พาราเซตามอล กับ แอลกอฮอล์ ส่วนผสมอันตรายที่คุณอาจไม่เคยคิด
ส่วนผสมของพาราเซตามอลกับแอลกอฮอล์ อาจกลายเป็นอันตรายอย่างมหันต์ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน
พาราเซตามอล คือยาที่สามารถหาซื้อได้เอง ใช้เพื่อบรรเทาไข้และอาการปวด ยาพาราเซตามอลนั้นเป็นส่วนผสมในยาแก้ปวดและยาแก้ไอแก้ไข้หลายชนิด ยาพาราเซตามอลถือว่าปลอดภัยอย่างมาก หากใช้ตามคำแนะนำ แต่สำหรับ พาราเซตามอล กับ แอลกอฮอล์ แล้ว พาราเซตามอลก็สามารถเป็นอันตรายได้อย่างที่คุณอาจไม่คาดคิด
พาราเซตามอล กับ แอลกอฮอล์
แม้ว่ายาพาราเซตามอลจะถือว่าปลอดภัย สำหรับการใช้งานทั่วไป แต่อาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่ติดสุรา หรือผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ การใช้แอลกอฮอล์และยาพาราเซตามอลร่วมกัน ทำให้คุณมีความเสี่ยงในการใช้ยาเกินขนาด แม้ว่าคุณจะใช้ยาตามเท่าที่แนะนำแล้วก็ตาม ดังนั้น บริษัทยาหลายแห่งจึงขอให้ผู้บริโภค ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าสองแก้วต่อวัน ควรปรึกษากับแพทย์ ก่อนการใช้ยาพาราเซตามอล
ตับล้มเหลวเนื่องจากมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์
เมื่อใช้ยาพาราเซตามอลร่วมกับแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะแอลกอฮอล์-อะเซตามีโนเฟน ซินโดรม (alcohol-acetaminophen syndrome) ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ภาวะนี้อาจนำไปสู่ตับล้มเหลวเฉียบพลัน สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้ก็คือ ร่างกายจะปล่อยโปรตีนที่เรียกว่า ทรานซามิเนส (transaminase) ออกมา เพื่อช่วยกระตุ้นการเผาผลาญของตับ คนที่เกิดภาวะแอลกอฮอล์-อะเซตามีโนเฟนซินโดรม จะมีระดับของทรานซามิเนสในปริมาณมาก ทำให้ตับทำงานมากขึ้น เพื่อเผาผลาญอะเซตามีโนเฟนและแอลกอฮอล์ การทำงานหนักขนาดนี้เกินกว่าที่ตับจะสามารถรับมือได้ นอกจากนี้ ขณะที่มีการเผาผลาญแอลกอฮอล์ เอนไซม์ที่เป็นพิษจะถูกปล่อยออกมา ภาวะแอลกอฮอล์-อะเซตามีโนเฟนซินโดรมที่เร่งอัตราการเผาผลาญแอลกอฮอล์ ก็จะเท่ากับเร่งการปล่อยสารพิษออกมาด้วย และเมื่อสารพิษนี้สะสมอยู่ในตับ ก็จะนำไปสู่การเป็นพิษต่อตับ และในท้ายที่สุด ก็จะทำให้ตับล้มเหลว และเกิดความเสียหาย
แล้วมีอะไรอีกบ้างที่ควรต้องจำไว้
ก่อนใช้ยาพาราเซตามอล คุณควรจะคำนึงถึงปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาวะของตับของคุณด้วย ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเป็นเวลานาน แม้จะดื่มในปริมาณที่พอเหมาะ ก็อาจจะทำให้มีปริมาณของกลูตาไธโอน (glutathione) ในร่างกายไม่มากพอ ซึ่งกลูตาไธโอนนี้ เป็นเอนไซม์ที่มีหน้าที่ในการล้างสารพิษ การที่ปริมาณของกลูตาไธโอนลดลง ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาที่ตับ แม้จะรับประทานยาพาราเซตามอลในขนาดที่น้อยก็ตาม ปฏิกิริยาของแอลกอฮอล์กับพาราเซตามอลนั้น ขึ้นอยู่กับอายุ น้ำหนัก และสุขภาพของผู้ใช้ยาด้วย ตับมักจะต้องใช้เวลาถึง 5 วันในการกำจัดแอลกอฮอล์ไปจนหมด และใช้เวลามากกว่านั้น ในการกำจัดยาพาราเซตามอล ดังนั้น จึงควรรออย่างน้อยห้าวันหลังจากดื่มสุรา ก่อนจะใช้ยาพาราเซตามอล นอกจากนี้ คุณควรรออย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ หลังจากที่คุณใช้ยาพาราเซตามอล ก่อนจะกลับมาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระยะยาว ควรละเว้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากต้องการรับประทานยาพาราเซตามอล หรือไม่ก็พิจารณาเรื่องการใช้ยาชนิดอื่น ไม่ควรใช้ยาพาราเซตามอล สำหรับการรักษาอาการปวดหัว ที่มาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรืออาการเมาค้าง หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือตับ ควรปรึกษาแพทย์เสมอ ก่อนที่จะใช้ยาพาราเซตามอล เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายเหล่านี้
คุณกำลังดู: พาราเซตามอล กับ แอลกอฮอล์ ส่วนผสมอันตรายที่คุณอาจไม่เคยคิด
หมวดหมู่: สุขภาพ