ค่าความดันโลหิตมีผลต่อชีวิตและสุขภาพอย่างไร

ความดันโลหิต หรือ Blood Pressure หมายถึงความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งค่าความดันนี้สามารถวัดได้โดยเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติของร่างกายในเบื้องต้น

ค่าความดันโลหิตมีผลต่อชีวิตและสุขภาพอย่างไร

เคยสงสัยกันไหมว่า ทุกครั้งที่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล ทำไมเขาถึงต้องให้เราวัดความดันโลหิตทุกครั้งก่อนเข้าตรวจ หรือเพราะว่า... ค่าความดันโลหิตมีความสำคัญกับร่างกายของเรา แล้วถ้ามันมีความสำคัญจริง มันจะสำคัญอย่างไร หรือบอกถึงปัญหาสุขภาพได้ในจุดไหน วันนี้ นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3 มีคำตอบมาฝาก

ความดันโลหิตคืออะไร และสำคัญอย่างไร

ความดันโลหิต หรือ Blood Pressure หมายถึงความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง หรือพูดง่ายๆ ว่า คือแรงดันเลือดที่ไปกระทบต่อผนังภายในหลอดเลือดแดงขณะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งค่าความดันนี้สามารถวัดได้โดยเครื่องมือทางการแพทย์ ที่นอกจากจะบอกถึงความแรงของการสูบฉีดเลือดแล้ว ยังอนุมานได้ถึงสุขภาพของผนังหลอดเลือดว่ายังดีอยู่หรือไม่ เพราะหากผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ แข็ง ขาดความยืดหยุ่น มีตะกรันเกาะ หรือเริ่มตีบ ก็จะถูกฟ้องด้วยค่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นนั่นเอง เพราะความดันโลหิตสูงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และยังเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคไต และโรคแทรกซ้อนต่างๆ และหากมีการตีบ แตก หรือตันของหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบพลัน อาจจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นความดันโลหิตจึงมีความสำคัญที่ต้องใส่ใจดูแล และควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะกับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือมีความดันโลหิตผันผวน

วัดความดันโลหิตแต่ละครั้ง ทำไมตัวเลขจึงไม่เท่ากัน

เมื่อเราวัดความดันโลหิตแล้วพบว่ามีตัวเลขที่สูงกว่ามาตรฐานก็อย่าเพิ่งตกใจหรือกังวลมากไป เพราะในแต่ละครั้งที่ทำการวัด ตัวเลขอาจต่างกันเล็กน้อยได้ตามปัจจัยในขณะนั้น เช่น

  • มีภาวะทางอารมณ์ตื่นเต้น เครียด หรือมีความกังวล ซึ่งส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
  • เป็นช่วงที่เพิ่งทานอาหารที่มีโซเดียมสูง อาหารที่มีผงปรุงรส อาหารเค็ม หรืออาหารสำเร็จรูปที่มีเกลือสูง
  • สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือดื่มกาแฟก่อนเข้ารับการวัดความดันโลหิต
  • เพิ่งเดินมาถึง เดินขึ้นบันไดมา ทำให้หัวใจยังเต้นแรงเพราะเหนื่อยหอบ

ความดันโลหิต กับตัวเลขที่เหมาะสม

เราจะทราบได้อย่างไรว่าความดันโลหิตยังปกติดีอยู่ คำตอบคือ ในทางการแพทย์นั้นมีตัวเลขที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 ตัว คือ

1. ค่าความดันโลหิตตัวบน คือ ค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Pressure) ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 120 มม.ปรอท

2. ค่าความดันโลหิตตัวล่าง คือ ค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure) ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 80 มม.ปรอท
โดยทั่วไปแล้วหากความดันโลหิตสูงกว่าค่ามาตรฐานเพียงเล็กน้อยก็ยังไม่ถึงกับเป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง แต่หากค่าความดันโลหิตตัวบนของใครสูงถึง 139 มม.ปรอท หรือค่าความดันโลหิตตัวล่างสูงถึง 89 มม.ปรอทเป็นประจำ นั่นอาจแสดงถึงภาวะหลอดเลือดแดงเริ่มมีปัญหา สิ่งแรกที่ทำได้คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ค่าความดันโลหิตลดลง หากปรับพฤติกรรมไปสักพักแล้วแต่ค่าความดันโลหิตยังสูงอยู่ เราแนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

ก่อนเริ่มการรักษา ต้องรู้ค่าความดันโลหิตที่แท้จริง

จริงๆ แล้วค่าความดันโลหิตนั้นเปลี่ยนแปลงไปในตลอดวัน ความแตกต่างนั้นอาจเกิดจากสิ่งที่รับประทาน อารมณ์ ความรู้สึก ความเครียด การพักผ่อน และกิจกรรมที่ทำในขณะนั้น การที่จะวินิจฉัยและบอกให้คนไข้ปรับพฤติกรรม หรือต้องรักษาด้วยการกินยา แพทย์จำเป็นจะต้องรู้ให้แน่ชัดก่อนว่าคนไข้มีความดันโลหิตสูงจริงหรือไม่ และสูงในระดับที่ต้องการการรักษาแบบใด ซึ่งการวัดความดันโลหิตเพียงไม่กี่ครั้ง ในสภาพที่แตกต่างกัน อาจเป็นข้อมูลที่ไม่เพียงพอ

ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ปัจจุบันแพทย์จะมีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ที่เรียกว่า “เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดพกพาติดตัวเพื่อดูผลตลอด 24 ชม.” โดยอุปกรณ์ที่ว่านี้จะประกอบด้วยส่วนที่เป็นผ้าพันแขน (Cuff BP) ซึ่งมีลักษณะเหมือนเวลาที่คนไข้ไปวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาล และส่วนที่เป็นเครื่องบันทึกความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นเครื่องเล็กๆ ที่คนไข้สามารถคาดติดไว้บริเวณเอว หรือเข็มขัดได้ โดยเครื่องดังกล่าวมีคุณสมบัติสำคัญ คือ

  • เก็บข้อมูล หรือค่าความดันโลหิตได้ถึง 250 ค่าอย่างต่อเนื่อง
  • สามารถตั้งเวลา หรือความถี่ในการวัดความดันโลหิตได้ตั้งแต่ทุกๆ 5 นาที ไปจนถึงทุกๆ 120 นาที ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้กำหนดค่าให้ตามความเหมาะสมแบบรายบุคคล
  • วัดความดันโลหิตได้ระหว่าง 25 ถึง 260 มม.ปรอท
  • วัดอัตราการเต้นของชีพจรได้ระหว่าง 20 ถึง 200 ครั้งต่อนาที
  • กำหนดการวัดค่าในช่วงเวลาต่างๆ ได้ 3 แบบ คือ ขณะตื่น ขณะหลับ และขณะทำกิจกรรมต่างๆ
  • ผู้ใช้ยังคงสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ โดยมีเครื่องติดตัวอยู่

เมื่อคนไข้ หรือผู้ทดสอบติดอุปกรณ์จนครบ 24 ชม. แพทย์จะนำเครื่องมาโหลดข้อมูลเข้าในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อแสดงผลเป็นกราฟค่าความดันโลหิตในแต่ละช่วงเวลา แพทย์จะพิจารณาค่าเฉลี่ยในช่วงกลางวัน และในช่วงกลางคืนที่คนไข้นอนหลับ ซึ่งตัวเลขที่ได้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญในการวิเคราะห์ปัญหา หรือสุขภาพของคนไข้ เช่น มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไม่ มีปัญหาเรื่องการนอนหลับหรือเปล่า เสี่ยงกับโรคความดันโลหิตสูง หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้วหรือยัง และมีความเร่งด่วนที่ต้องทำการรักษาหรือไม่ โดยเฉลี่ยเครื่องวัดความดันโลหิตแบบพกพา ต้องไม่เกิน 135/85 mmHg และความดันโลหิตในเวลาหลับต้องไม่เกิน 130/80 mmHg

อุปกรณ์นี้ยังนิยมนำมาใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูงแต่อายุยังน้อย อย่างกรณีคนไข้ที่อายุยังไม่ถึง 35 ปี แต่เมื่อวัดความดันโลหิตที่โรงพยาบาลแล้วพบว่ามีความดันโลหิตสูง ทั้งๆ ที่ผลการตรวจสุขภาพทั่วไปก็ดูปกติดี การที่แพทย์จะให้คนไข้กินยาลดความดันโลหิตจึงอาจจะยังเร็วเกินไป การหาค่าความดันโลหิตเฉลี่ยที่แท้จริงจึงเป็นคำตอบที่ดีก่อนพิจารณาถึงการรักษา แม้อุปกรณ์นี้มักนำไปใช้กับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง แต่ก็อาจนำไปใช้กับคนไข้โรคเบาหวานที่อายุมากๆ โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีความดันแปรปรวน หรือมีค่าความดันโลหิตที่เหวี่ยงขึ้นลงมากๆ เพื่อดูว่าคนไข้มีภาวะความดันต่ำมากๆ ด้วยหรือไม่ จะได้พิจารณาเรื่องการใช้ยาให้เหมาะสม

บทความโดย : นพ.จีระศักดิ์ สิริธัญญานนท์ อายุรแพทย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลพญาไท 3

คุณกำลังดู: ค่าความดันโลหิตมีผลต่อชีวิตและสุขภาพอย่างไร

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด