ผู้ป่วย "โรคไต" กับอาหารที่ควร-ไม่ควรรับประทาน

แพทย์แนะ 5 อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต รวมถึงอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ผู้ป่วย "โรคไต" กับอาหารที่ควร-ไม่ควรรับประทาน

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เป็นอีกหนึ่งทางเลือกจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคประจำตัวยิ่งต้องดูแลใส่ใจเรื่องพฤติกรรมการรับประทานอาหารเป็นพิเศษ ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และระมัดระวังในการเลือกชนิดอาหาร

Hello คุณหมอ นำ 5 อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต มาฝากกันค่ะ รวมถึงอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรือมีอาการแย่ลงกว่าเดิม

โรคไต (Kidney disease)

โรคไต เกิดจาก ความผิดปกติของไตที่ไม่สามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกายได้ โดยปกติทั่วไปไตมีหน้าที่คัดกรองสารอาหารต่าง ๆ ภายในเลือดและกำจัดของเสียจากเลือดและน้ำส่วนเกินออกมาในรูปแบบปัสสาวะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ปัสสาวะได้น้อยลง เป็นต้น

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ นอกจากนี้คุณควรปรึกษาแพทย์และนักโภชนาการเพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับโรค เช่น การจำกัดปริมาณฟอสฟอรัสและแคลเซียม ลดการบริโภคโพแทสเซียม เป็นต้น

5 อาหารเพื่อสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยโรคไต

การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อไต อาจช่วยให้ไตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยชะลอและลดความเสื่อมของไต ซึ่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อไต มีดังต่อไปนี้

ปลากะพงขาว

ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไต การรับประทานปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 จะช่วยลดระดับไขมันในเลือดและควบคุมความดันโลหิต แต่ไม่ควรรับประทานมากจนเกินไปเพื่อรักษาระดับฟอสฟอรัสในร่างกาย

ปลากะพงขาวสุก ปริมาณ 85 กรัม ประกอบด้วย

  • โซเดียม 74 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 279 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 211 มิลลิกรัม

องุ่นแดง

นอกจากรสชาติที่อร่อย หวาน ขององุ่นแดงแล้ว ยังอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการ มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระ ที่เรียกว่า สารฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดการอักเสบ และยังมีประโยชน์ต่อการบำรุงสุขภาพหัวใจ

องุ่นแดง ปริมาณ 75 กรัม ประกอบด้วย

  • โซเดียม 1.5 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 144 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 15 มิลลิกรัม

ไข่ขาว

ถึงแม้ว่าไข่แดงจะอุดมด้วยคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าไข่ขาว แต่ไข่แดงมีปริมาณฟอสฟอรัสสูงกว่า การเลือกรับประทานไข่ขาวจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า ไข่ขาวอุดมไปด้วยโปรตีนซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการบำรุงไต โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยการฟอกไต ซึ่งมีความต้องการสารอาหารประเภทโปรตีน

ไข่ขาว 2 ฟองใหญ่ ปริมาณ 66 กรัม ประกอบด้วย

  • โซเดียม 110 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 108 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 10 มิลลิกรัม

กระเทียม

ผู้ที่เป็นโรคไตจำเป็นต้องจำกัดปริมาณโซเดียมเพื่อไม่ให้ไตทำงานหนัก การรับประทานกระเทียมจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารแทนเกลือหรือน้ำปลา นอกจากนี้กระเทียมยังอุดมด้วยวิตามินซี และวิตามินบี 6 ซึ่งมีสารประกอบที่เรียกว่า กำมะถัน มีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ

กระเทียม 3 กลีบ 9 กรัม ประกอบด้วย

  • โซเดียม 1.5 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 36 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 14 มิลลิกรัม

น้ำมันมะกอก

น้ำมันมะกอกเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีต่อสุขภาพในการนำมาปรุงอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต เพราะ น้ำมันมะกอกมีไขมันอิ่มตัวเชิงเดียว ที่เรียกว่า กรดโอเลอิก (Oleic acid) ซึ่งมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ

น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ ปริมาณ 13.5 กรัม ประกอบด้วย

  • โซเดียม 0.3 มิลลิกรัม
  • โพแทสเซียม 0.1 มิลลิกรัม
  • ฟอสฟอรัส 0 มิลลิกรัม

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีดังนี้

อาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัส และแคลเซียมสูง

การรับประทานอาหารที่มีปริมาณฟอสฟอรัสสูง อาจทำให้ไตเสื่อมสภาพได้ไวยิ่งขึ้น เช่น

  • ผลิตภัณฑ์ประเภทนม
  • พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช
  • เนื้อสัตว์ตระกูลสัตว์ปีกและปลา

อาหารที่มีปริมาณด้วยโพแทสเซียมสูง

ถึงแม้ว่าโพแทสเซียมจะมีส่วนช่วยบำรุงระบบประสาทและกล้ามเนื้อ หากคุณเป็นโรคไตการบริโภคอาหารที่มีปริมาณโพแทสเซียมสูงอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนนำไปสู่โรคหัวใจได้ เช่น

  • มะเขือเทศ
  • แครอทดิบ
  • ตระกูลผักใบเขียว (ยกเว้นผักคะน้า)
  • แตงโม

อย่างไรก็ตามแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วอาหารบางชนิดจะช่วยบำรุงไตให้แข็งแรง แต่ก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไตทั้งหมด ดังนั้นคุณควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้อง 

คุณกำลังดู: ผู้ป่วย "โรคไต" กับอาหารที่ควร-ไม่ควรรับประทาน

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด