พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา

พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา

พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์ ที่ปรากฎตัวในละคร พรหมลิขิต ที่เคยเรียนกันมาบอกว่า เป็นพระโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่หากเช็กข้อมูลดูดีๆ อาจจะไม่แน่เสมอไปก็ได้

ต่อยอดจากละคร พรหมลิขิต ที่ทำให้คนไทยรื้อฟื้นความรู้ประวัติศาสตร์กันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งเอาข้อมูลเก่าๆ มาวิเคราะห์กันใหม่ จนได้ทฤษฎีที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราร่ำเรียนมา

เช่นเดียวกับเรื่องของ พระเจ้าเสือ หรือ หลวงสรศักดิ์ ที่หลายคนอาจจะจำได้ว่า ครูสอนว่า พระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสลับของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ข้อมูลก็ยังไม่แน่นอนเสียทีเดียวเพราะมีสมมติฐานในเรื่องนี้ออกมาถึง 3 อย่างด้วยกัน

สมมติฐานเกี่ยวกับพระราชบิดาของพระเจ้าเสือ

  1. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, นางกุสาวดี พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ - พระราชมารดา
  2. สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, เจ้าจอมบุญ - พระราชมารดา
  3. สมเด็จพระเพทราชา - พระราชบิดา, พระราชมารดา ไม่ปรากฏนาม

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในละคร พรหมลิขิต

สมมติฐาน 1: พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, นางกุสาวดี พระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ - พระราชมารดา

ข้อมูลในส่วนนี้มาจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล, ที่ระบุว่า พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสที่เกิดจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และพระราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ภายหลังทรงให้พระเพทราชาไปดูแล ด้วยทรงละอายพระทัยที่เสพสังวาสกับนางลาว

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก ให้กาลเวลาเล่าเรื่องสยามแต่ปางก่อน ยังระบุอีกว่า ด้วยว่าตอนนั้นอยุธยายังเห็นล้านนาเป็นลาว พระนารายณ์เองก็ยังไม่มีพระโอรสคงกลัวว่าบัลลังก์จะตกเป็นของโอรสที่เกิดกับนาง และอาจทำให้เชียงใหม่ซึ่งเป็นเมืองประเทศราชมีอำนาจ จึงยกให้พระเพทราชา

แต่ รศ.(พิเศษ) นพ. เอกชัย โควาวิสารัช คุณหมอนักเขียนผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์ วิเคราะห์ว่า พระมหากษัตริย์เป็นเจ้าชีวิต เป็นกฎหมาย ไม่ว่าพระสนมจะเป็นชาวต่างชาติใดๆ จึงไม่ใช่เรื่องน่าละอายแต่อย่างใด

สมมติฐาน 2: พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช - พระราชบิดา, เจ้าจอมบุญ - พระราชมารดา

คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า เกิดจากพระราชชายาเทวี มีนามเดิมว่าเจ้าจอมสมบุญ ภายหลังได้มอบราชบุตรดังกล่าวกับพระเพทราชา เพราะสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงไม่ยอมรับเจ้าจอมสมบุญซึ่งเป็นคนโปรดของพระองค์ที่มีครรภ์อยู่ ทรงยกให้พระเพทราชา (เมื่อครั้งทรงเป็นเจ้าพระยาสุรสีห์) แต่ไม่ทำลายครรภ์ เพราะเหตุที่พระศรีศิลป์กุมารซึ่งเป็นพระโอรสของเชษฐา (ที่ไม่ได้เกิดจากพระมเหสี) เคยเป็นขบถต่อพระองค์ และสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอให้ได้พระราชโอรสอันเกิดในพระครรภ์ของพระมเหสี ทั้งตรัสกับพระสนมทั้งปวงว่าใครมีครรภ์จะทำลาย

ในส่วนนี้ นพ. เอกชัย วิเคราะห์ว่า “ปกติการสืบราชสมบัติในสมัยอยุธยา จะสืบต่อทางพระราชอนุชาก่อน หากไม่มีจึงสืบทางพระราชโอรส และก็ไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระมเหสีเท่านั้นจึงมีสิทธิในราชบัลลังก์ เช่น รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาทองก็ทรงมอบราชสมบัติให้เจ้าฟ้าชัยซึ่งมิได้ประสูติแต่พระมเหสี การทำลายครรภ์อันเกิดแต่พระสนมจึงไม่มีเหตุผลที่สมควร นอกจากนี้ยังอาจเป็นความคลาดเคลื่อนจาก คำให้การขุนหลวงหาวัด เพราะเป็นการแปลจากภาษารามัญ จึงอาจเกิดความเข้าใจผิดระหว่างภาษาได้”

สมเด็จพระเพทราชา ในละคร พรหมลิขิต

สมมติฐาน 3: พระเจ้าเสือ เป็นพระราชโอรสของ สมเด็จพระเพทราชา - พระราชบิดา, พระราชมารดา ไม่ปรากฏนาม

ข้อมูลนี้อ้างอิงจากเอกสารชั้นต้นของชาวต่างชาติที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เช่น จดหมายมองเซนเยอร์เดอซีเซ ถึงผู้อำนวยการคณะกรรมการต่างประเทศ ลงวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ. 1703, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ฯลฯ โดยบันทึกไปในแนวทางเดียวกันว่า สมเด็จพระเจ้าเสือทรงเป็นพระราชโอรสจริงของสมเด็จพระเพทราชา

นอกจากนี้ หากพิจารณา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหมอบรัดเล ตอนหนึ่งบันทึกเหตุการณ์เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงพระประชวรหนัก พระเพทราชาและหลวงสรศักดิ์ไปเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลว่า ถ้าพระองค์สวรรคตจะถวายราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ กรมพระราชวังหลัง สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกริ้วมาก ถึงกับตรัสว่าขอให้พระองค์มีพระชนมชีพอีก 7 วัน จะขอดูหน้ากบฏสองคนพ่อลูก นพ.เอกชัยท้วงว่า หากสมเด็จพระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระนารายณ์ พระองค์น่าจะทรงตัดพ้อ หรือตำหนิว่าเป็นทรพีที่ฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อเช่นในรามเกียรติ์มากกว่า

แต่มีข้อมูลที่ค้านกันอยู่ ที่ทำให้เชื่อง่าพระเพทราชาอาจจะมิใช่พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้าเสือ เพราะเมื่อสมเด็จพระเพทราชาทรงพระประชวรใกล้สวรรคต มิได้ทรงยกราชสมบัติให้สมเด็จพระเจ้าเสือที่เป็นพระราชโอรสพระองค์โต แต่กลับทรงยกให้เจ้าฟ้าพระยอดขวัญ ซึ่งเป็นพระราชโอรสซึ่งประสูติแต่กรมหลวงโยธาทิพ

ในส่วนนี้ นพ. เอกชัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่เสมอไปที่พระราชบิดาจะมอบราชสมบัติให้กับพระราชโอรสองค์โต เช่น 

  • สมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงยกราชสมบัติให้เจ้าฟ้าอภัย แทนที่จะเป็นเจ้าฟ้านเรนทรพระราชโอรสองค์โต
  • สมเด็จพระเจ้าบรมโกศทรงตั้งกรมขุนพรพินิต พระราชโอรสองค์เล็กสุดเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเพื่อเป็นองค์รัชทายาท

นอกจากนี้ เจ้าฟ้าพระยอดขวัญ เป็นพระราชโอรสที่ประสูติภายใต้พระเศวตฉัตร (พระราชบิดาทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว) หรืออาจจะเป็นความเสน่หาที่สมเด็จพระเพทราชามีต่อเจ้าฟ้าพระยอดขวัญก็เป็นได้

สรุป พระเจ้าเสือเป็นพระราชโอรสของใคร เป็นสิ่งที่ยังระบุได้ไม่ชัดเจน เมื่ออดีตเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและจบไปแล้ว หลักฐานต่างๆ ไม่มากพอที่จะระบุได้อย่างชัดเจน จึงทำให้เราได้แต่ค้นคว้าหาข้อมูล นำมาวิเคราะห์ต่อ หรือรอนักวิชาการสืบค้นหาข้อมูลใหม่ๆ มาอัปเดตกันได้ในภายหลังเท่านั้น

 

คุณกำลังดู: พระเจ้าเสือ จาก "พรหมลิขิต" พระโอรสของพระนารายณ์ หรือ พระเพทราชา

หมวดหมู่: หนัง-ละคร

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด