ปะเก็นในเครื่องยนต์ ทำหน้าที่อะไร?

ฝาสูบโก่ง น้ำในหม้อน้ำผสมกับน้ำมันเครื่อง เครื่องยนต์เดินไม่เรียบ จุดระเบิดผิดพลาด น้ำมันเครื่องรั่วซึมตามขอบของเครื่องยนต์ สาเหตุเหล่านี้ อาจมีพี่ปะเก็นเป็นตัวการใหญ่ก็ได้

ปะเก็นในเครื่องยนต์ ทำหน้าที่อะไร?

เครื่องยนต์ที่ทำงานอย่างหนัก จะมีชิ้นส่วนหนึ่งที่รับหน้าที่ป้องกันการสูญเสียกำลังอัด ป้องกันการรั่วซึมของน้ำมันเครื่องและน้ำหล่อเย็น ชิ้นส่วนดังกล่าวก็คือปะเก็นล่ะครับ ชื่อแปลกๆ สำหรับคนที่ไม่ได้สนใจในเรื่องของเครื่องยนต์กลไก คำว่า ปะเก็น อาจทำให้รู้สึกงงๆ ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรและทำหน้าที่อย่างไรในเครื่องยนต์ของรถ ปะเก็นเป็นอุปกรณ์สำคัญ เป็นชิ้นส่วนที่ช่วยป้องกันการรั่วซึมต่างๆ ของสารหล่อลื่นรวมถึงน้ำหล่อเย็น

ปะเก็น (Gasket) คือ วัสดุที่ใช้กั้นหน้าสัมผัสระหว่างชิ้นส่วนสองชิ้นที่นำมาประกบติดกัน หรือใช้อุดรอยรั่ว มีหลายชนิด ทำจากวัสดุที่หลากหลาย เช่น ปะเก็นยาง ปะเก็นโลหะ ปะเก็นทนไฟ ปะเก็นเทปล่อน ปะเก็นเชือก ปะเก็นที่ไม่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ปะเก็นฉนวนความร้อน ปะเก็นเหลว เป็นต้น ปะเก็นใช้เพื่อป้องกันการรั่วไหลของของเหลว อากาศ แก๊ส ที่อยู่ภายใน ซึ่งอาจเกิดจากหน้าสัมผัสของชิ้นส่วนสองชิ้นที่นำมาประกบกันไม่เรียบ เมื่ออยู่ในสภาวะที่ร้อนหรือเย็น อาจทำให้โลหะหดหรือขยายตัว เป็นเหตุให้เกิดการรั่วไหลของสารหล่อลื่นหล่อเย็นที่อยู่ภายใน

ปะเก็นในเครื่องยนต์มีการออกแบบให้ยุบตัวได้เล็กน้อย ชุดปะเก็นจะวางติดกับเนื้อชิ้นงานที่มีการประกบกันอย่างแน่นหนาด้วยนอตยึด เนื้อปะเก็นเมื่อถูกกดอัดจากการขันนอต จะทำให้เนื้อของปะเก็นราบไปกับวัสดุนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นปะเก็นฝาสูบ ปะเก็นท่อน้ำของระบบระบายความร้อนฯ ช่วยทำให้พื้นที่ผิวสัมผัสระหว่างชิ้นงานโลหะแนบสนิทกันอย่างแน่นหนา จนทำให้ ของเหลว ก๊าซ ไม่สามารถหลุดรอดออกมาได้ หน้าที่หลักของปะเก็นก็คือ ป้องกันการรั่วซึม

ชนิดของปะเก็น
โดยชนิดของปะเก็น เช่นพวกปะเก็นฝาสูบ ปะเก็นเสื้อปั๊ม มีการแบ่งชนิดการใช้งานตามวัสดุ และประเภทใช้งาน เช่น

1. ปะเก็นแบบอโลหะ (Non-metallic gasket) ประเก็นชนิดนี้ ทำจากวัสดุที่ไม่ใช่โลหะ อาจเป็นวัสดุพวก ยาง (Rubber), Teflon, Compress Non-asbestos Fiber (CNAF) ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อน แต่ทนอุณหภูมิกับความดันสูงได้ไม่มาก และมักจะมีราคาที่ไม่แพง

2. ปะเก็นโลหะ (Metallic gasket) ทำจากโลหะที่มีความอ่อนตัว เมื่อถูกกดด้วยแรงบีบจะมีการยุบตัว วัสดุจำพวก Soft iron, low carbon steel, monel, inconel จำพวก RTJ หรือ Ring gasket โดยคุณสมบัติของปะเก็นโลหะ จะมีความแข็งแกร่งสูง แต่ไม่ค่อยทนทานกับการกัดกร่อน สามารถใช้ในอุณหภูมิสูงอย่างต่อเนื่อง และมีแรงดันสูง ราคาของปะเก็นโลหะ จะสูงกว่าปะเก็นยาง

3. ปะเก็นแบบผสม (Composite gasket) เป็นปะเก็นที่มีการผสมผสานกันระหว่าง ปะเก็นโลหะ และยาง เช่น ปะเก็นฝาสูบ, ปะเก็น Spiral would, ปะเก็น Metal jacket, ปะเก็น Kammprofile ซึ่งมีการออกแบบตามการใช้งานหลัก เช่น หน้าแปลนของเครื่องยนต์, บริเวณจุดที่ต้องรับแรงดัน หรือเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ระบายความร้อน

ปะเก็นฝาสูบระหว่างเสื้อสูบแตกเสียหาย
อาการที่เลวร้ายก็คือ ปะเก็นฝาสูบระหว่างเสื้อสูบขาด ทำให้กำลังอัดของลูกสูบนั้น รั่วไหลไปอีกสูบได้ กลายเป็นปัญหาหนักอก เช่น เครื่องยนต์เดินไม่เรียบ เนื่องจากสูญเสียกำลังอัด ตามมาด้วยการทำงานของระบบจุดระเบิดที่ผิดพลาด น้ำมันเครื่องซึมออกมาจากฝาสูบ น้ำหล่อเย็นรั่วเข้ามาในห้องเผาไหม้ น้ำหล่อเย็นรั่วทำให้เครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงจนเกิดอาการโอเวอร์ฮีต

ปะเก็นฝาสูบระหว่างเสื้อสูบกับทางเดินน้ำหล่อเย็นขาด
เมื่อปะเก็นในจุดดังกล่าวขาดเสียหาย จะทำให้น้ำหล่อเย็นรั่วเข้าไปในห้องเผาไหม้ ทำให้การจุดระเบิดทำงานผิดพลาดเมื่อสตาร์ตเครื่องยนต์ น้ำในหม้อน้ำหายไป จนทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด เขม่าจากการจุดระเบิดแล้วเผาไหม้ รั่วไหลเข้าไปในระบบน้ำหล่อเย็น กัดกร่อนทางเดินน้ำหล่อเย็น รวมไปถึงส่วนประกอบของระบบระบายความร้อน

ปะเก็นฝาสูบแตกระหว่างทางเดินน้ำหล่อเย็นและทางเดินน้ำมันหล่อลื่น
เมื่อน้ำหล่อเย็นเข้ามาผสมกับน้ำมันเครื่อง ทำให้ของเหลวหล่อลื่นสูญเสียคุณสมบัติในการหล่อลื่นกลไกต่างๆ ของเครื่องยนต์ สังเกตได้จากน้ำมันเครื่องที่ผสมกับน้ำจะมีสีขาวขุ่น อาการอื่นๆ ก็มีตามมาเช่น ไอดีไหลลงห้องแคร้ง สูญเสียกำลังอัด จุดระเบิดผิดพลาดหรือผิดจังหวะ ฝาสูบโก่งตัว คราวนี้พังกันยาวๆ ล่ะครับ

ปะเก็นเป็นชิ้นส่วนที่ไม่ชอบสิ่งสกปรก ในระหว่างการเปลี่ยนชิ้นส่วนพวกปะเก็นต่างๆ ต้องแน่ใจว่าไม่มีสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไประหว่างบล็อกและส่วนหัว ปัจจัยสำคัญในการทำหน้าที่ของปะเก็น คือ คุณภาพของพื้นผิวที่เชื่อมต่อกันอย่างเรียบสนิทไม่มีรอยรั่วซึม

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปะเก็นเสียหายก็คือ ขั้นตอนระหว่างการขันยึดปะเก็น ต้องขันสลักเกลียวให้แน่นในระดับหนึ่งเท่านั้น และต้องติดตั้งนอตยึดทั้งหมดตามลำดับ ตามคู่มือการซ่อมบำรุงที่ได้ระบุเอาไว้ ขันนอตสลักเกลียวด้วยค่าของการขันให้แน่นในระดับไหน บริษัทผู้ผลิตจะมีการแจ้งในเอกสารทางเทคนิคสำหรับการซ่อมบำรุงรถยนต์หรือทำตามคำแนะนำสำหรับชุดซ่อมปะเก็น งานเปลี่ยนปะเก็น จึงเป็นหน้าที่ของช่างเครื่องยนต์ ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเท่านั้นครับ ทำเองก็ได้ถ้ามีความรู้ทางช่างเครื่อง แต่บอกเลยว่า เปลี่ยนลำบากครับ ทั้งเครื่องมือในการถอด-ใส่ เพื่อซ่อมบำรุง ความร้อนขณะทำการถอดเปลี่ยนปะเก็น ถือเป็นงานของช่างเครื่องยนต์ ที่เจ้าของรถมีหน้าที่แค่จ่ายเงินเมื่อเปลี่ยนเสร็จแล้วเท่านั้นเองล่ะครับ.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: ปะเก็นในเครื่องยนต์ ทำหน้าที่อะไร?

หมวดหมู่: เคล็ดลับยานยนต์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด