“นอนกรน” อันตราย เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
มีหลายคนที่คิดว่า “การนอนกรน” เป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็เป็นกัน อาจส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างในเรื่องเสียงบ้างแต่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร แต่คุณรู้หรือไม่ว่า... หากนอนกรนเป็นประจำ หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนั้น จะส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
“นอนกรน” เกิดขึ้นได้อย่างไร
นอนกรน คือ ภาวะที่การนอนมีเสียงดังขณะหลับ ซึ่งเกิดจากการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อเพดานอ่อน คอหอย และลิ้น ที่ในขณะหลับจะคลายตัวและหย่อนลง ทำให้ระบบทางเดินหายใจส่วนบนมีการตีบแคบลง จึงเกิดเป็นเสียงกรนขึ้น อาการนอนกรนมีตั้งแต่อาการน้อยไปจนถึงอาการมาก มักเกิดขึ้นในช่วงของการหลับลึก และจะกรนดังมากขึ้นเมื่ออยู่ในท่านอนหงาย ส่วนในรายที่เป็นมากจะมีอาการนอนกรนในทุกท่านอนร่วมกับมีการหายใจติดขัดหรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้อากาศผ่านไปสู่ทางเดินหายใจช่วงล่าง หรือลงสู่ปอดไม่สม่ำเสมอ ส่งผลให้ระบบต่างๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ
นอนกรนที่เป็นอันตราย...ควรเฝ้าระวัง
นอกจากการนอนกรนจะมีผลกระทบกับคนรอบข้างแล้ว อาการนอนกรนยังมีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายที่ควรเฝ้าระวังอีกด้วย แล้วการนอนกรนแบบไหนที่น่าเป็นห่วงบ้าง
- นอนกรนดังมากเป็นประจำ
- หยุดหายใจเป็นช่วงๆ ระหว่างหลับ
- อาการเหมือนหายใจไม่ออก หรือเหมือนสำลักน้ำลายขณะหลับ
- ตื่นมาตอนเช้าไม่สดชื่น รู้สึกเหมือนนอนไม่เต็มอิ่ม
- ปวดศีรษะในตอนเช้าเป็นประจำ
- อ่อนเพลีย ง่วงนอนมากผิดปกติในตอนกลางวัน
- ขาดสมาธิ ความจำไม่ดี
- ปากแห้ง คอแห้ง รู้สึกเจ็บคอเมื่อตื่นขึ้นมา
- ปัสสาวะบ่อยในเวลากลางคืน
- กัดฟันขณะนอนหลับ
- เจ็บหน้าอกในตอนกลางคืน
- ความดันโลหิตสูงโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงในการนอนกรน
แม้ว่า “การนอนกรน” จะดูเป็นเรื่องธรรมดา แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะต้องนอนกรน มาดูกันว่า... ใครที่มีโอกาสสูงที่จะ “นอนกรน”
- ผู้ที่มีภาวะน้ำหนักเกิน พบว่าผู้ที่มีน้ำหนักมากจะมีทางเดินหายใจส่วนบนแคบกว่าผู้ที่มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เป็นโรคภูมิแพ้บริเวณจมูกหรือมีริดสีดวงจมูก
- มีสันจมูกเบี้ยวหรือคด รูปหน้าหรือคางผิดปกติ เช่น คางเล็ก คางหลุบ
- มีต่อมทอนซิลโตขวางทางเดินหายใจ
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่เป็นประจำ
- การรับประทานยาที่ทำให้เกิดอาการง่วง เช่น ยาแก้แพ้ ยานอนหลับ ยาคลายเครียด
- ผู้หญิงเมื่อเข้าวัยหมดประจำเดือน และผู้หญิงตั้งครรภ์
พบแพทย์เพื่อวินิจฉัย...อาการนอนกรน
หากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการนอนกรน ควรมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยว่า มีภาวะนอนกรนธรรมดาที่ไม่มีการหยุดหายใจ (primary snoring) หรือนอนกรนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea) ร่วมด้วย
- แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด และสอบถามอาการจากคนใกล้ชิด
- ตรวจร่างกายอย่างละเอียด
- อาจมีการเจาะเลือดและตรวจรังสี
- การตรวจการนอนหลับ (sleep test) สามารถบอกได้ว่าเป็นการนอนกรนธรรมดาหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ สามารถบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่
“นอนกรน”... รักษาได้อย่ารีรอ!!
แนวทางการรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ
มีทั้งการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและแบบผ่าตัด
ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจะประเมินผู้ป่วยแต่ละรายว่าควรได้รับการรักษาแบบใด
การรักษาโดยวิธีการไม่ผ่าตัด
- การลดน้ำหนัก ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
- ปรับท่านอน นอนศีรษะสูง นอนตะแคง ไม่ควรนอนหงาย
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
- ใช้อุปกรณ์ช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือไม่อุดกั้นขณะหลับ เช่น ใส่เครื่องอัดอากาศ หรือใส่ฟันยางขณะหลับ
- การใช้ยาทาน ยาพ่นจมูก เพื่อเปิดทางเดินหายใจ
การรักษาโดยวิธีการผ่าตัด
เป็นการผ่าตัดเพื่อเพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น เหมาะสำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางกายวิภาค ทำให้เกิดอาการนอนกรน หรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ รวมถึงผู้ป่วยที่ไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยวิธีการไม่ผ่าตัด
- ผ่าตัดจมูก สำหรับผู้ที่มีผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูก
- ผ่าตัดต่อมทอนซิล และอดีนอยด์
- ผ่าตัดเพดานอ่อน และตกแต่งลิ้นไก่
- ผ่าตัดโคนลิ้น
- ผ่าตัดขากรรไกร
“การนอนกรน” นอกจากจะรบกวนการพักผ่อนของคนใกล้ชิดแล้ว ยังเป็นการค่อยๆ บั่นทอนสุขภาพของผู้ที่นอนกรนไปทีละนิดอีกด้วย ฉะนั้นหากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการนอนกรนเป็นประจำ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมที่สุด
บทความโดย : พญ.เพชรรัตน์ แสงทอง แพทย์เฉพาะทางด้านโสต สอ
นาสิกวิทยา และการนอนหลับ
ศูนย์ตา หู คอ จมูก โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์
คุณกำลังดู: “นอนกรน” อันตราย เสี่ยงภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
หมวดหมู่: สุขภาพ