ภาวะ "เกล็ดเลือดต่ำ" คืออะไร รักษาอย่างไร?
หากมีเลือดออกง่าย หรือห้ามเลือดได้ยากกว่าปกติ คุณอาจกำลังเสี่ยงภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ คือภาวะที่เลือดมีจำนวนของเกล็ดเลือดน้อยกว่าปกติไม่นับว่าเป็นโรค แต่เป็นภาวะที่เกิดจากโรค ควรต้องตรวจหาสาเหตุของการเกิดภาวะดังกล่าวก่อนทำการรักษา
อาการเกล็ดเลือดต่ำ
อ. พญ. หรรษมน โพธิ์ผ่าน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการเกล็ดเลือดต่ำ สังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยมีเลือดออกง่ายและห้ามเลือดได้ยากกว่าปกติ มักพบตามเยื่อบุต่างๆ เช่น เลือดออกตามไรฟัน เลือดกำเดา รวมทั้งมีจุดจ้ำเลือดใต้ชั้นผิวหนังหรือรอยฟกช้ำตื้นๆ แม้ไม่มีการกระแทก
สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำ
- โรคที่มีความผิดปกติของไขกระดูก ได้แก่
- กลุ่มโรคไขกระดูกฝ่อ ทั้งเป็นตั้งแต่กำเนิด เป็นภายหลัง หรือเป็นในผู้สูงอายุ เกิดจากการสัมผัสสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรือติดเชื้อไวรัสบางชนิดกลุ่มโรคที่มีความผิดปกติในไขกระดูก เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว
- สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้ไขกระดูกสร้างเกล็ดเลือดได้ลดลง เช่น ผลของยาบางชนิดและการติดเชื้อไวรัส
- เกล็ดเลือดถูกทำลายหรือใช้เกล็ดเลือดมากกว่าปกติ ได้แก่
- เกล็ดเลือดถูกภูมิคุ้มกันทำลายเมื่อร่างกายติดเชื้อไวรัส หรือได้รับวัคซีน
- โรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
- เกล็ดเลือดถูกใช้เพื่อการหยุดเลือดจากการที่มีเลือดออกรุนแรงหรือเมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้ออย่างรุนแรง
- เนื้องอกหลอดเลือดบางชนิด โดยพบก้อนสีแดงช้ำร่วมด้วย
คำแนะนำจากแพทย์ เพื่อรักษาโรคเกล็ดเลือดต่ำ
หากพบอาการของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของโรคและเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง
คุณกำลังดู: ภาวะ "เกล็ดเลือดต่ำ" คืออะไร รักษาอย่างไร?
หมวดหมู่: สุขภาพ
แชร์ข่าว