พวงมาลัยล็อก-ไม่ล็อก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
เป็นอีกครั้งที่อุบัติเหตุบนท้องถนนนำไปสู่ความสูญเสีย และเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในสังคม ก่อนอื่นผมขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์รถกระบะชนขอบทางด่วนจนเป็นเหตุให้เด็กกระเด็นตกลงมาเสียชีวิต มา ณ โอกาสนี้นะครับ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนทางด่วน กาญจนาภิเษก สายสุขสวัสดิ์-บางพลี ครั้งนี้กลายเป็นที่สนใจเพราะคลิปที่ถูกนำเสนออกมาทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่ารถกระบะที่ขับอยู่ปกติเลนขวา จะถลาไปชนขอบทางด่วนฝั่งซ้ายสุดได้อย่างไร
จริง ๆ แล้วสาเหตุมันมีได้แค่ 2 กรณีเท่านั้นครับ คือไม่รถบกพร่อง ก็คนขับบกพร่อง หรือที่เรียกว่า Human Error ซึ่งในเคสนี้ยังไม่มีการสรุปว่าเกิดจากสาเหตุใดครับ แต่อาการ “พวงมาลัยล็อก” ที่พูดกันอยู่ตอนนี้เป็นคำให้การจากคุณพ่อผู้เป็นคนขับฝ่ายเดียว
งานนี้ทำให้สื่อทุกสำนักตั้งต้นไปที่อาการดังกล่าวว่ามันจะมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ขณะรถวิ่ง ซึ่งคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ส่วนใหญ่ก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโอกาสที่จะเกิดพวงมาลัยล็อก แล้วจะหักซ้ายอย่างรวดเร็วมีเปอร์เซ็นต์น้อยมาก ๆ
สำหรับผมมองว่าไม่ว่าจะเปอร์เซ็นต์มากหรือเปอร์เซ็นต์น้อย มันก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ แต่เมื่อดูคลิปเหตุการณ์ทั้ง 2 มุมแล้ว หลังจากรถชนขอบทางเห็นได้ชัดว่าเครื่องยนต์ยังติด และพวงมาลัยยังสามารถบังคับทิศทางได้ การที่พวงมาลัยล็อกจึงไม่น่าเป็นไปได้
คหสต. ผมคิดว่า โอกาสน้อยมากที่อยู่ดี ๆ พวงมาลัยจะหักซ้ายแล้วล็อกเองโดยไม่มีแรงใด ๆ มากระทำกับพวงมาลัย แต่เปอร์เซ็นต์ที่มันอาจเกิดขึ้นได้ ก็คือความบกพร่องของตัวรถจริง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป คงต้องรอทีมสอบสวนที่จะทำให้ชัดเจนในเร็ววันนี้ครับ
อย่างไรก็ดี ผมไปเจอสถิติที่น่าสนใจของต่างประเทศ โดยหน่วยงานความปลอดภัยบนทางหลวงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ที่มีการเปิดเผยถึงตัวเลขเมื่อปี 2015 ว่า สาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน 94 เปอร์เซ็นต์มาจาก Human Error
ตัวเลขจาก NHTSA ที่มีการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2.189 ล้านเคส บอกว่า 2.046 ล้านเคส มาจากความบกพร่องของผู้ขับขี่ คิดเป็น 94 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ข้อบกพร่องจากรถ รวมถึงสิ่งแวดล้อม และอุบัติเหตุที่หาสาเหตุไม่ได้ มีอย่างละ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ตัวเลขนี้หากคิดในทางเลวร้ายไปเลย คือ ค่ายรถที่เกี่ยวข้องมีโอกาสที่จะใช้อำนาจบางอย่างเปลี่ยนผลการวินิจฉัยของตำรวจได้ก็จริง แต่ด้วยความที่เปอร์เซ็นต์มันห่างกันมากขนาดนี้ ไม่ว่าจะมองในมุมไหน “คนขับ” คือคนที่สำคัญที่สุดอยู่ดีครับ
จากเหตุการณ์รถกระบะในครั้งนี้ “ความจริง” เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้สังคมได้ทราบ แต่สิ่งที่ไม่ต้องพิสูจน์เลยคือ เข็มขัดนิรภัยเบาะหลัง หรือคาร์ซีตสำหรับเด็กเล็ก คือสิ่งที่จำเป็น รวมถึงเห็นได้ชัดว่าขอบทางด่วนบ้านเราต่ำเกินไป เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวรถตกทางด่วนอยู่เป็นระยะ
อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาครับ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ขึ้นอยู่กับว่า “เรา” จะใส่ใจและทำมันหรือไม่เท่านั้นเองครับ
คุณกำลังดู: พวงมาลัยล็อก-ไม่ล็อก ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
หมวดหมู่: รถยนต์