เลี่ยงได้เลี่ยง! อาหารดิบ-กึ่งสุกกึ่งดิบ อันตรายมากกว่าที่คิด
อาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และอาหารดิบ นับเป็นเมนูอาหารที่ถูกปากใครหลายคน เนื่องจากมันมีเนื้อสัมผัสและรสชาติที่แตกต่างจากเมื่อปรุงสุกโดยสิ้นเชิง ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบอาหารประเภทนี้ จะทราบกันดีว่ามีเนื้อสัตว์อะไรบ้างที่สามารถนำมาปรุงอาหารแล้วกินแบบดิบ ๆ หรือกึ่งสุกกึ่งดิบได้ และถ้าให้ไปกินแบบสุกก็คงจะไม่มีใครกิน เพราะมันไม่อร่อยนัวเท่า ด้วยเนื้อสัมผัสและรสชาติมันไม่ได้ ดังนั้น แม้ว่าจะรู้ว่าอาหารดิบไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ แต่คนเหล่านี้ก็ยังเลือกที่จะกินแบบดิบมากกว่าแบบสุก เพราะมันให้ทั้งความสดและรสชาติที่อร่อยกว่า
อย่างไรก็ตาม อาหารดิบสามารถกินได้ก็จริง แต่มันก็มีโทษต่อสุขภาพร่างกายของเราได้ เนื่องจากอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนจะเต็มไปด้วยเชื้อโรค พยาธิ หรือแม้แต่สารพิษปนเปื้อนต่าง ๆ การกินอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบอาจทำให้ร่างกายรับเอาเชื้อโรค ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัสมาจากของดิบโดยไม่รู้ตัว ก่อให้เกิดโรค ร่างกายผิดปกติ และเลวร้ายได้ที่สุด คืออาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ Tonkit360 จึงจะพาไปหาความรู้ว่าการกินอาหารดิบนั้นอันตรายแค่ไหน และเรามีโอกาสจะเจ็บป่วยอย่างไรบ้าง ผลลัพธ์จากกินของดิบ
โรคซาร์โคซิสติส
เป็นโรคที่ทำให้เกิดกลุ่มเซลล์อักเสบที่อวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะมีลักษณะคล้ายเม็ดข้าวสาร สามารถพบซีสต์ในกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อกล่องเสียง หรือกล้ามเนื้ออื่น ๆ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้มักมีอาการปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีอาการบวมใต้ผิวหนัง ข้ออักเสบ และมีเม็ดโลหิตขาวอีโอซิโนฟิลสูง ซึ่งปอดเป็นบริเวณที่อาจเกิดโรคซาร์โคซิสติสได้มากสุด โดยอาจทำให้เกิดพังผืดในปอดจนผู้ป่วยหายใจลำบากและอาจมีอาการอื่น ๆ
โรคแอนแทรกซ์
เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียแบบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bacillus anthracis พบได้ 3 ชนิด คือ เป็นแผลที่ปอด เป็นแผลที่ผิวหนัง หรือเป็นแผลที่ทางเดินอาหาร ขึ้นอยู่กับช่องทางการติดเชื้อ การกินอาหารดิบอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด ถ่ายท้องอย่างรุนแรง โดยอาจพัฒนาไปถึงการติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้
ไข้สมองอักเสบหูดับ
เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีอยู่ในหมูทุกตัว เมื่อกินหมูดิบเข้าไปและเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เชื้อจะขึ้นไปที่เยื่อหุ้มสมองและติดเชื้ออยู่บริเวณนั้น ทำให้เกิดไข้สูง เพ้อ สับสน ในรายที่รักษาไม่ทันก็อาจถึงแก่ความตาย ส่วนในรายที่รักษาทัน ก็มักจะมีอาการหูหนวกถาวรตามมา จากการอักเสบของเส้นประสาทการได้ยิน
เชื้อซาลโมเนลลา
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมากับอาหารหรือน้ำ จัดเป็นโรคระบบทางเดินอาหาร ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน อาการอาจปรากฏอยู่ได้นาน 8-72 ชั่วโมง ทว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการดีขึ้นเองภายใน 2-3 วันโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา และ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น
เชื้อแคมไพโลแบคเตอร์
เชื้อแบคทีเรียอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษและโรคลำไส้อักเสบ ร่างกายสามารถรับเชื้อจากการกินอาหารที่ไม่ผ่านการปรุงสุก หรือน้ำดื่มที่มีเชื้อโรคเจือปน เป็นเชื้อที่สามารถพบได้ในระบบทางเดินอาหารของสัตว์ที่เรานำมาบริโภค เช่น ไก่ ไก่งวง หมู วัว และสัตว์อื่น ๆ เมื่อรับเชื้อชนิดนี้เข้าไปแล้วทำให้มีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ ปวดท้อง และมีไข้ ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการถ่ายเป็นเลือด
เชื้ออีโคไล
เป็นเชื้อแบคทีเรียอีกชนิดที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร โดยโรคที่พบบ่อยในมนุษย์ ได้แก่ โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะและโรคท้องเดิน ผู้ที่ได้รับเชื้อนี้ไปประมาณ 1-2 วัน จะมีอาการปวดท้อง เป็นตะคริว และมีอาการท้องร่วง บางครั้งอาจมีเลือดปนมาด้วย โดยอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นแล้วหายเป็นปกติได้เอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง จะมีภาวะขาดน้ำ หรือไตวาย จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า
เนื้อสดที่นำมาปรุงอาหาร หากมีสาเหตุการตายมาจากโรคพิษสุนัขบ้า อาจทำให้ผู้ที่สัมผัสเชื้อมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ ไม่ว่าจะเป็นคนแล่เนื้อ คนทำอาหาร รวมถึงคนที่กินเนื้อดิบที่ทำจากเนื้อที่ติดเชื้อเข้าไป อาการรุนแรงมาก คือเสียชีวิต
โรคบรูเซลโลซิส
เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคแท้งติดต่อในสัตว์ เป็นโรคที่สำคัญในสัตว์เพราะทำให้สัตว์แท้งแบบไม่ทราบเหตุ ส่วนในคนเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนที่พบได้ไม่บ่อยนัก หากไม่ได้ไปสัมผัสกับสารคัดหลั่งของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือติดต่อทางการหายใจจากแหล่งโรค ก็จะติดต่อโดยการกินดิบ เวลาป่วยจะลำบากอาการจะเป็นไข้ที่หาเหตุไม่เจอ มีไข้เรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ เหงื่อออก หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ปวดข้อ น้ำหนักลด เป็นฝีในตับในม้าม และบางรายมีอาการทางประสาทร่วมด้วย กว่าจะหาเจอและรักษาได้ ก็อาจต้องนอนป่วยหลายเดือน
พยาธิ
พยาธิในอาหารดิบ แม้ว่าจะกินเข้าไปไม่มากแต่ก็อันตราย เนื่องจากพยาธิสามารถฟักตัวและเติบโตได้ดีในร่างกายมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความผิดปกติกับระบบร่างกายของเราได้ และในกรณีที่รุนแรงยิ่งกว่า คือพยาธิสามารถชอนไชออกมาจากอวัยวะในระบบทางเดินอาหารไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้ เช่น ตับ กล้ามเนื้อ ปอด และสมอง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงขั้นปอดอักเสบหรือสมองอักเสบได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตในที่สุด
ไม่ใช่แค่เนื้อสัตว์ที่ไม่ควรกินดิบ ผักบางชนิดก็ไม่ควรกินดิบ
ไม่ใช่เพียงแต่เนื้อสัตว์เท่านั้นที่ไม่ควรกินดิบ เพราะแม้แต่ผักบางชนิดก็ไม่ควรกินดิบเช่นกัน เนื่องจากในผักดิบบางชนิดมีสารพิษในตัวเอง หรืออาจมีการปนเปื้อนสะสมของสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้น ผักบางชนิดหากกินดิบอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
- กะหล่ำปลี มีสารกอยโทรเจน ซึ่งเป็นสารขัดขวางไม่ให้ต่อมไทรอยด์จับกับไอโอดีน ทำให้เกิดโรคคอหอยพอก อีกทั้งยังทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ
- ถั่วงอก ถั่วงอกดิบมีแบคทีเรียอันตรายหลายชนิด มีสารฟอกขาว และมีไฟเตทสูง ไฟเตทจะเข้าไปจับกับแร่ธาตุบางชนิดที่อยู่ในอาหาร จะทำให้ร่างกายขาดแร่ธาตุได้
- ถั่วฝักยาว มักสะสมสารกำจัดศัตรูพืช อีกทั้งยังมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ค่อนข้างสูง ทำให้ท้องอืด ซึ่งไม่เหมาะกับคนที่มีปัญหาการย่อยและผู้สูงอายุ
- หน่อไม้ มีไซยาไนด์อยู่ในปริมาณที่มาก ซึ่งเป็นสารพิษต่อร่างกาย หากได้รับสารนี้เข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
- ผักโขม มีกรดออกซาลิกสูง เป็นสารที่ขัดขวางการดูดซึมของแคลเซียมและธาตุเหล็ก
- มันฝรั่ง เป็นพืชที่ไม่ควรกินดิบโดยเด็ดขาด เพราะในหัวมันฝรั่งดิบจะมีสารโซลานีนอยู่มาก ซึ่งเป็นสารพิษกลุ่มไกลโคแอลคาลอยด์ ที่พืชสร้างมาเพื่อปกป้องตัวเองจากแมลงศัตรูพืช หากกินเข้าไปจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหาร
- มันสำปะหลัง มันสำปะหลังดิบมีไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษอยู่ในปริมาณสูง หากกินดิบจะเป็นอันตรายมาก
- มันเทศ มันเทศดิบมีสารไซยาไนด์ และสารออกซาเลต ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการดูดซึมของแคลเซียมและแร่ธาตุสำคัญหลายชนิด และอาจเพิ่มความเสี่ยงเกิดนิ่วในไต
- แคร์รอต การกินแคร์รอตดิบจะทำให้การดูดซึมเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นตัวช่วยต้านอนุมูลอิสระได้น้อยลง
- บรอกโคลี เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับกะหล่ำปลี ซึ่งมีสารกอยโตรเจน ซึ่งเป็นสารที่ยับยั้งไม่ให้ร่างกายใช้ไอโอดีนได้อย่างเต็มที่ การขาดไอโอดีนจะทำให้เป็นโรคคอหอยพอก อีกทั้งยังทำให้ต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำ
- ดอกกะหล่ำหรือกะหล่ำดอก เป็นพืชหัวชนิดเดียวกันกับบรอกโคลี มีน้ำตาลเดียวกันกับกะหล่ำปลี มีผลกระทบต่อผู้ที่ระบบย่อยอาหารมีปัญหา ที่อาจทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง
- เห็ดต่าง ๆ ควรทำให้สุกก่อนกิน เพราะเห็ดจะมีผนังเซลล์ที่ย่อยยาก การนำไปทำให้สุกก่อนกินจะช่วยให้ผนังเซลล์นิ่มลง บางคนกินเห็ดดิบแล้วมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด จึงควรทำให้สุกก่อน
คุณกำลังดู: เลี่ยงได้เลี่ยง! อาหารดิบ-กึ่งสุกกึ่งดิบ อันตรายมากกว่าที่คิด
หมวดหมู่: วัยรุ่น