ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เคลมค่ารักษาจาก พ.ร.บ. ได้หรือไม่?

ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เคลมค่ารักษาจาก พ.ร.บ. ได้หรือไม่?

ผู้ใช้รถจักรยานยนต์มีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้สูง ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากการเฉี่ยวชนกับรถคันอื่น หรือล้มเองโดยไม่มีคู่กรณี ต่างก็เป็นสาเหตุให้ได้รับบาดเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาลทั้งสิ้น แล้วกรณีรถล้มเองแบบไม่มีคู่กรณี พ.ร.บ. จะให้ความคุ้มครองด้วยหรือไม่? เราไปหาคำตอบกัน

รถล้มเอง พ.ร.บ. คุ้มครองหรือไม่?

     พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ให้ความคุ้มครองผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทุกกรณีโดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด จึงครอบคลุมทั้งกรณีรถล้มเองแบบไม่มีคู่กรณี, เฉี่ยวชนแบบมีคู่กรณีแต่ยังไม่สามารถตัดสินถูกผิดได้ หรือแม้กระทั่งถูกชนแล้วหนีก็ตาม

     โดยกรณีรถล้มเองแบบไม่มีคู่กรณี ไม่ว่าจะเกิดจากถนนลื่น, ขับรถชนเสาไฟฟ้าหรือต้นไม้, ถูกสุนัขวิ่งตัดหน้า ฯลฯ จัดอยู่ในการเกิดอุบัติเหตุแบบไม่ต้องพิสูจน์ความผิด ซึ่ง พ.ร.บ. จักรยานยนต์ให้ความคุ้มครอง ดังนี้

  • กรณีได้รับบาดเจ็บ จะได้รับวงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 30,000 บาทต่อคน
  • กรณีเสียชีวิต / ทุพพลภาพถาวร / สูญเสียอวัยวะ จะได้รับวงเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 35,000 บาทต่อคน
  • หากเข้าข่ายทั้งสองกรณี จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน 65,000 บาทต่อคน

     ทั้งนี้ ผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ซ้อนท้ายสามารถเบิกค่าชดเชยได้ทั้งคู่ภายใน 180 วัน หลังจากวันที่เกิดเหตุ และเมื่อยื่นเอกสารเรียบร้อยแล้วจะได้รับเงินชดเชยภายใน 7 วันทำการ

กรณีรถล้มเอง ยื่น พ.ร.บ. ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง?

กรณีเบิกค่ารักษาพยาบาล

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาล (ตัวจริง)

กรณีสูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพถาวร

  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
  • ใบรับรองแพทย์
  • หนังสือรับรองผู้พิการ
  • สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

กรณีเสียชีวิต

  • ใบมรณบัตร
  • สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านของทายาท
  • สำเนาบันทึกประจำวันของพนักงานสอบสวน

ทั้งนี้ การยื่นเรื่องเบิกค่าชดเชยจาก พ.ร.บ. สามารถยื่นเรื่องกับทางบริษัทประกันภัยที่ซื้อไว้ หรือกับบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 180 วันนับจากวันเกิดเหตุ จากนั้นจะได้รับค่าชดเชยภายใน 7 วันทำการ

คุณกำลังดู: ขี่มอเตอร์ไซค์ล้มเอง เคลมค่ารักษาจาก พ.ร.บ. ได้หรือไม่?

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว