ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ

ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ

ในช่วงเวลาห่างกันเพียงประมาณ 2 สัปดาห์ หลายคนอาจจะได้เห็นไวรัลหนึ่งในโซเชียลมีเดีย ที่มีการพยายามช่วยกันแชร์ข่าว “การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเด็กเพื่อเข้ามาผ่าตัดหัวใจด่วน” และ “การเคลื่อนย้ายอวัยวะหัวใจเพื่อนำมาใช้ปลูกถ่าย” จุดประสงค์ของการช่วยกันแชร์ข่าวนี้เป็นวงกว้าง ก็เพื่อให้ทุกคนรับทราบถึง “ความเร่งด่วน” ในการเคลื่อนย้ายตัวคนป่วยและอวัยวะ และให้ความร่วมมือในการ “ให้ทางรถพยาบาล” เพราะทุกวินาทีมีชีวิตของคนคนหนึ่งเป็นเดิมพัน การไปถึงโรงพยาบาลปลายทางให้เร็วและปลอดภัยที่สุด จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนที่เห็นข่าวพากันเอาใจช่วย

จากกรณีที่ยกขึ้นมาข้างต้น ไม่เพียงแต่เป็นสถานการณ์ที่ต้องช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ทันเวลาเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาอีกส่วนหนึ่งด้วย เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนและปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อวัยวะใหม่ที่เตรียมไว้เพื่อใช้ปลูกถ่าย มีระยะเวลาในการเก็บรักษาภายนอกร่างกายมนุษย์ได้ไม่นานนัก นี่จึงอาจเป็นความรู้ใหม่ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยสนใจมาก่อน เรื่องของการบริจาคอวัยวะเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่น และเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ

การบริจาคร่างกายกับบริจาคอวัยวะนั้นแตกต่างกัน

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การบริจาคร่างกาย ≠ การบริจาคอวัยวะ เนื่องจากการบริจาคร่างกาย คือการอุทิศร่างกายทั้งร่างเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ศึกษาเพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาชีวิตของผู้อื่นตามวิชาชีพแพทย์ โดยจะเรียกกันว่า “อาจารย์ใหญ่” ผู้บริจาคจะเสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ และมีอวัยวะครบ สามารถทำเรื่องบริจาคผ่านคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยทุกแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งมีเกณฑ์การรับอุทิศร่างกายต่างกัน หลังจากนำร่างกายมาใช้ศึกษาเป็นเวลา 2 ปี ทางคณะแพทยศาสตร์ของโรงพยาบาลนั้น ๆ จะประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลให้

ส่วนการบริจาคอวัยวะ เป็นการมอบอวัยวะของตนเองเพื่อนำไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วยที่อวัยวะนั้น ๆ เสื่อมสภาพ ผู้บริจาคต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น (ยกเว้น ไต 1 ข้าง, ตับ, ไขกระดูก ที่สามารถบริจาคได้ตอนยังมีชีวิตอยู่) หลังจากผ่าตัดเพื่อนำอวัยวะไปให้ผู้ป่วยแล้ว แพทย์จะตกแต่งร่างกายของผู้บริจาคให้เรียบร้อย ก่อนมอบให้ญาติไปประกอบพิธีทางศาสนาต่อไป ผู้ที่ต้องการบริจาคอวัยวะ สามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ทั่วประเทศ โดยติดต่อได้ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด

เข้าใจเรื่องการบริจาคอวัยวะ

จริง ๆ แล้วการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย แต่การรับรู้บางอย่างยังไม่กว้างขวางและมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอยู่มาก โดยเฉพาะความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตในโลกหน้าที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ เนื่องจากผู้บริจาคต้องสละอวัยวะของตนเองให้ผู้อื่นหลังหมดลมหายใจไปแล้ว ซึ่งคนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ว่าถ้าหากบริจาคอวัยวะในชาตินี้ จะทำให้ร่างกายมีอวัยวะไม่ครบ ชาติหน้าจะเกิดมาเป็นคนพิกลพิการ ไม่ครบ 32 หรืออาจจะด้วยยังทำใจไม่ได้ที่จะต้องสละอวัยวะของตัวเองให้กับคนอื่น

อย่างไรก็ดี ในทางพระพุทธศาสนา เชื่อว่าการบริจาคอวัยวะถือเป็นทานบารมีขั้นสูงสุด (ทานปรมัตถบารมี) ได้แก่ การบริจาคชีวิตให้ผู้อื่น การทำเรื่องบริจาคอวัยวะไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่การสาปแช่งตนเองให้เสียชีวิตเร็ว ๆ หรือจะทำให้ตนเองเป็นคนพิการในชาติภพหน้า การผ่าตัดเอาอวัยวะของคนที่ตายไปแล้วไปให้ผู้อื่น ไม่ได้ทำให้คนตายต้องเจ็บปวดอีกครั้ง คนตายไปแล้วไม่เจ็บปวดแล้ว และไม่ทำให้ร่างจากโลกนี้ไปแบบศพไม่สวย เนื่องจากเมื่อชีวิตดับขันธ์แล้ว สาระของร่างกายก็ไม่มีเหลืออยู่อีกต่อไป มีแต่จะถูกนำไปฝังหรือเผาตามความเชื่อเท่านั้น ซึ่งถ้าต้องทิ้งขว้างไปแบบสูญเปล่าแบบนั้น ก็จะไร้ประโยชน์เกินไป

โดยการบริจาคอวัยวะ คือการมอบอวัยวะบางชิ้นส่วน เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยอื่นที่อวัยวะนั้น ๆ ไม่สามารถใช้การได้ โดยผู้บริจาคจะต้องเสียชีวิตจากภาวะสมองตายเท่านั้น ในต่างประเทศสามารถทำการปลูกถ่ายอวัยวะได้เกือบทั้งหมดของร่างกาย ส่วนประเทศไทยสามารถปลูกถ่ายได้เพียงไม่กี่ชิ้น และการจะรับอวัยวะของผู้บริจาคไปปลูกถ่ายให้ผู้ป่วย สามารถทำได้เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือ การรับบริจาคจากผู้ที่สมองตายแล้ว (ตามกฎหมายและทางการแพทย์) และจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต โดยตามข้อบังคับของแพทยสภา ผู้บริจาคและผู้รับบริจาค จะต้องเป็นญาติโดยสายโลหิต หรือสามีภรรยากันเท่านั้น

บริจาคอวัยวะ ช่วยเหลือใครได้บ้าง

โดยอวัยวะของคนเราที่สามารถนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้อื่นได้ จะมี ไต 2 ข้าง, ปอด 2 ข้าง, หัวใจ, ตับ, ตับอ่อน นอกจากนี้ยังมีเนื้อเยื่อที่ปลูกถ่ายได้ ได้แก่ ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือด, ผิวหนัง, กระดูก, เส้นเอ็น และกระจกตา หากตัวเราคิดจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะ เราเพียงคนเดียว จะสามารถช่วยชีวิตผู้อื่นได้อย่างน้อย 8 ชีวิต ด้วยอวัยวะ 8 ชิ้น คือ หัวใจ ปอดซ้าย ปอดขวา ตับ ตับอ่อน ลำไส้เล็ก ไตซ้าย และไตขวา นอกจากนี้เนื้อเยื่ออย่างลิ้นหัวใจ หลอดเลือด ผิวหนัง กระดูก เส้นเอ็น และกระจกตา ก็สามารถนำไปปลูกถ่ายให้กับผู้อื่นได้อีกเช่นกัน ดังนั้น การบริจาคอวัยวะ ถือเป็นการสร้างประโยชน์และความสุขอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่งต่อให้ผู้ป่วยที่รอคอยชีวิตใหม่ได้ถึง 8 คน

ความดีที่ไม่สิ้นสุด ก็คือการอุทิศอวัยวะเมื่อยามตนเองสิ้นสูญไปแล้ว ซึ่งข้อมูลจากศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ระบุว่าอวัยวะที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในประเทศไทย 3 อันดับ ได้แก่ ไต ตับ และหัวใจ โดยสถิติพบว่าประเทศไทยมีความต้องการปลูกถ่ายไตมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์

ความรู้เกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ

การปลูกถ่ายอวัยวะ คือการนำเอาอวัยวะจากคนหนึ่งไปให้กับอีกคนหนึ่ง ผู้ซึ่งอวัยวะสูญเสียการทำงาน และหมดหนทางการรักษาด้วยวิธีอื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือจำนวนผู้บริจาคอวัยวะมีจำนวนไม่เพียงพอกับผู้ที่รอคอยอวัยวะใหม่ โดยสาเหตุส่วนหนึ่งก็มาจากความเชื่อที่คลาดเคลื่อนเรื่องเกิดใหมชาติหน้าจะพิการเพราะชาตินี้ตายไปโดยที่อวัยวะไม่ครบนั่นเอง การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น

นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการบริจาคอวัยวะ มีถึง 3 ส่วน คือตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มีรายละเอียดดังนี้

  • “ต้นทาง” ต้องมีการให้ความรู้ สร้างความรับรู้ให้กับบุคคลทั่วไปให้เข้าใจถึงการบริจาคอวัยวะ, การสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินเรื่องการบริจาคอวัยวะให้ครอบคลุมโรงพยาบาลในสังกัดให้มากขึ้น และทีมแพทย์วินิจฉัยและดูแลผู้บริจาคอวัยวะ ในการพูดคุยกับญาติของผู้เสียชีวิต และการวินิจฉัยสมองตาย ทีมแพทย์มี่มีความพร้อม จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้น
  • “กลางทาง” ทีมแพทย์ที่ออกไปรับอวัยวะ ต้องใช้ศัลยแพทย์เฉพาะทางทำการผ่าตัดและเตรียมอวัยวะ ถ้าทีมแพทย์และพยาบาลมีความพร้อมและเสียสละเพื่อสังคม จะช่วยให้ไม่สูญเสียอวัยวะที่ได้รับบริจาค และระบบขนส่ง ในการขนส่งทีมแพทย์และอวัยวะได้ทันเวลา ก็จะช่วยให้การปลูกถ่ายอวัยวะสำเร็จเพิ่มขึ้น
  • “ปลายทาง” ทีมแพทย์ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เมื่ออวัยวะมาถึงผู้รอรับแล้ว ทีมแพทย์ที่พร้อมผ่าตัด จะช่วยให้การปลูกถ่ายอวัยวะประสบผลสำเร็จได้ยิ่งขึ้น, การสนับสนุนด้านอัตรากำลัง สถานที่ และเครื่องมือ ตลอดจนขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน ถ้าโรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะ มีนโยบายสนับสนุนด้านอัตรากำลังผู้ปฏิบัติงานที่เหมาะสม ด้านความพร้อมของสถานที่ และเครื่องมือที่ทันสมัย ตลอดจนสนับสนุนขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงาน ก็จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

และอย่างที่มีการเกริ่นไปก่อนหน้านี้ ว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะใหม่ให้ผู้ป่วยมีระยะเวลาที่ค่อนข้างจำกัด อวัยวะใหม่ที่เตรียมไว้เพื่อใช้ปลูกถ่าย มีระยะเวลาในการเก็บรักษาภายนอกร่างกายมนุษย์ได้ไม่นานนัก และอวัยวะแต่ละชิ้นมีอายุการเก็บรักษารวมถึงส่งต่อเพื่อปลูกถ่ายอวัยวะไม่เท่ากัน ดังนั้น ขั้นตอนการจัดเก็บอวัยวะที่ได้รับบริจาค จึงจะเริ่มขึ้นเมื่อทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งให้ไปจัดเก็บอวัยวะจากผู้บริจาคที่เสียชีวิตแล้ว ซึ่งจะต้องรีบจัดทีมจัดเก็บเดินทางไปทันที เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึงที่หมาย จะแบ่งงานกันทำเพื่อดูว่าอวัยวะใดสามารถนำไปใช้ได้บ้าง โดยอวัยวะที่ใช้ได้จะมีการแช่น้ำยาพิเศษเพื่อรักษาอวัยวะ

โดยปัจจัยที่ทำให้อวัยวะที่ได้รับบริจาคมามีความสมบูรณ์มากที่สุด นอกจากการจัดเก็บที่ถูกวิธีแล้ว เรื่องของระยะเวลาในการเดินทางนำอวัยวะมาที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ก็ต้องพึ่งพาการเดินทางที่เร็วที่สุด ต้องใช้เวลาน้อยที่สุดเพื่อให้อวัยวะที่รับบริจาคมามีความสมบูรณ์มากที่สุด ถ้าเป็นระยะทางใกล้ ๆ จะใช้รถยนต์ แต่ถ้าระยะทางไกล ๆ การเดินทางด้วยอากาศยานอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะใช้เวลาน้อยที่สุด โดยอวัยวะต่าง ๆ สามารถอยู่ภายนอกร่างกายได้ดังนี้

  • หัวใจ เป็นอวัยวะที่มีอายุการเก็บรักษาเพื่อรอการปลูกถ่ายสั้นที่สุด ต้องเก็บไว้ในที่ที่มีความเย็นเพื่อรักษาสภาพเนื้อเยื่อ และต้องดำเนินการทุกอย่างภายใน 5 ชั่วโมง
  • ปอด อยู่ได้ 8 ชั่วโมง แต่ต้องนำออกซิเจนเข้าปอดภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากนำออกจากร่างกายของผู้เสียชีวิต เพื่อรักษาสภาพของปอด
  • ตับอ่อน อยู่ได้ราว ๆ 10 ชั่วโมง
  • ตับ ปัจจุบันสามารถเก็บรักษาเพื่อรอการปลูกถ่ายในน้ำยาชนิดพิเศษได้ถึง 15 ชั่วโมง แต่ในการปลูกถ่าย จำเป็นจะต้องผ่าตัดให้เสร็จเรียบร้อยภายใน 12 ชั่วโมงเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
  • ลำไส้ อยู่ได้นาน 15 ชั่วโมง
  • ไต เป็นอวัยวะที่สามารถบริจาคให้แก่กันได้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และเป็นอวัยวะภายในที่มีอายุการเก็บนานที่สุดถึง 48 ชั่วโมง โดยหลังจากนำไตออกจากร่างกายผู้บริจาคแล้ว จะต้องถูกเก็บรักษาด้วยความเย็น
  • ดวงตา เมื่อผู้บริจาคเสียชีวิต ญาติจะต้องแจ้งหน่วยงานรับบริจาคดวงตาให้มารับดวงตาที่บริจาคไว้ภายใน 6 ชั่วโมง จากนั้นดวงตาที่รับบริจาคจะถูกนำไปเข้ากระบวนการการเก็บกระจกตา โดยสามารถเก็บรักษาเพื่อรอผู้รับบริจาคได้นาน 14 วัน
  • ลิ้นหัวใจ เป็นเนื้อเยื่อ ปัจจุบันกระบวนการทางการแพทย์สามารถเก็บรักษาลิ้นหัวใจไว้ได้นานถึง 5 ปี หลังจากที่ผู้บริจาคเสียชีวิตไปแล้ว

ผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะต้องทำอย่างไร

สถานการณ์การบริจาคอวัยวะในประเทศไทย มีข้อมูลจากเว็บไซต์ organdonate.in.th ที่อัปเดตเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2566 พบว่ามีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะจำนวน 127,934 ราย ผู้ที่บริจาคแล้ว 446 ราย ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่าย 938 ราย และมีผู้ที่รออวัยวะอยู่ทั้งสิ้น 6,634 ราย จะเห็นว่าตัวเลขของผู้ที่บริจาคแล้วกับตัวเลขของผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายแล้ว มีสัดส่วนน้อยมาก ในขณะเดียวกัน ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่รอคอยอวัยวะใหม่ และแม้ว่าจะมีผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเป็นจำนวนมาก ทว่าด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทำให้คนอายุยืนมากขึ้น ทำให้บ่อยครั้งมีผู้ป่วยที่รออวัยวะใหม่จากไปเร็วกว่าผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะ

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะ โดยทั่วไปมีคุณสมบัติดังนี้

  1. อายุไม่เกิน 65 ปี
  2. เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
  3. ปราศจากโรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
  4. ไม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน, หัวใจ, โรคไต, ความดันโลหิตสูง, โรคตับ และไม่ติดสุรา
  5. อวัยวะที่จะบริจาคต้องทำงานได้ดี
  6. ปราศจากเชื้อที่ถ่ายทอดทางการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี, ไวรัสเอดส์ ฯลฯ
  7. ควรแจ้งเรื่องการบริจาคอวัยวะให้บุคคลในครอบครัวหรือญาติรับทราบด้วย เพราะหากเสียชีวิตและสามารถบริจาคอวัยวะได้ ญาติจะต้องเซ็นยินยอมบริจาคอวัยวะเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงจะเป็นผู้แจ้งให้ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยทราบว่าผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเสียชีวิตแล้ว ซึ่งถ้าหากญาติไม่ยินยอมที่จะบริจาค จะถือว่าการบริจาคนั้นเป็นโมฆะ

การติดต่อบริจาคอวัยวะนั้นง่ายและมีหลายช่องทาง

  1. กรอกเอกสารด้วยตัวเอง ที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 เวลา 08.30-16.30 น. เว้นวันหยุดราชการ หรือที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ชั้นล่าง ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 เวลา 08.30-16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
  2. ดาวน์โหลดเอกสารได้จากเว็บไซต์ www.organdonate.in.th กรอก และส่งเอกสารกลับไปที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
  3. โทรศัพท์ 02-256-4045 หรือสายด่วนโทรศัพท์ 1666 เพื่อขอให้ส่งเอกสารทางไปรษณีย์ กรอก และส่งกลับไปที่ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) ชั้น 5 ถนนอังรีดูนังต์ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
  4. ขอแบบฟอร์มได้ที่โรงพยาบาล และสำนักงานเหล่ากาชาด สำนักงานกิ่งกาชาดอำเภอทั่วประเทศ
  5. แจ้งความจำนงเมื่อตอนที่ไปทำบัตรประชาชนใหม่ ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ
  6. เมื่อเจ้าหน้าที่ทำเรื่องเรียบร้อย จะส่งบัตรประจำตัวผู้มีความจำนงบริจาคอวัยวะให้ตามที่อยู่ที่ได้ระบุไว

คุณกำลังดู: ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะและการปลูกถ่ายอวัยวะ

หมวดหมู่: วัยรุ่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด