คุยกับ "เต๋า ธนกร" ปั้นแบรนด์ ZAYAN เปลี่ยนผ้าเหลือใช้ ให้กลายเป็นไอเทมสุดคลู

พูดถึงเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" ชวนให้นึกถึงอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าได้สร้างปัญหามายาวนาน และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง

คุยกับ "เต๋า ธนกร" ปั้นแบรนด์ ZAYAN เปลี่ยนผ้าเหลือใช้ ให้กลายเป็นไอเทมสุดคลู

พูดถึงเรื่อง "สิ่งแวดล้อม" ก็ชวนให้นึกถึงอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าได้สร้างปัญหามายาวนาน และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 4 รองจากอุตสาหกรรมอาหาร ก่อสร้าง และการขนส่ง โดยธุรกิจนี้ต้องผลิตและสร้างสินค้าให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าอยากซื้อ อยากหาเสื้อผ้า หรือแม้แต่เครื่องประดับต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดขยะทางอ้อมเพราะสร้างวัสดุเหลือใช้จำนวนมหาศาล

 เต๋า ธนกร บินซายันเต๋า ธนกร บินซายัน

เต๋า-ธนกร บินซายัน ผู้ก่อตั้งแบรนด์ ZAYAN ด้วยความที่มีความสนใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ผนวกกับได้ร่ำเรียนเกี่ยวกับการตัดเย็บเสื้อผ้า จึงนำความรู้และความสนใจมาผสมผสาน เริ่มจากการผลิตหมวก "มันมาจากตอนที่เราเริ่มทำหมวกครับ เราได้จับของหลายๆ อย่างมามิกซ์กัน เรารู้สึกว่ามันสนุกดีแล้วก็ไม่ต้องใช้ผ้าใหม่ก็ได้" จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาเป็นคอลเลกชั่นและวางจำหน่ายจริงจังในเวลาต่อมา

รู้จัก ZAYAN แบรนด์ความหมายดี

ตั้งชื่อแบรนด์จากความหมายที่ซ่อนอยู่ "ตอนแรกก็ไม่รู้จะตั้งอะไรเหมือนกันจริงๆ มันมาจากนามสกุล "บินซายัน" ประกอบกับภาษาอิสลามแปลว่า "ความงามของธรรมชาติ" ก็ลิงค์กับสิ่งที่เราชอบ เราชอบธรรมชาติ มันก็เลยลิงค์ไปถึงพวกสีหรือว่าโทนสีของแบรนด์ด้วย แรงบันดาลใจที่เราได้ก็มาจากธรรมชาติ เราก็พยายามเลือกวัสดุ อย่างผ้า Dead Stock เราก็เลือกสีออกเอิร์ธโทนด้วย"

แบรนด์แฟชั่นที่เริ่มจากการทำหมวก

ชีวิตในวงการแฟชั่นเริ่มจากการตัดเย็บโดยใช้เศษผ้าเหลือใช้ในบ้านมาทำเป็นหมวก จนพัฒนาเป็นคอลเลกชั่นในเวลาต่อมา "ตอนแรกเริ่มจากหมวกก่อนเพราะว่ามันใช้ผ้าไม่เยอะแล้วก็แพทเทิร์นไม่ได้ยุ่งยาก ไซซ์ก็เป็นไซซ์เดียว มันเริ่มได้ง่ายกว่าอย่างอื่น พวกวัสดุบางทีก็ใช้เสื้อผ้ามาเย็บเป็นหมวก ช่วงแรกๆ ที่ทำก็จะให้ลูกค้าส่งผ้ามาเราก็คัสตอมให้เขา เขามีผ้าอยู่ ส่งมาให้เราเราก็ขึ้นเป็นหมวกให้เขา"

จากชอบเสพ สู่การลองทำจนสำเร็จ

จะเรียกว่าซึมซับก็ว่าได้จากความสนใจสู่การลองผิดลองถูกจนกลายเป็นคอลเลกชั่นที่หลายคนสนใจ "จริงๆ ก็เริ่มมาตั้งแต่เด็ก เราก็เสพสื่อ จากสิ่งที่เราดูมันก็อยู่กับเรามาตลอด พอเรียนจบเราก็เพิ่งได้เริ่มทำจริงๆ จังๆ ก็ไปเรียนตัดเย็บ ตอนแรกผมเรียนเพนท์ติ้งครับ สาขาศิลปะไทย แต่พอจบมาแล้วเหมือนเราไม่อยากไปทางนั้นต่อก็เลยลองเรียนตัดเย็บ"

มองหาผ้าเหลือใช้อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยโลก "จริงๆ วัสดุค่อนข้างหลากหลายมาก ผมก็ไปหา ไปค้นหาแหล่งมาเยอะเหมือนกัน อย่างผ้า Dead Stock อะไรแบบนี้ก็จะมีตามโรงงานแถวโซนตะวันออกที่เขาผลิตผ้าแล้วเหลืออยู่ก็ลองไปดีลไปติดต่อเอามาทำ แล้วก็จะมีพวกเสื้อผ้ามือสองที่ลองเอามาทำด้วย"

 

จุดเด่นที่ทำให้ ZAYAN แตกต่างจากแบรนด์อื่น

จุดเด่นที่ใครได้เห็นเป็นต้องพูดเป็นเสียงเดียวกันว่างานของ ZAYAN  เป็นการที่ใช้แมทเทียเรียลมาวางบนแพทเทิร์นได้มีเสน่ห์ ตลอดจนการเลือกใช้วัสดุ ให้ความรู้สึกระหว่างสตรีทแบรนด์กับแบรนด์ที่เป็นแฟชั่นซึ่งเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว "จริงๆ เป็นวัสดุที่เราเห็นได้ในชีวิตประจำวัน ผมพยายามหยิบอะไรที่ใกล้ตัวที่เห็นบ่อยๆ เช่น พวกเสื้อผ้าทหาร เวลาเราไปเดินตลาด หรือ ออนไลน์เราจะเห็นว่ามีเยอะมากๆ และยังไม่ได้ถูกหยิบมาทำอะไรต่อ ผมก็เลยเห็นช่องตรงนั้น ว่ามันน่าจะเอามาทำอะไรต่อได้ครับ"

สำหรับการใช้เศษผ้ามาตัดเย็บเป็นชิ้นงานถึงยากแต่ก็ท้าทายความสามารถ "ผมมองว่ายาก เพราะวัสดุบางทีมีความต่างกัน เช่น ความหนา สี มันต้องคิดใหม่ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นของใหม่ทั้งหมดมันก็สามารถซื้อมาได้เลยว่าเราต้องการแบบไหน"

แบรนด์เล็กๆ ที่ทำเองทุกอย่าง

"จริงๆ อุปสรรคน่าจะเป็นการทำงานคนเดียว หมายถึงมันไม่ได้ปรึกษากับใคร มันต้องทำคนเดียวทั้งหมด ตั้งแต่ดีไซน์ รีเสิร์ชหาของ ถ่ายรูป ขึ้นต้นแบบ ทำกราฟิกอะไรแบบนี้ก็ทำเองทั้งหมด มันอาจจะใช้เวลาเยอะมากกว่าจะออกมาแต่ละคอลเลกชั่นก็ใช้เวลานานครับ

แต่ถึงจะมีความต้องการสินค้ามากขึ้นแต่ก็ยังคงแนวคิดเดิม "ที่ผมคิดว่ายังทำได้อยู่ก็เลยยังไม่ได้รู้สึกว่าต้องขยับขยายอะไร แต่จริงๆ เราก็อยากให้มันอยู่ประมาณนี้ ไม่ได้ต้องเป็นสเกลโรงงานอะไรทีมันใหญ่ขนาดนั้น"

 เต๋า ธนกร บินซายันเต๋า ธนกร บินซายัน

งานมีเสน่ห์จน Good Goods ติดต่อมาขอร่วมงาน

นอกความความรู้สึกยินดีมากๆ ที่ได้ร่วมงานกัน ก่อนหน้านี้ คุณเต๋าบอกว่า ตนเองก็รู้จัก Good Goods เหมือนกันจึงรู้ว่าแนวทางมันค่อนข้างตรงกันในเรื่องของการที่เราอยากทำอะไรเพื่อสิ่งแวดล้อมให้มันดีขึ้น ส่วนความพิเศษของคอลเลกชั่นนี้เจ้าตัวบอกว่า "คอลเลกชั่นที่ทำกับ Good Goods จริงๆ เป็นความต้องการของเราอยู่แล้ว ผมอยากทดลองแมทเทียเรียลที่มันมีอยู่แล้วแต่ยังไม่ถูกหยิบมาใช้งาน อย่างเสื้อผ้าทหารที่มีอยู่เยอะมากๆ ผมก็ลองหยิบมาใช้เอามาลองทำเป็นโปรดักส์ให้ดูใช้งานได้จริงยิ่งขึ้น มันจะมีพวกเสื้อกันหนาวหนาๆ ผมก็เอาแมทเทียเรียลตรงนั้นมาทำเป็นกระเป๋าเพราะถ้าจะใส่เสื้อกันหนาวแต่บ้านเรามันร้อนมากผมก็เลยเอามาแปลงเป็นกระเป๋า"

ZAYAN X Good Goods เจาะลึกเสื้อกับกระเป๋าผลิตจากวัสดุอะไร

เบื้องหลังกว่าจะเป็นคอลเลกชั่นที่เราได้เห็นกัน "หลักๆ จะมีอยู่ 3 ส่วน อันแรกเป็นเสื้อผ้าทหารวินเทจ เป็นของที่ผมสะสมไว้สักพักนึงแล้ว แล้วก็มีผ้าที่รีไซเคิลจากขวดพลาสติก แล้วก็ผ้า Dead Stock จากโรงงานด้วยครับ คือ เขาผลิตให้แบรนด์ใหญ่ๆ แต่มันไม่ได้ถูกเอาไปใช้งาน แล้วมันเหลืออยู่ที่โรงงานผมก็หยิบมาใช้ อันที่สามก็จะมีผ้าของทาง Good Goods ด้วยเป็นแคนวาสรีไซเคิลจากขวดพลาสติก"

 เต๋า ธนกร บินซายันเต๋า ธนกร บินซายัน

กุญแจที่ทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ

"จริงๆ เราตั้งใจทำโปรดักส์ทุกอันครับ เราพยายามคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมว่าเราจะสามารถทำอะไรได้บ้างที่จะช่วยลดปัญหาตรงนั้น พยายามคิดตรงนั้นและตั้งใจทำมันออกมาให้ดีที่สุด รู้สึกยินดีที่สิ่งที่เราตั้งใจดีไซน์หรือใส่ลงไปในโปรดักส์มันได้ใช้งานจริงๆ และมีฟีดแบคที่ดีกลับมา ก็รู้สึกยินดีครับ" กับคำถามที่ว่าทุกวันนี้ประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง "ก็คิดว่าประสบความสำเร็จประมาณหนึ่งครับเพราะมีคนรู้จักเยอะ มีคนพูดถึง แต่ก็ยังอยากพัฒนาต่อไป ทดลองวัสดุต่อไปให้มันดียิ่งขึ้นไปอีกครับ"

สำหรับคนมีฝันอยากประสบความสำเร็จ คุณเต๋าทิ้งท้ายว่า "อยากให้เริ่มลงมือทำเลยครับ อาจจะเริ่มจากสิ่งเล็กๆ ที่เราชอบหรือเราทำได้ดีก่อนก็ลงมือไปเลย ทำมันไปอย่าหยุด" ส่วนใครอยากรู้จักแบรนด์ ZAYAN เริ่มต้นจากหมวกกันยูวีที่ทำจากขวดน้ำพลาสติกก็ได้ เพราะน้ำหนักเบา แห้งไว แถมพกพาสะดวก สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี

คุณกำลังดู: คุยกับ "เต๋า ธนกร" ปั้นแบรนด์ ZAYAN เปลี่ยนผ้าเหลือใช้ ให้กลายเป็นไอเทมสุดคลู

หมวดหมู่: ผู้ชาย

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด