ขับยังไงไม่ไห้แหก! เข้า-ออกโค้งอย่างไรให้ปลอดภัย

ไม่ลนก็รอด วิธีแก้ไขอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโค้ง

ขับยังไงไม่ไห้แหก! เข้า-ออกโค้งอย่างไรให้ปลอดภัย

ประสิทธิภาพการยึดเกาะของยางกับผิวถนน คือ สิ่งที่มีความสำคัญ และเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ยางสภาพดีกับความเร็วที่เหมาะสมกับลักษณะของทางโค้งช่วยทำให้คุณควบคุมรถได้ง่ายขึ้นระหว่างการขับเข้าโค้ง การยึดเกาะกับถนนขณะวิ่งทางตรงบนยางที่สดใหม่นั้นดีอยู่แล้ว และมีความต่อเนื่องหากใช้ความเร็วสม่ำเสมอหรือความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ประสิทธิภาพดังกล่าวจะลดลงเมื่อวิ่งอยู่ในโค้งหรือวงเวียน สาเหตุดังกล่าวเกิดจากแรงเหวี่ยงหนีศูนย์กลาง ยิ่งขับเร็วเท่าไรแรงเหวี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

ในโค้งซ้ายสำหรับรถขับเคลื่อนล้อหลัง แรงเหวี่ยงจะออกทางด้านขวาของรถ และจะเหวี่ยงทางด้านซ้ายเมื่อขับเข้าโค้งขวา รถขับหน้า หากเข้ามาเร็วเกินไป อาการจะออกไปในแบบพวงมาลัยหักเลี้ยวไม่เข้า หรืออาการหน้าดื้อ (under steering) เมื่อใส่มาด้วยความเร็วสูง จนยางส่งเสียงร้องในโค้ง แต่รถยังวิ่งผ่านโค้งไปได้ นั่นเป็นเพราะใช้ความเร็วถูกต้องสอดคล้องกับลักษณะของโค้งหรือวงเลี้ยว รวมถึงการใช้พวงมาลัยขณะเข้าโค้งที่เป็นไปอย่างนิ่มนวล มือจับพวงมาลัยไม่แน่นจนเกร็งหรือจับหลวมจนอาจหลุดมือ ตำแหน่งของการจับ ไม่ว่าจะในขณะที่กำลังเข้า-ออกจากโค้ง หรือขับทางตรง มือซ้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา ส่วนมือขวาอยู่ในตำแหน่ง 3 นาฬิกา หากขับรุนแรงเกินไปในโค้ง โดยเฉพาะกับพวงมาลัย จะเป็นการเพิ่มแรงผลักให้เพิ่มมากขึ้น ยิ่งหมุนหรือสะบัดพวงมาลัยรุนแรงมากเท่าไรแรงผลักก็จะเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น การเข้าออกจากโค้งอย่างปลอดภัย จึงขึ้นอยู่กับการรักษาประสิทธิภาพการยึดเกาะของยางกับผิวถนนเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลาขณะที่ขับอยู่ในโค้ง เพราะฉะนั้น หากทำอะไรที่ไปลดหรือตัดแรงยึดเกาะของยาง หรือทำให้การเกาะถนนของยางเกิดอาการสะดุดขึ้นในระหว่างขับในโค้งหรือวงเลี้ยวเข้า ก็อาจหมายถึงอันตรายที่ตามมาด้วยอุบัติเหตุรุนแรง

สิ่งที่ไม่ควรทำขณะขับเข้าโค้ง
-หมุนพวงมาลัยอย่างรุนแรง หรือรวดเร็วแบบกระชาก สะบัดพวงมาลัย โดยกะทันหันมากเกินไป

-ใช้เบรกอย่างรุนแรงในโค้งเปลี่ยนความเร็วในโค้งแบบกะทันหันไร้ความนุ่มนวล เหยียบคันเร่งรุนแรง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

-เหยียบคลัตช์ หรือเลี้ยงคลัตช์

-เปลี่ยนเกียร์ในโค้ง

ประสิทธิภาพของรถยนต์และประเภทของรถเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีผลต่อการขับเข้าโค้ง ระบบบังคับเลี้ยว ช่วงล่าง โช้คอัพและสปริง ยาง รวมไปถึงน้ำหนักบรรทุก ล้วนแต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับรถเข้าโค้งด้วยเช่นกัน

ในรถกระบะ น้ำหนักบรรทุกมีผลต่อความสมดุลของรถขณะขับเข้าโค้ง ควรเฉลี่ยน้ำหนักให้พอดีอย่าให้มากหรือหนักเกินไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

ยางควรอยู่ในสภาพดี ที่สำคัญ ลมยางต้องตรงตามพิกัดที่ระบุในคู่มือ

ลักษณะของระบบขับเคลื่อน และการวางเครื่องยนต์ ยังส่งผลโดยตรงต่อการควบคุม ไม่ว่าจะขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หน้า หรือขับเคลื่อนล้อหลัง เมื่อขับด้วยความเร็วสูงแล้วเกิดอาการสูญเสียการควบคุมทิศทางของรถ หรือเกิดการลื่นไถล หักพวงมาลัยเข้าโค้งแล้วเกิดอาการหน้าดื้อโค้ง หรือท้ายปัด รวมถึงการใช้เบรกอย่างรุนแรง พร้อมๆ กับการเปลี่ยนทิศทางเพื่อหักหลบสิ่งกีดขวาง ผู้ขับบางคนไม่สามารถควบคุมทิศทางของรถได้ เพราะล้อทั้งสี่โดยเฉพาะล้อขับเคลื่อนขาดแรงยึดเกาะกับผิวถนน ตามมาด้วยการลื่นไถล หมุนคว้าง หรือเป๋ปัดจนตกไปจากถนน แล้วไปปะทะกับเสาไฟฟ้า ต้นไม้ หรือแม้แต่พุ่งข้ามเลนไปซัดเข้ากับรถที่วิ่งสวนมา จนทำให้เกิดอุบัติเหตุที่เศร้าสลดใจ ลองมาดูวิธีแก้อาการเหล่านี้กันดีกว่า เผื่อจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ดังกล่าวได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

Understeer (หน้าดื้อโค้ง)
หมายถึง การขับรถเข้าโค้ง แล้วล้อหน้าไถลออกนอกถนน ทำให้รถหลุดออกจากโค้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือบางครั้งเกิดขึ้นกับรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ แต่ไม่มากเท่ากับที่เกิดขึ้นในรถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า

วิธีแก้ไขอาการหน้าดื้อโค้ง

1- จับพวงมาลัยให้ถูกต้อง การจับพวงมาลัยในตำแหน่งที่ถูกต้อง และไม่กำแน่นจนเกินไป จะช่วยทำให้คุณสามารถควบคุมทิศทางรถได้ หากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ต้องใช้พวงมาลัยแบบฉับพลันทันที มือซ้ายอยู่ในตำแหน่ง 9 นาฬิกา มือขวา อยู่ในตำแหน่ง 15 นาฬิกา ไม่นั่งห่างจากพวงมาลัยจนทำให้แขนตึง ประเภทนอนขับเลื่อนเบาะออกไปจนไกล จะทำให้การควบคุมทิศทางแทบจะทำไม่ได้เลย หากเกิดเหตุการณ์ฉุกละหุก

2- ยกคันเร่งตัดการส่งแรงบิดไปยังล้อขับเคลื่อน ประคองพวงมาลัย หรือบังคับพวงมาลัยรถให้เลี้ยวมากกว่าเดิม

3- การถอนคันเร่งก็เพื่อให้รถถ่ายเทน้ำหนักมาที่ล้อหน้า และตัดกำลังเพื่อลดการสูญเสียแรงยึดเกาะของล้อหน้า พยายามบังคับให้รถวิ่งไปตามทางโค้ง จนแรงยึดเกาะกลับมาเหมือนเดิม หากไม่เข้ามาเร็วเกินไปจนเกินกว่าขอบเขตข้อจำกัดของรถ รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้าก็จะไม่เกิดอาการดังกล่าว เมื่อรู้ตัวว่าไม่สามารถควบคุมรถได้ก็ให้ใช้เบรกเต็มกำลังเพื่อป้องกันการหลุดจากถนนไปฟาดกับต้นไม้ เสาไฟฟ้า หรือรถที่แล่นสวนทางมา

Oversteer (ท้ายปัด)
หมายถึง การขับรถเข้าโค้งแล้วล้อหลังมีอาการปัด ส่าย หรือกวาดออกด้านข้าง (แล้วแต่สภาพของโค้งและความเร็วที่ใช้) รถจะไถล โดยส่วนท้ายจะแถออก ทำให้รถหมุนกลางโค้งได้ อาการนี้จะเกิดขึ้นกับรถขับเคลื่อนล้อหลัง รวมไปถึงรถซุปเปอร์คาร์เครื่องยนต์วางกลางลำตัว และรถสปอร์ตที่วางเครื่องยนต์ไว้ด้านท้าย โดยเฉพาะ Porsche 911 พวกสาระแนห้าวเป้งที่ชอบปิดระบบช่วยทรงตัว หรือเปิดระบบดังกล่าว แต่ดันขับเร็วจี๋จนระบบควบคุมการทรงตัวเอาไม่อยู่ ก็มีไม่ใช่น้อยๆ

1- ถอนเท้าออกจากคันเร่งเพื่อตัดกำลัง
เมื่อรถเริ่มสูญเสียการทรงตัว สิ่งแรกที่คุณจะต้องทำก็คือการยกเท้าออกจากแป้นคันเร่งทันที ขณะเดียวกันก็ให้หมุนพวงมาลัยไปในทิศทางที่ส่วนท้ายเริ่มบานออกไปอย่างนุ่มนวล พูดง่ายแต่เวลาเกิดอาการนี้ขึ้นมามักลนลานตกใจจนทำอะไรไม่ถูก เพราะมันเกิดขึ้นเร็วมาก หากห้อมาไม่เร็วโอกาสรอดจากอุบัติเหตุยังพอมี แต่ถ้าหวดมาเต็มสปีด บางท่านยิ่งแก้เหมือนยิ่งเยอะ รถส่ายไปมาจนตกไหล่ทางหรือหมุนไปฟาดกับสิ่งกีดขวางข้างทาง จนได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต

การแก้อาการโอเวอร์สเตียร์สำหรับมือใหม่ ขอแนะนำว่า อย่าทำให้อาการนี้เกิดขึ้นด้วยการขับเร็วเกินไป รถขับเคลื่อนล้อหลังในปัจจุบัน (ยกเว้นรถกระบะและ PPV SUV) ส่วนใหญ่เป็นรถประสิทธิภาพสูง และมีราคาแพง เป็นรถที่มีสมรรถนะการยึดเกาะถนนดีกว่ารถขับเคลื่อนล้อหน้า จากลักษณะของการวางเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน ช่วงล่าง และการกระจายน้ำหนักที่เหนือกว่ารถขับเคลื่อนล้อหน้า แต่หากความเร็วในโค้งสูงเกินไป ต่อให้ช่วงล่าง และระบบช่วยทรงตัวดีขนาดไหน ก็เอาไม่อยู่ คงต้องพึ่งหลวงพ่อที่แขวนอยู่ในรถแล้วละครับ

อย่างแรกต้องดูสาเหตุ ว่าอันเดอร์หรือโอเวอร์จากอะไร
ส่วนใหญ่ที่เจอ จะอันเดอร์เพราะ เข้าโค้งแรงไป เร็วไป หรือกระชากพวงมาลัย ทั้งสามเหตุทำให้ล้อหน้าเสียการยึดเกาะ

วิธีแก้อย่างแรก จะทำตรงข้ามกับสิ่งที่คน 99% ทำ คือ พออันเดอร์ คนส่วนใหญ่ที่ว่า จะหักพวงมาลัยเพิ่ม พอมันอันเดอร์จากการที่ล้อหน้าเสียการยึดเกาะอยู่แล้ว ก็ส่งผลให้ไปกันใหญ่ อันเดอร์มากกว่าเดิม

แปลว่าควรลดความเร็วลงก่อน จะยกคันเร่งหรือแตะเบรกชะลอเบาๆ ก็ได้
โดยยังไม่ต้องยุ่งกับองศาพวงมาลัย

พอความเร็วลดลง อันเดอร์น้อยลงหรือหายไปแล้วค่อยหมุนพวงมาลัยเพิ่ม
สำหรับคนทั่วไป ลดความเร็วลงก่อน ดีและง่ายที่สุด


โอเวอร์ก็เช่นเดียวกันครับ บางทีมาจากการอันเดอร์ก่อน พอแก้อันเดอร์ ล้อหน้ามีแทรคชั่นมากขึ้น กลายเป็นเกาะจนท้ายเบา โอเวอร์ไปในที่สุด

วิธีแก้ผมแนะนำแบบเดียวกันคือชะลอความเร็วลงก่อน อาจจะสวนพวงมาลัยช่วย ซึ่งในความเป็นจริง คนที่ทำได้ และทำได้พอดี บนท้องถนนจริงแทบไม่มี

ดังนั้นชะลอความเร็วในกรณีโอเวอร์ อาจต้องถึงกับใช้เบรกจนรถหยุดไว้ก่อน ไม่ใช่พยายามแก้อาการจนสะบัดเพิ่ม ละไปจบลงข้างทาง

สิ่งที่สำคัญไปกว่าการจะแก้อาการต่างๆ คือคนขับต้องมีสติ มองในทางที่จะพารถไป แล้วแก้ไขตามอาการที่เกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นคนที่ไม่เคยฝึก ต้องบอกว่าทำได้ยาก เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บ่อยครั้งที่คนขับไม่มีเวลาพอที่จะคิด ทุกอย่างต้องออกมาตามจิตใต้สำนึกจากการฝึกหัดหรือฝึกขับปลอดภัยที่มีการเปิดอบรมให้เรียนรู้อาการต่างๆ ของรถขณะเข้าโค้ง ถ้าเห็นว่ามีการเปิดอบรมการขับปลอดภัยแล้วยังไม่เคยไปเรียน ก็ควรจะหาโอกาสให้ตัวเองเพื่อเป็นการเพิ่มทักษะ เรียนรู้การขับในขั้นตอนที่สูงกว่าการขับแบบปกติในสถานการณ์จำลองต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง.

ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ขับยังไงไม่ไห้แหก! เข้า-ออกโค้งอย่างไรให้ปลอดภัย

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด