ไม่อยากโดนด่า ขับให้ช้าเข้าไว้!! ขับลุยน้ำท่วม ทำไมต้องช้า

น้ำท่วมถนนกลัวดับจึงขับเร็ว เอาตัวรอดในช่วงน้ำหลาก ทำไมต้องขับช้าเมื่อลุยฝ่าน้ำท่วมขังบนถนน

ไม่อยากโดนด่า ขับให้ช้าเข้าไว้!! ขับลุยน้ำท่วม ทำไมต้องช้า

สถานการณ์น้ำท่วมขังเนื่องจากฝนตกในเขตกรุงเทพฯ ยากที่จะหลีกเลี่ยงหากปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตร ลองอ่านวิธีการขับขี่ฝ่าน้ำท่วมขังผิวการจราจร เพื่อเอาตัวรอดไปให้ถึงที่หมาย...

ต้องรู้ระดับน้ำข้างหน้าที่จะวิ่งลุยเข้าไปว่ามีความสูงเพียงใด รถเก๋งส่วนใหญ่ที่อยู่ในสภาพดี (ไม่นับรวมรถกระบะยกสูง) สามารถแล่นฝ่าผิวการจราจรที่มีน้ำท่วมขังอยู่ในระดับ 30 เซนติเมตรแบบพอคลานไปได้ช้าๆ หากมากกว่านั้นน้ำอาจเข้าไปที่จานจ่าย คอยล์จุดระเบิด หรือท่อระบายไอเสียด้านหลัง จนทำให้เครื่องยนต์ดับได้ ลดความเร็วลงเมื่อกำลังจะขับรถสวนกับอีกคันที่กำลังขับมา เพราะคลื่นด้านหน้าของรถที่แล่นสวนทางมากับคลื่นรถของเราจะปะทะกัน ซึ่งน้ำที่ปะทะระหว่างรถทั้งสองคันที่วิ่งสวนกัน อาจทำให้น้ำกระเด็นเข้าไปทำให้เกิดความชื้นต่ออุปกรณ์สำคัญภายในห้องเครื่องยนต์ นี่คือสาเหตุที่ทำให้เครื่องดับ หรือไปทำให้รถเล็กและเตี้ยกว่าที่สวนทางมาต้องเครื่องดับกลางน้ำ คิดถึงใจเขาใจเรา ว่าคลื่นที่เกิดจากการขับเร็วลุยน้ำจะไปกระแทกเข้ากับบ้านเรือนสองข้างทางทำให้เกิดความเสียหาย หรือทำน้ำกระเด็นเข้าบ้านคนอื่นเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น มารยาทของการใช้รถต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันให้มากในยามที่ประสบกับความยากลำบาก ไม่ซ้ำเติมผู้ที่เดือดร้อนอยู่แล้วให้แย่เข้าไปอีก

ใช้เกียร์ต่ำ สำหรับเกียร์ธรรมดาให้ใช้อัตราทดเกียร์ในระหว่างการวิ่งฝ่าพื้นที่น้ำท่วมขังที่ประมาณเกียร์ 2 หรือสำหรับออโต้ก็ใช้เกียร์ D1-D2 รวมถึงการขับขี่ที่ต้องใช้ความเร็วต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และควรรักษาระดับความเร็วของตัวรถให้มีความสม่ำเสมอ อย่าหยุดรถกลางน้ำ ห้ามเร่งความเร็วแบบทันทีทันใด น้ำอาจโดนพัดลมระบายความร้อนตีขึ้นมาใส่อุปกรณ์ที่มีไฟฟ้าผ่านจนถึงขั้นเครื่องยนต์ดับเอาได้ง่ายๆ

อย่างเร่งรอบเครื่อง หรือใช้รอบสูง นั่นก็คือใช้รอบต่ำ ความเร็วต่ำ ค่อยๆ ไหลไปเรื่อยๆ ระดับน้ำท่วมที่สูงอาจทำให้ผู้ขับขี่บางรายเป็นกังวล และมักจะเร่งเครื่องยนต์ทันทีที่แล่นฝ่าน้ำ ซึ่งอาจเป็นเพราะกลัวเครื่องยนต์ดับกลางน้ำ กลัวน้ำเข้าท่อระบายไอเสียทางด้านหลัง หรือต้องการไปให้พ้นจากเขตที่มีน้ำท่วมขังผิวการจราจรด้วยความรวดเร็ว แท้ที่จริงแล้วการเร่งเครื่องยิ่งทำให้เครื่องยนต์ต้องทำงานหนักขึ้น และตามมาด้วยความร้อนที่จะเพิ่มสูงขึ้นในห้องเครื่อง เมื่อเครื่องมีความร้อนสูง ใบพัดระบายความร้อน หรือพวกพัดลมไฟฟ้าก็จะทำงาน สิ่งที่จะตามมาเมื่อระดับน้ำมีความสูง 30-40 เซนติเมตร มันจะโดนพัดลมไฟฟ้าปั่นเข้าสู่ฝาสูบ จานจ่าย คอยล์จุดระเบิด มอเตอร์สตาร์ต ไดชาร์จ หม้อกรองอากาศ จนถึงขั้นเครื่องยนต์ดับได้เลยทีเดียว ถ้าน้ำสูงเกิน 30 เซนติเมตร รถเล็ก รถเตี้ย ถ้าแล่นผ่านก็จบเห่ ส่วนกระบะยกสูงที่ไม่ต้องกังวลเมื่อขับลุยน้ำ สามารถลุยได้ 70-80 เซนติเมตร หากมากกว่านั้นก็เสี่ยงต่ออาการเครื่องดับได้เหมือนกัน ที่น้ำสูงในระดับนั้น น้ำจะซึมเข้ามาในรถ บริเวณพื้นรถอย่างแน่นอน ถ้าไม่อยากตากพรมก็ควรจะหาเส้นทางใหม่ หรือมั่นใจว่าไปรอด ความมั่นใจที่มากเกินไปก็ทำให้ไปดับกลางน้ำกันมามากต่อมากแล้วล่ะครับ

ปิดระบบปรับอากาศภายในห้องโดยสารทั้งหมด เปิดกระจกทุกบาน (ต้องระวังพวกขับเร็วที่อาจทำให้น้ำกระเด็นเข้ารถ) การขับรถลุยน้ำท่วมขังแล้วเปิดเครื่องปรับอากาศ อาจทำให้เครื่องยนต์ดับจากสาเหตุของพัดลมไฟฟ้าซึ่งจะทำงานทันทีที่เซนเซอร์คอมแอร์ทำงานแล้ววิดเอาน้ำท่วมขังเข้ามาในห้องเครื่องยนต์ หากเครื่องไม่ดับ ใบพัดของพัดลมไฟฟ้าที่ยังคงหมุนทำงานด้วยรอบความเร็วอาจฟันเข้าไปกับเศษขยะ กิ่งไม้ เศษแผ่นไม้ ถุงพลาสติก ฯลฯ ที่ลอยตามน้ำมา วัตถุเหล่านี้มีโอกาสที่จะเข้ามาในห้องเครื่องแล้วโดนใบพัดตัดฟันจนใบพัด ซึ่งส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก อาจทำให้ใบพัดลมหัก หากใบพัดในระบบระบายความร้อนแตกหักเสียหาย สิ่งที่ตามมาคือปัญหาในเรื่องความร้อนของเครื่องยนต์ที่จะพุ่งสูงขึ้นทันทีจนไม่สามารถขับขี่ต่อไปได้

กระจกที่เปิดออกทุกบานอาจช่วยคุณในกรณีที่อาจมีกระแสน้ำที่ไหลอย่างรุนแรงเข้ามาแบบกะทันหันทันทีทันใด ในกรณีที่ขับเข้าไปยังพื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูงและกระแสน้ำไหลเชี่ยว จนอาจพัดเอารถยนต์ตกข้างทาง หรือไหลไปกับกระแสน้ำ ซึ่งกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก เขื่อนหรือทำนบกั้นน้ำแตก แล้วน้ำปริมาณมหาศาลไหลตัดขวางถนน กระจกที่เปิดออกจะช่วยให้คุณสามารถหนีออกจากตัวรถได้โดยไม่จมไปพร้อมกันกับพาหนะที่ขับขี่ หรือโดยสารมา

สายลากจูงนิรภัย เสื้อชูชีพ สเปรย์ไล่ความชื้น ไฟฉาย สายลากรถแบบผ้าใบที่แข็งแรง น้ำจืด โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่สำรอง วิทยุติดต่อ ถุงกันน้ำ อาหารแห้ง เข็มทิศ ถังเชื้อเพลิงสำรอง นกหวีด ไฟแช็ก หรือเสื้อชูชีพ พลุสัญญาณ แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือสำรอง ร่ม เสื้อกันฝน รองเท้ายางกันน้ำแบบบูต และวิทยุทรานซิสเตอร์ใส่ถ่านพร้อมถ่านสำรอง หากต้องขับลุยฝ่าน้ำท่วมในพื้นที่ปิด เพื่อให้ความช่วยเหลือกับคนที่กำลังเดือดร้อน เช่น พื้นที่ประสบภับพิบัติน้ำท่วม พื้นที่ป่าเขาที่กำลังเกิดสภาวะฝนตกหนัก

ท่อไอเสียของเครื่องยนต์แบบดีเซลจมน้ำอาจไม่เป็นไร แต่ท่อไอเสียของเครื่องเบนซินท่อต้องพ้นน้ำอยู่เสมอเนื่องจากแรงดันปลายท่อจะน้อยกว่าเครื่องยนต์ดีเซล เมื่อแรงดันไม่พอ น้ำอาจเข้าไปที่ปลายท่อไอเสียต่อ หรือยกท่อไอดีด้านหน้าและท่อระบายไอเสียด้านหลังสำหรับรถปิกอัพยกสูงที่ต้องวิ่งลุยน้ำท่วมในระดับสูงเกิน 1 เมตร สำหรับรถยนต์บางคัน เฟืองท้ายจะมีรูระบายอากาศต้องต่อท่อยางให้พ้นน้ำ.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ไม่อยากโดนด่า ขับให้ช้าเข้าไว้!! ขับลุยน้ำท่วม ทำไมต้องช้า

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด