เกียร์ในรถยุคใหม่ มีกี่แบบ แบบไหน ดีอย่างไร

เกียร์ในรถยุคใหม่ มีกี่แบบ แบบไหน ดีอย่างไร

เกียร์ในรถยุคใหม่ มีกี่แบบ แบบไหน ดีอย่างไร เมื่อคุณได้ยินคนบ้ารถ พูดคำว่า CVT, ออโต้, เกียร์สปีด จำพวกนี้ เคยงงบ้างไหมครับ ว่ามันพูดถึงอะไรกัน?

สิ่งเหล่านี้ ก็คือระบบส่งกำลัง หรือที่เราเรียกว่าเกียร์นั่นเอง อันที่จริง คำว่า Gear เฉยๆ ในภาษาอังกฤษมันแปลว่า เฟืองทดครับ ถ้าหมายถึงไอ้สิ่งที่ทำหน้าที่รับกำลังจากเครื่องยนต์แล้วส่งต่อไปที่เพลา โดยที่ตัวมันเองสามารถปรับอัตราทดระหว่างการหมุนของเครื่องยนต์กับการหมุนของเพลาได้ ฝรั่งจะเรียกว่า Transmission ทรานสมิชชั่น หรือไม่ก็ Gearbox เกียร์บ็อกซ์ แต่วันนี้ผมไม่ได้มาสอนภาษาอังกฤษท่านหรอกครับ เราจะมาพูดถึงเกียร์แต่ละแบบที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันว่า มันมีแบบไหนบ้าง และแบบไหน มีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

แต่ต้องขอเรียนแจ้งว่า เราพูดถึงคุณสมบัติของเกียร์รุ่นนั้นๆ แบบ “ภาพรวม” ซึ่งบางกรณี คุณอาจจะมีข้อโต้แย้ง หากนำเกียร์คนละประเภท จากรถคนละค่าย หรือจากรถที่ใช้งานคนละประเภทมาเทียบกัน คิดเสียว่า ลองอ่านเพื่อเอาไอเดียหลัก ให้เข้าใจไว้ก่อน เผื่อกรณีที่ซื้อรถ คุณจะสามารถคาดเดาตั้งแต่แรกว่า รถแบบนั้น เกียร์แบบนั้น ใช่สไตล์คุณหรือไม่

เกียร์ธรรมดา

ก็คือเกียร์ที่คุณต้องออกแรงเหยียบคลัตช์เพื่อตัดต่อกำลัง แล้วเอามือจับคันเกียร์ เลื่อนเข้าร่องเพื่อเลือกเฟืองทดที่จะใช้ด้วยตัวเองนั่นล่ะครับ จุดเด่นของเกียร์ธรรมดาในวันนี้ หากคุยกันในเรื่องการใช้งาน ก็นับเป็นรูปแบบที่ไม่ค่อยซับซ้อน สามารถทำการบำรุงรักษาง่าย ความทนทานสูง และค่าซ่อมบำรุงต่ำ ดังนั้นอย่าแปลกใจที่รถกระบะขนส่งที่วิ่งเป็นระยะทางต่อปีหลักแสนกิโล จึงยังนิยมใช้เกียร์ธรรมดาอยู่ นอกจากนี้ ในกรณีที่รถแบตเตอรี่หมด รถเกียร์ธรรมดานั้น คุณยังสามารถใช้วิธีเข็นสตาร์ตแบบที่รุ่นลุงมักต้องทำกันได้ ซึ่งเกียร์แบบอื่นนั้นหมดสิทธิ์

ส่วนในแง่ความสนุกในการขับ เกียร์ธรรมดานั้นเป็นที่นิยมในหมู่นักขับสไตล์ “Purist” ที่ต้องการสัมผัสถึงแก่นแท้ของรถ ควบคุมทุกอย่างด้วยตัวเอง คุณสามารถปิดระบบป้องกันล้อหมุนฟรี แล้วเบิ้ลรอบสูงกระชากเท้าออกจากคลัตช์ให้ล้อปั่นฟรีเล่นๆ ได้ ถ้าอยากจะดริฟต์ ก็สามารถใช้เทคนิคเหยียบ/ปล่อยคลัตช์เร็วๆ ระหว่างอยู่ในโค้งเพื่อส่งให้ตัวรถท้ายออกได้ บางคนก็รู้สึกเพลินกับการเหยียบคันเร่งสุดแล้วสับเกียร์เองไวๆ ให้ล้อฟรีทิ้งขว้าง

..คือทั้งหมดนี่ เราพูดกันในแง่ที่ไปทำในที่ที่ควรทำนะครับ..ไปทำตามปั๊มตามถนนหลวงให้ตำรวจเขาจับนี่อย่านะลูก

ดังนั้น พูดได้เลยว่าเกียร์ธรรมดากับขาคลัตช์ขนานแท้ เป็นเกียร์แบบที่ปลุกปั่นนักขับอย่างแท้จริง รวมถึงเวลาขับทางลงเขา เกียร์ธรรมดาเวลาเข้าเกียร์ต่ำก็มีแรงหน่วงจากเครื่อง (Engine Brake..ไม่ใช่ Engine Break ที่แปลว่าเครื่องแตก) อีกด้วย แต่คำพูดที่ว่า รถรุ่นเดียวกันเครื่องเดียวกัน เกียร์ธรรมดาจะเร่งได้เร็วกว่าเกียร์ออโต้หรือ CVT นั้น ต้องฟังหูไว้หูนะครับ มันอาจจะจริงเมื่อ 30 ปีก่อน ตอนที่เกียร์อัตโนมัติยังมีแค่ 3 หรือ 4 จังหวะแล้วเกียร์ธรรมดามี 5 จังหวะให้เล่น เอ้าก็แน่ล่ะสิ ถ้าแบบนั้นเกียร์ธรรมดาก็ทำตัวเลขสวย เพราะออกล้อฟรีได้ตามใจเจ้าของรถ มีจำนวนเฟืองทดเยอะกว่า และน้ำหนักตัวรถหรือน้ำหนักเกียร์ก็เบากว่า

แต่ในปัจจุบัน เกียร์ธรรมดานั้น มากสุดในรถเก๋งก็มี 7 จังหวะ และนั่นมันก็คือ Porsche ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะซื้อได้ รถกระบะเกียร์ธรรมดามี 6 จังหวะ แต่รถเกียร์อัตโนมัติอย่าง Ford Ranger ปาเข้าไปสิบจังหวะแล้วครับ ดังนั้น ออกตัวในสนาม 60 ฟุตแรก เกียร์ธรรมดากิน แต่หลังจากนั้นไป ภาวนาเอานำครับ แล้วพูดง่ายๆ ว่า เท่าที่ผมทดสอบรถสมัยใหม่มา ถ้าวัดกันจากช่วงลอยตัว ส่วนมากเกียร์ธรรมดา “ไม่เร็วไปกว่าเกียร์อัตโนมัติประเภทหลายเฟืองทดหรือ CVT แล้วครับ”

ดังนั้น สายขับ สายซิ่ง จะดื่มด่ำกับเกียร์ธรรมดาตรงที่ มันทำให้คุณเข้าถึงพื้นฐานของการควบคุมรถ มันให้อารมณ์สุดสนุกได้ ซนได้ สายใช้งานก็ได้เรื่องความทนทาน ไม่จุกจิก การบำรุงรักษาง่ายดาย แลกกับข้อเสียจริงจังข้อเดียวคือ เมื่อคุณเหยียบคลัตช์เข้าเกียร์เอง ถ้าคุณกะจังหวะผิด บางทีก็จะช้ากว่าเกียร์อัตโนมัติ และที่สำคัญคือ เวลารถติดโหดๆ มาก มันเมื่อยน่องกว่าครับ ชัดเจน

เกียร์อัตโนมัติแบบเฟือง

ก็คือเกียร์ออโต้แบบที่ท่านคุ้นเคยกันนั่นแหละครับ แต่ผมต้องเพิ่มคำว่า “แบบเฟือง” เพราะเดี๋ยวนี้ ถ้าคำว่า “อัตโนมัติ” หมายถึงเปลี่ยนเกียร์สูง/ต่ำด้วยตัวมันเองได้ละก็ เกียร์ CVT มันก็ทำได้เหมือนกันแหละถ้ามีสมองกลซะอย่าง แต่เกียร์อัตโนมัติแบบเฟืองนี่ คือแบบที่เวลาใส่เกียร์ D เดินหน้า กดคันเร่ง รอบเครื่องยังไต่และลดเมื่อมีการเปลี่ยนเกียร์ และยังส่งกำลังผ่านทอร์คคอนเวอร์เตอร์ไปยังชุดเฟือง Planetary Gearset ซึ่งหน้าตามันจะไม่เหมือนชุดเฟืองของเกียร์ธรรมดานัก แต่จุดประสงค์ปลายทางคือ ทำเพื่อให้มีอัตราทดหลายจังหวะ ที่เหมาะกับความเร็วช่วงต่างๆเหมือนกัน สื่อรถฯรุ่นน้องๆ บางคนก็เรียกว่า “เกียร์สปีด” เพราะมีการซอยออกชัดเจนเป็น 5 สปีด 6 สปีด 8 สปีด

เกียร์อัตโนมัติแบบดั้งเดิมนี้ เมื่อ 40 ปีก่อน ทุกคนจะพูดเหมือนกันว่า สบายเท้า แต่กระตุก อืด กินน้ำมัน และเปลืองเบรก ในความเป็นจริง มันเป็นเพราะเทคโนโลยีสมัยนั้น มันอำนวยคุณได้สูงสุดเท่านั้นครับ เรื่องเปลืองเบรกนี่ยิ่งงง บางคนบอกเปลืองเบรกเพราะเวลาจอดติดไฟแดงต้องเหยียบเบรก ผมล่ะงง รถจอดนิ่ง จานเบรกไม่หมุน จะเปลืองตอนไหน ยิ่งถ้าหมายถึงตอนชะลอความเร็ว ถ้าไม่ได้เข้าเกียร์ต่ำ 3-2 ช่วย มันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับเกียร์ธรรมดานี่นา

ทุกวันนี้ บริษัทรถยนต์ก็มีการพัฒนาเกียร์อัตโนมัติเหล่านี้ไปไกลมากแล้วครับ ขนาด Nissan Navara ที่เป็นรถกระบะ ก็ใช้เคสและอุปกรณ์ในเกียร์หลายส่วนร่วมกับรถสปอร์ตอย่าง Fairlady Z อัตราการสูญเสียกำลังในระบบเกียร์ก็น้อยลงกว่าแต่ก่อนมาก ดังนั้น นอกจากจะสบายเท้าซ้ายแล้ว เกียร์อัตโนมัติยุคใหม่ พวกที่มี 6 จังหวะขึ้นไป ยังทำความเร็วดีไม่แพ้เกียร์ธรรมดา มีการกระตุกระหว่างเปลี่ยนเกียร์น้อยกว่ามาก ยิ่งถ้าเป็นคนที่ซิ่ง แต่ยังไม่รู้จังหวะเกียร์ที่เหมาะสม เวลาขับเกียร์ธรรมดาจะเข้าเกียร์ให้ต่ำสุดแล้วลากรอบทั้งที่ความจริง ไม่ต้องลงเกียร์เยอะก็เร็วเท่ากัน พวกรถเกียร์อัตโนมัตินั้น วิศวกรเขาจะคำนวณการเปลี่ยนเกียร์มาแล้วว่า เหยียบหนักเท่านี้ ใช้เกียร์ไหนจะทำอัตราเร่งได้เร็วสุด ดังนั้นมันจึงส่งผลต่อความปลอดภัยในการเร่งแซงฉุกเฉิน และลดความสึกหรอที่ไม่จำเป็นในตัวเครื่องด้วย

ในเรื่องของความแรงและโลกมอเตอร์สปอร์ต ปัจจุบันซีดานพลังสูงอย่าง BMW M5 ที่เคยใช้เกียร์คลัตช์คู่ในเจเนอเรชัน F10 ก็กลับมาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบเฟืองทดในรุ่นปัจจุบัน เพราะเมื่อเทคโนโลยีมันก้าวหน้ามาก เราอยู่ในยุคที่เกียร์อัตโนมัติสามารถทำทุกอย่างได้ดีเท่าเกียร์คลัตช์คู่ และแบกน้ำหนักน้อยกว่า ต้นทุนการสร้างต่ำกว่าอีกต่างหาก หรือถ้าพูดถึงการรองรับแรงม้า เกียร์ประเภทนี้สามารถสร้างให้รองรับพลังขับสูงๆ ได้ และในแง่ความทนทาน คุณลองไปดูกระบะบางคันที่เป็นเกียร์อัตโนมัติ วิ่งบรรทุกของสิครับ โดยเฉพาะพวก Toyota บางคันขนเหล็ก 1-1.5 ตัน วิ่งมาสามแสนกิโลเมตรแล้วยังไม่พังก็มี

ข้อเสียของเกียร์อัตโนมัติแบบเฟืองในปัจจุบันจริงๆ ก็คือ คุณไม่สามารถใช้เท้าซ้ายเหยียบคลัตช์ตัดต่อกำลังตามใจชอบได้ ดังนั้นเวลาถวิลหาอรรถรสและความซน มันก็จะกร่อยกว่าเกียร์ธรรมดาล่ะครับ

เกียร์ CVT-Continuously Variable Transmission

บางคนชอบเรียกว่าเกียร์หนังสติ๊ก เพราะข้างในเกียร์ CVT นั้นจะมีลูกถ้วยที่หมุนๆ ไปตามเครื่องหนึ่งลูก และอีกลูกต่อส่งไปทางเพลาขับ แทนที่จะปรับอัตราทดระหว่างฝั่งเครื่องกับฝั่งเพลาด้วยชุดเฟือง เขาก็ใช้สายพาน CVT (CVT Belt) ซึ่งจริงๆทำมาจากเหล็ก ไม่ใช่ยาง แค่เวลาทำงานมันดูเหมือนยืดหดได้ โดยที่สามารถขยับไปมาบนลูกถ้วยที่มีลักษณะโคนใหญ่แต่ปลายเล็ก การเคลื่อนที่ไปมาของสายพาน CVT สร้างอัตราทดที่แตกต่างระหว่างฝั่งเครื่องยนต์กับฝั่งเพลาขับ (ที่ต่อกับล้อรถ) สิ่งที่ดีของการใช้รูปแบบนี้แทนเฟืองก็คือ มันสามารถเปลี่ยนอัตราทดสูงต่ำได้โดยไม่มีอาการกระตุกให้รู้สึก

เมื่อตอนที่รถเกียร์ CVT ยุคแรกๆ อย่าง Honda Jazz โฉมแรก หรือ Mitsubishi Lancer Cedia ออกจำหน่าย เวลากดคันเร่งมิด จะเห็นได้ว่ารอบเครื่องจะขึ้นไปคาสูง ไม่ขึ้นแล้วลงแล้วขึ้นใหม่แบบเกียร์อัตโนมัติปกติ ทำให้ขาดความเร้าใจ เวลาใครขับ Jazz ทำท่อดังวิ่งสนามคลองห้าจะนึกว่ามีแข่งเรือยาวชิงแชมป์ หลายคนจึงไม่ชอบเพราะจุดนี้ โดยที่ลืมไปว่า รอบไม่ตก ก็แปลว่าไม่มีการไล่รอบ และสมองกลเกียร์ยังสามารถสั่งให้คารอบไว้ ณ จุดที่มีแรงม้าสูงได้ตามใจมันชอบ

รถเกียร์ CVT จึงเป็นรถที่แม้ฟีลไม่เร้าใจ แต่ถ้าคนเซ็ตเกียร์ไม่โง่ ความเร็วช่วงลอยลำแล้วกระทืบแซง มันเร็วนะครับ สมัยนั้นคุณขับ Lancer เครื่อง 122 แรงม้าเกียร์ CVT กับ Altis 136 แรงม้า เกียร์ 4 จังหวะ แล้วลองวัดฝีเท้ากัน รถม้าน้อยแต่ใช้ CVT ขึ้นและนำยาวครับ ความต่อเนื่อง และความสามารถในการ “อยากได้อัตราทดยังไงก็ทำได้หมด” ยังส่งผลมาถึงรถโมเดลปัจจุบันอย่าง Civic TURBO ซึ่งใครเคยโมดิฟายจะรู้ดีว่า แต่งนิด จูนหน่อย ต้นออกอาจไม่จี๊ด แต่ลอยลำแล้วแรงทะยานเวอร์

แต่ CVT ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นเกียร์ซิ่งหรอกครับ จุดประสงค์ของมันจริงๆ ก็คือ เกิดมาเพื่อ 1. ขนาดและมิติที่ออกแบบให้สั้นเล็กลงได้ 2. เพื่อความต่อเนื่อง ไม่กระตุกเวลาเปลี่ยนเกียร์ และ 3. เลือกอัตราทดที่เหมาะสมได้อย่างเสรี ทำให้รถเล็ก แรงน้อยๆสามารถเร่งได้ไวเวลาแซง และประหยัดน้ำมันเวลาขับแบบปกติ ดังนั้น คุณจึงเห็นเกียร์ CVT ได้ในอีโคคาร์เกือบทั้งหมดยกเว้น Mazda 2 รวมถึงรถที่ใหญ่ขึ้นมา อย่าง Civic, Altis และ Accord รถ CVT รุ่นหลังๆ มา เวลากดคันเร่งเต็ม จะมีการลากและไล่รอบคล้ายเกียร์ออโต้ปกติ ..ตรงนั้นเป็นมายาครับ เขาทำเพราะเราบ่นว่าฟีลมันไม่เร้าใจ ก็เลยต้องทำให้มันมีเสียงเครื่องรอบขึ้นๆ ลงๆ บ้าง แต่ไม่ได้ช่วยให้รถไปเร็วขึ้นหรอก

จุดอ่อนของเกียร์ CVT คือ มันไม่ชอบการกระทำรุนแรงครับ เพราะรถขับเคลื่อนไปด้วยไอ้สายพานเหล็กที่คล้องลูกถ้วยในเกียร์อยู่ คุณจึงไม่มีวันเห็นพวกรถบรรทุกหนัก รถแรงบิดสูง หรือซุปเปอร์คาร์ใช้เกียร์ CVT เพราะสายพานจะขาดเสียก่อน หรือต่อให้ไม่ใช่รถแบบนั้น คุณอาจจะขับรถ Civic TURBO CVT แต่คุณไปคลองห้าแล้วอยากออกตัวจี๊ดๆ ใช้วิธีออกตัวแบบเกียร์ออโต้เฟือง คือเอาเท้าซ้ายจมเบรก แล้วเอาเท้าขวากดคันเร่งไว้ แล้วชักเท้าซ้ายออกเมื่อไฟเขียว อิแบบนั้นแหละครับ รุ่นน้องผม สายพานกระจายคาสนามมาแล้ว

ดังนั้นข้อดีของเกียร์ CVT คือสร้างความเร็วได้สวย ใช้กับรถแรงน้อยๆ แล้วอัตราเร่งแซงจะดีขึ้น โดยที่ประหยัดน้ำมันดีด้วย ส่วนไอ้การที่เวลาวิ่งจะมีการกระตุกหรือเย่อบ้างนั้น ผมพบว่าเป็นที่รุ่นของเกียร์หรือการเซ็ตเกียร์มากกว่าที่จะเป็นเพราะความเป็น CVT ครับ แต่ข้อเสียก็คือ ไม่ทนต่อการกระชาก ไม่ทนแรงม้าแรงบิดสูง และไม่เร้าใจเวลาซิ่ง

เกียร์คลัตช์คู่ Dual-Clutch Transmission

เมื่อราว 40 ปีก่อน พวกวิศวกรทีมแข่ง Porsche มานั่งคุยกันแล้วพยายามสรรหาวิธีที่ว่า จะทำอย่างไรให้เกียร์สามารถเปลี่ยนขึ้น/ลงให้ได้ไวที่สุด เร็วที่สุด โดยที่เฟืองไม่แตกแหกสลายไปเสียก่อน ใครบางคนพูดถึงหลักการ 2 คลัตช์/2 เพลาเกียร์หมุนไปด้วยกัน ซึ่งถูกคิดค้นตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง แต่นำมาใช้จริงได้ยาก วิธีการก็คือ ทำเกียร์ให้มีชุดคลัตช์สำหรับเกียร์เลขคี่ (1,3,5) หนึ่งชุด และอีกชุดสำหรับเกียร์เลขคู่ (2,4,6) ชุดคลัตช์ทั้งสองชุดนี้จะหมุนอยู่บนแกนเดียวกัน จากนั้นออกแบบชุดเฟือง 2,4,6 บนเพลาเกียร์แล้วให้ส่วนหนึ่งของเพลาเสียบผ่านใจกลางชุดเพลาเกียร์ของเกียร์ 1,3,5 วิ่งเข้าไปต่อกับชุดแพ็กคลัตช์ พูดแบบให้เห็นภาพก็คือ เอาเกียร์ธรรมดาสองลูก มารวมในเคสเดียวกัน จะใช้เกียร์คู่หรือเกียร์คี่ ก็ให้คลัตช์ฝั่งนั้นจับส่งกำลัง

ดังนั้นในขณะที่เกียร์ 3 ทำงานอยู่ ชุดคลัตช์เฟืองเกียร์ 4 สามารถเข้าจับเฟืองขับเคลื่อนเตรียมรอไว้ได้เลย เพราะในขณะนั้นยังไม่มีกำลังส่งไปที่เฟืองเกียร์ 4 และเมื่อเวลาเหมาะสม ก็แค่ให้สมองกลสั่งเลิกจับคลัตช์เกียร์คี่ แล้วไปสั่งคลัตช์เกียร์เลขคู่ให้จับส่งกำลังแทน ผลที่ได้คือชิ้นส่วนมีการเขยื้อนตัวน้อย เมื่อมันเขยื้อนไม่มาก ก็สามารถเปลี่ยนเกียร์ได้ไว พลังถูกส่งไปยังล้ออย่างต่อเนื่องขึ้น Porsche เลยกลายเป็นค่ายแรกที่ใช้เกียร์บนหลักการ Dual-Clutch แบบนี้ในรถแข่งสนาม กับรุ่น 962C ซึ่งลงแข่งปี 1985 ส่วนรถเวอร์ชันถนนคนเดินดินซื้อใช้ได้รุ่นแรกที่ใช้คือ VW Golf R32 ปี 2003

ความที่ใช้ชุดคลัตช์ในการส่งกำลัง ไม่ว่าจะเป็นคลัตช์แห้ง หรือคลัตช์เปียก ก็สามารถออกแบบให้รับแรงม้าแรงบิดที่สูงมากได้ คาแรกเตอร์การส่งกำลัง อาจกระชากสะใจได้เท่าหรือใกล้เคียงเกียร์ธรรมดา ขึ้นอยู่กับการจูนและวัสดุที่ใช้ว่าทนขนาดไหน ก็คงไม่แปลกหรอกครับที่เกียร์ DCT จะถูกใช้ในซูเปอร์คาร์เป็นจำนวนมาก รวมถึง Bugatti Veyron ด้วย แต่รถบ้านบางรุ่นก็ใช้ ในปัจจุบัน Audi, MINI และ Mercedes-Benz มีเกียร์คลัตช์คู่อยู่ในรถซีรีส์ปกติจำหน่าย

เปลี่ยนเกียร์เร็วมั้ย เร็วจริง เร็วกว่าที่เกียร์ธรรมดากับมือคนจะทำได้ เร็วกว่าที่เกียร์อัตโนมัติทั่วไปจะทำได้ แต่เกียร์คลัตช์คู่ ก็มีข้อเสียของมัน อย่างแรกเลยคือ น้ำหนักครับ เพราะคุณมีชุดเกียร์แยกสำหรับเฟืองทดเกียร์คู่ เกียร์คี่ และยังมีชุดเพลาเกียร์ 2 เพลา มีความซับซ้อนในการผลิตมาก มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าเกียร์แบบอื่น บางคนอาจจะบอกว่า มีบางค่ายที่ขายรถหลักแสน แล้วใช้เกียร์คลัตช์คู่ เท่าที่ลองขับมา รถเหล่านั้นใช้ความเป็นคลัตช์คู่ไม่ค่อยคุ้มครับ เปลี่ยนเกียร์ข้า เยอะ จุดประสงค์ของการเป็นคลัตช์คู่คือ จะวิ่งเกียร์อะไรอยู่ เมื่อคิกดาวน์แล้ว คุณต้องเลือกเกียร์ที่ใช่และรถพุ่งไปได้เร็วกว่าเกียร์อัตโนมัติปกติ ถ้าทำไม่ได้แล้วจะแบก 2 คลัตช์ให้ยุ่งทำไมถามจริง ตอนซ่อมก็จ่ายแพงกว่าอีกต่างหาก

เกียร์ธรรมดาแบบไม่มีแป้นคลัตช์ (เกียร์กึ่งอัตโนมัติ)

พูดง่ายๆ ก็คือ กลไกภายในเกียร์ จะเป็นชุดเฟืองลักษณะเหมือนเกียร์ธรรมดา แต่ชุดคลัตช์ของเกียร์แบบนี้นั้น จะมีสมองกลคอยควบคุมการสั่งจับ/ตัดกำลังของคลัตช์ พร้อมทั้งชุดโซลินอยด์และชุดความคุมการขยับคลัตช์ที่ทำตามคำสั่งของผู้ใช้และผ่านการประมวลผลของสมองกลแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ เกียร์ธรรมดาที่ให้หุ่นยนต์มาดูแลเรื่องคลัตช์แทนคุณนั่นแหละ

แต่จากจุดนี้ไป ลักษณะการใช้งานของเกียร์กึ่งอัตโนมัติ จะแตกต่างกันไปตามรุ่นรถต่างๆ รถส่วนมากที่ใช้เกียร์ลักษณะนี้ จะมีวิธีการเข้าเกียร์เพื่อเดินหน้าหรือถอยหลังเกือบจะคล้ายพวกรถเกียร์อัตโนมัติ รวมถึงมีโหมด AUTO ที่คุณแค่เหยียบคันเร่ง แล้วรถเปลี่ยนเกียร์ให้เอง เหมือนเกียร์ออโต้ แค่การส่งกำลังผ่านเฟืองและคลัตช์ที่เหมือนของเกียร์ธรรมดา แค่นั้น Alfa Romeo นำเกียร์แบบนี้ ติดตั้งลงในรุ่น 156 และเรียกว่าเกียร์ Selespeed ซึ่งรถรุ่นนี้ บ้านเราก็มีขาย ส่วน Maserati ก็เรียกว่าเกียร์ Cambiocorsa ส่วน BMW ก็มีเกียร์ SMG ใช้ครั้งแรกใน BMW M3 E36 และพัฒนาต่อมาจนถึงเวอร์ชันสุดท้ายคือ SMG-III ที่อยู่ใน M3 E46 และ M5 E60

ส่วนรถประเภทราคาหลักแสน ที่ใช้เกียร์แบบนี้ แล้วมีวิ่งในประเทศไทย ก็มีนะครับ Proton Savvy จากช่วง 15-17 ปีที่แล้ว ก็ใช้เกียร์ AMT รวมถึง MG3 รุ่นแรกก็ใช้เกียร์แบบนี้เช่นเดียวกัน แต่จะมีเกียร์กึ่งอัตโนมัติอีกแบบที่ไม่มีโหมด D AUTO ให้ ระบบแบบนี้อยู่ในรถเพื่อตลาดอินเดียอย่าง Hyundai Venue และ Kia Sonet ครับ คือ คุณต้องโยกเกียร์ 1-2-3-4-5-6 ด้วยตัวเอง แต่ไม่ต้องเหยียบคลัตช์ เวลาขยับเกียร์ออกจากร่องนึง ก่อนจะไปเข้าอีกร่องนึงระบบคลัตช์จะจัดการตัดต่อกำลังให้เอง หรือถ้าคุณแกล้งโง่ ใส่เกียร์ 3 แล้วเบรกจนรถหยุดนิ่ง เครื่องก็จะไม่ดับ เพราะ ECU สั่งตัดต่อการส่งกำลังให้

ความได้เปรียบของเกียร์แบบกึ่งอัตโนมัติคือ น้ำหนักเบากว่าพวกคลัตช์คู่ เพราะชิ้นส่วนภายในก็คือเกียร์ธรรมดา แต่ถ้าปรับการทำงานของชุดคลัตช์ โซลินอยด์ ราวเฟืองเกียร์ และองค์ประกอบต่างๆ ให้ดีให้เทพที่สุด มันจะสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้เร็วน้องๆคลัตช์คู่เลยทีเดียว นี่คือเหตุผลที่ Lamborghini ยังใช้เกียร์แบบนี้อยู่ในรุ่น Aventador รวมถึงรถไฮเปอร์คาร์ประเภทแพงระยับอย่าง Aston Martin Valkyrie ก็ยังใช้เกียร์แบบนี้อยู่

แต่ก็มีความคล้ายกับเกียร์คลัตช์คู่ตรงที่ คุณต้องใช้ของเทพ ต้นทุนเทพ มันถึงจะได้เกียร์ที่ออกมาแล้วทำงานไร้ที่ติ แต่ถ้าพยายามคุมต้นทุนให้มันมาอยู่ในรถบ้านได้ คุณจะพบกับอาการเย่อที่คล้ายเกียร์ธรรมดา หรือพฤติกรรมบางอย่างที่คุณต้องปรับตัว เช่นใน MG3 ถ้าจะให้รถขึ้นเกียร์สูง คุณต้องจับจังหวะในการถอนคันเร่งให้เป็น นิสัยโดยรวมของเกียร์ประเภทนี้ ยังทำงานไม่นุ่มนวลนัก ปัจจุบัน หลายค่ายจึงกลับไปหาเกียร์อัตโนมัติแบบเฟือง หรือไม่ก็เกียร์คลัตช์คู่

โดยสรุป เกียร์ 4 แบบหลักที่มีอยู่ในรถสันดาปภายใน ณ ปัจจุบัน เกียร์อัตโนมัติแบบเฟือง/ทอร์คคอนเวอร์เตอร์ที่ใช้กันดาษดื่น คือเกียร์ที่บาลานซ์ทุกอย่างดีที่สุด ความทนทาน ความง่ายในการซ่อม ความซับซ้อน ความสบาย ความง่ายในการใช้ ประสิทธิภาพ การรองรับแรงม้าสูง การรองรับการลากจูง/บรรทุก ในขณะที่เกียร์ CVT เหมาะกับรถที่ไม่มีภาระบรรทุกหนัก รถที่เครื่องยนต์ไม่แรงมากนัก เพราะสามารถช่วยสร้างความต่อเนื่องระหว่างเร่งได้ดี ในขณะที่เกียร์ธรรมดานั้น เรียนตามตรงว่า “It is THE WAY to have fun” ทำเพื่อความสนุก มันส์ และเรียนรู้ แต่หมดยุคที่เกียร์ธรรมดาต้องไวกว่าเร็วกว่าเกียร์ออโต้ไปนานแล้วครับ

ส่วนเกียร์แบบคลัตช์คู่ กับเกียร์กึ่งอัตโนมัตินั้น ผมคิดว่า เหมาะกับซุปเปอร์คาร์ที่ราคารถแพง ต้นทุนไม่ใช่ปัญหา คุณสามารถใส่ชิ้นส่วนระดับเทพที่ส่งผลให้เกียร์ทำงานไว เปลี่ยนเร็ว ขับสนุกได้ดีที่สุด แต่ในรถที่ราคาระดับเราเอื้อมถึง ผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่ยังทำมาไม่น่าประทับใจ เป็นคลัตช์คู่ที่ใช้แล้วรู้สึกไม่ได้ดีไปกว่าเกียร์อัตโนมัติปกติ เช่นในพวก MINI รุ่นใหม่ๆ ที่เป็น 7 จังหวะ หรือเกียร์ของ Audi S-tronic ที่บางรุ่นจะทำมาแปลกๆ กดมิดเท้า ตอบสนองไม่ไวเท่าที่ควร

แต่ที่แน่ๆ เกียร์ที่ทุกคนรอบตัวผมชอบเหมือนกันหมด คือ “เกียร์มัว” ครับ เขาว่า เกียร์แบบนี้แหละ ที่ช่วยให้เจ้าของมีอายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี มีเงินใช้ มีความปลอดภัย เพราะเคยมีตัวอย่างเพื่อนที่ประกาศปาวๆ ว่า เลิก “เกียร์มัว” แล้ว วันต่อมาปวดเนื้อ ปวดตัว ปวดหู แล้วก็มานั่งดราม่าร้องไห้กับเพื่อน ตอน GT-R มันเกียร์พัง มันยังไม่ร้องสะอื้นขนาดนี้ ผมว่านะ เกียร์นี้น่ากลัวสุด จงเคารพให้มากๆ ครับ.

Pan Paitoonpong

คุณกำลังดู: เกียร์ในรถยุคใหม่ มีกี่แบบ แบบไหน ดีอย่างไร

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด