พ.ร.บ. กับ ภาษีรถยนต์ แตกต่างกันอย่างไร?

พ.ร.บ. กับ ภาษีรถยนต์ แตกต่างกันอย่างไร?

เคยสงสัยหรือไม่ว่า พ.ร.บ. กับ ภาษีรถยนต์ประจำปี แตกต่างกันอย่างไร ทั้งคู่จำเป็นต้องต่อทุกปีหรือไม่? บทความนี้ Sanook Auto จะพาไปไขคำตอบกัน

พ.ร.บ. คืออะไร?

พ.ร.บ. หมายถึง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นประกันภัยภาคบังคับที่กฎหมายกำหนดให้รถที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกทุกคันจะต้องจัดทำและมีไว้เป็นหลักประกัน เพื่อให้ผู้ที่ประสบภัยจากรถจะได้รับสิทธิความคุ้มครองจากวงเงินรักษาพยาบาล รวมถึงเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • ให้ความคุ้มครองผู้ขับขี่, ผู้โดยสาร และผู้เดินเท้า ที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุ
  • จ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงสุด 30,000 บาท โดยไม่ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด
  • จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ฝ่ายถูกสูงสุด 80,000 บาท
  • การชำระภาษีรถประจำปีจำเป็นต้องมี พ.ร.บ. ทุกครั้ง โดยจะต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 90 วัน นับจากวันที่ชำระภาษี

ภาษีรถยนต์ คืออะไร?

ภาษีรถยนต์ หรือ เครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี แสดงให้เห็นว่ารถคันนี้ได้จดทะเบียนตามกฎหมายอย่างถูกต้องกับกรมการขนส่งทางบก และชำระภาษีประจำปีเรียบร้อยแล้ว โดยกฎหมายได้กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อภาษีประจำปี ไว้ดังนี้

  • การใช้รถโดยไม่ต่อภาษี มีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
  • การไม่แสดงป้ายภาษี มีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
  • หากขาดต่อภาษีเกิน 3 ปี จะถูกระงับทะเบียนทันที หากนำรถไปใช้จะมีความผิดตามกฎหมาย ต้องนำรถมาตรวจสภาพและยื่นขอจดทะเบียนใหม่ พร้อมชำระภาษีและค่าธรรมเนียมที่ค้างอีกด้วย

วิธีชำระภาษีประจำปีรถยนต์ผ่านออนไลน์ 2567 ไม่ต้องไปขนส่ง

1.ตรวจสอบวันครบอายุภาษีรถประจำปี จากคู่มือรถ, เครื่องหมายการเสียภาษี หรือเว็บไซต์ชำระภาษีรถออนไลน์ https://eservice.dlt.go.th/ (เมนู “สอบถามข้อมูลค่าภาษีรถประจำปี”)

โดยรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 7 ปี รถจักรยานยนต์ที่มีอายุการใช้งานเกิน 5 ปี และรถที่ค้างชำระภาษีเกิน 1 ปี จำเป็นต้องผ่านการตรวจสภาพจากสถานตรวจสภาพรถ (ตรอ.) เสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการชำระภาษีได้ ส่วนรถที่ติดตั้งระบบก๊าซธรรมชาติ จะต้องมีใบรับรองวิศวะรถใช้ก๊าซ LPG/NGV ตามระยะเวลาที่กำหนด

2.เตรียมเอกสาร ได้แก่ คู่มือรถฉบับจริง (กรณีรถติดไฟแนนซ์สามารถใช้สำเนาได้) และหลักฐานความคุ้มครอง พ.ร.บ.

3.ชำระภาษีประจำปี ผ่านช่องทางดังนี้ (ชำระล่วงหน้าได้ 90 วัน ก่อนวันครบภาษี)

  • สำนักงานขนส่งใกล้บ้าน
  • เลื่อนล้อ ต่อภาษี (Drive Thru for Tax)
  • ตู้รับชำระภาษีรถประจำปีอัตโนมัติ (Kiosk)
  • เคาน์เตอร์เซอร์วิส
  • ห้างสรรพสินค้าที่ร่วมโครงการช้อปให้พอ แล้วต่อภาษี (Shop Thru for Tax)
  • ที่ทำการไปรษณีย์
  • ธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการกับกรมการขนส่งทางบก
  • เว็บไซต์ https://eservice.dlt.go.th
  • แอปพลิเคชั่น DLTVehicleTax
  • แอปพลิเคชั่น mPay และ TrueMoneyWallet

 

คุณกำลังดู: พ.ร.บ. กับ ภาษีรถยนต์ แตกต่างกันอย่างไร?

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด