คุยกับ “ลุลา” จากชีวิต “บอสซาโนวา” จนถึงวันที่เคว้งคว้างทั้งน้ำตาก่อนเป็น “ดีวา”

เปิดตัวตน “ลุลา” ในวันที่กลับมาพร้อมโปรดิวเซอร์ใหม่ที่เปลี่ยนชีวิตไปมาก

คุยกับ “ลุลา” จากชีวิต “บอสซาโนวา” จนถึงวันที่เคว้งคว้างทั้งน้ำตาก่อนเป็น “ดีวา”

แม้ว่าตามหน้าสื่อที่ผ่านมา ชื่อของ ลุลา (กันยารัตน์ ติยะพรไชย) จะเป็นที่จับตาเรื่องความรักเป็นหลัก แต่ในอีกมุมนั้น เธอมีเรื่องราวที่เจ็บปวดและน้อยคนจะรู้ อย่างการที่โปรดิวเซอร์คู่บุญอย่าง โตน-จักรธร ขจรไชยกูล สมาชิกวง Sofa ได้อุปสมบทแบบไม่มีกำหนดสึก และทำให้ตัวลุลาที่ไม่เคยทำงานกับโปรดิวเซอร์อื่นอย่างจริงจัง ผ่านสภาวะเครียดและร้องไห้ รวมถึงการไม่ได้ปล่อยอัลบั้มและซิงเกิลของตัวเองนาน แต่ล่าสุดเธอได้กลับมาทำงานภายใต้การซัพพอร์ทของ เจน-เจนพัฒน์ มนตรีเลิศรัศมี จาก Mad Puppet Studio ที่ใส่ใจในความเป็นเธอและมีเคมีตรงกันอย่างน่ามหัศจรรย์ 

และในวันที่ลุลาประเดิมอัลบั้มใหม่กับเพลง “ความหมายของเวลา” ที่ได้ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย มาร่วมฟีทเจอริ่ง ทำให้ Sanook Music มองว่านี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสุดๆ ที่เราจะคุยกับเรื่องราวของ “เวลา” และ “การเปลี่ยนแปลง” ได้อย่างดีที่สุดๆ และเธอก็ได้ตอบคำถามได้ละเอียดจนเราขอยกตำแหน่ง Artist of the Month ประจำเดือนนี้ให้เธอ

ลุลา ลุลา

“ความหมายของเวลา” มีที่มาอย่างไร 

ลุลา : ก็เป็นอัลบั้มใหม่ซึ่งเป็นเพลงเปิด จริงๆ เพลงอื่นก็ทำไว้แล้ว ด้วยความที่ไม่ได้ทำอัลบั้มมา 6 ปี ก็อยากมีคนมาฟีทเลย คุณเจนพัฒน์ ก็เป็นคนผลักดันว่าอัลบั้มนี้พี่ลุลาเป็นดีวาได้แล้ว เพราะก่อนหน้านี้ทำ “จบตั้งแต่เริ่ม” แล้วก่อนหน้านี้ก็ทำกับ แอ้ม (อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์) ก็มีความวัยรุ่น คอนเทนต์นำสูง อัลบั้มนี้เจนพัฒน์บอกพี่ลุลาเป็นดีวาได้แล้ว ก็รู้สึกว่าไม่ได้อยากเป็นแบบนั้น แต่ดีวาในที่นี้เขาอยากให้เราทำคอนเทนต์ที่โตมากๆ คือโตเลย คนที่ฟีทก็ต้องเป็นตัวกลั่น ซึ่งเราไม่อยากได้ ป๊อบ ปองกูล (หัวเราะ) เลยบอกว่ามีใครใกล้เคียงกับเราในเรื่องวัยและร้องกับเราได้ ถ้าเราเลือกพี่ปู พงษ์สิทธิ์ ก็ไม่รู้จะร้องอะไรกัน เพราะเราเป็นตัวแทนผู้หญิงยุคใหม่ที่อยู่ในยุคปัจจุบันอย่างแข็งแรง ก็เป็นพี่ตูนได้ไหม เพราะเขาไม่เคยฟีทใคร และเราก็โตมาด้วยกันจาก Hotwave Music Awards แล้วก็เจอกันเรื่อยๆ แล้วก็มีโอกาสจะได้ร่วมงานหลายครั้งแต่ไม่เกิด เลย DM IG เพราะพี่ตูนรู้จักเจนพัฒน์ และชอบกันอยู่ ก็บอกว่าเราร่วมงานกับเจนพัฒน์อยู่ และอยากให้มาฟีทด้วยกัน ซึ่งการร่วมงานกับพี่ตูนคู่กันนี้ ต้อง 3 YES YES แรก คือโอเคมาคุยคอนเซ็ปต์กัน ทำเพลงส่งให้เขาฟัง ก็ 1 เดือนเขาอยู่อังกฤษ ด้วยความที่เคยผิดหวังเรื่องชวนใครมาร่วมงาน เราก็รอว่าเขาอาจจะเทเราได้ YES ที่ 2 ก็คือ “ผมชอบมาก กลับเมืองไทยไปอัดกันได้เลย” YES ที่ 3 คือพี่ตูนอัดเสร็จแล้ว คือก่อนหน้านี้อะไรมันจะเกิดก็ได้ และพี่ตูนบอกว่าฟังเพลงนี้แล้วมีความสุขมากที่ได้ฟังเพลงแล้วนึกถึงลูกที่กำลังจะเกิดและทะเลที่เขาเลี้ยง ส่วนเราแชร์เรื่องความรักที่ไม่มีเงื่อนไขที่เรามีต่อแม่และเขามีต่อลูก และก็แชร์ไปถึงคนที่มีสามีภรรยา มีแฟนหรือภรรยาที่ดูแลคนหนึ่งที่พิการ หรือต้องการการดูแลแบบรักแท้เลย เลยเป็นที่มา “ความหมายของเวลา” คือเวลาเป็นสิ่งเดียวที่จะพรากคนออกจากกัน อันนั้นคือความหมายของเพลงเลย อีก 4 เพลงก็เป็นเรื่องของคนที่เข้าใจโลกแต่ไม่กร้าน พร้อมเข้าใจสิ่งใหม่ๆ เสมอแค่เราโตแล้วที่จะไม่ฟูมพาย ถึงเพลงอกหักในอัลบั้มก็จะเป็นแนว “ปลง” ค่ะ

การทำงานกับเจนพัฒน์ เป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ทำให้พี่ลุลาคลิกกับทีมนี้

ลุลา : คือทุกอย่างที่เราแชร์ จะตกลงในส่วนที่เราชอบตรงกัน แบบนั่งเบรนสตอร์มว่าจะทำอะไร เราก็จะเจอตรงกลางที่บาลานซ์เสมอ หรือสิ่งที่ทำมาและเจนพัฒน์รู้สึกถึงเวลาเปลี่ยนทุกอย่างสมูธและไม่มีเคลือบแคลง เพราะพี่ไว้ใจคนยากเพราะเจ็บมาเยอะ พอคุยกับเจนพัฒน์แล้วไว้ใจ สบายใจ เราแค่บอกว่าชอบไม่ชอบแล้วเรื่องที่เขายึดหมั้น เขาไม่อยากเปลี่ยนเรา แต่ไม่อยากเปลี่ยนตัวเอง ก็เคลียร์ดี เป็นผู้ชายที่พูดตรงๆ ดี แล้วเขาเล่นเปียโนเก่งมาก ทุกคนรู้ จนสมัยก่อนก็หมั่นไส้นะ ทำไมเก่งจัง สักพักก็ยอมๆ มันเถอะ เหมือนเขาหูตากว้างไกล มั่นคงตัวเองสุดๆ และอายุไม่เยอะ 30 แต่เป็นผู้ใหญ่มากๆ และเล่นเปียโนเก่งมากๆ อัลบั้มนี้ก็จะมีความเปียโนนำ แต่เวลาเขียนเพลงก็เปิดรูปพี่กับแม่ และพี่ตูนกับทะเล ซึ่งก็ดีนะ เขาเต็มที่ และสำคัญมากๆ ที่ศิลปินจะมีทีมงานที่รักในแบรนด์ เข้าใจ และซัพพอร์ต ทุกเบอร์ที่มีเบื้องหลังแบบนี้ไปได้ไกล ชัดเจน ไม่บางเบา อะไรอย่างงี้  

ทีมงานที่ลุลาชอบร่วมงานมีคาแร็กเตอร์อย่างไร 

ลุลา : เราเคยเป็นศิลปินที่ไม่ได้เข้มแข็ง มีอ่อนแอ อ่อนใจ เราแค่ต้องการใครสักคนที่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ปัจจุบันเราใช้ตัวเองเป็นที่ตั้ง คนที่มาอยู่ข้างๆ อย่างเจนพัฒน์มาเป็นเพื่อนคู่คิด หาเพื่อนเม้าท์ เจอกันเป็นเพื่อนเม้าท์และได้งาน อย่าง ปู๋ (ปิยวัฒน์ มีเครือ), ข้าว Fellow Fellow และ เติร์ด Tilly Birds เราดีใจนะที่เวลาไปเข้าหาใครแล้วบอก “ได้เลยครับพี่” ทำงานแล้วสนุกค่ะ 

คำว่า “การเปลี่ยนแปลง” ให้ความรู้สึกอย่างไรกับลุลา 

ลุลา : จริงๆ มันมาจากลบนะ อย่างพี่โตนไม่อยู่ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องการ เริ่มด้วยน้ำตา แต่มันเกิดขึ้นเพื่อบังคับให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น ให้พัฒนา ให้เก่งขึ้น ส่วนเรื่องความรู้สึกกังวล เหว่ว้า ก็ปกติ แต่พี่เริ่มด้วยลบเพราะมองโลกในแง่ร้าย แต่สุดท้ายเป็นบวก เพราะกว่าจะเป็นลุลาก็ลำบาก เพราะแม่ไม่ให้ ไม่มีใครซัพพอร์ต พอลุลาออกมาแล้วมันก็จบกับความบวก เพราะเราไม่ยอมแพ้ค่ะ เปอร์เซ็นต์มันยาก แต่เราลองหน่อยแล้วกัน เป็นคนแบบนี้ตลอด เป็นคนท้อแท้ก่อน อีกวันอีกนิดแล้วกัน แล้วก็เป็นบวก ส่วนเรื่องพี่โตนทำให้เราโตมากพอเขาไม่อยู่ แต่พอเขาไม่อยู่ก็ผมร่วง ร้องไห้ ทุกครั้งที่ร้อง “เรื่องที่ขอ” บนเวทีแฟนคลับจะรู้ เพราะมันคิดถึงเขา ไม่ได้คิดถึงว่าเขาไม่อยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะไปต่อยังไงกับชีวิตเหมือนกัน โปรดิวเซอร์มันสำคัญ เป็นส่วนสำคัญ บางคนบอกเป็นคนทำงาน แต่เรามองเป็นส่วนสำคัญเหมือนกันในการเป็นศิลปินค่ะ ก็รู้สึกว่าพอหมดพี่โตนแล้วเราต้องหาใหม่ บางทีไปตามหาบางคนแล้วเขาปฎิเสธมาก็ทำให้เราดาวน์หนักกว่าเดิม พอมาถึงตรงนี้ได้เราต้องตบบ่าตัวเองให้เป็นว่า “เก่งมาก เก่งมาก” เพราะที่ผ่านมาทำไม่เป็นเลย เรารู้สึกไม่ดีนะ เพราะต้องชมตัวเองบ้างค่ะ 

ลุลา ลุลา

ลุลา รับมือกับมุมมองของแฟนๆ ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงในผลงานอย่างไร  

ลุลา : ตอนคอนเซ็ปต์บอสซาโนวา มันเป็นดนตรีสบาย ชุดแรกเราเป็นสาวออฟฟิศที่อยากทำเพลงหลุดจากเจ้านาย แบบ 3 นาทีหลุดจากความเป็นจริง เพลงมันก็มีแต่ร่าเริงค่ะ เพลงบวกๆ พอทำมาเรื่อยๆ ถึงยุค “เรื่องที่ขอ” ที่พี่โตนจะไป ก็เป็นยุคที่เราถูกกดดันให้ทำเพลงแมส เพราะเขารู้สึกว่าเราไม่แมส อยากให้ทำเพลงแมส ถ้าทำเพลงที่เคยทำมันไม่แมสแน่นอน เพราะคนกลุ่มใหญ่คือคนชอบเพลงอกหัก เราก็เลยคุยกันว่าต้องทำกันแล้ว เลยเป็น “เรื่องที่ขอ” ก็มีคนบอกให้กลับไปทำเพลงหวานๆ เราก็เสิร์ฟทุกคนเลยแล้วกัน เพลงอกหักก็มีเพราะเราชอบร้องและมันก็เศร้าดี เพลงสมหวัง “ความหมายของเวลา” ก็มี เพราะเราเทิดทูนความรักที่มีต่อคนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ชายหญิงชั่ววูบ แต่เป็นความรักที่มั่นคง ถาวร ยาวนาน เพลงอกหักความรักที่ผ่านไปแล้วก็ทำได้ ก็รู้สึกว่าได้หมดค่ะ แค่บอสซาโนวาที่ทำยาก แต่ชุดใหม่มีค่ะ 

ในยุค บอสซาโนวา จะมีหลายคนที่ไม่เข้าใจความเป็น “ลุลา” แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไป รู้สึกอย่างไรกับการเปลี่ยนนี้ 

ลุลา :  เราว่าไม่ใช่เรื่องวิธีการร้องและแนวดนตรี เพราะน้องๆ ที่ร้องแนวแปลกๆ ก็มีเยอะ ฮิปฮอปก็เยอะ และมีเพลงที่เราพยายามฟัง ยุคนี้ทุกอย่างมันกว้างขึ้น แต่สมัยนั้นวิธีการร้องบอสซาโนวา คือเราไม่ได้มาอธิบายว่าเขาร้องแบบนี้มานานแล้ว สองคือน้ำเสียงเรา เพราะวิธีการพูดเราแบบนี้ เราเอาไปใช้ร้องเพลงไม่ได้ มันก็ยังมีคนคอมเมนต์ตามรายการที่มีคนให้เปรียบเทียบ อย่างคนที่ร้องเสียงเต็มๆ เสียงดังๆ มันยังมีการวิจารณ์เปรียบเทียบ แต่เรามีความรู้สึกว่าผ่านเรื่องนี้มานานมากละ และเสียงก็แก้ไม่ได้ ก็เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส (หัวเราะ) คือเราหาเพลงที่ฟังแล้วเสียงเราเสริมขึ้นไปค่ะ 

ลุลา ลุลา

ได้ยินว่าเร็วๆ นี้จะมีมีตติ้งแฟนๆ ทำไมถึงตัดสินใจกลับมาทำโปรเจกต์นี้ 

ลุลา : ก็ระหว่างคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มและมีตติ้งแฟนคลับ เราอยากไปมีตติ้งมากกว่า เพราะจัดครั้งสุดท้ายก่อนโควิด-19 และก่อนหน้านั้นเป็นคอนเสิร์ต แล้วแฟนคลับก็จะมียุคแรกๆ ที่เป็นบอสซาโนวา แล้วก็ยุคที่เป็นเด็กมัธยมเข้ามหาวิทยาลัยที่ตามจาก “เรื่องที่ขอ” ก็คิดว่าถึงเวลารียูเนี่ยนแล้ว เพราะเขาจะชอบส่งข้อความว่าอยากได้มีตติ้งแฟนคลับ อยากทำคอนเสิร์ตที่ไม่ได้เอาวงมาตั้งแล้วร้องเพลง อยากครีเอทอะไรที่พิเศษ อัดเป็น YouTube เอาเพลงมารีอาเรนจ์ใหม่ๆ ให้ไม่ใช่ดนตรีสด แต่เป็นอะแคปเปลล่า อะไรแปลกๆ ไปเลย เครื่องสายอะไรแบบนี้ น่าสนุกดีนะ ไปอยู่ใน YouTube มีคนฟังอยู่แล้ว ก็เป็นนักคิด คิดไปเรื่อย แบบอะไรน่าทำก็ทำ อยากได้เซ็ทใกล้ๆ คนดู เพราะเราจำหน้าคนดูได้ทุกคน แบบเขารีเควสมา 50 เพลงก็เรียงร้อย ร้องให้เขาฟัง เขาน่าจะอยากฟังค่ะ ใครๆ ก็จัดคอนเสิร์ตได้ เพราะเสพกันหนักมาก เดี๋ยวนี้คนก็ไม่ค่อยดูเอ็มวีนะ เพราะฟังแต่เพลงสตรีมมิ่ง ยุค “เรื่องที่ขอ” อะทุกคนดูเอ็มวี แต่ตอนนี้คนฟังเพลงก็เพลงอย่างเดียว ถ้ามีคนบอกทำเพลงดังให้หน่อย อันนี้โจทย์ยากเพราะอะไรก็ดังได้ ง่ายมากๆ ยังดังได้ ยากมากๆ ก็ดังได้ อีก 20 ปี “ตุ๊กตาหน้ารถ” อาจกลับมาดังได้ค่ะ 

หลังจากนี้จะได้เห็นอะไรจากลุลาอีกบ้าง

ลุลา : หลังออก 5 เพลงและมีตติ้งแฟนคลับ เราก็จะทำซีดีเทปแผ่นเสียงค่ะ มันรวมมาจากชุดที่แล้วได้ 12 เพลงค่ะ เพลงละครด้วยที่เราทำแต่คนไม่ได้ยิน ก็ทำกับแอ้มนี่แหละค่ะ ชื่อเพลง “โกรธไหม” ก็เอามารวมได้ ไม่หลุดเท่าไหร่ และเพลงที่ทำกับ ป้อง PLASTIC PLASTIC (ปกป้อง จิตดี) เป็นคนที่เรียบเรียงเก่งก็อยากเอามารวม ก็ดีไซน์ซีดี เทป 

ลุลา ลุลา

อยากให้คนจำ “ลุลา” ในรูปแบบไหน 

ลุลา : พี่ชอบแบรนดิ้งลุลาที่เราจำไม่ได้ว่าพี่เขาอายุเท่าไหร่ พี่เขาออกมาปีไหน อยากให้เป็นไทม์เลสมากกว่า สุดท้ายก็อยากให้เป็น “ตุ๊กตาหน้ารถ” บอสซาโนวา ที่อยากให้เขาจำมากกว่า ว่าจริงๆ มันก็คือพีคที่สุดในชีวิตแล้ว ก็ไม่อยากได้อะไรมากกว่านี้ เพราะที่ทำทุกวันนี้เพราะเรายังอยากทำอยู่ แต่ภูมิใจที่สุดคือชุดนั้น ความฝันมันจบที่ยุคนั้น มันคอมพลีตแล้ว แล้วก็จากนั้นคือมีอะไรที่อยู่เช็คลิสต์ที่อยากทำก็ทำ แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นลุลาเวอร์ชั่นอัปเดตดีกว่า เพราะถ้าสังเกตอัลบั้มจะโตตามตัว ตามวัย ไม่รู้คนอื่นคิดไง แต่เราทำแบบนี้ค่ะ 

Photo : Ditsapong K.

คุณกำลังดู: คุยกับ “ลุลา” จากชีวิต “บอสซาโนวา” จนถึงวันที่เคว้งคว้างทั้งน้ำตาก่อนเป็น “ดีวา”

หมวดหมู่: เพลง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด