ไขข้อสงสัย ไม่ควรดื่มน้ำจากขวดที่ทิ้งไว้ในรถจริงหรือ?
บ้างก็เชื่อว่ามีพบเชื้อโรค หรืออากาศร้อน พลาสติกละลาย หรืออื่นๆ ตกลงแล้วน้ำดื่มเป็นขวดๆ ที่ทิ้งเอาไว้ในรถ หยิบมาดื่มได้หรือไม่?
ไม่ว่าคุณจะมีรถยนต์ส่วนตัวหรือไม่ แต่เมื่อไรก็ตามที่คุณนั่งอยู่ในรถยนต์ คุณมักจะเห็นขวดน้ำอยู่ในรถ ขวดเล็ก ขวดใหญ่ หรือน้ำเป็นขวดๆ ที่แถมมาจากการเติมน้ำมันรถ ระหว่างเดินทางหากหิวน้ำก็จะควานหาใต้เบาะมาดื่ม จริงๆ แล้วน้ำดื่มที่ทิ้งไว้ในรถแบบนี้ มีอันตรายหรือไม่ Sanook! Health นำคำตอบจากรายการ Did You Know? มาฝากกันค่ะ
น้ำดื่มที่ทิ้งไว้ในรถยนต์
อันตรายต่อสุขภาพหรือไม่?
จากความเชื่อที่ว่า น้ำดื่มที่อยู่ในรถยนต์ ถูกความร้อนอบ
หรือโดนแดดส่อง จนทำให้ขวดพลาสติกร้อน ละลายปนกับน้ำดื่มนั้น จริงๆ
แล้วปัจจัยเสี่ยงอันตรายแบบนี้ก็ต้องมาดูว่า มีมากน้อยแค่ไหน เช่น
- อุณหภูมิความร้อนในรถยนต์ ภายในรถร้อนมากน้อยแค่ไหน
- ขวดน้ำดื่มพลาสติก เป็นขวดน้ำประเภทใด
ทนความร้อนได้มากน้อยแค่ไหน
ขวดน้ำดื่มบ้านเรา เป็นขวดพลาสติกประเภทใด?
ขวดน้ำดื่มบ้านเราจริงๆ แล้วก็มีอยู่หลายประเภทนะคะ
แต่ส่วนใหญ่จะเป็นขวด PET หรือ PETE
ซึ่งทำจากพลาสติกโพลีเอทีลีนเทเรฟทาเลท จัดเป็นพลาสติกหมายเลข 1
จากพลาสติกรีไซเคิลทั้ง 7 ประเภท ลักษณะของขวดจะเป็นพลาสติกใส เหนียว
แข็งแรงทนทาน น้ำหนักเบา ไม่แตกง่าย
สามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซได้ดี จึงถูกนำมาใช้บรรจุน้ำดื่ม
น้ำอัดลม น้ำมัน น้ำมันพืช หรือแม้กระทั่งซอสปรุงรสต่างๆ
ขวด PET ทนทานต่อความร้อนได้มากแค่ไหน
ปัจจุบัน ในการผลิตขวด PET
ต้องได้รับการตรวจสอบมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข
ให้สามารถทนทานความร้อนได้สูงถึง 60-95 องศาเซลเซียส
หากขวดพลาสติกได้ความร้อน
จะปล่อยสารอันตรายออกมาผสมกับน้ำข้างในขวดหรือไม่?
ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัด ว่าเป็นอันตรายจริงอย่างที่กล่าวอ้างกัน
และเป็นกรณีที่วางขวดน้ำพลาสติกแบบ PET ทิ้งไว้ในรถยนต์เท่านั้น
ซึ่งความร้อนในรถยนต์ไม่ถึง 60 องศาเซลเซียสแน่นอน
ถึงกระนั้น ขวดน้ำแบบที่เราซื้อมาดื่มกันอยู่ทุกวัน ถูกออกแบบให้เป็นขวดที่ใช้เพียงครั้งเดียวแล้วทิ้งเลย ดังนั้นหากต้องการจะใช้ขวดซ้ำจริงๆ ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาด หรือแม้กระทั่งรูปลักษณ์ของขวด และสีของขวดก่อนนำไปดื่มด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจากรายการ Did You Know?
ภาพประกอบจาก istockphoto
คุณกำลังดู: ไขข้อสงสัย ไม่ควรดื่มน้ำจากขวดที่ทิ้งไว้ในรถจริงหรือ?
หมวดหมู่: สุขภาพ