ลาก่อน 747
Boeing 747 ลำสุดท้าย ออกจากสายการผลิตที่โรงงานในรัฐวอชิงตัน ปิดตำนานเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมยาวนานมากที่สุดแบบหนึ่งของวงการบินพาณิชย์
หลังจาก 53 ปีกับเครื่องบินกว่า 1,570 ลำ เครื่องบิน Boeing 747 ลำสุดท้ายก็ออกจากสายการผลิตในรัฐวอชิงตันเมื่อค่ำวันอังคาร (27 ธันวาคม 2565) เพื่อทำหน้าที่เป็นเครื่องบินบรรทุกสินค้า
เครื่องบินจัมโบ้เจ็ต 747 ที่ครั้งหนึ่งเคยแหวกแนวด้วยส่วนนูนบนหัวซึ่งถูกออกแบบเป็นชั้นสองที่โดดเด่น 747 เป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่ Boeing เคยสร้างมา มันใหญ่พอที่จะใช้ขนส่งกระสวยอวกาศจากลานจอดในแคลิฟอร์เนีย ไปยังฐานปล่อยกระสวยอวกาศในมลรัฐฟลอริดา
Boeing 747 ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวเลือกของมหาเศรษฐี
เหล่าคนรวยล้นฟ้า ซุปเปอร์สตาร์ หรือแม้แต่ราชวงศ์ ภาพยนตร์หลายเรื่อง
รวมทั้งภาพยนตร์สายลับสุดคลาสสิกเรื่อง "Live and Let Die"
เป็นหนึ่งตอนในหนัง เจมส์บอนด์ ปี 1973 มีการนำเสนอเครื่องบิน 747
พร้อมฉากที่สร้างให้ดูเหมือนห้องรับรองชั้นหนึ่งที่ชั้นบน
เครื่องบิน จัมโบ้ 747 ยังคงทำหน้าที่เป็นแอร์ฟอร์ซวันต่อไป
เช่นเดียวกับที่เคยรับใช้ประธานาธิบดีของอเมริกา มาตั้งแต่ปี 2533
Boeing 747 2 ลำที่ประกอบแล้ว กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบระบบ
เพื่อเปลี่ยนเป็นเครื่องบินประจำตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป
ซึ่งเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันลำดังกล่าว
จะยังไม่ถูกส่งมอบเป็นเวลาอย่างน้อยสี่ปี
เนื่องจากความล่าช้าของการผลิต
นอกเหนือจากความนิยมในการใช้งานมาอย่างยาวนาน ปัจจุบัน เครื่องบินโดยสารรุ่น 747 เก่าและล้าหลังเกือบหมดแล้ว สายการบินต่างๆ ยกเลิกการใช้งานเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์ 4 เครื่อง ซึ่งรับประทานเชื้อเพลิงจนไม่คุ้มกับต้นทุน ส่วนคู่แข่งอย่าง Airbus ได้ยุติสายการผลิตเครื่องบินโดยสารยักษ์ใหญ่ 4 เครื่องยนต์ รุ่น A380 เมื่อปี 2019
Boeing ส่งสัญญาณในปี 2563 ว่าจะหยุดผลิตจัมโบ้ 747 แม้จะยังผลิตในรูปแบบเครื่องบินขนส่งสินค้าก็ตาม เนื่องจากลูกค้าได้ทำการซื้อเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่น 777 แบบสองเครื่องยนต์ที่ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่า หรือประหยัดเงินกว่าด้วยการปรับสภาพเครื่องบินโดยสารรุ่น 747 เดิม โดยดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า Boeing ยังไม่ได้ประกาศแผนสำหรับโรงงานในเอเวอเรตต์ รัฐวอชิงตัน ซึ่งเป็นสถานที่สร้างเครื่องบินจัมโบ้ 747 แต่คาดว่าโรงงานดังกล่าวจะเปิดดำเนินการต่อไป ในการสร้างเครื่องบินขนาดมหึมานั้น สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่มีขนาด 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งโบอิ้งกล่าวว่า เป็นอาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกโดยปริมาตรความจุ
747 รุ่นสายการบินพาณิชย์ สามารถขนผู้โดยสารได้ระหว่าง 400 ถึง 500 คน สูงสุดประมาณสองเท่าของจำนวนผู้โดยสารในเครื่องบินรุ่นลำตัวกว้างอย่าง Boeing 787-8 Dreamliner ที่มีขนาดเล็กกว่า แต่ Boeing ไม่ได้พัฒนา 747 เวอร์ชันสารการบินพาณิชย์สำหรับขนส่งผู้โดยสารอีกต่อไป เนื่องจากได้ส่งมอบ 747 ลำสุดท้ายให้กับสายการบินเกาหลีในปี 2560 ส่วนเครื่องบิน 747 ลำสุดท้ายในปีนี้ ถูกสั่งซื้อโดยบริษัทขนส่งทางอากาศ Atlas Air Worldwide Holdings (AAWW) ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการเครื่องบินให้กับ Kuehne+Nagel บริษัทโลจิสติกส์ของสวิส เครื่องบินลำสุดท้ายได้ถูกส่งไปยังโรงงานของ Boeing อีกแห่งเพื่อทำการพ่นสีและเก็บรายละเอียดในขั้นตอนสุดท้าย ก่อนที่จะส่งมอบให้กับ Atlas ในช่วงต้นปีนี้
ปัจจุบันมี 747 รุ่นผู้โดยสารที่ยังคงทำการบินเพียง 44 ลำเป็นเครื่องจัมโบ้ 747 ที่ยังคงประจำการอยู่ ตามรายงานของ Cirium บริษัทวิเคราะห์การบิน แจ้งว่า เครื่อง 747 มากกว่าครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ 25 ลำ เป็นของสายการบินลุฟท์ฮันซ่า
ยอดรวมดังกล่าว ลดลงจาก 747 กว่า 130 ลำที่เคยบินให้บริการไปทั่วโลก ในฐานะเครื่องบินโดยสารลำตัวกว้างขนาดใหญ่ เมื่อสิ้นปี 2562 ก่อนที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้ความต้องการเดินทางทางอากาศลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นทางระหว่างประเทศ ซึ่งใช้เครื่องบินรุ่น 747 และเครื่องบินลำตัวกว้างรุ่นอื่นๆ เป็นหลัก เครื่องบินไอพ่นพาณิชย์ส่วนใหญ่ ถูกระงับการบินในช่วงต้นของการระบาดใหญ่ และไม่เคยกลับมาบินให้บริการอีกเลย
ล่าสุด ยังมีเครื่องบินขนส่งสินค้า จัมโบ้ 747 จำนวน 314 ลำ ที่ยังคงบินใช้งานอยู่ ตามข้อมูลของ Cirium ซึ่งในขั้นต้น หลายลำถูกใช้เป็นเครื่องบินโดยสาร ก่อนที่จะถูกดัดแปลงเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า
วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม 2017 พนักงานของ Boeing ต่างชื่นชมกับการมาถึงของเครื่องบินโดยสารรุ่นใหม่อย่าง Boeing 787-10 Dreamliner ซึ่งแท็กซี่ออกมาจากโรงงานของบริษัทฯ ในเซาท์แคโรไลนา และขึ้นทำการบินทดสอบเที่ยวแรกที่สนามบินนานาชาติ Charleston ใน North Charleston, S.C.
เครื่องบิน 747-8 เป็นเครื่องบินที่มีศักยภาพอย่างเหลือเชื่อ ด้วยขีดความสามารถที่เหนือกว่า เมื่อเทียบกับเครื่องบินพาณิชย์ขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้าแบบอื่น ด้วยน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 307,000 ปอนด์ Boeing 747 บินขนส่งสัมภาระต่างๆ รวมถึงผู้โดยสาร ในเส้นทางที่ยาวและมีปริมาณผู้โดยสารหนาแน่นมาก เครื่องจัมโบ้หัวโหนก 747 ได้บินเชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชีย อเมริกาเหนือ ยุโรป และบางประเทศในตะวันออกกลาง”
747 รุ่นปัจจุบัน มีความยาว 250 ฟุต 2 นิ้ว ซึ่งเป็นเครื่องบินพาณิชย์ที่ยาวที่สุดเท่าที่ให้บริการในขณะนี้ หรือมีความยาวประมาณสองเท่าของความยาวเที่ยวบินแรกของพี่น้องตระกูลไรท์ ด้วยปีกกว้าง 224 ฟุต 5 นิ้ว
Boeing ส่งมอบเครื่องบินโดยสาร 747 ลำแรกในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2512 ให้กับสองสายการบินที่เลิกกิจการไปแล้วอย่าง TWA และ Pan Am ในปี 2560 เดลต้าแอร์ไลน์ (DAL) เป็นสายการบินสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่ทำการบินด้วยเครื่อง 747 รุ่นขนส่งผู้โดยสาร เช่นเดียวกับเมื่อปีที่แล้ว เที่ยวบินสุดท้ายของ 747 ทั้งเดลต้าและยูไนเต็ด (UAL) ดึงดูดผู้คนและแฟนคลับจำนวนมากของเครื่อง 747 เพื่อขึ้นบินกับเจ้าหมูอ้วนเป็นครั้งสุดท้ายก่อนปลดประจำการ พิสูจน์ถึงความนิยมที่ยั่งยืนของมันได้เป็นอย่างดี
ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินทราบดีว่า สุดท้าย การปลดระวางเครื่องบินโดยสารที่ได้รับความนิยมสูงสุดก็จะเกิดขึ้น การยืนยันของ Boeing ว่าจะยุติการผลิตเครื่องบินจัมโบ้ 747 ยังคงเป็นข่าวร้ายที่ต้องกล้ำกลืน เครื่องบินลำสุดท้ายที่จะออกจากโรงงานขนาดมหึมาที่ Boeing ตั้งใจสร้างขึ้นเพื่อผลิตเครื่องบิน 747 เมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว
เครื่องบินขนส่งสินค้า 747-8 จำนวน 4 ลำที่สั่งซื้อโดย Atlas Air ราคาลำละประมาณ 149 ล้านดอลลาร์ จะทำหน้าที่หนักและสำคัญอย่างยิ่งในการบินขนส่งสินค้าทางอากาศทั่วโลก แม้ว่าเครื่องบิน 747 สำหรับผู้โดยสารที่มีขั้นบันไดวนและชั้นบนที่พิเศษสุดๆ (สำหรับชั้นธุรกิจ) จะได้รับตำแหน่งราชินีแห่งท้องฟ้า เหมาะสมอย่างยิ่งที่เครื่องบินรุ่นบุกเบิกจะลงเอยด้วยการเปลี่ยนไปเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า
Boeing เริ่มลงมือพัฒนาเครื่องบินพาณิชย์ขนาดยักษ์ หลังจากที่แพ้การแข่งขันเสนอแบบเครื่องบินขนส่งในปี 2508 เพื่อการขนส่งทางทหารขนาดใหญ่สำหรับกองทัพอากาศสหรัฐฯ (ล็อกฮีดชนะการต่อสู้ในครั้งนั้น ด้วยแผนงานสำหรับเครื่องบินลำเลียงกาแล็กซี C5A) หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเสนอแบบเครื่องบินลำเลียงให้กับกองทัพอากาศอเมริกัน Boeing หันเหเส้นทางใหม่ โดยออกแบบอากาศยานลำโต สำหรับการบินพาณิชย์แทนที่เครื่องบินลำเลียงทางทหาร
หลังจาก 747
กลายเป็นสินค้าราคาแพงที่ขายดีของสายการบินพาณิชย์ทั่วโลก
ความสำเร็จของ 747 ในฐานะเครื่องบินพาณิชย์
ไม่ได้เกิดจากขนาดที่ใหญ่โตเท่านั้น (747-8 สามารถบรรจุสินค้าได้
137.7 เมตริกตัน) แต่ยังเป็นเพราะจมูกหรือส่วนหัวของเครื่องที่ยกได้
ช่วยให้ขนถ่ายสินค้าได้ง่ายและรวดเร็ว Airbus
พยายามเอาชนะด้วยเครื่องบินพาณิชย์สี่เครื่องยนต์รุ่น A380
ที่ใหญ่กว่า แต่หลังจากบินให้บริการนานหลายปี
ยอดสั่งซื้อเครื่องใหญ่ก็ยุติลงจนทำให้ Airbus
ต้องประกาศยุติสายการผลิต.
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: ลาก่อน 747
หมวดหมู่: รถยนต์