นันยางเผยวัยรุ่นไทยเผชิญภาวะคิดมาก จมจ่อมกับอารมณ์ทางลบ
นันยาง แบรนด์ใหญ่ที่ใส่ใจและสร้างแคมเปญสื่อสารกับวัยรุ่นมาอย่างยาวนาน ได้ทำแคมเปญ ด้วยมุมมองใหม่ชวนวัยรุ่นหันมาใจดีกับตัวเอง* มากขึ้น ผ่านแบบสอบถามทางจิตวิทยาชวนสำรวจระดับความใจดีกับตัวเอง** จับมือสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์บริการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและสุขภาพจิต Master Peace และ Glow Story ออกแบบแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรให้คนได้เข้ามาสำรวจใจตัวเองผ่านเว็บไซต์ nanyangpordee.com โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 100,000 รายตลอดปี 2567 ซึ่งถือเป็นจำนวนตัวเลขที่สูงเป็นประวัติการณ์ มีผู้ที่ตอบแบบสำรวจครบถ้วนกว่าครึ่งเป็นเยาวชนวัย 12-18 ปี และมีวัยรุ่นหญิงเป็นสัดส่วนหลักถึง 70% สะท้อนว่าอาจเป็นกลุ่มที่สนใจการดูแลตัวเองเป็นพิเศษ และจากการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติพบ 3 ประเด็นที่น่าหันมาสนใจเกี่ยวกับจิตใจของกลุ่มวัยรุ่นไทย ดังนี้
- ภาพรวมความใจดีกับตัวเองของวัยรุ่นไทย
- เจาะลึกความเครียดความกดดันของวัยรุ่น
- แนวทางการช่วยให้วัยรุ่นหันกลับมาใจดีกับตัวเอง
โดยรายงานฉบับนี้เป็นเพียงหนึ่งในเสียงสะท้อนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตนเอง เพื่อน ผู้ปกครอง โรงเรียน และสังคม ร่วมกันเดินหน้ายอมรับธรรมชาติของวัยรุ่น พร้อมสนับสนุนให้วัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงก่อร่างตัวตน และมีแนวโน้มจะประเมินตัดสินตัวเอง ได้เผชิญการเปลี่ยนผ่านอย่างเข้าอกเข้าใจและอ่อนโยน เพราะความใจดีกับตัวเองเป็นประเด็นสำคัญสำหรับวัยรุ่นทุกคน
*‘ความใจดีกับตัวเอง’ เป็นคำที่ใช้แทนเพื่อสื่อสารถึงตัวแปรทางจิตวิทยาความเมตตากรุณาต่อตนเอง (Self-Compassion)
** สำรวจผ่านแบบประเมินความเห็นอกเห็นใจต่อตนเองสำหรับวัยรุ่น
- Self-compassion Scale for Youth - Thai Version
ของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว
มหาวิทยาลัยมหิดล
1.ภาพรวมความใจดีกับตัวเองของวัยรุ่นไทย
ภาวะที่ส่งผลต่อความใจดีกับตัวเอง ได้แก่
- การตัดสินตัวเอง (Self-Judgment)
- การรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยกจากผู้อื่น (Isolation)
- ภาวะจมจ่อมกับอารมณ์ทางลบ (Overidentification)
ผลการสำรวจพบว่าระดับความใจดีกับตัวเองของวัยรุ่นไทยพบว่า
- มีความใจดีกับตัวเอง ระดับปานกลาง มีมากถึงร้อยละ 71
- มีความใจดีกับตัวเอง ระดับต่ำ อยู่ที่ร้อยละ 5
- มีความใจดีกับตัวเอง ระดับสูง อยู่ที่ร้อยละ 5
กล่าวคือเมื่อต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ลำบากหรือเผชิญความท้าทาย ผู้ที่มีระดับความใจดีกับตัวเองในระดับปานกลางและต่ำ มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดภาวะจมจ่อมกับอารมณ์ทางลบ (Overidentification) เมื่อเทียบกับอีกสองภาวะข้างต้น ซึ่งจะตอกย้ำตัวเองจนอาจรู้สึกแย่ลงไปกว่าเดิม
2.เจาะลึกความเครียดความกดดันของวัยรุ่น
การสำรวจในครั้งนี้พบว่าภาวะจมจ่อมกับอารมณ์ทางลบ (Overidentification) เป็นภาวะปัญหาที่มีระดับสูงที่สุดในวัยรุ่น ต้นตอปัญหาเกิดจากการที่ไม่สามารถปล่อยวางความคิดทางลบลงได้ มีช่วงเวลาคิดมาก คิดวนเวียน คิดไม่สมเหตุสมผล จนกระตุ้นให้รับรู้สิ่งต่างๆ ไม่ตรงตามความจริงและรู้สึกแย่ลงกว่าเดิมเมื่อมีสถานการณ์เข้ามาปะทะ เช่น สอบตก อกหัก กังวลใจเรื่องครอบครัว จนเกิดความรู้สึกทางลบต่อตนเองขึ้นมา เช่น ผิดหวังกับตัวเอง รู้สึกไร้ค่า ไม่ได้รับความสำคัญ กลัวสิ่งที่จะตามมาในอนาคต
จมอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเวลานาน ไม่รู้เท่าทันว่ากำลังรู้สึกอย่างไร ยากที่จะรับรู้สถานการณ์อย่างเป็นกลาง โดยความเครียดในวัยรุ่นนี้ย่อมมีผลกระทบมาจากสังคมรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ รวมถึงบรรทัดฐานและความคาดหวังจากสังคม
นอกจากนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นชาย แม้จะรับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเพื่อนและสังคม ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว แต่ก็มีแนวโน้มที่จะไม่อนุญาตให้ตัวเองทำผิดพลาด และพยายามที่จะคงความสมบูรณ์แบบไว้ ความรู้สึกนี้อาจเป็นต้นตอของความเครียดสะสมและส่งผลกระทบในระยะยาวได้ สาเหตุที่วัยรุ่นชายยอมรับในความผิดพลาดได้ยากนั้น อาจมาจากแรงกดดันของบรรทัดฐานความเป็นชายจากสังคมจนรู้สึกว่าผิดพลาดหรืออ่อนแอไม่ได้ ในขณะที่กลุ่ม LGBTQ+ ที่มีระดับความใจดีต่อตัวเองน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับเพศอื่น อาจเกิดจากความเครียดที่มาจากความรู้สึกไม่ได้รับการยอมรับในตัวตน
วิธีสำรวจเบื้องต้นว่ามีความรู้สึกหรือพฤติกรรมที่สะท้อนการกดดันตัวเอง ได้แก่
- การต่อว่า หรือตำหนิตัวเองบ่อยๆ ด้วยถ้อยคำที่ใจร้าย
- การตัดสินหรือวิจารณ์ตัวเองอยู่เสมอ
- รู้สึกแปลกแยกและรู้สึกว่าต้องเผชิญสิ่งต่างๆ เพียงลำพัง
- คิดว่าสิ่งร้ายเกิดขึ้นกับเราคนเดียวเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้สนใจยังสามารถทำแบบสำรวจความใจดีให้ตัวเอง พร้อมรับคำแนะนำที่นำไปปรับใช้ได้เมื่อตัวเองหรือคนรอบข้างเผชิญกับการกดดันตัวเอง ทางเว็บไซต์ nanyangpordee.com ได้อย่างต่อเนื่อง
3.แนวทางการช่วยให้วัยรุ่นหันกลับมาใจดีกับตัวเอง
การสนับสนุนโดยตัวเอง
ถามตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่า “ช่วงนี้รู้สึกยังไงบ้าง?” เหมือนเราเป็นเพื่อนสนิทของตัวเองที่ใส่ใจกัน ค่อยๆ ระบุความรู้สึกให้ชัดเจน รับรู้ที่มาของความรู้สึกนั้น และไม่ตัดสินหรือตำหนิตัวเอง มองว่าเราเป็นคนธรรมดาที่ผิดพลาดได้ ไม่โทษตัวเอง แต่เปลี่ยนมาเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้เรียนรู้ที่จะเติบโตอย่างไม่กดดันตัวเอง ปรับวิธีการปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความอ่อนโยนและใจดีกับตัวเอง
การสนับสนุนจากเพื่อน
เพื่อนคือคนสำคัญของช่วงชีวิตวัยรุ่นที่สามารถช่วยดูแลสุขภาพจิตกันและกันได้ กระบวนการเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Support) แบ่งปันปัญหาที่ประสบ จุดที่รู้สึกผิดหวังในตัวเอง มีการรับฟังกันและกัน เพื่อรู้สึกเชื่อมโยงและชดเชยความรู้สึกกดดันที่ได้รับจากสังคม จนทำให้ไม่กล้าบอกเล่าถึงปัญหาและต้องเก็บไว้ภายในคนเดียว ไม่ได้มีแต่เราคนเดียวที่ผิดพลาด แต่พวกเราอยู่ซัพพอร์ตกันและกันได้อย่างเข้าใจ
การสนับสนุนจากผู้ปกครองและสังคม
ผู้ปกครองและสังคมมีส่วนช่วยเหลือวัยรุ่นได้ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ไม่ตัดสินเด็กรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นสมัยนี้ว่าชอบ ‘ดราม่า’ หรือ ‘คิดมาก’ เพราะจะยิ่งตอกย้ำการตำหนิตัดสินตัวเองของวัยรุ่น สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุย ถามความคิดความรู้สึก เน้นรับฟังอย่างเป็นกลาง แนะนำบนพื้นฐานความพร้อมทางจิตใจ ไม่เผลอสั่งสอนก่อนได้ยินเสียงความทุกข์ของเขาและอยู่เคียงข้างในวันที่ไม่เป็นอย่างหวัง
คุณกำลังดู: นันยางเผยวัยรุ่นไทยเผชิญภาวะคิดมาก จมจ่อมกับอารมณ์ทางลบ
หมวดหมู่: ผู้ชาย