์ชในกูเกิล ปรากฏว่าคนใช้รถรุ่นนี้เจอปัญหานี้กันถ้วนหน้า และมีแนวทางการแก้ไขกันแบบเสร็จสรรพ รวมถึงเมื่อเข้าไปในกลุ่มแฟนเพจของคนใช้รถรุ่นนี้ก็มีแนวทางการแก้ปัญหาในทิศทางเดียวกันครับ นั่นก็คือ เมื่อระบบมันมีปัญหา ถอดสายระบบนี้ออกไปดื้อ ๆ ตัดการทำงานของ i-ELOOP และ i-STOP ไปเลย ทุกอย่างจบ ดีกว่าเข้าไปเปลี่ยนอะไหล่ที่ราคาว่ากันว่าแตะหลัก 2 หมื่น
ส่วนระบบ i-ELOOP ที่คู่กันมานี้ คือ หนึ่งในเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน วิธีการคือนำพลังงานที่สูญเสียจากการเบรกรถ แปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า แล้วนำไปเก็บไว้ที่ตัวเก็บประจุไฟฟ้า (capacitor) เพื่อไปใช้เกี่ยวกับอุปกรณ์ระบบไฟต่าง ๆ อาทิ เครื่องเสียง แอร์ ซึ่งไฟจากส่วนนี้จะได้ใช้ประโยชน์ในช่วงที่ i-STOP ทำงาน (เครื่องยนต์หยุดทำงาน) นั่นเอง
อย่างไรก็ดี เราก็ไม่ควรปักใจเชื่อไปเสีย 100 เปอร์เซ็นต์นะครับ ควรจะเช็กกับศูนย์ด้วยเพื่อความชัวร์ ซึ่งคำตอบที่ได้จากศูนย์คือ “ระบบนี้สามารถตัดการทำงานได้ โดยไม่มีปัญหาอะไรกับการใช้งานของตัวรถ แต่ทางศูนย์ไม่รับทำ พร้อมแนะนำด้วยว่าสามารถไปหาอู่นอกจัดการได้เลย” อ้าว! ศูนย์บอกแบบนี้ก็จัดไปสิครับ รออะไร (ฮา)
ที่เล่ายาว ผมแค่อยากจะบอกว่าเทคโนโลยีที่เขาคิดค้นกันมาแล้วล้วนเป็นของดีทั้งสิ้นครับ เพียงแต่ว่าในการใช้งานจริง ค่ายรถช่วยใช้วัสดุที่มันมีคุณภาพและรองรับกับเทคโนโลยีนั้น ๆ ในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ว่าใช้ไปไม่กี่ปีก็พัง เพราะไหน ๆ ก็อุตส่าห์ติดต้้งมาแล้ว ขอแค่นั้นเองครับ
ปล. ใครที่สงสัยว่าระบบนี้มันอยู่ในรถรุ่นใด ลองเอาคำว่า i-ELOOP และ i-STOP ไปเสิร์ชดูครับ รับรองว่า “ซูมซูม” มากันเพียบแน่นอนครับ
คุณกำลังดู: i-ELOOP และ i-STOP ของดี แต่ไม่มีก็ได้
หมวดหมู่: รถยนต์