เมื่อโลกพุ่งเป้า “Go Green” ถึงเวลาซ่อมแซมธรรมชาติ
ต้องยอมรับว่า การเติบโตของอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ แม้จะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีสิ่งที่เรียกว่าทันสมัยและความเจริญเพิ่มมากขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็พบว่า ความเป็นธรรมชาติได้ถูกทำลายลงมากขึ้นเช่นเดียวกัน นั่นเป็นเหตุผลให้ทุกประเทศ เริ่มหันกลับมาดูแล ฟื้นฟู และรักษาธรรมชาติมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) ที่เน้นการพัฒนาอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศเป็นนโยบายจะมุ่งเป้ายกระดับผู้ประกอบกิจการโรงงานเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียวทั่วประเทศภายในปี 2568 เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับ “อุตสาหกรรมสีเขียว” หมายถึง อุตสาหกรรมที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิต และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ในบางประเทศที่มีการผลักดันนโยบาย Green Industry อย่างเข้มแข็ง จะได้ประโยชน์ตั้งแต่เริ่มลงมือทํา เช่น เกิดการประหยัดพลังงาน ลดการใช้ทรัพยากร และลดการปลดปล่อยมลพิษ ก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในเรื่องพลังงาน ทรัพยากร และการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนลดลงทันที
ขณะเดียวกัน ก็พบว่า ความขัดแย้งระหว่างโรงงานอุตสาหกรรมกับชุมชนมีแนวโน้มลดลง การสื่อสารระหว่างโรงงานและชุมชนเป็นไปในทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งส่งผลถึงระดับความไว้วางใจและความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย
วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการ บริษัทบริหารและพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำกัด (มหาชน) บอกว่า ประเทศไทยที่มีการนำแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มาเปลี่ยนการผลิตและการบริโภคสู่สังคมการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Consumption and Production : SCP) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ก็เพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจระดับโลก เป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญที่จะนำไปสู่ SCP คือ การส่งเสริมให้ผู้ผลิตและประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต การบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางขึ้น
อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ข้อมูลว่า การลดปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุกที่มุ่งสู่ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ด้วยการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการใช้เครื่องมือด้านการบริหารจัดการของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย “อุตสาหกรรมสีเขียว” (Green Industry) ตาม “มาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14000” และมาตรฐานสากลว่าด้วยการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
ดร.วิฑูรย์ บอกว่า ในภาพรวมอาจมองว่า ปัญหาด้านมลพิษสิ่งแวดล้อมลดลง แต่ในความเป็นจริง ยังปรากฏว่ามนุษย์เรายังใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นทุกที สร้างขยะมากขึ้น กิจกรรมต่างๆก็ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมก็มากขึ้นเรื่อยๆ
“สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบในการผลิต ทำให้คุณภาพชีวิตของเราลดลงจากปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น” อดีตปลัดอุตสาหกรรม บอก พร้อมกับเสริมว่า เมื่อทรัพยากรมีแต่จะใช้ให้หมดไป มนุษย์เราจึงต้องหาวิธีสงวนรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรให้พอมีพอใช้ต่อไปถึงลูกหลานด้วยแนวความคิดของ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตอบโจทย์ คือ การผลักดันนโยบาย “เศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ให้กลายเป็นพันธกิจที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ และต้องช่วยกันผลักดันภาคเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนอื่นๆในแต่ละประเทศให้ตระหนักถึงความร่วมมือกันในเรื่องนี้ ซึ่งได้มีการประกาศวิสัยทัศน์สู่เศรษฐกิจหมุนเวียนในปี 2050 ร่วมกันของประชาคมโลกในการประชุมระดับโลก หรือ World Circular Economy Forum ไปแล้ว
ตัวอย่างของการดำเนินการภายใต้ นโยบาย Circular Economy มีหลายเรื่องที่สำคัญ เช่น การออกแบบสินค้าและบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า การลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบ (negative externalities) ต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ฯลฯ
ซึ่ง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ไม่ใช่เป็นเพียงกระแสนิยม แต่เป็นความจำเป็นที่ทั่วโลกต่างต้องตระหนักถึงเพื่อระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนและคุณภาพชีวิตของประชาคมโลกที่ดีขึ้น ที่มนุษยชาติต้องร่วมกัน Go Green นับตั้งแต่วันนี้.
คุณกำลังดู: เมื่อโลกพุ่งเป้า “Go Green” ถึงเวลาซ่อมแซมธรรมชาติ
หมวดหมู่: เที่ยว-กิน