"นอนหลับตาปิดไม่สนิท" เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
อาการนอนหลับตาปิดไม่สนิท เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ถึงแม้จะไม่มีอันตรายที่รุนแรง แต่ก็สามารถก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับสุขภาพดวงตาได้
คุณผู้อ่านเคยสังเกตตัวเอง หรือมีคนใกล้ตัวบอกบ้างหรือเปล่าว่า เวลาที่นอนหลับคุณผู้อ่านมี อาการนอนตาปิดไม่สนิท ซึ่งปัญหานี้ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้กับหลาย ๆ คน แม้แต่คนใกล้ตัวของเราก็อาจจะประสบกับปัญหานี้อยู่ก็เป็นได้ แต่อาการนอนหลับตาปิดไม่สนิทเกิดจากอะไร และมีวิธีรับมือหรือไม่ Hello คุณหมอ มีข้อมูลที่น่าสนใจของอาการ นอนหลับตาปิดไม่สนิท มาฝาก
นอนหลับตาปิดไม่สนิท คืออะไร?
เมื่อพูดถึงอาการนอนหลับแต่ตาปิดไม่สนิท หลายคนอาจจะเข้าใจว่าเป็นการนอนแบบตาไม่หลับ นอนแล้วแต่ตายังลืมอยู่ ซึ่งในความเป็นจริงก็คือ เวลานอนจะมีการหลับตาตามปกติ เพียงแต่เปลือกตาไม่สามารถปิดได้สนิทเท่านั้นเอง โดยอาการนอนลืมตาเช่นนี้ไม่ควรวางใจ เพราะถึงแม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายที่ร้ายแรง แต่ อาการนอนตาปิดไม่สนิท สามารถก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพดวงตา เช่น อาการตาแห้ง เสี่ยงที่ฝุ่นละอองจะเข้าตา เกิดอาการระคายเคืองที่ดวงตา เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ดวงตา อาจเกิดการขีดข่วนที่กระจกตา หรือเป็นแผลที่กระจกตาได้
อาการของนอนหลับตาปิดไม่สนิทมีอะไรบ้าง?
โดยมากแล้วผู้ที่มี อาการนอนตาปิดไม่สนิท มักจะไม่รู้ตัวเอง จนกระทั่งมีคนใกล้ตัวทักหรือบอก อย่างไรก็ตาม อาการต่าง ๆ หลังการตื่นนอนดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณมีอาการนอนหลับตาปิดไม่สนิท
- ตาแห้ง
- ตาแดง
- ตาเบลอ
- แสบตา
- ระคายเคืองตา
- รู้สึกเหมือนมีอะไรอยู่ในตา
- คันที่ดวงตา
- นอนหลับไม่เพียงพอ
สาเหตุของอาการ นอนหลับตาปิดไม่สนิท
อาการนอนตาปิดไม่สนิท เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนี้
- มีปัญหาเปลือกตาปิดไม่สนิทตั้งแต่กำเนิด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- โรคกล้ามเนื้อร่วมประสาท (Neuromuscular Disease)
- โรคถูกสาป (Moebius Syndrome)
- โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell's palsy)
- โรคคอพอกตาโปน หรือ โรคเกรฟส์ (Graves' Disease)
- กล้ามเนื้อเปลือกตาได้รับการบาดเจ็บ อักเสบ หรือติดเชื้อ เนื้องอกหรือมีการผ่าตัดเนื้องอกที่อยู่ใกล้กับเส้นประสาทบนใบหน้า
- การผ่าตัดบริเวณใกล้เปลือกตา หรือการผ่าตัดใดๆ ที่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของเปลือกตา เสี่ยงต่ออาการนอนตาปิดไม่สนิท
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากมีอาการนอนตาปิดไม่สนิท ทั้งที่รู้ด้วยตัวเอง หรือคนใกล้ตัวบอก คุณควรหาโอกาสไปพบคุณหมอ โดยคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญจะทำการวินิจฉัยและหาสาเหตุ ตลอดจนให้คำแนะนำถึงวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ใช้ผ้าเทปสำหรับปิดแผลหรือผ้าเทปสำหรับใช้ในทางการแพทย์ ติดไปที่เปลือกตาขณะนอนหลับ
- แนะนำให้ใช้ยาหยอดตา แม้จะไม่ได้ช่วยแก้อาการนอนตาปิดไม่สนิท แต่จำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง
- แพทย์อาจมีการแนะนำให้ทำการผ่าตัดเพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะการเคลื่อนไหวของเปลือกตา หรืออาจแนะนำให้มีการผ่าตัดเพื่อเพิ่มน้ำหนักไปที่เปลือกตา ทำให้เปลือกตาบรรจบกันและปิดสนิท
แม้ว่า อาการนอนตาปิดไม่สนิท จะไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ร้ายแรง แต่ก็ไม่ควรวางใจเสียทีเดียว เพราะยังสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพดวงตาได้อยู่ ดังนั้น หากมีปัญหานอนหลับแล้วเปลือกตาปิดไม่สนิท ไม่ควรปล่อยไว้ ควรไปพบคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป
คุณกำลังดู: "นอนหลับตาปิดไม่สนิท" เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่?
หมวดหมู่: สุขภาพ