การ “อ่าน” ยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่เรา “ฟัง” เอาก็ได้

การ “อ่าน” ยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่เรา “ฟัง” เอาก็ได้

ในยุคที่เทคโนโลยีด้านเสียงกำลังเติบโตไปในทิศทางขาขึ้น มีบริการด้านเสียงมากมายทั้งที่ให้ความรู้และความบันเทิง การมาของพอดแคสต์และคลับเฮาส์ทำให้เรามีคอนเทนต์ประเภทไฟล์เสียงดิจิทัลเปิดฟังได้แทบทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่มีอุปกรณ์ในการเปิดใช้งาน อีกทั้งยังเปิดฟังไปด้วยทำงานไปด้วย ขับรถไปด้วย กินข้าวไปด้วยได้ ออกกำลังกายไปด้วย พูดง่าย ๆ ก็คือเราสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วยได้ในขณะที่เรารับสารด้วยวิธีการฟัง หลายคนจึงหันมาเสพข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ผ่านการฟังมากกว่าที่จะอ่านเอง

ในขณะเดียวกัน หลายคนก็เริ่มรู้สึกว่าตัวเองอ่านหนังสือน้อยลง อาจเพราะไม่ค่อยมีเวลาได้อ่านเท่าไรนัก เนื่องจากการอ่านหนังสือเป็นกิจกรรมที่ต้องจดจ่ออยู่แค่กับการอ่านเท่านั้น เราอ่านหนังสือไปขับรถไปไม่ได้ หรืออ่านหนังสือไปทำงานไปไม่ได้ เป็นเหตุให้หลายคนหันไปพึ่งการรับสารด้วยการฟังแทนการเองด้วยเช่นกัน จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ และสุดท้ายก็ได้รู้ในสิ่งที่อยากรู้เหมือนกัน อาจจะเป็นพวกหนังสือเสียงที่มีเสียงคนอ่านให้ฟัง ใส่โทนเสียง ใส่น้ำเสียงตื่นเต้นได้ตามใจชอบ หรืออ่านให้ฟังในลักษณะของการรีวิว มีสอดแทรกข้อคิดเห็นลงไปด้วย ก็อาจจะทำให้ฟังแล้วรู้สึกสนุกสนานมากกว่าการอ่านเอง

ในยุคที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัลแบบนี้ เปิดเข้าโซเชียลมีเดียก็มีเพจประเภทสรุปข่าวให้อ่านแบบรวบรัดเข้าใจง่าย บ้างก็ทำเป็นภาพอินโฟกราฟิกที่สรุปครบทุกเรื่องในภาพเดียว ทำเป็นพอดแคสต์ลงช่องทางต่าง ๆ หรือทำเป็นวิดีโอขนาดสั้นแบบที่สรุปทุกอย่างให้เปิดดูเปิดฟังในระหว่างที่กำลังขับรถหรือนั่งทำงาน ทำให้เรารับข้อมูลข่าวสารบนโลกได้ง่ายขึ้นแทบจะตลอดเวลา นอกจากนี้ เวลาที่สงสัยหรืออยากรู้อะไรก็ค้นหาคำตอบได้ด้วยปลายนิ้วพิมพ์แล้วกดค้นหาเท่านั้น ไม่ต้องไปรื้อค้นหาหนังสือพวกนั้นมาอ่านหาข้อมูลที่อยากรู้หรือสงสัยอีกต่อไปแล้ว หรือไม่ต้องตระเวนเข้าออกหอสมุดหาหนังสือหายากมาอ่านเพื่อตอบสนองความอยากรู้ของตนเองเหมือนเมื่อก่อน

แล้วแบบนี้การรับความรู้จากการอ่านหนังสือเป็นเล่ม ๆ จะยังจำเป็นอยู่หรือไม่ คุ้มค่าที่จะเสียเวลาไปนั่งอ่านหรือเปล่า ในเมื่อการอ่านเองหรือการฟังเอาจากแหล่งต่าง ๆ ก็ทำให้เราได้รับรู้สารไม่ต่างกัน ที่เคยพูดกันว่าการอ่านหนังสือนั้นสำคัญและจำเป็นในแง่ของการสะสมคลังความรู้ไว้ในคลังสมอง หากต้องการจะใช้ สมองจะค่อย ๆ ตกผลึกออกมา ทุกวันนี้เราต้องอ่านหนังสือเพื่อการนั้นไหม ในเมื่อเราฟังเอาก็ได้ ตั้งใจฟังดี ๆ ก็เก็บเข้าคลังความรู้ได้เหมือนกัน หรือต่อไปเราไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือแล้วหรือเปล่า ในเมื่อเทคโนโลยีด้านเสียงตอบโจทย์เราได้

การอ่านช่วยฝึกทักษะในการจดจ่อได้ดีกว่าการฟัง

แม้ว่าคนเราจะสามารถทำอะไรได้หลาย ๆ อย่างพร้อมกันในเวลาเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนเราสามารถ “จดจ่อ” ได้ดีที่สุดแค่กับสิ่งเดียวเท่านั้น เพราะตามหลักวิทยาศาสตร์ มนุษย์ไม่ได้ทำหลายสิ่งหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน เพียงแต่สลับสิ่งที่ต้องทำหรือคิดไปมาอย่างรวดเร็วเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่มนุษย์เราทำจริง ๆ คือการ “Switch Task” ต่างหาก อย่างไรก็ตาม การทำเช่นนี้จะส่งผลต่อสมองของเรามากกว่าที่คิด เพราะเอาเข้าจริงคนที่ทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน มักทำผิดพลาดบ่อยกว่าคนที่ทำทีละอย่าง และยังตัดสินใจได้แย่กว่าอีกด้วย

ลองนึกถึงช่วงเวลาที่เราต้องรับผิดชอบอะไรหลาย ๆ อย่างให้จบในเวลาอันจำกัด แม้ว่ากิจกรรมต่าง ๆ จะเดินไปในช่วงเวลาเกือบจะเดียวกัน แต่เราไม่สามารถโฟกัสทุกอย่างได้ให้มันดีที่สุดพร้อมกันได้ เราจึงต้องใช้เวลามากขึ้นในการทำทุกสิ่งอย่างให้เสร็จ เพราะสมองจะต้องปรับโฟกัสใหม่ทุกครั้งที่เราเปลี่ยนกิจกรรมทำไปมา นั่นทำให้บางทีเราต้องเสียเวลามากกว่าเดิมเพื่อกลับไปยังจุดเริ่มต้นของกิจกรรมที่เราไม่ได้โฟกัสตั้งแต่ต้น แม้ว่ากิจกรรมนั้นจะดำเนินไปเกือบพร้อม ๆ กัน แต่สมองเราไม่รับรู้รายละเอียดลึก ๆ ของกิจกรรมนั้น ๆ จากการที่ไม่ได้โฟกัสนั่นเอง

การอ่านหนังสือ เป็นกิจกรรมที่ช่วยฝึกทักษะในการจดจ่อกับอะไรบางอย่างได้ดีขึ้น โดยเฉพาะคนกับคนวัยทำงานที่ชีวิตประจำวันต้องเจอกับความยุ่งเหยิงแทบตลอดเวลา มีอะไรมากมายที่เข้ามาแทรกกลางการทำงานของเราและดึงดูดความสนใจเราไปจนทำให้เราเสียสมาธิอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งในยุคที่ทักษะ multi-tasking กลายเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของผู้สมัครงานที่กำลังตามหาไปแล้ว ถ้าเราไม่สามารถโฟกัสกับอะไรนาน ๆ ได้เลย มันจะกลายเป็นปัญหาในที่สุด การฝึกทักษะในการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับอะไรนาน ๆ ฝึกด้วยการอ่านจะดีกว่าการฟัง ที่สำคัญ แหล่งอ้างอิงจากหนังสือเป็นเล่มก็เป็นรูปธรรมมากกว่าเสียงที่ใช้ฟังด้วย

เพราะการอ่านเอาเรื่อง อ่านแบบทำความเข้าใจ อ่านแบบเก็บรายละเอียด เราจำเป็นที่จะต้องจดจ่อและมีสมาธิกับการอ่าน ในขณะที่การฟัง แม้เราจะพยายามจดจ่อเหมือนกับการอ่านก็จริง แต่เราจะถูกดึงความสนใจไปจากการฟังได้ง่ายกว่าการอ่าน โดยเฉพาะการรับสารด้วยฟังที่ใคร ๆ ก็บอกว่าเราสามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วยระหว่างที่ฟังได้ ดูเหมือนจะเป็นข้อดีที่เรายังสามารถทำอะไรได้อีกตั้งหลายอย่างแม้เรากำลังฟัง แต่มันกลับทำให้สมองเราไม่ได้จดจ่ออยู่กับการฟังเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นสาเหตุให้เราต้องย้อนกลับฟังใหม่หลังจากที่โฟกัสเริ่มหลุด เพราะเราไม่มีสมาธิกับมันแล้ว เราจึงฟังไม่รู้เรื่อง และเก็บรายละเอียดอะไรไม่ได้เลยนั่นเอง

เราจะรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ จากการฟังเท่านั้นได้หรือไม่

ในยุคที่ใครต่อใครก็อ่านหนังสือกันน้อยลง และมักจะมีข้ออ้างว่า “ไม่มีเวลา” อ่านหนังสือ ไม่ว่าจะหนังสือประเภทใดก็ตาม และแม้แต่ข้อความสั้น ๆ จากตัวอักษรไม่กี่ตัว ไม่กี่บรรทัดก็ไม่อ่าน เพราะต้องเอาเวลาไปทำนู่นนั่นนี่สารพัด ทำให้หลายคนหันหลังให้กับการรับสารด้วยวิธีการอ่าน แล้วให้ไปรับสารด้วยวิธีการฟังแทน เนื่องจากในระหว่างที่เราฟัง เราก็สามารถทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วยได้ ไม่ต้องเสียเวลาเพ่งสายตาจดจ่ออยู่กับหนังสือเพียงอย่างเดียว ทำให้คนยุคใหม่เริ่มที่จะรับสารผ่านการฟังหรือดูพวกคลิปวิดีโอสรุปสั้น ๆ กันมากขึ้น ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันรับข้อมูลได้สะดวกกว่าจริง ๆ และท้ายที่สุด มันก็ทำให้เราได้รับทราบข้อมูลเหมือนกัน ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องอ่าน เราก็รู้ข้อมูลได้

ถึงแม้ว่าการรับสารด้วยวิธีการอ่านกับการฟัง ปลายทางจะทำให้เราก็ได้รับสารนั้น ๆ มาอยู่ดี อีกทั้งการฟังก็ทำให้เราสามารถรับรู้ข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพเทียบเท่าการอ่าน จากงานวิจัยจาก Gallant Lab มหาวิทยาลัย University of California ที่พบว่าถ้าข้อมูลมีเนื้อหาเดียวกัน สมองของเราสามารถรับรู้ข้อมูลจากการอ่านและการฟังได้ไม่ต่างกัน เพราะฉะนั้นจะฟังหรือจะอ่านก็คงไม่ต่างกัน แต่เราจะสามารถทิ้งการอ่านหนังสือไปเลย แล้วเลือกที่จะฟังเอาอย่างเดียวเลยได้หรือไม่

บ่อยครั้งที่การอ่านและการฟัง มี “กระบวนการ” ต่างกัน มันจึงมีผลต่อความทรงจำเราต่างกันไปด้วย การรับสารผ่านการอ่าน เราจะอ่านได้รู้เรื่องและเข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง เราต้องใช้สมาธิในการจดจ่อค่อนข้างมาก ในระหว่างที่ตาเห็นตัวอักษร สมองส่วนหนึ่งจะถูกใช้ไปกับการอ่านคำที่ถูกร้อยเรียงเป็นรูปประโยคยาว ๆ สมองอีกส่วนจะพยายามถอดตัวอักษรที่เป็นรูปประโยคยาว ๆ นั้นให้ออกมาเป็นภาพเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ทำให้ระหว่างนั้น สมองจะเริ่มจดจำข้อมูลต่าง ๆ ที่ตาเห็นและได้ประมวลผลตามกระบวนการดังกล่าว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอ่านหนังสือแตก อ่านแบบตีความ อ่านแบบที่เข้าใจได้แม้แต่สารที่อยู่ระหว่างบรรทัด สารที่ไม่ได้มีตัวอักษรให้อ่าน แต่เราจะอนุมานได้ผ่านการอ่านรวม ๆ สมองเราจำเป็นจะต้องดึงข้อมูลบางอย่างที่ถูกเก็บไว้ในคลังประสบการณ์ขึ้นมาตกผลึกประกอบการอ่านด้วย การมีประสบการณ์ชีวิตไม่เหมือนกันและมีคลังความรู้ในสมองต่างกัน มีผลต่อการอ่านตีความระหว่างบรรทัดได้ลึกซึ้งแตกต่างกันตามไปด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมคนเราอ่านหนังสือเล่มเดียวกัน หน้าเดียวกัน ย่อหน้าเดียวกัน แต่ตีความออกมาได้ไม่เหมือนกัน บางคนเข้าใจความหมายลึกซึ้งที่ถูกแฝงไว้ แต่บางคนรับสารได้แบบผิวเผินแค่ตามที่ตัวอักษรปรากฏให้อ่านเท่านั้น

ในขณะที่การฟัง บางทีเราไม่จำเป็นต้องใช้สมาธิตั้งใจฟังขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่เรามักจะรับสารด้วยการฟังในขณะที่ทำกิจกรรมอื่น ๆ ไปด้วยมากกว่า ดังนั้น การฟังแบบ “แค่ได้ยิน” ก็สามารถทำให้เรารับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวันได้แล้ว อย่างไรก็ตาม การฟังแบบแค่ได้ยิน ก็ทำให้เราได้รับข้อมูลแบบผ่านแล้วผ่านเลยไปมากกว่าที่จะจดจำไว้ในระยะยาว เนื่องจากสมองไม่ได้ “จดจ่อ” กับเสียงที่ได้ยินได้มากเท่ากับการอ่าน ทำให้การรับสารด้วยการฟัง เราจะแค่รับรู้ว่ามีเรื่องนั้นเรื่องนี้เกิดขึ้น แต่จดจำในรายละเอียดเชิงลึกไม่ค่อยได้ และถ้าอยากรู้รายละเอียดเชิงลึกที่มากขึ้น คนส่วนใหญ่ก็จะไปหาข้อมูล “อ่าน” เพิ่มเติมอยู่ดี

การฟังคงไม่อาจจะเป็นวิธีรับสารที่ทดแทนการอ่านได้อย่างสมบูรณ์ (ยกเว้นในคนที่มีปัญหาด้านการอ่าน) เพราะในคนที่มีทักษะในการสื่อสารครบทั้ง 4 ด้านอย่างฟัง พูด อ่าน เขียน การฟังจะเป็นการรับสารมาในขั้นต้นเท่านั้น แบบที่รับรู้ข้อมูลมาคร่าว ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่สามารถเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมดผ่านการฟังผ่าน ๆ เพียงรอบเดียว มันมีปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามามีอิทธิพลต่อการจดจำจากการฟัง ต่อให้เราพยายามตั้งใจฟังหรือพยายามใช้สมาธิกับการฟังมากแค่ไหน มันก็มีขีดจำกัดที่จะจำได้ทั้งหมด หากต้องการรายละเอียดที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น แทนที่จะกลับไปวนฟังซ้ำ ๆ คนส่วนใหญ่ก็มักจะหาข้อมูลอ่านเพิ่มเติมอยู่ดี เพื่อให้ตัวเองเข้าใจได้มากที่สุด

ที่สำคัญ บุคคลที่ประสบความสำเร็จระดับโลก ไม่เคยเว้นว่างจากการอ่านหนังสือ พวกเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จเพียงเพราะรับสารผ่านการฟังเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขา “อ่านหนังสือ” ความรู้ที่ได้จากหนังสือจะช่วยให้พวกเขาเพิ่มคลังความรู้ในสมองอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีเหตุการณ์ที่ต้องใช้แก้ปัญหาก็จะดึงเอาข้อมูลที่เก็บไว้ในคลังมาใช้ได้ หนังสือช่วยให้พวกเขาพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้น การอ่านไม่ได้แค่ทำให้เรามีความรู้หรือข้อคิดต่าง ๆ มากขึ้น แต่ยังช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด มีสมาธิจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมอง และช่วยพัฒนาความจำ ที่สำคัญคือ ได้แรงบันดาลใจ!

คุณกำลังดู: การ “อ่าน” ยังจำเป็นอยู่ไหม ในยุคที่เรา “ฟัง” เอาก็ได้

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด