เปิดไทม์ไลน์ 22 ปี ภูเก็ตแฟนตาซี กับความท้าทายของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

ย้อนไปเมื่อ 22 ปีก่อน ชื่อของ “ภูเก็ตแฟนตาซี” คือหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของภูเก็ต แต่ด้วยวันเวลาที่ผ่านไป มีหลายอย่างไม่เหมือนเดิม ภูเก็ตแฟนตาซีในวันนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

เปิดไทม์ไลน์ 22 ปี ภูเก็ตแฟนตาซี กับความท้าทายของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

ย้อนไปเมื่อ 22 ปีก่อน ชื่อของ “ภูเก็ตแฟนตาซี” คือหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของภูเก็ตที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย แต่ด้วยวันเวลาที่ผ่านไป มีหลายอย่างไม่เหมือนเดิม ภูเก็ตแฟนตาซีในวันนี้มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง

จุดเริ่มต้นของภูเก็ตแฟนตาซี

จุดเริ่มต้นของภูเก็ตแฟนตาซี ก่อตัวขึ้นตั้งแต่ปี 2538 ซึ่ง “ดร.ผิน คิ้วคชา” ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจซาฟารีเวิลด์ ต้องการต่อยอดธุรกิจท่องเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต จึงมอบหมายให้ กิตติกร คิ้วคชา ซึ่งเป็นลูกชายคนโต ที่เพิ่งเรียนจบจากประเทศอังกฤษ ให้กลับมาดูแลกิจการนี้

กิตติกร คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการภูเก็ตแฟนตาซี และ Carnival Magic
กิตติกร คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการภูเก็ตแฟนตาซี และ Carnival Magic

“เรามีไอเดียและแนวคิดทำภูเก็ตแฟนตาซีตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 24 ปี เพิ่งเรียนจบจากประเทศอังกฤษพอดี คุณพ่อก็เรียกตัวให้มาช่วยคิดเรื่องธุรกิจท่องเที่ยวที่ภูเก็ตว่าจะทำอะไรดี ตอนแรกมีไอเดียว่าจะทำสวนช้าง แต่ด้วยประสบการณ์ของผมที่ไปใช้ชีวิตในยุโรปมาหลายปี ทำให้รู้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติสนใจเรื่องวัฒนธรรมไทย และช้างก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเรา จึงคิดว่าควรทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในรูปแบบการแสดงโชว์วัฒนธรรมดีกว่า โดยมีแรงบันดาลใจจากการแสดงในลาสเวกัสมาเป็นต้นแบบ แล้วมาต่อยอดกับวัฒนธรรมการแสดงของไทย จนเป็นที่มาของภูเก็ตแฟนตาซีธีมปาร์กวัฒนธรรมแห่งแรกของโลกในปัจจุบัน” กิตติกร คิ้วคชา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ภูเก็ตแฟนตาซี จำกัด (มหาชน) กล่าว

ช้างคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่ชาวต่างชาตินึกถึง
ช้างคือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยที่ชาวต่างชาตินึกถึง
การแสดงของภูเก็ตแฟนตาซีได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงโชว์ของลาสเวกัสที่นำมาผสานกับวัฒนธรรมไทย
การแสดงของภูเก็ตแฟนตาซีได้แรงบันดาลใจมาจากการแสดงโชว์ของลาสเวกัสที่นำมาผสานกับวัฒนธรรมไทย

ภูเก็ตแฟนตาซี ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ใช้งบลงทุนก่อสร้าง 3,500 ล้านบาท บนเนื้อที่ 70 ไร่ ที่ตำบลกมลา อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี 2542 มีจุดเด่นคือ การแสดงชุด “มหัศจรรย์กมลา” ซึ่งเป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างศิลปวัฒนธรรมไทย และเทคนิคพิเศษแสงสีเสียงทันสมัย รวมถึงการแสดงของช้างไทยหลายสิบเชือก และสัตว์อื่นๆ บนเวทีในโรงละครขนาดใหญ่ รวมทั้งมีการให้บริการอาหารค่ำแบบบุฟเฟต์นานาชาติ และร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกที่มีคุณภาพจากทุกภาคของประเทศไทย ในช่วงแรกมีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรปถึง 80% รองลงมาคือชาวไต้หวัน

ร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่อยู่ภายในภูเก็ตแฟนตาซี
ร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่อยู่ภายในภูเก็ตแฟนตาซี

จุดเปลี่ยนและอุปสรรค

กิตติกร เล่ากับทีมไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์ให้ฟังว่า ตั้งแต่เปิดตัวภูเก็ตแฟนตาซีอย่างเป็นทางการก็มีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2546 ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเป็นพิเศษเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็นที่นิยมมากจนถึงขั้นต้องเพิ่มการแสดงเป็น 2 รอบทุกวัน แต่เมื่อถึงวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ภูเก็ตเจอสึนามิ ก็ทำให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตซบเซาลงเป็นเวลานาน ซึ่งเขาต้องใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะทำให้ธุรกิจภูเก็ตแฟนตาซีค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาได้

“ผลกระทบจากสึนามิต่างจากโควิดตรงที่ตอนนั้นเรากระทบแค่ที่เดียว ก็ยังมีหลายคนหลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือเราอย่างมาก แต่โควิดคือกระทบทั้งโลกและทุกธุรกิจ เรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่หนักกันคนละแบบ ตั้งแต่ทำภูเก็ตแฟนตาซีมา 22 ปี ตลาดไม่เคยนิ่งเลย มีการเปลี่ยนแปลงตลอด ผมผ่านมา 5-6 ตลาดแล้ว ตั้งแต่ยุโรป ไต้หวัน รัสเซีย จีน แต่การเปลี่ยนไม่ได้แปลว่าตลาดเดิมหายไป แต่กลับมากขึ้นด้วย จากเดิมมีนักท่องเที่ยว 2 ล้านคน ตอนนี้เพิ่มเป็น 15 ล้านคน ตอนนี้นักท่องเที่ยวอินเดียเยอะ ถ้าจีนกลับมาก็จะทำให้เยอะขึ้นอีก”

แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าที่การท่องเที่ยวภูเก็ตจะกลับมาจากผลกระทบของสึนามิ แต่ภูเก็ตแฟนตาซีก็มีแผนสำรองเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอยู่เสมอ นั่นคือการเปิดตัวโครงการใหม่ “Carnival Magic” (คาร์นิวัลเมจิก) ซึ่งมีรูปแบบที่ต่างไปจากภูเก็ตแฟนตาซี เพื่อสร้างแรงดึงดูดจากนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นกว่าเดิม จึงทำให้การทำโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภูเก็ตแฟนตาซีลดลงไปมากจนเรียกได้ว่าคนรุ่นใหม่หลายคนแทบไม่รู้จัก หรือไม่เคยมาภูเก็ตแฟนตาซีเลย

Carnival Magic เป็นธีมปาร์กวัฒนธรรมไทยที่พัฒนาภายใต้มาตรฐานระดับโลกแบบเดียวกับดิสนีย์แลนด์
Carnival Magic เป็นธีมปาร์กวัฒนธรรมไทยที่พัฒนาภายใต้มาตรฐานระดับโลกแบบเดียวกับดิสนีย์แลนด์

“ก่อนมีโควิด เราตั้งใจที่จะทำให้ภูเก็ตแฟนตาซีทำตลาดแบบเงียบๆ ลงก่อน เพื่อที่จะเอา Carnival Magic เข้ามาแทน เนื่องจากภูเก็ตแฟนตาซีเป็นโปรดักส์เก่าที่ทำตลาดมา 20 กว่าปีแล้ว การกระตุ้นให้เกิดโปรดักส์ใหม่ทำง่ายกว่า เราจึงทำตลาดภูเก็ตแฟนตาซีน้อยลง แล้วนำไปลงที่ Carnival Magic แทนด้วยการโหมโฆษณาและประชาสัมพันธ์อย่างแรง เพื่อให้โดดเด่นมากขึ้น และดึงนักท่องเที่ยวได้เยอะกว่าเดิม”

Carnival Magic โครงการใหม่หลังฝ่าวิกฤติ

หลังจากที่ทำตลาดภูเก็ตแฟนตาซีมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งพบเจอกับอุปสรรคและการเปลี่ยนแปลงมากมายที่กระทบกับธุรกิจท่องเที่ยว จึงทำให้กิตติกรมีแนวคิดที่จะต่อยอดธุรกิจธีมปาร์กวัฒนธรรมไทยภายใต้ชื่อ “Carnival Magic” มาตั้งแต่ปี 2545 โดยใช้พื้นที่เดียวกันกับภูเก็ตแฟนตาซี แต่เมื่อเจอกับผลกระทบของสึนามิ จึงต้องพับโครงการนี้ไปก่อน

สำหรับความแตกต่างระหว่าง ภูเก็ตแฟนตาซี กับ Carnival Magic คือ ในภูเก็ตแฟนตาซีจะนำการแสดงศิลปวัฒนธรรมของไทย รวมถึงช้างซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของไทย มาผสมกับ Magic illumination และเทคโนโลยี ให้การแสดงสวยงามและงดงามอลังการขึ้น ขณะที่ Carnival Magic คือ การนำเทคโนโลยีมาตกแต่งไฟให้สวยงาม และนำขบวนพาเหรดไทย นำเทศกาลของไทยมาเป็นแนวคิด โดยใช้เวลาสร้างถึง 6 ปีด้วยกัน

ขบวนคาร์นิวัลและสถานที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกช่วงวัย
ขบวนคาร์นิวัลและสถานที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกช่วงวัย

“เรามีแนวคิดที่จะสร้าง Carnival Magic ตั้งแต่ปี 2545 และเริ่มออกแบบในปี 2546 แต่ก็ต้องหยุดไปเพราะเจอสึนามิในปี 2547 แล้วก็มาเจอปัญหาเศรษฐกิจโลกอีก ก็หยุดไปก่อน จนกระทั่งมีแผนจะเปิดตัวในปี 2563 ก็เจอกับโควิดอีก ทำให้เราเจอวิกฤติถึง 3 ครั้ง กว่าจะเปิดได้ แต่ก็ทำให้เรามีเวลาในการคิดปรับปรุงและตกผลึกเพื่อปรับตัว และให้โอกาสในการแก้ไขได้ไอเดียใหม่ๆ มากขึ้น จนพร้อมเปิดในปลายปี 2565”

ถึงแม้ว่า Carnival Magic จะต้องพบกับวิกฤติถึง 3 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็มอบบทเรียนและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยการสั่งสมความพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ พร้อมกับการทุ่มงบประมาณที่มากขึ้นกว่าเดิม จากที่ตั้งไว้ 1,500 ล้านบาท ในปี 2545 บนเนื้อที่เดียวกันกับภูเก็ตแฟนตาซี ก็เพิ่มมาเป็น 6,600 ล้านบาท บนเนื้อที่ 100 ไร่ ที่เพิ่มขึ้นมาโดยตั้งอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับภูเก็ตแฟนตาซี เพื่อรองรับเรื่องขบวนพาเหรด โรงละครขนาดใหญ่ ภัตตาคาร เมืองไฟ และอีกหลายส่วนที่ขยับขยายและปรับปรุงมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยวทุกช่วงวัย ซึ่งมีความต้องการที่แตกต่างกัน แล้วพัฒนา Carnival Magic ให้ตอบโจทย์ เช่น การออกแบบสถานที่ให้สวยงาม มีมุมถ่ายรูปเยอะๆ ซึ่งถูกใจกลุ่มวัยรุ่น มีโซนของเล่น และโซนแสดงสัตว์น่ารักๆ เอาใจกลุ่มเด็กเล็ก มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงจิวเวลรีเพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีรถกอล์ฟให้บริการผู้สูงวัยได้นั่งชมวิว ชมไฟภายในโครงการได้อย่างสะดวกสบาย และมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้พิการอีกด้วย

กลุ่มเป้าหมายของ Carnival Magic คือ กลุ่มนักท่องเที่ยว High Spending โดยมีค่าบัตรที่รวมค่าชมการแสดงในโรงละครและค่าอาหารแล้วอยู่ที่ 3,000 บาท ส่วนภูเก็ตแฟนตาซีจะมีกลุ่มเป้าหมายที่กว้างกว่า เพราะมีราคาที่จับต้องได้ง่ายขึ้น โดยมีราคาอยู่ที่ 2,200 บาท ซึ่งรวมค่าชมการแสดงกับค่าอาหารไว้แล้วเช่นกัน.

ขอบคุณภาพ: ภูเก็ตแฟนตาซี

แนะนำกิจกรรมน่าสนใจใน "ภูเก็ต"

Klook.com

คุณกำลังดู: เปิดไทม์ไลน์ 22 ปี ภูเก็ตแฟนตาซี กับความท้าทายของการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป

หมวดหมู่: เที่ยว-กิน

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด