การกระจายข่าวของ Fake News น่ากังวลมากแค่ไหน
ในยุคที่ผู้คนมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอยู่ในมือตลอดเวลา ทำให้ทุกคนมีสถานะเป็นได้ทั้งผู้ผลิตสาร ผู้ส่งสาร และผู้รับสารในเวลาเดียวกัน ในฐานะผู้ผลิตสาร อาจเกิดขึ้นเมื่อคุณเห็นอุบัติเหตุเกิดขึ้นตรงหน้า คุณจึงถ่ายรูปอุบัติเหตุนั้นเพื่อแชร์ให้เพื่อน ๆ ในโซเชียลมีเดียของคุณได้รับรู้ว่าวันนี้คุณเจอเหตุการณ์อะไรมาบ้าง พร้อมด้วยแคปชันโดน ๆ ที่เขียนขึ้นจากสิ่งที่คุณเห็นจากเหตุการณ์นั้น โดยที่คุณก็ไม่ได้ตรวจสอบก่อนว่าสิ่งที่คุณเห็นและกำลังจะกดโพสต์นั้น เป็นข้อเท็จจริงของเหตุการณ์อุบัติเหตุมากน้อยแค่ไหน
ในฐานะผู้รับสาร เกิดขึ้นได้เป็นปกติ เมื่อคุณกำลังใช้งานโซเชียลมีเดียหรือท่องอินเทอร์เน็ต ข้อมูลบางชุด คุณเห็นผ่านตาแล้วก็ผ่านเลยไป แค่รับทราบข้อมูลชุดนั้น แต่กับข้อมูลที่คุณสนใจเป็นพิเศษ คุณอาจจะเก็บไว้กับตัวเพื่ออ่านอย่างละเอียดอีกครั้งหรือนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ หรือคุณอาจจะรับมาแล้วแชร์ต่อ เพื่อให้เพื่อน ๆ ที่ติดตามคุณอยู่ได้รับทราบถึงข้อมูลชุดนี้ด้วย คุณก็จะกลายเป็นผู้ส่งสารไปในทันที
การที่ข้อมูลต่าง ๆ สามารถสืบค้นได้ผ่านอินเทอร์เน็ต และคุณสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้วันละเป็นสิบเป็นร้อยชุดข้อมูล จึงไม่ต่างอะไรกับการแหวกว่ายอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูลข่าวสารที่ไหลท่วมโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลนั้น มีทั้งข้อเท็จจริงที่มีประโยชน์ เนื้อหาที่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียน และยังรวมไปถึงข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลที่นั่งเทียนคิดเองเออเอง ข้อมูลเท็จที่มีเจตนาหลอกลวง โฆษณาชวนเชื่อที่เกินจริง ข้อมูลที่มีเจตนาใส่ร้ายโจมตีฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้เกิดความเกลียดชัง ฯลฯ ส่วนหนึ่งสามารถตรวจสอบได้ไม่ยากว่าเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ แต่ก็มีข้อมูลจำนวนไม่น้อยที่ยากจะตรวจสอบหรือหาต้นตอของความบิดเบือน
สำหรับข้อมูลที่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด จะถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มของ “ข่าวปลอม” หรือ Fake News ซึ่งการที่ข่าวปลอม ที่มักถูกสร้างขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์บางอย่าง ถูกรับมาแล้วแชร์ต่อออกไปเรื่อย ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากในยุคที่เราสามารถรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว เพราะข่าวปลอมนั้นเดินทางเร็วกว่าข่าวจริงหลายเท่า รวมถึงกลวิธีการนำเสนอข่าวปลอมหลายข่าวใช้หลักจิตวิทยาเข้ามาช่วย ทำให้คนแยกไม่ค่อยออกว่าข่าวจริงหรือข่าวปลอม หรือถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเองโดยตรง ก็อาจพร้อมที่จะเชื่อโดยไม่ตรวจสอบเลยก็ได้ ดังนั้น การแชร์ข่าวปลอมกันเป็นทอด ๆ ส่งต่อข้อมูลผิด ๆ กันไปเรื่อย ๆ เป็นเรื่องที่น่ากังวลแค่ไหน
สร้างความเข้าใจผิดในเรื่องต่าง ๆ เป็นวงกว้างไปเรื่อย ๆ
จากรายงานของ MIT ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาและวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก พบว่า “การเดินทางของข่าวปลอมนั้นรวดเร็วกว่าข่าวจริงถึง 6 เท่าในทวิตเตอร์ (แพลตฟอร์ม X ปัจจุบัน)” เนื่องจากข่าวปลอมที่เกิดจากความพยายามปั่นกระแส จะกลายเป็นไวรัลได้ง่ายกว่าข่าวอื่น เมื่อผู้คนจำนวนมากรับรู้ข่าวปลอมนั้น ๆ แล้ว ก็มีความเชื่อที่ผูกพันต่อข่าวปลอมนั้น ที่ไม่เพียงแต่ยังคงแชร์ต่อไปสู่บุคคลอื่นเป็นวงกว้าง แต่จะปฏิเสธการรับสารที่
ข้อมูลตรงข้ามกับข่าวปลอมนั้นด้วย
พูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าใครสักคนเชื่อข่าวปลอมอย่างสนิทใจไปแล้ว ก็จะจำเฉพาะข้อมูลนั้นไปกระจายต่อ ซึ่งต่อให้มีความพยายามจะแก้ไขความเข้าใจผิดโดยการบอกว่าข่าวก่อนหน้านี้เป็นข่าวปลอม คนส่วนมากก็ไม่ได้สนใจจะเปิดรับข้อมูลใหม่ว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม ข่าวปลอมที่เป็นไวรัลในครั้งแรกจึงสร้างความเข้าใจที่คาดเคลื่อนออกไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบสู่สังคมวงกว้าง อาจเกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด และมีผลกระทบด้านลบที่ส่งผลเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินตามมา
เสียความน่าเชื่อถือ
ข่าวปลอมจะเป็นข่าวเกี่ยวกับอะไรก็ได้ โดยต้นตอของข่าวปลอมอาจมีที่มาจากความเข้าใจผิด ความไม่เข้าใจ การเล่าต่อแบบปากต่อปากที่สอดแทรกด้วยความคิดเห็นของหลายปาก หรือสารค่อย ๆ ถูกแปลงเพราะส่งต่อกันมาหลายทอด หรือแม้แต่ถูกสร้างขึ้นด้วยเจตนาบางอย่าง การที่ตัวเราเอง คนดัง/คนมีชื่อเสียงในสังคม หรือสื่อมวลชน ทั้งสื่อหลักและสื่อใหม่ ฯลฯ หากเข้าร่วมเป็น 1 ในผู้ร่วมแชร์ข่าวปลอมนั่น แล้วมาทราบทีหลังว่าแชร์ข่าวปลอม จะทำให้ความน่าเชื่อถือลดลงทันที ทั้งยังอาจเกิดผลกระทบต่อตนเอง บุคคลอื่น กลุ่มบุคคล หรือสังคมโดยรวมด้วย
ความแตกแยกและความเกลียดชัง
ข่าวปลอม อาจเป็นจุดเริ่มต้นแรก ๆ ของความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเริ่มขึ้นมาจากความเข้าใจผิด เข้าใจไม่ตรงกัน หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวโคมลอยขึ้นมา ใส่สีตีไข่ สุมเชื้อเพลิงลงไปมากขึ้น เมื่อข่าวปลอมกระจายไปยังกลุ่มคนที่มีความคิดความเชื่อต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน จะทำให้เกิดเป็นรอยร้าวและความแตกแยกของผู้คนในสังคม มีการแบ่งกลุ่มแบ่งก๊กของคนที่มีความคิดความเชื่อเหมือน ๆ กัน คนหัวอ่อนก็จะยิ่งถูกคนสุดโต่งล้างสมองด้วยข้อมูลปลอมที่เปรียบดั่งเชื้อไฟ ทำให้ในกลุ่มเดียวกันฝังหัวกับความคิดความเชื่อเดิม และต่อต้านข้อมูลที่ตรงกันข้ามอย่างรุนแรง หากถูกปั่นมาก ๆ จะทำให้ความแตกแยกยิ่งหยั่งรากลึก นำไปสู่ความโกรธเกลียดเคียดแค้นอีกฝ่ายอย่างรุนแรง
สร้างความปั่นป่วน โกลาหล ชุลมุน เพราะถูกทำให้ตื่นตระหนก
ข้อมูลเท็จบางข้อมูลอาจไม่ได้ตั้งใจจะปั่นให้กลายเป็นข่าวปลอมตั้งแต่แรก แต่อาจเริ่มมาจากการล้อเล่นหรือแกล้งกันในกลุ่มเล็ก ๆ มากกว่า อย่างไรก็ดี พอข่าวปลอมจุดติดและลุกลามอย่างรวดเร็ว มันก็เกินที่จะควบคุม โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวกับภัยพิบัติ โรคระบาด การก่อการร้าย หรือเรื่องที่ไม่ปลอดภัยแก่ชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อถูกปั่นขึ้นมาจนคนกลุ่มใหญ่เชื่อ สังคมจะเริ่มปั่นป่วน มีความชุลมุนวุ่นวาย ความโกลาหล ขึ้นมาจากการที่ผู้คนต่างแตกตื่นกับข่าวปลอมที่ได้รับ ยิ่งถ้าเป็นข่าวที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ยาก ชนิดที่แม้แต่สื่อมวลชนยังรายงานข่าวไม่ตรงกัน ก็จะยิ่งตื่นตระหนก เพราะไม่รู้ว่าจะเชื่อข่าวจากแหล่งไหนได้บ้าง
คุณกำลังดู: การกระจายข่าวของ Fake News น่ากังวลมากแค่ไหน
หมวดหมู่: วัยรุ่น