น้ำมันเครื่อง ของสำคัญปกป้องหล่อเลี้ยงหัวใจรถคุณ
สังเคราะห์-กึ่งสังเคราะห์ ดูยังไงเลือกยังไงให้เหมาะกับรถยนต์ของคุณ
สัปดาห์นี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องน้ำมันเครื่องกันบ้าง เนื่องจากน้าฉ่าง อาคม รวมสุวรรณ แกบอกว่า อยากให้ผมเขียนเล่าเรื่องน้ำมันเครื่องผ่านประสบการณ์ของตัวเองบ้าง ต้องบอกก่อนว่า ผมเขียนในฐานะของลูกค้าผู้ใช้และสังเกตนะครับ ดังนั้นถ้าจะให้ผมเขียนลึกถึงขนาดที่ว่าน้ำมันเครื่องมีส่วนประกอบมาจากอะไร ชื่อสารเคมีอะไร คงไม่ขอแตะในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ถนัด เอาเป็นว่า ถ้าคุณรู้ว่า PAO ที่เขาเรียกกันในวงการน้ำมัน ไม่ได้ย่อมาจากผงซักฟอกยอดนิยมยุค 90s บทความนี้อาจจะไม่ได้ให้ประโยชน์กับคุณเท่าไหร่ ผมดักทางไว้ก่อนเลยจะได้ไม่เสียเวลา
สำหรับคนที่ใช้รถป้ายแดงและยังอยู่ในระยะรับประกันคุณภาพ มีส่วนที่คุณจะต้องชั่งใจ เพราะในปัจจุบันศูนย์บริการน้อยแห่งมากครับที่จะยอมให้คุณหิ้วน้ำมันเครื่องที่คุณซื้อเองเข้าไปเปลี่ยนถ่าย มันมีหลายเหตุผลครับ หนึ่งในนั้นก็คือ ทางศูนย์ฯ ไม่สามารถทราบได้เลยว่าน้ำมันที่คุณเอามานั้นของจริงหรือของปลอม ถ้าเจอน้ำมันปลอมแล้วเกิดความเสียหายกับเครื่องยนต์ ลูกค้าไม่มีวันโทษตัวเองอยู่แล้ว กรณีนี้มันว่ากันไม่ได้ เพราะทุกคนย่อมมีสิทธิ์ปกป้องตัวเองจากความเสียหายที่เขาไม่ได้ก่อ ถูกไหมครับ? แต่เหตุผลเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ก็ต้องมีอยู่แล้วล่ะ เพราะงานที่ศูนย์ก็เป็นหนึ่งในการสร้างรายได้ที่อยู่รอดสำหรับศูนย์บริการและบริษัทรถยนต์เอง ดังนั้นสำหรับคนที่อยากใช้น้ำมันเครื่องนอกศูนย์บริการ คุณต้องเลือกล่ะครับว่าจะปกป้องรถตามความรู้ของคุณเอง หรือเสียโอกาสในการรับสิทธิ์ในประกันคุณภาพรถยนต์
ผมมีเพื่อนที่รักรถมาก และไม่เชื่อในคุณภาพน้ำมันของศูนย์บริการ คุณรู้ไหมมันทำยังไง? เอารถเข้าเปลี่ยนถ่ายเช็กระยะตามปกติโดยเลือกน้ำมันที่ถูกที่สุดที่จะไม่แหกเงื่อนไขประกัน เพื่อให้มีบันทึกการรับบริการตรงตามกำหนด ไม่เสียประกัน แต่พอมันขับออกจากศูนย์ปุ๊บก็เลี้ยวเข้าอู่ที่สนิทกัน เปลี่ยนเป็นน้ำมันเกรดดี แต่คุณต้องเข้าใจนะว่าไอ้นี่มันรวย วิธีของมันอาจไม่ใช่ทางออกของทุกคน
แต่คุณจะเข้าใจว่าทำไมมันทำอย่างนั้น...น้ำมันเครื่องในศูนย์บริการส่วนใหญ่น่ะ ไม่ใช่น้ำมันที่ดีที่สุดหรือเหมาะที่สุดกับรถที่คุณใช้อยู่เสมอไป ในปัจจุบันการแข่งขันด้านยอดขายทำให้บริษัทรถต้องพยายามโชว์ตัวเลขค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่ต่ำ ซึ่งมันจะมาในวิธีทั้งการกดราคาน้ำมันให้ถูก หรือไม่ก็ใช้น้ำมันดีหน่อย แต่แจ้งระยะเปลี่ยนถ่าย 15,000 กิโลเมตรหรือมากกว่านั้น พอรวมค่าบำรุงรักษา 5 ปีออกมา ตัวเลขมันก็น้อย ดังนั้นเมื่อค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องสำคัญ การจะให้ลูกค้าใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ลิตรละพันบาท เจ้าของรถน่าจะไปยี่ห้ออื่น ของที่บริษัทรถเลือกมาใส่ จึงต้องสามารถเติมแล้วรถใช้งานในสภาวะปกติ (หรือเกินปกติหน่อยๆ) แล้วอยู่พ้นระยะรับประกันไปได้ นี่คือมาตรฐานขั้นต่ำนะครับ บางบริษัทอาจมองระยะยาวว่าใส่แล้วเครื่องต้องอยู่ทนด้วยเพื่อรักษาเกียรติภูมิเรื่องความทนทาน อันนี้ผมตอบไม่ได้จริงๆ เพราะไม่ได้ติดเครื่องดักฟังไว้ใต้โต๊ะผู้บริหาร
ทีนี้หากคุณคิดว่าใช้น้ำมันเครื่องของศูนย์แล้วพอ คุณจะมีทางเลือกประมาณ 2-3 อย่าง สมมติว่าเราพูดถึงรถระดับชนชั้นกลางเอื้อมถึงนะ ไม่ใช่พวกซุปเปอร์คาร์ ก็จะมีน้ำมันเครื่องแบบธรรมดา ซึ่งสกัดมาจากผีพืชผีไดโนเสาร์ที่ทับถมกันเป็นล้านปีกลายเป็นน้ำมันปิโตรเลียมที่ดูดขึ้นมาใช้ แล้วก็น้ำมันเครื่องแบบสังเคราะห์ ซึ่งเกิดมาจากกระบวนการทางเคมี ส่วนอย่างที่สามก็คือน้ำมันกึ่งสังเคราะห์ เกิดจากการผสมน้ำมันสองแบบเข้าด้วยกัน อัตราส่วนน้ำมันสังเคราะห์อาจจะมีราว 15-40% แล้วแต่ความใจดีของผู้ขาย น้ำมันสังเคราะห์มักจะมีเขียนว่า Fully Synthetic, Full Synthetic หรือ 100% Synthetic บนแกลลอน ส่วนคำว่า Synthetic-blend ไอ้เจ้านั่นไม่ใช่สังเคราะห์ครับ แต่เป็นกึ่งสังเคราะห์
ต่อมา ถ้าคุณพิจารณาแกลลอนน้ำมันเครื่องดู จะมีอักษรอยู่อีก เช่น API SN, API CK-4 เป็นต้น API คือตัวย่อของสถาบันปิโตรเลียมอเมริกา และอักษร 2-3 ตัวที่ตามมาเป็นตัวบ่งบอกมาตรฐานของน้ำมันเครื่อง พวกที่นำหน้าด้วยตัว S คือมาตรฐานเทียบวัดสำหรับรถเครื่องเบนซิน และ C ก็คือของเครื่องยนต์ดีเซล ตัวอักษรที่ตามหลังมานั้น ยิ่งใกล้ Z เท่าไหร่ แปลว่ามาตรฐานยิ่งดีขึ้น เช่นถ้าเห็นขวดนึง API SN อีกขวด API SP และทั้งสองขวดเป็นน้ำมันที่มีเกรดราคาและสมรรถนะใกล้เคียงกัน SP ย่อมดีกว่า เช่นเดียวกับของดีเซล ถ้าเจอ API CI-4 กับ API CK-4 ไอ้อย่างหลังย่อมดีกว่า
ดีกว่ากันยังไง? ก็เป็นการเสริมคุณภาพน้ำมันให้เหมาะกับเครื่องยนต์ยุคใหม่ เช่น มีแรงเสียดทานต่ำลง ส่งผลให้ประหยัดน้ำมันขึ้น รองรับเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเอธานอล (เช่น E20 หรือ E85 ได้ดีขึ้น) มีการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนน้อยลง เป็นต้น เครื่องยุคเก่าใช้น้ำมัน API มาตรฐานใหม่ขึ้นก็มีแต่จะดีต่อเครื่องยนต์ครับ ไม่มีข้อเสียอันใด ในปัจจุบันมาตรฐานน้ำมันเครื่องเบนซินไปถึง API SP แล้ว แต่ SN ก็ยังถือว่ายอมรับได้สำหรับรถรุ่นที่เกิดมาบนโลกก่อนปี 2020 ส่วนมาตรฐานของดีเซลตอนนี้คือ CK-4 ถ้าจำไม่ผิด และถ้ารถคุณเป็นรุ่นที่คลอดก่อนปี 2016 ก็อาจจะพอใช้ CI-4 ได้ แต่เชื่อผมเถอะ ใหม่กว่าคือดีกว่า
นอกจากนั้นคุณยังจะเจอเลขชุดคล้ายจะใบ้ลอตเตอรี่แต่ไม่ใช่..ตัวอย่างเช่น 0W-20, 0W-30, 15W-40 ซึ่งถ้าคุณเหงามากจะเอาเลขท้ายสองตัวไปซื้อหวยก็ไม่ว่ากัน แต่ที่จริงมันคือความข้น/หนืดในการไหลของน้ำมันเครื่องที่วัดในอุณหภูมิต่างกัน ตัวเลขมากกว่า หมายถึงน้ำมันจะมีความข้นมากกว่า ตัวเลขที่อยู่ก่อน W จะบ่งบอกความสามารถในการไหลที่อุณหภูมิต่ำมากๆ ส่วนเลขสองตัวหลังวัดที่ 100 องศาเซลเซียส สมัยก่อนผมจะเชื่อง่ายๆ ว่า เมืองไทยเมืองร้อน เราดูแค่เลขสองตัวหลังก็พอ แต่อันที่จริงประเทศไทยหน้าหนาวตามดอยก็หนาวระดับเลขตัวเดียวได้ ดังนั้นถ้าเป็นรถที่ใช้ในเขตหนาวสลับร้อน คุณเลือกน้ำมันเครื่องที่ขึ้นต้นด้วย 0W, 5W หรือ 10W มันก็จะสามารถไหลทันต่อการปกป้องเครื่องตอนสตาร์ตเช้าๆ ได้ดีกว่า มีความเหมาะสมสำหรับคนที่ต้องใช้รถในเขตหนาวต่อเนื่องกันหลายวัน ส่วนคนที่นานๆ ชาตินึงเอารถไปเที่ยวดอยทีนึง เช่นปีละสองครั้ง น้ำมัน 20W มันรองรับได้ถ้าอุณหภูมิยังไม่ติดลบครับ
ส่วนความหนืดสองตัวหลังดูยังไง? 40 ก็หนืดกว่า 16 อยู่แล้วเป็นของตาย แต่อะไรคือส่วนที่บอกว่าเราควรใช้น้ำมันหนืดเบอร์ไหน? ถ้าคุณเปิดคู่มือรถดูใน Section ของเหลว จะมีการอธิบายไว้หมดว่ารถรุ่นที่คุณขับใช้น้ำมันอะไรได้บ้าง สมัยนี้อีโคคาร์บางเจ้าใช้น้ำมันหนืดแค่ 16 หรือ 20 รถกระบะที่ศูนย์มักให้ใช้หนืด 30 แต่โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ทำตามนั้นเสมอไป วิธีเลือกน้ำมันเครื่อง ควรเป็นไปตาม “ความร้อน” ในการใช้งาน ซึ่งมันอาจจะร้อนจากทั้งสภาพแวดล้อมรอบด้าน หรือร้อนจากการลากรอบเรียกพลัง ยิ่งร้อนมากเท่าไหร่ น้ำมันที่หนืดกว่าจะสามารถคงแรงดันน้ำมันภายใต้การทารุณกรรมได้ดีกว่า
อย่างน้ำมันเครื่องอีโคคาร์หนืด 20 นั้น ในชีวิตผมจะเก็บไว้ให้ใช้ในรถคันอื่นในบ้านที่ไม่ใช่เท้าผมขับ อย่างเช่นรถพี่สาวผมซึ่งแกขับรถเหมือนคนปกติ และส่วนมากไม่ได้วิ่งรถทั้งวัน คันเร่งไม่โหด ผมก็ให้เติม 20 แล้วก็เติมด้วยเหตุผลเพราะว่าน้ำมันสังเคราะห์ของทางศูนย์มีแค่หนืด 16 กับ 20 เท่านั้น ส่วนรถของผมเอง คันไหนขับโหดไม่มาก ผมเลือกน้ำมันหนืด 30 คันไหนใช้ขับโหดหน่อย ผมขยับไปเบอร์ 40
การขยับความหนืดนิดหน่อยไม่ทำให้เครื่องยนต์พังหรอกครับ สมมติว่าอีโคคาร์ใช้หนืด 20 คุณไปเติมหนืด 30 หรือรถกระบะดีเซลโรงงานใช้เบอร์ 30 เปลี่ยนไปเติมเบอร์ 40 แบบนี้ไม่มีปัญหา ผมไม่เคยเจอรถที่เติมน้ำมันความหนืด +10 จากโรงงานแล้วเครื่องพังเลยครับตลอดเวลาที่เล่นรถมา 24 ปี
แต่สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้ ก็มีนะ และพบในรถบางคัน อย่าง Nissan เครื่องบล็อก HR เมื่อเติมน้ำมัน 40 ผมได้อัตราเร่งแซงช้าลงเมื่อเทียบกับหนืด 30 ทำไมรู้? ก็เป็นนิสัยที่ผมชอบจับ อัด วัด จด รถคันนี้มา 14 ปีเวลาปรับเปลี่ยนอะไรสักอย่างในรถนั่นแหละครับ รวมถึงรถผมมีการติดตั้งเกจ์ที่วัดอุณหภูมิน้ำมันเครื่องและแรงดันน้ำมันเครื่องด้วย จึงบอกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ดังนั้นสำหรับรถคันนี้ เวลาใช้งานบนถนน ผมมักจะเติม 30 แต่พอรู้ว่าวันไหนจะไปวิ่งเล่นกับเพื่อนในสนาม ผมจะเตรียมเติม 40 ไว้ล่วงหน้า ทำไมลงสนามแล้วเลือกน้ำมันที่ส่งผลให้รถทำอัตราเร่งได้ช้ากว่า? อ๋อ ก็พอดี เวลาวิ่งอัดโหดๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ ความอยู่รอดของเครื่อง อุณหภูมิ และแรงดันที่เสถียร มันทำให้เครื่องทนอยู่ได้นานกว่าไงครับ
จากที่อธิบายมา คุณอย่าเพิ่งเข้าใจว่า อ๋อ น้ำมันยิ่งหนืด รถยิ่งอืด เปล่าเลย ในรถบางรุ่น การทำงานของกลไกต่างๆ ในเครื่องยนต์ก็พึ่งพาการอ่านค่าแรงดันน้ำมันเครื่องครับ พอเติมน้ำมันเครื่องที่หนืดกว่า ระบบบางส่วนอาจทำงานคลาดเคลื่อนไปจากเดิม มันไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องหนืดมากหรือน้อย เราต้องแยกให้ออกระหว่างความหนืด กับความลื่น น้ำมันเกรดมอเตอร์สปอร์ตบางตัวหนืด 50 หรือ 60 แต่เครื่องหมุนได้ลื่นปรื๊ดก็มี ทำทีมแข่งทั้งทีใครจะอยากใช้น้ำมันฝืดๆ ครับ มันก็ต้องเลือกน้ำมันที่ลื่นทั้งนั้น แต่การเลือกความหนืดสูง เพราะเครื่องพวกนี้ต้องทนอุณหภูมิสูงกว่ารถใช้งานทั่วไปมาก และต้องทนแบบต่อเนื่อง Endurance Race บางทีอัดรถต่อเนื่องกันเกินชั่วโมง หรือหลายชั่วโมง จึงจำเป็นต้องใช้ของแบบนี้
ส่วนความเชื่อที่ว่า ใช้น้ำมันเครื่องราคาถูกๆ แบบธรรมดาแล้วเปลี่ยนถ่ายทุก 5,000 กิโลเมตร ดีกว่าการใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แล้วเปลี่ยนถ่ายที่ 10,000 กิโลเมตรนั้นจริงแค่ไหน ก็อาจจะจริงสำหรับคนที่ขับรถแบบปกติ เข็มวัดรอบแทบไม่เคยตวัดขึ้นแตะขีดแดง หรือถ้าแตะก็นานๆ ครั้ง แต่สำหรับคนเท้าหนัก คุณต้องคิดนิดนึงนะครับว่าน้ำมันผีพืชผีไดโนเสาร์ส่วนมากราคาถูก เพราะมันไม่ได้ทำมาเผื่อการลากรอบ การใช้งานที่โหด ต่อให้เป็นน้ำมันใหม่สด ช่วงที่คุณอัดรถจนเกินขีดความสามารถน้ำมันรับไหว นั่นคือจุดที่เครื่องมันจะเสื่อมไว ผมถึงมักบอกว่าถ้ารู้ตัวว่าเท้าหนัก ใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์เถอะ มันรองรับงานวันมามากได้ดีกว่า
เว้นแต่ว่าคุณมีความจำกัดด้านงบประมาณจริงๆ และมั่นใจว่าขับรถเท้าไม่หนักจริง น้ำมันเครื่องพวกกึ่งสังเคราะห์ก็ใช้ได้ และเปลี่ยนถ่ายที่ 10,000 กิโลเมตรได้ครับ ผมลองในรถคันเก่าของพ่ออยู่ 100,000 กิโลเมตรผ่านไป เสียงเครื่องไม่ดังขึ้น กำลังอัดไม่เปลี่ยน แต่พ่อผมแกไม่ได้เท้าหนักเท่าผม สังเกตดูว่าผมไม่เคยใช้น้ำมันเครื่องเกิน 10,000 กิโลเมตรนะครับไม่ว่าจะคันไหน แม้ว่าปัจจุบันนี้บางบริษัทรถให้ใช้น้ำมันเครื่องได้ 15,000 กิโลเมตรแล้วค่อยถ่าย แต่ประเทศไทยนั้นร้อนมาก ชื้นมาก โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน ความชื้นก็มีส่วนทำให้น้ำมันเสื่อมสภาพได้ สำหรับผมที่ชอบลากรอบแต่ดันไม่อยากให้เครื่องพัง 10,000 กิโลเมตรปุ๊บ ผมถ่ายทิ้งครับ แล้วก็ไม่ได้ถ่ายด้วยความเชื่อว่าน้ำมันเสื่อม แต่ถ่ายเพราะดูจากมาตรวัดในรถแล้ว แรงดันน้ำมันเครื่องลดลงกว่าสมัยน้ำมันใหม่ๆ ชัดเจน เวลาซัดหนักๆ แล้วอุณหภูมิน้ำมันขึ้นเร็ว และลดช้าลงกว่าเดิมชัดเจน
แต่ แต่ แต่..สำหรับน้ำมันเครื่องสังเคราะห์เกรดสูงสำหรับรถวิ่งสนามนั้น คุณต้องหาข้อมูลนิดนึงนะครับว่าเขาทำให้ใช้ได้กี่กิโลเมตร น้ำมันบางตัวที่ผมใช้ เป็นสังเคราะห์ด้วย และราคาโคตรแพง แต่ผู้ผลิตน้ำมันเองก็บอกว่า 5,000 กิโลเมตรให้ถ่ายทิ้งนะ เพราะตัวน้ำมันออกแบบมาให้รับงานโหดมากกว่าปกติ มันจึงอายุสั้น บางคนอาจจะบอกว่า อ๋อ จะไปยากอะไร ก็เอาน้ำมันสังเคราะห์หมื่นโลมาใช้ในรถแข่งแทน..ครับ! ไม่ต้องถึงห้าพันโลเดี๋ยวควันขาวมาเยือนแน่นอน
โดยสรุป การเลือกน้ำมันเครื่องแบบเบื้องต้น ข้อแรก API ใหม่กว่า ย่อมดีกว่า ข้อสอง การเลือกความหนืด ให้ดูความร้อนที่รถต้องเจอ ดูจากความโหดในสไตล์การขับที่รถต้องพบ ถ้าไม่แน่ใจจริงๆ ก็ใช้น้ำมันหนืด 30-40 ไว้ก่อนครับ ข้อสาม ความหนืดของน้ำมันเครื่อง กับความลื่น เป็นคนละเรื่องกัน ข้อสี่ ถ้างบประมาณไหว เลือกน้ำมันสังเคราะห์ไว้ก่อน ได้เปรียบในการบำรุงตัวเครื่องในระยะยาวครับ คุณอาจจะเชื่อว่าน้ำมันใหม่สดย่อมดีกว่าเสมอ สิ่งนี้จะจริงถ้าคุณเทียบน้ำมันแบบเดียวกันครับ ถ้าข้ามเอาน้ำมันเครื่องแบบธรรมดาๆ กับน้ำมันสังเคราะห์ ผมว่าไม่ใช่แล้วล่ะ
ถ้าคุณได้ไปฟังใครแนะนำน้ำมันเครื่องตัวไหนมา จะเชื่อหรือไม่เชื่อ
อย่างน้อยก็ลองสอบถามหน่อยครับว่า วิธีวัดประสิทธิภาพน้ำมันเครื่อง
ใช้อะไรวัด ถ้าบอกว่าใช้ความรู้สึกล้วนๆ
ผมว่าความน่าเชื่อถือจะน้อยกว่าคนที่เคยไปขุดผลทดสอบน้ำมันใช้แล้วจาก
Lab มาถกกันตามเหตุผล
และน้อยกว่าคนที่รถมีมาตรวัดอุณหภูมิน้ำมันเครื่อง
แรงดันน้ำมันเครื่องที่เชื่อถือได้ครับ
คนธรรมดาอย่างเราอาจพิสูจน์น้ำมันเครื่องไม่ได้ทุกมิติ
แต่ยิ่งมีข้อมูลสนับสนุนมาก ก็ดีกว่าใช้แค่ความเชื่อล้วนๆ ครับ.
Pan Paitoonpong
คุณกำลังดู: น้ำมันเครื่อง ของสำคัญปกป้องหล่อเลี้ยงหัวใจรถคุณ
หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์