การกั้นประตูเงินประตูทองตามประเพณีไทยคืออะไร ทำไมต้องกั้น
การกั้นประตูเงินประตูทอง เป็นหนึ่งในธรรมเนียมที่เรียกความสนุกสนานให้กับพิธีแต่งงานแบบไทยได้เป็นอย่างดี พิธีนี้มักเกิดขึ้นในช่วงที่เจ้าบ่าวเดินทางไปยังเรือนของเจ้าสาวเพื่อรับตัวเข้าพิธีวิวาห์ โดยมีจุดเด่นคือการที่ญาติหรือเพื่อนของเจ้าสาวตั้งแถวกั้น “ประตู” ที่ทำมาจากสายเงินสายทองหรือผ้าแพรสีต่างๆ นำมาขวางทางเดิน
บางงานเพื่อนเจ้าสาวมักมีเกมส์มาให้เจ้าบ่าวเล่นก่อนจะเปิดประตูให้เสมอ อาทิ วิดพื้น, ทายใจ, ตะโกนบอกรัก เป็นต้น เพื่อเป็นการทดสอบและขอสิ่งตอบแทนจากเจ้าบ่าวก่อนที่จะผ่านไปถึงตัวเจ้าสาว
แต่ทราบหรือไม่ว่าตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ถูกต้องตามประเพณีแล้วการกั้นประตูเงินประตูทองนั้นควรมีประตูเงินประตูทองกี่ประตูกันแน่
ประตูเงินประตูทองควรมีกี่ประตู
ตามประเพณีแต่งงานไทยดั้งเดิม การกั้นประตูขันหมากนิยมจัดให้มี 3 ประตู ได้แก่ ประตูชัย, ประตูเงิน, และ ประตูทอง โดยแต่ละประตูมีความหมายและลำดับพิธีที่แตกต่างกันดังนี้
- ประตูชัย : เป็นด่านแรกที่โดยส่วนใหญ่หากไม่ได้จัดงานที่โรงแรม ก็คือหน้าบ้านของเจ้าสาวนั่นเองจึงถือว่าเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยในการเปิดประตูเพื่อไปรับว่าที่เจ้าสาวก่อนจะเข้าพิธีแต่งงานโดยผู้กั้นประตูจะถือชายผ้าคนละข้าง หรือ จะเรียกการกั้นประตูในชั้นแรกนี้ว่า “การปิดประตูขันหมาก” สำหรับบริเวณประตูนี้จะมีการต่อรองเกิดขึ้นตามบรรยากาศ ก่อนจะผ่านประตูชั้นนี้ไปได้ ฝ่ายว่าที่เจ้าบ่าวจะต้องให้ซองเงินแก่ผู้กั้นประตูซึ่งเรียกกันว่า “ของแถมพกอย่างตรี”
- ประตูเงิน : โดยประตูเงินนั้นหมายถึง ให้มีชีวิตคู่ที่สุขสบาย ร่ำรวยด้วยเงินตรา ซึ่งผู้กั้นประตูจะถือชายผ้าแพรคนละข้าง หรือ เป็นผ้าที่มีเนื้อดีกว่าผ้าใช้กันประตูชัย บริเวณนี้จะมีการต่อรองเช่นเดียวกับประตูชัย แต่ซองเงินที่ให้จะต้องมีค่าสูงกว่า โดยจะเรียกซองเงินที่ให้แก่ผู้กั้นว่า “ของแถมพกอย่างโท” และประตูสุดท้าย
- ประตูทอง : โดยความหมายของประตูนี้ คือ ให้ร่ำรวยด้วยทอง และ มีชีวิตคู่ที่รุ่งเรืองดั่งทองคำ ผู้กั้นประตูนี้จะถือชายผ้าแพรอย่างดี หรือ ผู้กั้นบางคนอาจใช้สร้อยทองสำหรับกั้นประตู และ เช่นเดียวกันกับสองประตูที่ผ่านมา ก็จะมีการหยอกล้อ ต่อรองเพื่อขอให้ว่าที่เจ้าบ่าวผ่านประตูไปรับว่าที่เจ้าสาว แต่ความยากในประตูนี้จะมีมากกว่าสองประตูที่ผ่านมา และ ก็แน่นอนว่าซองเงินจะต้องมีมูลค่ามากกว่าสองประตูที่ผ่านมา โดยเรียกซองเงินที่ให้แก่ผู้กั้นว่า “ของแถมพกอย่างเอก”
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าการกั้นประตูเงิน ประตูทองนั้นเหมือนเป็นสีสัน เพื่อเพิ่ม สิริมงคลในงาน และได้เพิ่มรอยยิ้มให้แก่แขกที่มาร่วมงาน เจ้าบ่าว เจ้าสาว ซึ่งก็เป็นเหมือนงานที่เป็นประเพณีที่ทำสืบทอดต่อกันมาซึ่งอย่างไรก็ตามแม้ว่าตามประเพณีดั้งเดิมจะมี 3 ประตู แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนไปจากประเพณีดั้งเดิมทั้งสิ่งที่นำมากั้นประตู จำนวนประตู ขึ้นอยู่กับการปรับเปลี่ยนตามหน้างาน เพื่อความเหมาะสม
นอกจากนี้การกั้นประตูเงินประตูทองยังมีความเชื่อที่ว่า หากเจ้าบ่าวผ่านทุกประตูไปได้อย่างราบรื่น จะเป็นสัญญาณของชีวิตคู่ที่ราบรื่นและสมบูรณ์แบบในอนาคตนั่นเอง
คุณกำลังดู: การกั้นประตูเงินประตูทองตามประเพณีไทยคืออะไร ทำไมต้องกั้น
หมวดหมู่: วัยรุ่น