ขับยังไงไปไม่เป็น? วิธีขับรถขึ้นลงเขาด้วยเกียร์ออโต้ มือใหม่ก็ไปได้นะคะ

วิธีขับและใช้เกียร์ออโต้ให้ถูกต้อง เพิ่มความปลอดภัยเมื่อขับเที่ยวเส้นทางภูเขาสูงชัน

ขับยังไงไปไม่เป็น? วิธีขับรถขึ้นลงเขาด้วยเกียร์ออโต้ มือใหม่ก็ไปได้นะคะ

วันหยุดยาวกับอากาศหนาวเย็นยะเยือกบนหุบเขาสูงชันคือความใฝ่ฝันในช่วงวันหยุดสิ้นปี ไปทั้งทีถ้าร้อนก็จบเห่ อุตุบอกว่านี่ก็จะหนาวไปถึงวันที่ 1 มกราคมกันเลยทีดียว อากาศหนาวเย็นท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาแถบเพชรบูรณ์ เลย เชียงใหม่ เชียงราย ฯลฯ ที่มีทั้งความงามของธรรมชาติและความหนาวเหน็บจากความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรง ทำให้อยากขับรถออกทางไกลขึ้นภูเขาไปสูดอากาศหนาวกับครอบครัว พักผ่อนนอนกางเต็นท์เล่นให้เย็นใจ

ทางขึ้น-ลงเขาที่ลาดชันนั้นเต็มไปด้วยอันตราย มีทั้งหมอกที่บดบังทัศนวิสัยและน้ำค้างที่ฉาบผิวถนนทำให้ลื่นไถลได้ง่ายๆ การขับรถลงจากภูเขาซึ่งมีความลาดชันมากๆ อย่างทางขึ้นภูกระดึง ทางที่จะไปยังภูทับเบิกหรือทางหลวงที่จะมุ่งหน้าไปยังอำเภอปาย อุดมไปด้วยโค้งขึ้น-ลงเขาที่คดเคี้ยววกไปวนมา อันอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุหากไม่ระมัดระวังหรือไม่ชินเส้นทาง

สำหรับคนที่เพิ่งจะออกรถมาใหม่ๆ ไม่เคยชินกับทางขึ้นลงเขาที่หักพับไปมาดูน่ากลัว เพิ่งจะขับรถเป็นไม่นาน ยังไม่มีความเชี่ยวชาญในการควบคุมรถยนต์มากพอ เมื่อพบเจอกับเส้นทางบนภูเขาวกไปวนมาเดี๋ยวขึ้นเดี๋ยวลงเดี๋ยวเจอกับไหล่ทางที่มีเหวลึกดักรออยู่ก็จะหวั่นเกรง กลัวจะเกิดอุบัติเหตุจากความชันและแคบของเส้นทาง

รถยนต์ส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ใช้เกียร์อัตโนมัติกันหมดแล้ว รถเกียร์ธรรมดา ถ้าไม่ใช่รถกระบะ เป็นรถสปอร์ต ก็มักจะเป็นรถรุ่นพิเศษเท่านั้น ความแพร่หลายของเกียร์ออโต้ทำให้เกิดความสะดวกสบายเวลาขับใช้งานมีเคล็ดลับง่ายๆ เกี่ยวกับการขับขึ้น-ลงทางลาดชันสูงๆ

อย่างแรกเลยก็คือ ให้ใช้เกียร์ต่ำ ขับขึ้นหรือขับลง ตลอดเส้นทาง อย่าขับเร็ว ไม่ขับเข้าไปใกล้กับเส้นทึบแบ่งเลนกลางถนน อันนี้สำคัญมาก พยายามให้ล้อด้านนอกเกาะไหล่ทางเอาไว้นิดๆ เผื่อเจอกับพวกตีนผีขาดจิตสำนึกที่ขับลงเขาแล้วกินเลนเข้า จะได้หลบหลีกทันไม่ชนกันกลางโค้ง

ใช้เกียร์ต่ำที่มีแรงฉุดลากมากกว่าเกียร์สูง เช่นเกียร์ในตำแหน่ง 2-3 ทั้งขึ้นและลง อย่าพยายามขับแบบลากเกียร์จนสุดรอบเครื่องยนต์ ถ้ารถยนต์ที่ใช้เป็นเกียร์อัตโนมัติ (ซึ่งส่วนใหญ่ในปัจจุบันรถยนต์นั่งส่วนบุคคลใช้เกียร์แบบนี้เกือบทั้งนั้น) ควรใช้เกียร์ 2 ในการขับขึ้น-ลงจากเขาที่มีความสูงชันและเมื่อวิ่งบนทางราบก็ปรับคันเกียร์ไปที่ตำแหน่ง D แต่ใช้ตำแหน่งนี้ได้ไม่นานก็ต้องเลื่อนกลับมาที่เกียร์ต่ำเหมือนเดิมแหละครับ

ทางลงเขาที่ลาดชันและเต็มไปด้วยทางโค้ง ต้องเปลี่ยนจากเกียร์ในตำแหน่งปกติหรือเกียร์ D สลับมาอยู่ที่เกียร์ 2 เมื่อใช้เกียร์ 2 แล้วรถยังพุ่งลงมาอย่างรวดเร็วก็ยัดลงเกียร์ 1 ไปเลยพร้อมกับใช้เบรกช่วยในการประคองความเร็วไม่ให้สูงมากจนเอาไม่อยู่เมื่อไหลลงมาพบเจอกับโค้งหักศอก ความเร็วต่ำกับตำแหน่งเกียร์ต่ำคือวิธีการขับที่สร้างความปลอดภัยให้กับตัวคุณ เกียร์ต่ำจะคอยหน่วงความเร็วพร้อมกับใช้เบรกช่วย ทำให้ไม่กระโจนพรวดพราดเสียหลักแหกโค้งตกลงไปในเหวลึกเพราะใช้เกียร์ผิดหรือลงมาเร็วมากจนเอาไม่อยู่

เกียร์ 1 หรือเกียร์ L (Low) ใช้สำหรับไต่ทางลาดชัน ไม่ว่าจะเป็น SUV ขับสี่ล้อประสิทธิภาพดีหรือรถเก๋งเล็กๆ แบบ City Car / ECO Car ไม่ควรเปลี่ยนเกียร์ขณะห้อลงมาจากเขา ความเร็วที่ไม่มากหรือขับให้ช้าลงจะทำให้คุณควบคุมการเบรกและทิศทางได้ดีขึ้น

ตรวจสอบระบบเบรกก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่สูงชันต้องขับขึ้นเขาตลอดเส้นทาง เพราะเบรกจะถูกใช้งานหนัก เส้นทางขึ้นลงภูดอย บางช่วงบางตอนที่เป็นช่วงขาลงทางชัน จะใช้เบรกหนักๆ ตลอดทาง ถ้าได้กลิ่นเหม็นไหม้ ก็ควรหาที่จอดแวะพักให้อุณหภูมิของจานเบรกลดลงมาบ้าง ไม่ร้อนจัดมากเกินไปจะเบรกไม่อยู่

ห้ามลงเนินด้วยตำแหน่งเกียร์ N (เกียร์ว่าง) เกียร์ว่างหรือแม้แต่เกียร์สูงพวกเกียร์ 5-6-7 นั้นจะไม่มีแรงหน่วงจากเครื่องยนต์ ทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงแหกโค้งลงเขาตกเหวนับครั้งไม่ถ้วน ใช้เกียร์ต่ำทุกครั้งที่ขับขึ้น-ลงเขา โดยปล่อยรถให้ไหลลงเนินสูงชันตามรอบเครื่องยนต์ ในตำแหน่งเกียร์ 2 พร้อมๆ ไปกับการใช้เบรกเพื่อควบคุมความเร็วของรถให้สัมพันธ์กับเกียร์ต่ำ ค่อยๆ ประคองพวงมาลัยลงมา แต่ช่วงนี้ หลายภูหลายดอย รถน่าจะหนาแน่นจนไปได้ไม่เร็ว ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี คนเยอะ รถแยะ ก็ต้องขับช้าลง เมื่อช้า โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุก็จะลดลง

อย่าขับจี้ท้ายรถคันข้างหน้า ระยะห่างระหว่างรถคันข้างหน้าบนเส้นทางภูเขามีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อรถคันข้างหน้าคุณนั้นเป็นรถบรรทุกล้อเยอะหรือรถตู้ที่ขนคนขนของกันมาแบบเต็มพิกัด ช่วงขับขึ้นเนินชันให้เว้นช่วงจากรถคันข้างหน้าเพื่อป้องกันการไหลถอยหลัง หรือการบรรทุกหนักจนไม่มีเรี่ยวแรงในการตะกายขึ้นภูเขาเมื่อเจอเข้ากับทางขึ้นเขาสูงชันมากเป็นพิเศษ การเว้นระยะให้ห่างจากรถคันหน้าจะทำให้คุณมีพื้นที่มากพอในการเหยียบคันเร่งส่งรถขึ้นเนิน และทำให้ขับได้ง่ายขึ้นอีกด้วย แถมยังปลอดภัยจากการขับชนท้ายรถคันข้างหน้าหรือรถคันหน้าเกิดชะงักไหลกลับลงมา ในช่วงของขาลงก็ต้องพยายามเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัยเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ต้องพึงระวังก็คือ เส้นทางท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาว คุณจะพบกับรถที่ขับแบบไม่ระวัง รถที่มีกำลังแรงม้าสูงๆ หรือรถที่มีสมรรถนะสูงมากกว่าปกติ พวกรถแต่ง รถที่ขับออกแนวอันตรายท้าทายความตาย พวกชอบแซงกระชั้นชิดหรือแซงในที่คับขันเช่น แซงโดยไม่สนใจเส้นทึบห้ามแซงบนทางโค้ง ควรหลีกหรือหลบให้ไกลคนพวกนั้นเอาไว้ก่อน

หากเป็นไปได้อย่าพยายามขับตามรถบรรทุก หรือรถตู้โดยสารในระยะกระชั้นชิด ทิ้งระยะห่างให้เพียงพอต่อการหักหลบกะทันหันให้ดีๆ ไม่ว่าจะเป็นทางชันขึ้นหรือลาดลง ไม่จำเป็นอย่าขับชิดท้ายรถคันหน้า ให้คุมระยะห่างคันหน้าสัก 30-50 เมตร เมื่อมีรถจ่อท้าย ก็ชิดซ้าย แล้วเปิดสัญญาณไฟให้รถที่ขับเร็วกว่าแซงขึ้นหน้าไป ถ้าจำเป็นต้องแซงโดยเฉพาะรถสิบล้อคันใหญ่ หรือรถที่ขับช้ามากต้องท่องคาถาใจร่มๆ ใจเย็นๆ ให้รอจังหวะเมื่อเจอทางราบหรือทางไม่ชันมาก ไม่มีเส้นทึบห้ามแซง ควรรีบแซงซะเมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้ว แต่เส้นทางบนภูเขามีจุดแซงน้อยและเต็มไปด้วยอันตราย ถ้าเป็นไปได้ก็ตามไปเรื่อยๆ ค่อยๆ หาจังหวะแซงที่ปลอดภัย.


อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://web.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ขับยังไงไปไม่เป็น? วิธีขับรถขึ้นลงเขาด้วยเกียร์ออโต้ มือใหม่ก็ไปได้นะคะ

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด