ขับรถปวดหลัง ท่านั่งขับรถ 'แขม่วพุง' ขับไกลขับยาวแค่ไหนก็ไม่ปวดหลัง

ขับรถปวดหลัง เทคนิคขับรถไม่ให้ปวดหลัง ขับรถนานแค่ไหนก็ไม่ปวดหลัง ท่าขับรถที่เป็นบ่อเกิดของโรคภัยที่ไม่ควรมองข้าม

ขับรถปวดหลัง ท่านั่งขับรถ 'แขม่วพุง' ขับไกลขับยาวแค่ไหนก็ไม่ปวดหลัง
  • คุณกำลังปวดหลังแบบไม่รู้สาเหตุใช่ไหม ลองดูว่ามาจากท่าขับรถที่ผิดหรือเปล่า
  • สังเกตง่ายๆ ว่า ตอนนี้คุณนั่งหลังพิงกับเบาะและศีรษะติดพนักรองศีรษะหรือไม่
  • ท่ากายภาพแรกเมื่อขับรถคือต้องแขม่วพุง ช่วยให้หายเมื่อยได้จริงนะ!

ช่วงนี้เปิดประเทศอย่างเป็นทางการ หลายธุรกิจเริ่มให้พนักงานเข้าทำงานเต็มรูปแบบ นักเรียนนักศึกษาเริ่มเปิดเรียนกันอย่างคึกคัก สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคือการจราจรที่ติดขัดมากขึ้นมากกกกกก (กอไก่ยาวได้อีก) เมื่อชีวิตเริ่มเข้าลูปกินข้าว แต่งหน้า พูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบกันในรถ สิ่งหนึ่งที่ตามมาก็คือ อาการเมื่อย บางคนลามไปปวดหลังเรื้อรัง เนื่องจากท่าขับรถที่ไม่ถูกสรีระ วันนี้เรามีวิธีปรับท่านั่งขับรถที่ช่วยเรื่องอาการปวดหลังมาบอก

1. ลองนั่งให้เต็มเบาะ หลังชิดพนักเก้าอี้ แล้วจึงค่อยๆ ปรับการเอนของเบาะให้เข้ากับช่วงแขนที่ต้องจับพวงมาลัย และช่วงขาที่ต้องเหยียบเบรกและคันเร่ง โดยพนักพิงควรเอนประมาณ 110 องศา นี่คือระดับที่กำลังดีเหมาะกับการขับรถและสรีระของผู้ขับขี่ที่ถูกต้อง

2. ปรับความสูงของเบาะให้พอดีกับระดับสายตา กะง่ายๆ คือ ระยะห่างระหว่างเพดานรถและศีรษะกว้างประมาณ 1 กำปั้นมือของเรา ซึ่งผู้ชายอาจไม่มีปัญหาในจุดนี้มากนัก แต่สำหรับผู้หญิงที่มีขนาดตัวเล็กลงมาหน่อย ควรยกตัวเองให้สูงเพื่อให้หลังพิงนั่งชิดเบาะได้พอดี พร้อมกับมองทัศนวิสัยข้างหน้าได้กว้าง อย่าชะเง้อจนชิน

3. อย่างที่บอกว่าระยะห่างของช่วงแขนต้องพอดี คือแขนต้องงอเล็กน้อยขณะจับพวงมาลัยในลักษณะท่าขับรถหลังติดพนักพิงนะครับ ส่วนช่วงขาต้องให้เข่าสามารถงอได้ ไม่ควรปรับเบาะให้ไกลเกินไป จนเหยีบเบรกไม่ถนัด หรือใกล้เกินจนขางอติดพวงมาลัย นอกจากจะเมื่อยแล้วยังเสี่ยงต่ออุบัติเหตุด้วย

4. กระจกมองข้างทั้งสองฝั่งและกระจกมองหลัง ปรับให้อยู่ในระดับสายตาแบบที่ศีรษะยังติดพนักพิง ไม่ต้องโยกตัวหรือขยับศีรษะเพื่อมอง

5. ท่าจับพวงมาลัยก็สำคัญครับ จับทั้งสองมือในจุด 3 และ 9 นาฬิกา เมื่อต้องหมุนพวงมาลัยให้ใช้ทั้งสองมือช่วยกันหมุนเพื่อลดแรงหมุนจากช่วงไหล่และข้อมือ ส่วนการขับรถมือเดียวจะเป็นอันตรายต่ออุบัติเหตุและเพิ่มภาระกับข้อต่อ ไหล่และกล้ามเนื้อแขนเพียงข้างเดียวมากเกินไป

นอกจากการขับรถด้วยท่าทีที่ผิดปกติจากที่บอกจะสร้างอาการปวดหลังแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเข่า หัวไหล่ คอ ศอก สะโพกและขาด้วย ดังนั้นยังไม่สายที่จะปรับท่าทางการนั่งขับรถให้รับกับสรีระ ก่อนที่จะไปหาคุณหมอและนักกายภาพเพื่อรักษาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง

และเราก็มีวิธีกายภาพสำหรับผู้ที่ต้องขับรถทางไกลหรือเจอรถติดทุกวัน อย่างน้อยก็ช่วยให้อาการปวดเมื่อยในแต่ละวันน้อยลง

- แขม่วพุงไว้เสมอขณะนั่งขับรถ ไม่ใช่เสริมสร้างบุคลิกภาพในตอนขับรถ แต่มันช่วยกระดูกสันหลังให้แข็งแรงและไม่บิดเบี้ยวจากการนั่งที่ลืมตัว

- ยกแขนข้างหนึ่งตั้งฉากกับพื้นยืดศอกให้ตรงค้างในอากาศ แล้วใช้อีกมือช่วยดัดข้อมือให้ตึง ค้างไว้สักข้างละ 5-10 วินาที ช่วยยืดข้อมือและศอกให้ตึง

- ใช้แขนตรงยืดออกข้างตัว พร้อมกับผายอกให้สุด ช่วยยืดกล้ามเนื้อไหล่ หลัง หน้าอกให้คลายตัวจากความเมื่อยล้าในขณะที่นั่งรถติดเป็นเวลานานได้ดี

- หากรู้ตัวว่าอยู่ในรถเป็นเวลาเกิน 1-2 ชั่วโมง ควรหาจุดพักรถ ลงมายืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ำ หาเครื่องดื่มอาหารรับประทาน เพื่ออย่างน้อยไม่เครียดและร่างกายได้เปลี่ยนท่าทางบ้าง

ผู้เขียน : เครื่องยนต์คนขยัน

คุณกำลังดู: ขับรถปวดหลัง ท่านั่งขับรถ 'แขม่วพุง' ขับไกลขับยาวแค่ไหนก็ไม่ปวดหลัง

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด