ผลลัพธ์ทางลบ เมื่อคุณไม่ระวังสังคมออนไลน์ให้บุตรหลาน

ผลลัพธ์ทางลบ เมื่อคุณไม่ระวังสังคมออนไลน์ให้บุตรหลาน

เด็กและเยาวชนที่เกิดและโตในยุคสมัยนี้ คลุกคลีอยู่กับสมาร์ตโฟนคล้ายเกิดมาคู่กัน โดยจุดเริ่มต้นทั้งหมดมาจากผู้ใหญ่ที่ “เลี้ยงลูกด้วยมือถือ” เปิดหน้าจอทิ้งไว้กับเด็กเพื่อให้เด็กมีอะไรทำ อยู่กับที่ไม่ก่อกวนทำความวุ่นวายใด ๆ ผู้ใหญ่จะได้มีเวลาไปทำอย่างอื่น ด้วยความไม่ประสีประสาและรู้ไม่เท่าทัน เด็กก็จะหากดหาเปิดอะไรไปเรื่อย ๆ บ้างก็ไถดูคอนเทนต์ในโซเชียลมีเดียที่มีทั้งดีและไม่ดี ยิ่งใช้ก็ยิ่งติด การที่เด็กยังไม่มีวิจารณญาณที่มากพอในการแยกแยะถูกผิด ก็จะจำเอาตัวอย่างที่เจอจากบนออนไลน์มาใช้ในชีวิตจริง ๆ หรือตกเป็นเหยื่อเรื่องไม่ดีบนออนไลน์เข้าจนได้

เด็ก เยาวชน วัยรุ่น คือเหยื่อชั้นดีของผู้ล่า และดีไม่ดี สิ่งที่เด็กได้เรียนรู้มาจากในโซเชียลมีเดียอาจทำให้เด็กบางคนกลายเป็นผู้ล่าเสียเองด้วย ซึ่งถ้าผู้ปกครองไม่ควบคุมการเล่นโทรศัพท์ของบุตรหลานเลย ผลลัพธ์ทางลบอาจเกิดขึ้นได้ ชนิดที่คุณคงจะรู้สึกเสียใจไปตลอดชีวิตที่เสียบุตรหลานที่น่ารักของคุณไป อย่าให้เหตุการณ์แบบนั้นเกิดขึ้นเลย ป้องกัน ระวัง ดูแลไว้แต่เนิ่น ๆ จะดีกว่า!

การบูลลี่ออนไลน์

ทุกวันนี้ ไม่ว่าใครก็สามารถตกเป็นเหยื่อกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Cyberbullying ได้มากขึ้น ใคร ๆ ก็เป็นเหยื่อได้ และใคร ๆ ก็เป็นผู้กระทำได้เช่นกัน เพราะสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อที่เข้าถึงง่ายมาก และส่วนใหญ่ผู้ใช้งานก็ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อหรือหน้าตาจริงของตัวเอง จึงทำให้มีกลุ่มคนที่รู้สึกสนุกกับการกลั่นแกล้งคนอื่นทางออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำไปเพื่อสร้างความอับอาย และความเสียหายต่อบุคคลอื่นโดยเจตนา การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างรุนแรง การใช้ถ้อยคำในเชิงลบ โพสต์ด่าทอ ล้อเลียน ใส่ร้าย ขู่ทำร้าย พูดจาส่อเสียด เหยียดเพศสภาพและชาติพันธุ์ มักจะทำกันอย่างโจ่งแจ้งด้วยการประจานลงบนโซเชียลมีเดีย

นอกจากเด็กอาจจะตกเป็นเหยื่อการบูลลี่ทางออนไลน์ได้แล้ว เด็กยังอาจกลายเป็นผู้ที่บูลลี่คนอื่นเสียเองด้วย โดยอาจทำไปด้วยความคึกคะนองตามวัย เข้าใจว่าเป็นการหยอกเพื่อนเล่น ๆ เด็กอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำสร้างบาดแผลและความเจ็บปวดให้คนอื่น หากไม่มีการอบรมสั่งสอนหรือตักเตือนว่าเป็นสิ่งไม่ดี เด็กก็จะทำไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นนิสัย ทีนี้ก็จะเตือนไม่ได้แล้ว การบูลลี่กันบนโลกออนไลน์บ่อยครั้งก็เลวร้ายกว่าการกลั่นแกล้งกันในชีวิตจริงเสียอีก ดังนั้น ผู้ปกครองจึงต้องสอนว่าอะไรควรอะไรไม่ควร และหมั่นสังเกตว่าบุตรหลานตัวเองเป็นเหยื่อหรือเป็นผู้กระทำหรือไม่

เหยื่ออาชญกรรมทางเพศ

สำหรับเด็กเล็ก ๆ วัยอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น พ่อแม่อาจยังไม่จำเป็นที่จะต้องสอนลงลึกถึงขั้นเพศศึกษาก็ได้ มันก็ออกจะเกินไปหน่อยกับเด็กตัวแค่นั้น แต่สิ่งที่พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กรู้คือ “พฤติกรรมแบบไหนของคนอื่น ๆ ที่เด็กจำเป็นต้องปฏิเสธให้เป็นและขอความช่วยเหลือ” เช่น เมื่อใช้งานโซเชียลมีเดียแล้วถูกคนแปลกหน้าทักมาพูดคุย มีการใช้คำพูดว่าขอดูส่วนนั้นส่วนนี้ของร่างกายเพื่อแลกกับอะไรบางอย่าง ขอให้เปิดกล้องหรือถ่ายรูปมาให้ดูหน่อย (ซึ่งอาจมีการแบล็กเมล์ภายหลัง) มีคนส่งภาพลามกอนาจารมาให้ แม้กระทั่งการขอนัดเจอตัวจริงสองต่อสอง ก็อาจจะโดนลวงไปล่วงละเมิดทางเพศหรือข่มขืนได้ แม้ว่าจะเป็นทางออนไลน์ แต่เหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก

นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องสอนให้เด็กรู้จักวิธีหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบนี้ วิธีรับมือ อย่าปิดบังผู้ใหญ่ พยายามเน้นย้ำว่าอย่าเชื่อคนง่าย และอย่ายอมทำตามในสิ่งที่ใครก็ตามขอเกี่ยวกับร่างกาย อย่าลืมว่าแค่การส่งภาพหรือคลิปให้กับอีกฝ่าย ฝ่ายนั้นสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแบล็กเมล์ การข่มขู่บังคับ การนำไปปล่อยประจาน หรือนำไปขายในเว็บไซต์ลามก เรื่องร้ายแรงที่สุดเคยเกิดขึ้น เมื่อเด็กถูกข่มขู่จนเกิดความเครียด กลัวพ่อแม่รู้ กลัวรูปหลุดออกสู่สาธารณะ ทำให้เด็กตัดสินใจฆ่าตัวตาย อย่าให้มันเกิดกับบุตรหลานของคุณเลย

เสพติดความรุนแรง

เมื่อเด็กหรือเยาวชนในงานโซเชียลมีเดีย พ่อแม่ผู้ปกครองไม่อาจควบคุมสิ่งที่พวกเขาดูหรือติดตามได้ทั้งหมดอยู่แล้ว เพราะบางทีเด็กอาจจะแอบไปดูลับหลัง ซึ่งทุกวันนี้ พวกคลิปต่าง ๆ ที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์มันไปเร็วและเข้าถึงง่ายมาก เด็กอาจจะไม่ได้ตั้งใจเข้าไปดูแต่แรก แต่แค่เห็นผ่าน ๆ เด็กก็อาจจะไปเปิดดูเอง ซึ่งเด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง กระหายการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนฝูง และมองว่าพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่เท่ ท้าทาย และน่าตื่นเต้น หากไม่มีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำว่ามันไม่ดี บางทีเด็กก็ไม่ได้มีวิจารณญาณด้วยซ้ำไป พอได้เห็นบ่อย ๆ บางคนก็จะเกิดการเลียนแบบ อยากลองทำบ้าง และเสพติดไปโดยไม่รู้ตัว

ปัจจุบันนี้ อายุของอาชญากรที่ก่อคดีต่าง ๆ ตามหน้าสื่อมีแนวโน้มที่จะน้อยลงทุกวัน จากหลาย ๆ ข่าวที่เห็นได้บ่อย ๆ เราจะได้ยินได้เห็นข่าวการก่อคดีที่เด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำผิดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากลักษณะคดีที่เกิดขึ้นจะเป็นเหตุสะเทือนขวัญในตัวของมันเองแล้ว เรื่องที่น่าตกใจกว่าคือไม่น่าเชื่อว่าผู้ก่อเหตุจะเป็นเพียงเด็กหรือเยาวชนเท่านั้น ที่เราเห็นเด็กที่สุดอาจเป็นเด็กวัยประถมที่แกล้งเพื่อนจนปางตาย หรือเด็กวัยรุ่นที่ก่อเรื่องชกต่อยทำร้ายร่างกายคนอื่นจนบาดเจ็บสาหัส หรือเลวร้ายถึงขั้นฆ่าแกงกันก็มี อายุเพียงสิบกว่า ๆ ก็เป็นฆาตกรฆ่าคนตายแล้ว

พฤติกรรมเลียนแบบ

การเลียนแบบเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ เรามักจะทำตามสิ่งที่พบเห็นแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชนที่เป็นวัยกำลังเรียนรู้ สิ่งแวดล้อมที่เด็กเห็นล้วนมีอิทธิพลต่อตัวเด็ก เริ่มจากการแสดงออกด้วยการเลียนแบบเพราะรู้เท่าไม่ถึงการ หากไม่มีใครคอยอบรมสั่งสอนว่าสิ่งที่เห็นนั้นเป็นพฤติกรรมไม่ดี ไม่ควรเลียนแบบ ก็จะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดา และยิ่งเห็นว่าทำแล้วมีคนให้ความสนใจ ทำแล้วเท่ บวกกับความคึกคะนองตามวัยและคบเพื่อนที่ไม่ดี ก็จะมีการเลียนแบบพฤติกรรมกันในกลุ่มเพื่อที่จะได้มีเพื่อน ส่วนในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็นเป็นประจำ เด็กก็จะซึมซับพฤติกรรมเหล่านั้นมา เพราะถ้าพ่อแม่ทำได้ พวกเขาก็ทำได้เหมือนกัน เข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

บนโลกออนไลน์ มีคอนเทนต์หลากหลายแบบให้เลือกเสพ จริง ๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางบวกหรือทางลบ พ่อแม่ผู้ปกครองก็ควรจะชี้แนะแนวทางให้กับเด็ก ๆ เมื่อเห็นว่าพวกเขากำลังเสพข้อมูลเหล่านั้นอยู่ หากเป็นเรื่องที่ดี เป็นตัวอย่าง ก็มีวิธีในการสอนจูงใจให้เด็กเห็นเป็นแบบอย่าง ส่วนเรื่องที่ไม่ดี ก็ต้องชี้แจงให้รู้ว่าทำไมไม่ดีและไม่ควรทำ เด็กมีประสบการณ์น้อย ไร้เดียงสา หากไม่มีการแนะนำย่อมเห็นถูกเป็นผิด เห็นผิดเป็นชอบได้ง่าย ๆ มีหลากหลายพฤติกรรมทีเดียวที่เด็กและเยาวชนอาจจะเลียนแบบได้จากการเห็นตัวอย่างที่ไม่ดีบนโลกออนไลน์

อยากได้อยากมีตามผู้อื่น

อย่างที่บอกไปข้อก่อนหน้า พฤติกรรมเลียนแบบเกิดขึ้นได้ง่ายมากกับเด็กที่เสพคอนเทนต์ต่าง ๆ ตามลำพังโดยไม่มีผู้ใหญ่คอยแนะนำ สิ่งหนึ่งที่เป็นพื้นฐานเลยก็คือ ความอยากได้อยากมีตามผู้อื่น เห็นคนนั้นใช้สิ่งนั้น คนนี้ใช้สิ่งนี้แล้วถูกใจก็เริ่มอยากได้บ้าง เริ่มไปรบเร้างอแงให้พ่อแม่ซื้อให้ ซึ่งบางอย่างมันอาจเป็นข้าวของที่เกินวัยที่เด็กจะใช้ บางอย่างเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือยเกินตัวเกินไป ปัจจัยที่ปลูกฝังให้เด็กไม่ประมาณตนเอง ใช้เงินเกินตัวแต่เด็ก หากไม่มีการควบคุมและชี้แนะ อาจทำให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่ยับยั้งชั่งใจไม่ได้ อยากได้ต้องได้จนเกิดภาระหนี้สินรุงรัง หรือบางอย่างอาจเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย คอนเทนต์ต่าง ๆ ที่เด็กอาจเห็นเข้ามันไร้ขอบเขตเกินไป

สิ่งที่น่าสนใจต่อจากนั้นที่ผู้ใหญ่ต้องรู้ คือวิธีที่เด็กจะทำเพื่อให้สิ่งที่อยากได้อยากมีมาครอบครอง บางคนอาจตั้งเป็นของขวัญที่จะให้ตัวเอง ค่อย ๆ เก็บเงินซื้อ หรืออาจจะพยายามประหยัดค่าขนมเพื่อให้มีเงินเหลือ หรืออาจจะมีวิธีหาเงินแบบเด็ก ๆ แบบที่เราเคยทำกันสมัยก่อนเวลาที่พ่อแม่ให้เก็บเงินซื้อของที่อยากได้เอง แต่เด็กสมัยนี้โตเร็วจากสื่อออนไลน์ วิธีการของพวกเขาอาจจะแตกต่างไปจากสมัยผู้ใหญ่ สิ่งยั่วยุก็มาก หากเด็กเกิดใจร้อน อยากได้ของเร็ว ๆ ทั้งเด็กหญิงเด็กชายก็อาจจะพยายามหาทำในสิ่งไม่ดีเพื่อแลกเงิน เพราะเข้าใจว่าได้ค่าตอบแทนเร็วก็ได้ของเร็ว

ความนับถือตัวเองต่ำ

โลกออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะต่อการเรียนรู้ของเด็ก ความน่ากลัวมันไม่ได้อยู่แค่ผลเสียต่อร่างกายและพฤติกรรม แต่มันสามารถกัดกินเข้าไปถึงจิตใจ เพราะมันทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงชีวิตของคนอื่น ๆ ง่ายเกินไปมาก ๆ นำมาซึ่งความรู้สึกของ “การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ” ขนาดผู้ใหญ่ยังเลี่ยงความรู้สึกแบบนี้ได้ยาก แล้วเด็กที่อ่อนประสบการณ์กว่าล่ะ แบบที่เรามักจะได้เห็นเพื่อน ๆ หรือใครต่อใครมีชีวิตที่ดูดี ของใช้ดี ได้ท่องเที่ยวในที่ดี ๆ ดีไปเสียหมดจนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจต่อตัวเอง เป็นปัญหาต่อสภาพจิตใจของตัวเองที่หยิบเอาเรื่องต่าง ๆ มาวัดกับตัวเองไปเสียหมดว่าทำไมคนอื่น ๆ ถึงได้มีในสิ่งที่ฉันไม่มี สร้างปมในใจโดยทำให้เกิดความรู้สึกเป็นผู้แพ้อยู่ตลอดเวลา

สิ่งนี้เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตและจิตใจเลยก็ว่าได้ เด็กที่มีความนับถือในตัวเองต่ำ หรือไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เขาจะรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองเมื่อต้องไปอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นว่าทำอะไรก็ไม่ดีเท่า ไม่ชอบเรื่องท้าทาย ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรใหม่ ๆ โทษตัวเองอยู่เสมอ ปลีกตัวออกจากสังคมเพราะรู้สึกว่าสู้คนอื่นไม่ได้ สงสัยในความสามารถตัวเอง มากกว่าจะมองว่าตัวเองทำอะไรได้ ซึ่งนั่นจะมีผลกระทบต่อบุคลิกภาพและชีวิตของเขาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีความสุขในตัวเอง ไม่พอใจอะไรสักอย่างในตัวเอง เป็นความคิดที่อันตรายมาก

พัฒนาการด้านต่าง ๆ

เด็กควรมีพัฒนาการต่าง ๆ ไปตามวัยในแบบที่พวกเขาควรจะเป็น ยิ่งเด็กหมดเวลาไปกับการใช้มือถือหรือโซเชียลมีเดีย มากเท่าไรก็สัมพันธ์กับปัญหาสุขภาพทั้งกายและจิตใจของเด็กเพิ่มขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงต้องจำกัดระยะเวลาการใช้มือถือของบุตรหลาน ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ ไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยอาจใช้วิธีพูดคุย ตกลงทำความเข้าใจ การตั้งค่าในสมาร์ตโฟนของเด็ก มีตัวช่วยเป็นแอปพลิเคชันสำหรับควบคุมการใช้งานมือถือของเด็กเล็ก หรือจะมีกฎของบ้านที่ชัดเจน ทุกคนต้องปฏิบัติตามก็ดีเหมือนกัน ผู้ปกครองจึงไม่ควรปล่อยให้บุตรหลานจมอยู่หน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตเพื่อท่องโลกออนไลน์ทั้งวัน ถ้าไม่อยากให้พวกเขามีพัฒนาการผิดปกติไม่สมวัย

เด็กเล็ก ๆ เป็นวัยที่มีพัฒนาการการเติบโตสูง พวกเขาควรใช้ชีวิตด้วยการออกไปวิ่งเล่น เข้าสังคมกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน ซึ่งการที่เด็กติดโซเชียลมีเดีย นั่งเล่นนั่งดูทั้งวันก็ส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย อาจทำให้เด็กป่วยบ่อย ร่างกายไม่แข็งแรง นอนหลับยาก สมาธิสั้น ผลต่อพัฒนาการทางจิตใจ เด็กสับสนกับสังคมโลกเสมือนจนแยกไม่ออกว่าอันไหนจริงอันไหนปลอม ลุ่มหลงในโลกจอมปลอม ผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์ อารมณ์ร้อน ขี้หงุดหงิด รอคอยไม่เป็น ผลต่อพัฒนาการทางสังคม เข้ากับใครไม่ได้ แอนตี้สังคม ขาดมนุษยสัมพันธ์ และผลกระทบต่อการเรียน

มีปัญหาเรื่องมารยาทในการเข้าสังคม

“มารยาท” เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนพึงมี โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเข้าสังคมอยู่ร่วมกับผู้อื่น การที่พ่อแม่ผู้ปกครองปล่อยให้มือถือเลี้ยงลูกของตนเองตั้งแต่เด็กยันโตมีผลต่อพฤติกรรมทางลบของตัวเด็ก เพราะการขยายตัวของสื่อโซเชียลมีเดียที่มีมากและเติบโตอย่างรวดเร็ว การเห็นตัวอย่างที่ไม่ดี การไม่มีคนคอยชี้แนะว่าไม่ดี ส่งผลให้เกิดความคึกคะนอง กล้าเปิดเผยการกระทำมากขึ้น เมื่อการแสดงออกมีความเป็นอิสระสูง ทำให้ความรู้สึกอดกลั้นที่อยู่ภายในต่ำลง และถูกเปิดเผยออกมากลายเป็นความรุนแรง มีความสุดโต่งในหลาย ๆ เรื่องจนมองข้ามเรื่องมารยาท แค่เห็นว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะทำ แต่ไม่หันกลับมามองข้างหลังว่ามันเดือดร้อนคนอื่น หรือไม่ควรทำพฤติกรรมแบบนี้ในที่สาธารณะ

การที่เด็กและวัยรุ่นแสดงพฤติกรรมหลาย ๆ อย่างที่ดูไม่มีมารยาททางสังคม สิ่งที่สังคมภายนอกจะตัดสินกันอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ การบอกว่าเด็กหรือวัยรุ่นพวกนี้ “พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สถาบันครอบครัวจะต้องดูแลควบคุมพฤติกรรมบุตรหลานให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสพข้อมูลมากมายจากสื่อออนไลน์โดยไม่มีวิจารณญาณ ไม่รู้ผิดรู้ถูก ไม่มีกาลเทศะ ไม่มีมารยาทในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ทำตัวเป็นปัญหาของสังคม โลกแห่งความเป็นจริงนั้นโหดร้าย พฤติกรรม “เด็กเหลือขอ” ที่ติดไปจนโต จะไม่มีใครต้องการ อนาคตจะรู้เองว่ามันร้ายแรงแค่ไหน

คุณกำลังดู: ผลลัพธ์ทางลบ เมื่อคุณไม่ระวังสังคมออนไลน์ให้บุตรหลาน

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด