ขับรถทางไกลแล้วดับเครื่องทันที เครื่องยนต์พังจริงหรือ?
หลายคนมีความเชื่อว่าหากขับรถทางไกล หากจอดรถแล้วไม่ควรดับเครื่องยนต์ในทันที เพราะจะทำให้เครื่องยนต์เสียหายได้ แท้จริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่?
ความเชื่อดังกล่าวถือเป็นที่ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานจวบจนถึงปัจจุบัน ว่าหากขับรถระยะทางไกลๆ หรือใช้รอบเครื่องยนต์สูงเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบที่พบได้ในรถกระบะทั่วไป ควรปล่อยให้เครื่องยนต์อยู่ในรอบเดินเบาประมาณ 2-3 นาทีก่อนดับเครื่องยนต์ มิเช่นนั้นแล้วจะทำให้เครื่องยนต์หรือแกนเทอร์โบเสียหายได้
ผลจากความเชื่อที่ว่านั้น ทำให้เจ้าของรถบางรายนำรถไปติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่เรียกว่า Turbo Timer เพื่อยืดระยะให้เครื่องยนต์ทำงานต่อเนื่องจนถึงเวลาที่ตั้งไว้ จากนั้นเครื่องยนต์จะดับลงเองโดยอัตโนมัติแม้ว่าผู้ขับขี่จะไม่ได้อยู่ภายในรถแล้วก็ตาม
แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าการดับเครื่องยนต์ทันทีหลังจากเดินทางไกล จะทำให้เครื่องยนต์หรือเทอร์โบได้รับความเสียหายจากความร้อนสะสมภายในระบบ เนื่องจากปัจจุบันวิศวกรต่างพัฒนาระบบระบายความร้อนมาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเรียกได้ว่าเป็นความเชื่อสมัยเก่าที่เกิดขึ้นกับเครื่องยนต์เทอร์โบยุคแรกๆ ที่ระบบระบายความร้อนยังไม่ดีพอนั่นเอง
หากคู่มือรถยนต์แต่ละรุ่นไม่ได้ระบุข้อแนะนำว่าต้องติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ภายหลังจากเดินทางไกลแล้วล่ะก็ คงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเสียเวลานั่งรอ 2-3 นาทีจนกว่าจะได้ลงจากรถ หรือซื้อหา Turbo Timer มาติดตั้งให้เสียเงินฟรีๆ (แต่ได้ความสบายใจไปแทน)
นอกจากนี้ การติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ยังเป็นสาเหตุของมลพิษในอากาศ โดยเฉพาะพื้นที่ปิด เช่น ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า หรือภายในอาคารสำนักงาน จะเป็นการเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO), คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), ก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น
สิ่งสำคัญแท้จริงที่จะช่วยรักษาเครื่องยนต์ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ คือ การนำรถเข้ารับการตรวจเช็คระยะตามที่ผู้ผลิตกำหนด เปลี่ยนถ่ายของเหลวและชิ้นส่วนต่างๆ ให้มีสภาพดีอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการใช้สารแปลกปลอม เช่น หัวเชื้อน้ำมันเครื่อง, หัวเชื้อน้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ยืดอายุเครื่องยนต์อยู่ในสภาพดีไปอีกยาวนานแล้วล่ะครับ
คุณกำลังดู: ขับรถทางไกลแล้วดับเครื่องทันที เครื่องยนต์พังจริงหรือ?
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์